ผมเคยฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอาจารย์วิปัสสนาหลายรูปที่สึกหาลาเพศไปแต่งงานกับสีกา ท่านเหล่านี้สอนการทำวิปัสสนาถึงระดับสูง สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับการทำวิปัสสนาได้ดี แต่เหตุใดท่านจึงไม่สามารถครองสมณเพศอยู่ได้ ในทางหนึ่งผมก็เสียดายเพราะถ้าหากท่านยังอยู่ในสมณเพศคงจะเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อไป แต่ในอีกทางหนึ่งผมก็เกิดสงสัยในการปฏิบัติธรรมว่า เหตุใดจึงไม่สามารถช่วยให้ท่านตัดกิเลสตัณหาออกได้ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในเพศอันบริสุทธิ์ก็มีอันต้องกลับไปเกลือกกลั้วในสังคมที่วุ่นวาย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้ย้อนกลับไปอ่านหนังสือของท่านอาจารย์ชา และก็เห็นท่านปรารภเรื่องนี้ในตอนแรกของคำสอนเรื่อง "ไม่แน่"...เครื่องวัดของพระอริยะเจ้า ผมจึงคัดส่วนนี้ออกมาให้ลองพิจารณา
"มีพระฝรั่งองค์หนึ่งเป็นลูกศิษย์ของผม เมื่อเห็นพระไทยสามเณรไทยสึก ก็..อุ๊ย..เสียดาย ทำไมถึงทำอย่างนั้น ทำไมพระไทยเณรไทยถึงสึกกันนี่ เขาตกใจ พากันตื่นเต้นในการสึกของพระไทยเณรไทย ก็เพราะมาพบใหม่ๆ เขาตั้งใจ มีศรัทธามาบวชนี่มันดีแล้ว คิดว่าจะไม่สึกแล้ว ใครสึกก็โง่เท่านั้นแหละ มาเห็นพระไทยเณรไทยเข้าพรรษาก็บวชกัน ออกพรรษาแล้วก็สึก โอ๊ยสลดใจตกใจ โอ้สงสารเน้อ สงสารพระไทย สงสารสามเณรไทย ทำไมถึงทำอย่างนั้น
พอดีต่อมา พระฝรั่งอยากสึกบ้าง เลยเห็นเป็นของที่ไม่สำคัญ ตอนแรกมาพบใหม่ๆ มันตื่นเต้น เห็นเป็นของสำคัญมาก
คนที่มาบวชก็บวชไป ที่สึกก็สึกไป เราดูมาเรื่อยๆ อยู่ไปก็ไม่ว่า จะสึกก็ไม่ว่า ดูเพื่อนเขาไป แต่ความรู้สึกภายในจิตใจของเราว่า ไอ้พวกนี้มันไม่เห็นชัด พระฝรั่งที่มาบวชคงเห็นอย่างนั้น เห็นพระบวชพรรษาหนึ่งก็ตกใจ ต่อมาๆ ก็เรียกว่า ..เบื่อ เบื่อความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณร เบื่อพรหมจรรย์ คลายความเพียรออกมาเรื่อยๆ ผลที่สุดก็สึก ทำไมสึกล่ะ แต่ก่อนเห็นพระไทยสึกแหมเสียดาย น่าสลดสังเวชน่าสงสาร ตัวเราสึก ทำไมไม่สงสาร ตัวเราหรือนี่ ไม่พูด ยิ้มๆ เท่านั้นแหละ ไม่พูด"
ผมสรุปเอาเองว่า ท่านอาจารย์ชาคงต้องการบอกว่า เรื่องบวชนั้นไม่แน่ อย่าไปยึดติด ถ้าหากพระสงฆ์รูปใดปฏิบัติแล้วความเพียรเริ่มคลาย เริ่มเบื่อหน่าย ท่านก็สึกไปเท่านั้น
(จากเรื่อง "ไม่แน่"...เครื่องวัดของพระอริยะเจ้า ในหนังสือ อาหารใจ ธรรมและปฏิปทาของพระอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2536 หน้า 169 - 171)