Dr. Kanchit Malaivongs
Home
Duties
Courses
Lectures
Books
FAQ
Contact
IT Idea for Spiritization

พหุปัญญาในห้องเรียน
โธมัส อาร์มสตรอง เขียน
อารี สัณหฉวี แปล
ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
2543 165 หน้า

                  คนโดยทั่วไปมีความฉลาดและความสามารถแตกต่างกัน อมาดิอุส โมสาร์ทสามารถประพันธ์เพลงได้ตั้งแต่อายุยังน้อยมาก ไทเกอร์ วูดส์ หรือเสือน้อยนั้นเพียงแค่ย่างเข้าวัยหนุ่มก็ชนะเลิศกอล์ฟรายการใหญ่ของโลกเสียแล้ว นอกจากนั้นเรายังอาจจะได้ยินได้ฟังเรื่องของ นอร์เบิร์ต ไวน์เนอร์ ศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ แห่งสถาบันเอ็มไอที ผู้เป็น child prodigy เนื่องจากจบปริญญาเอกจากฮาร์เวิร์ดเมื่ออายุเพียง 19 เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเด็กปัญญาเลิศอื่นๆ อีกหลายคนที่จบปริญญาเอกในวัยรุ่น แม้เด็กไทยก็มีข่าวลงหนังสือพิมพ์ด้วยเหมือนกัน

          โมสาร์ท และ วูดส์ ไม่ได้จบปริญญาเอกเหมือนไวน์เนอร์ ดังนั้นเราจึงอาจคิดว่าทั้งคู่คงจะไม่ได้มีปัญญาเอกอุเหมือนไวน์เนอร์ นั่นเป็นเพราะเราคิดกันเองว่าปัญญาของมนุษย์มีอย่างเดียวคือ ปัญญาในด้านการศึกษาวิชาการต่างๆ แต่อันที่จริงแล้ว โธมัส อาร์มสตรอง กำลังบอกเราว่าไม่จริง มนุษย์มีปัญญาในด้านต่างๆ อีกหลายด้าน และที่สำคัญที่เราควรสนใจก็คือปัญญาที่ต่างกันอยู่ 7 ด้าน

          ผู้ที่เสนอแนวคิดว่ามนุษย์ทั่วไปมีปัญญาที่ต่างกันหลายด้านก็คือ เฮาวาร์ด การ์ดเนอร์ ซึ่งกล่าวว่า "เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่เราควรรู้จักและส่งเสริมความฉลาดนานาชนิดของมนุษย์ ที่มนุษย์มีความแตกต่างกันก็เพราะเรามีความสามารถ ฉลาด แตกต่างกัน ถ้าเรายอมรับเช่นนี้แล้ว เราจะสามารถแก้ปัญหาที่เราประสบในโลกนี้ได้มากขึ้น"

          การ์ดเนอร์เรียกทฤษฎีของเขาว่า ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligence) และได้ระบุความสามารถหรือปัญญาของมนุษย์ออกเป็น 7 ด้านดังนี้

  • ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) หมายถึงความสามารถในการพูด และการใช้ภาษา เช่น นักพูด นักการเมือง กวี นักเขียนบทละคร บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์
  • ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence) หมายถึงความสามารถในการใช้ตัวเลข เช่น นักบัญชี นักคณิตศาสตร์ นักสถิติ นักวิทยาศาสตร์ นักตรรกศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม
  • ปัญญาทางด้านมิติ (Spatial Intelligence) หมายถึงความสามารถในการมองเห็นพื้นที่ เช่น นายพราน ลูกเสือ ผู้นำทาง สถาปนิก มัณฑนากร ศิลปิน นักประดิษฐ์
  • ปัญญาทางด้านร่างกายและความเคลื่อนไหว (Bodily-Kinesthetic Intelligence) หมายถึงความสามารถในการใช้ร่างกายของตนแสดงความคิด เช่น นักแสดง นักกีฬา ช่างแก้รถยนต์ ศัลยแพทย์
  • ปัญญาทางด้านดนตรี (Musical Intelligence) หมายถึงความสามารถทางด้านดนตรี ได้แก่ นักดนตรี นักแต่งเพลง นักวิจารณ์ดนตรี
  • ปัญญาทางด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) หมายถึงความสามารถทางด้านการเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และเจตนา ของผู้อื่น ได้แก่ บรรดาโหราจารย์ หมอดู นักจิตวิทยา นักประชาสัมพันธ์
  • ปัญญาทางด้านตนหรือการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) หมายถึงความสามารถทางด้านการรู้จักตนเอง รู้ว่าตนมีจุดอ่อน จุดแข็งเรื่องใด มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด และความปรารถนาของตนเอง
          ปัญญาห้าข้อแรกนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ปัญญาสองข้อหลังนั้นเป็นปัญญาความสามารถที่คนอย่างพวกเราคงคิดไม่ถึง

          ทฤษฎีพหุปัญญานั้นได้กล่าวถึงหัวข้อสำคัญที่เกี่ยวกับปัญญาทั้ง 7 ด้านไว้ดังนี้
  • คนทุกคนมีปัญญาทั้ง 7 ด้าน แต่มีไม่เท่ากัน
  • ทุกคนสามารถพัฒนาปัญญาแต่ละด้านให้สูงขึ้นถึงระดับที่ใช้การได้ นั่นคือหากคนเราฝึกฝนปัญญาเหล่านี้อย่างจริงจัง เราก็อาจจะเพิ่มความสามารถในด้านนั้นๆ ได้
  • ปัญญาด้านต่างๆ ทำงานร่วมกันในวิธีที่ซับซ้อน คือแต่ละด้านมีปฏิสัมพันธ์กัน
  • ปัญญาแต่ละด้านมีการแสดงความสามารถหลายทาง
          อาร์มสตรองผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เห็นว่าคนทั่วไปควรรู้ว่าตนเองมีความสามารถด้านใด และได้นำเอาแบบสอบถามตนเองมาลงพิมพ์ไว้ด้วย ผู้อ่านสามารถทดสอบตนเองได้ทันที

          อันที่จริงแล้ว เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ทฤษฎีพหุปัญญาในด้านการเรียน ในเรื่องนี้อาร์มสตรองเห็นว่าหากนักเรียนแต่ละคนได้รับการพัฒนาปัญญาความสามารถในด้านที่ตนถนัดแล้ว ความสามารถนั้นก็จะโดดเด่นขึ้น เรื่องสำคัญอย่างแรกก็คือครูอาจารย์จะต้องรู้ว่านักเรียนของตนนั้นมีปัญญาด้านใด ในเรื่องนี้อาร์มสตรองก็มีแบบสำรวจพหุปัญญาของนักเรียนมาให้ครูได้นำไปใช้ด้วยเหมือนกัน

          เมื่อรู้ว่านักเรียนในชั้นมีพหุปัญญาด้านใดมาก ด้านใดน้อย แล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องง่ายที่ครูอาจารย์จะเตรียมการสอนให้เหมาะกับปัญญาความสามารถของนักเรียน การกำหนดยุทธวิธีในการสอน การจัดสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมในโรงเรียน ไปจนถึงการให้นักเรียนจัดทำแฟ้มผลงานให้เหมาะสมกับความสามารถของตน

          ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนหนังสือเด็กนักเรียน ครั้งเดียวที่ผมเคยสอนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งนั้นนับเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมมีความรู้สึกว่าหากผมกลับไปสอนวิชาเดิมใหม่ ผมน่าจะทำได้ดีกว่า ทั้งนี้เพราะผมเริ่มเข้าใจความสามารถในด้านต่างๆ ของมนุษย์มากขึ้น โดยแต่ก่อนนี้ผมคิดแต่เพียงว่า คนเรามีสองกลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มที่จะเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ได้ กับกลุ่มที่เรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ดังนั้นการสอนของผมจึงไม่ได้มุ่งที่จะยกระดับความรู้ของกลุ่มที่ไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์เลย

          ผมขอเสนอแนะให้อาจารย์ทั้งหลายได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ปัญหาก็คือหนังสือเล่มนี้พิมพ์ค่อนข้างจำกัดมากคือ 8,500 เล่ม อีกทั้งไม่มีวางจำหน่ายด้วย ใครสนใจคงจะต้องติดต่อขอมาที่ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการเอาเอง

Back