ท่านอาจารย์ชาเล่าว่า เมื่อครั้งที่ท่านเริ่มปฏิบัติ ก็ได้อ่านหนังสือบุพพสิกขา ซึ่งก็เข้าใจพอสมควร จากนั้นท่านก็ไปอ่านวิสุทธิมรรค ซึ่งพูดถึง ศีลานิเทศ, สมาธินิเทศ, ปัญญานิเทศ ท่านอ่านแล้วไม่เข้าใจ ท่านเล่าว่า "ศีรษะผมมันจะแตกเลย อ่านแล้วก็มาพิจารณาว่ามนุษย์ทำไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ แล้วคิดไปอีกว่า อันที่มนุษย์ทำไม่ได้นั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนหลอก ท่านไม่สอนแล้วท่านก็ไม่บัญญัติ เพราะว่าสิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อท่าน และก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นด้วย สิ่งอะไรที่ใครทำไม่ได้ท่านไม่สอน สีลานิเทศนี้มันละเอียดมาก สมาธินิเทศก็ยิ่งละเอียด ปัญญานิเทศมันก็ยิ่งมากข้นอีก เรามานั่งคิดดู ไปไม่ไหวเสียแล้ว ไม่มีทางที่จะไป คล้าย ๆ ว่ามันหมดหนทางเสียแล้ว" ต่อมาท่านได้ไปพบพระอาจารย์มั่น ท่านก็เลยเรียนถามเรื่องนี้ต่อพระอาจารย์มั่น
พระอาจารย์มั่นตอบว่า "ท่าน...ของนี้มันมากก็จริงหรอก แต่มันน้อย ถ้าเราจะกำหนดทุก ๆ สิกขาบทในสีลานิเทศนั้นนะ มันก็ยาก มันก็ลำบาก...จริง แต่ความจริงแล้วนะ ที่เรียกว่าสีลานิเทศนั้น มันเป็นนิเทศอันหนึ่ง ซึ่งบรรยายออกไปจากจิตใจของคนเรานี้ ถ้าหากว่า เราอบรมจิตของเราให้มีความอาย มีความกลัวต่อความผิดทั้งหมด นั่นแหละก็จะเป็นคนสำรวม จะเป็นคนสังวร จะเป็นคนระวังเพราะความกลัว
เมื่อเป็นอย่างนั้นจะเป็นเหตุที่ว่า เราจะเป็นคนมักน้อย เราจะไม่เป็นคนมักมาก เพราะว่าเรารักษาไม่ไหวนี่ ถ้าเป็นเช่นนั้นสติของเรามันจะกล้าขึ้น มันจะตั้งสติขึ้น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ที่ไหน มันจะตั้งอกตั้งใจ มีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวังมันเกิดขึ้นมานั่นแหละ
อันใดที่มันสงสัยแล้วก็อย่าพูดมันเลย อย่าทำมันเลย ที่เรายังไม่รู้จะต้องถามครูบาอาจารย์เสียก่อน ถามครูบาอาจารย์แล้วก็รับฟังไว้อีก ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะว่ามันยังไม่เกิดเฉพาะตัวเอง ถ้าหากเราจะไปกำหนดทุกประการนั้นก็ลำบาก เราจะเห็นว่า จิตของเรายอมรับหรือยัง ว่าทำผิดมันผิด ทำถูกมันถูก อย่างนี้ยอมรับหรือเปล่า
อะไรทั้งหมดนี่ท่านไปดูนะ มันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่อบรมจิตของท่านให้มีความรู้มีความสะอาด ท่านจะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป วิจิกิจฉาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นท่านจงรวมธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว สงสัยแล้ว เลิกมัน ถ้ายังไม่รู้แจ้งเมื่อใดแล้วอย่าพึงทำมัน อย่าพึงพูดมัน เช่นว่า อันนี้ผิดไหมหนอ หรือไม่ผิด อย่างนี้ คือยังไม่รู้ตามความเป็นจริงแล้ว อ่าทำมัน อย่าไปพูดมัน อย่าไปละเมิดมัน"
เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องเล่านี้แล้วลองนำเรื่องนี้ไปคิดวิเคราะห์ดู ตามเรื่องนี้ท่านอาจารย์ชา ท่านเกิดความสงสัยในหัวข้อปฏิบัติที่ละเอียด และท่านอาจารย์มั่นสอนให้พิจารณาว่าหัวข้อปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไร ถูกหรือผิด ถ้าจิตยังมีข้อสงสัยอยู่ก็อย่าได้ปฏิบัติ อย่าได้พูด
ในชีวิตของพวกเรานั้น มีเรื่องที่ผ่านจิตใจเรานับหมื่นนับแสนเรื่อง เราเคยพิจารณาจิตของเราบ้างหรือไม่ว่าคิดอะไร คิดดี หรือคิดไม่ดี คิดมีเมตตาต่อผู้อื่น คิดอยากได้ของของผู้อื่น คิดโกรธสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทั้งผู้คนสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม คำสอนของพระอาจารย์ชาในคำเทศน์เรื่องนี้นั้นสรุปให้เราพิจารณาจิตของเรา ให้รู้ตลอดเวลาว่าจิตกำลังคิดอะไร เมื่อพิจารณาแล้วปัญญาก็จะเกิดครับ
(ยกมาแนะนำ 8 กรกฎาคม 2550)
(จากเรื่อง ธรรมในวินัย ในหนังสือ อาหารใจ ธรรมและปฏิปทาของพระอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2536 หน้า 13 - 16)