Dr. Kanchit Malaivongs
Home
Duties
Courses
Lectures
Books
FAQ
Contact
IT Idea for Spiritization

ตำนานคำอเมริกัน
จำนงค์ วัฒนเกส
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2542 282 หน้า ราคา 120 บาท

          ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การขยายตัวของธุรกิจ การแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสาร และ สื่อต่างๆ ได้ทำให้เกิดคำใหม่ๆ ขึ้นตลอดเวลา อย่างเช่นในเวลานี้ เราได้ยินคำว่า -Internet, Intranet, e-commerce, e-government, world wide web และคำอื่นๆ อีกมากมาย คำเหล่านี้ต่างก็มี ตำนานอยู่เบื้องหลังที่น่าสนใจ และเชื่อว่าต่อไปอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้าก็คงจะมีคนทำวิจัยเสาะหาต้นกำเนิดของคำเหล่านี้ออกมาเขียนเผยแพร่

          ผมเองสนใจความหมายของคำต่างๆ ทั้งไทยและอังกฤษมานานแล้ว หนังสือเกี่ยวกับกำเนิดของคำที่ได้รวบรวมไว้ก็มีอยู่หลายเล่ม รวมทั้งพจนานุกรมรากศัพท์หรือประวัติของศัพท์ด้วย การเรียนรู้เรื่องของรากศัพท์ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะทำให้แตกฉานในด้านคำศัพท์ สามารถคาดคะเนความหมายของศัพท์ต่างๆ ที่เพิ่งพบได้ถูกต้องมากขึ้น สำหรับเรื่องประวัติของคำนั้นก็มักจะเป็นเรื่องที่อ่านแล้วสนุก และมีเรื่องที่จะไปเล่าต่อให้ลูกหลานฟังได้อีก ผมเองได้รวบรวมประวัติและความหมายของศัพท์ที่อ่านพบในหนังสือต่างๆ เอาไว้มากด้วยกัน แต่โดยที่ผมเขียนและซุกเอาไว้กับบรรดาเอกสารอีกมากมายหลายพันเรื่อง ดังนั้นเรื่องที่เขียนไว้จึงได้อันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอยเสียแล้ว

          ด้วยเหตุนี้เองผมจึงดีใจที่ คุณจำนงค์ วัฒนเกส เขียนหนังสือเรื่องตำนานคำอเมริกันขึ้นเพื่อบอกเล่าให้ทราบถึงที่มาของคำอเมริกันจำนวนมากด้วยกัน ก็โลกทุก วันนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอเมริกาค่อนข้างมาก การที่ได้รู้ว่า Yankee มาได้อย่างไร Maverick เป็นใคร แล้วเจ้า Peanuts กับ Popcorn มีความเป็นมาอย่าง ไรนั้นก็เป็นเรื่องที่เราก็คงอยากจะรู้เหมือนกัน

          คุณจำนงค์นั้นอดีตได้ปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อเมริกา ต่อมาเมื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ มีโครงการสมองไหลกลับ และได้ไปชักชวนให้คนไทยในอเมริกาและยุโรป กลับบ้าน คุณจำนงค์ก็ได้อพยพกลับมาเมืองไทยด้วย เพราะตระหนักว่าจะต้องกลับมาช่วยประเทศไทยให้ก้าวหน้าเท่าเทียมกับประเทศตะวันตกอื่นๆ แม้เวลานี้คุณ จำนงค์ยังไม่สามารถทำได้อย่างที่คิดฝันไว้ในช่วงแรกที่กลับมา แต่หนังสือที่คุณจำนงค์เขียนขึ้นก็มีประโยชน์สำหรับให้คนไทยเข้าใจคนอเมริกันมากขึ้น แม้ไม่มาก ก็ ยังดีกว่าไม่ได้รู้อะไรเลย

          คุณจำนงค์มีความคิดที่เป็นตัวของตัวเองอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะก็คือในเรื่องของการทับศัพท์ภาษาต่างด้าวมาเป็นภาษาไทย ก็หลักเกณฑ์การทับศัพท์นั้นทาง ราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดไว้ว่าหากเป็นการทับศัพท์จากภาษาจีนแล้วให้ใส่วรรณยุกต์ได้ แต่การทับศัพท์จากภาษาอื่นๆ โดยเฉพาะภาษาตะวันตกนั้นมิสมควรใส่ วรรณยุกต์ เพราะคำเหล่านั้นจะผันเสียงสูงต่ำได้สุดแท้แต่ตำแหน่งของคำในประโยค เรื่องนี้คุณจำนงค์ไม่เห็นด้วยเลย และค่อนขอดว่าการเขียนทับศัพท์โดยไม่ใช้ วรรณยุกต์ซึ่งเป็นผลผลิตภูมิปัญญาไทยนั้นจะทำให้คนอ่านผิดได้ คุณจำนงค์ชอบยกคำว่า คอมพิวเตอร์ มาเป็นตัวอย่างและสำทับว่าเราควรสะกดคำนี้ให้เหมือนกับการ ออกเสียง คือต้องเขียนว่า ค็อมพิ้วเต้อร์ หรือคำว่า Ice Cream คุณจำนงค์ก็ต้องการให้เขียนว่า ไอ๊ซครีม ไม่ใช่ ไอศกรีม เพราะคุณจำนงค์ยืนยันว่าการเขียนเช่นนี้ ตรงกับคำว่า I scream แต่คุณจำนงค์ก็อาจจะลืมไปว่าไทยยังมีอีกคำหนึ่งคือ ไอติม ซึ่งไม่เหมือนกับไอศกรีม

          ผมเคารพในความเห็นของคุณจำนงค์ แต่ก็อยากจะฝากบอกว่า การใช้คำทับศัพท์นั้นจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้ให้เป็นแบบเดียวกัน นอกจากนั้น การทับศัพท์ของไทยเราก็มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ นับตั้งแต่นาย จอน กาละฝัด และ หมอ…. การทับศัพท์นั้นไม่ได้เลียนเสียงสะกดโดยตรง แต่ทับศัพท์ตามความ สะดวก ดังนั้นจึงไม่ได้แปลกที่ English จึงกลายเป็นอังกฤษไป และ Telegraph ก็กลายเป็น ตะแล็บแก๊บ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเสียงเคาะแป้นอย่างที่คุณจำนงค์คิด แต่อย่างใด การทับศัพท์ตามแบบเดิมนั้นได้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้เข้ารูปเข้ารอยอย่างที่เห็น นั่นก็คือการยกเว้นไม่ใส่วรรณยุกต์ลงในคำทับศัพท์ ยกเว้นแต่ในกรณีที่จะ เกิดความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงเพราะมีคำไทยใช้อยู่แล้วเท่านั้น เช่น Coke ก็ต้องทับศัพท์ว่า โค้ก ไม่ใช่ โคก

          การพยายามทับศัพท์ให้ตรงกับเสียงจริงๆ ของคำในภาษาเดิมนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก และไม่จำเป็น แม้ว่าคุณจำนงค์จะบอกว่าการไม่ใส่จะทำให้อ่านออกเสียงผิด แต่ผมก็อยากจะชี้ว่าอันที่จริงแล้วมีคำอยู่มากด้วยกันที่เราไม่ได้ออกเสียงตามการสะกด ตัวอย่างหนึ่งก็คือ น้ำ ลองอ่านด้วยการผันคำว่า นำ น่ำ และ น้ำ ดูสิ

          คุณจำนงค์ชี้ว่า การทับศัพท์จะดีกว่าคำแปล ซึ่งผมเห็นด้วย เช่นคุณจำนงค์ได้ยกตัวอย่างคำว่า software ว่าควรจะเขียนว่า ซ๊อฟแวร (สะกดแบบคุณจำนงค์) จะดีกว่า "ละมุนภัณฑ์" (อยู่ในเชิงอรรถ ของบทนำ) แต่ผมก็ต้องการชี้อีกครั้งว่า คุณจำนงค์ยังไม่ได้ศึกษาคัพท์บัญญัติที่ผมเป็นผู้จัดทำขึ้นว่าเราไม่ได้บัญญัติคำว่า ละมุนภัณฑ์ แต่อย่างไร เราได้กำหนดให้ใช้คำว่า ซอฟต์แวร์ ต่างหาก ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของนักวิชาการไทยหลายคน (รวมทั้งผมด้วย) ที่บางครั้งได้ยกเรื่องต่างๆ มา พูดโดยไม่ได้อ้างอิงเอกสารที่เป็นหลักเป็นฐานอย่างจริงจัง

          แม้ผมจะไม่เห็นด้วยการกฎเกณฑ์การทับศัพท์หลายเรื่อง แต่ผมก็เคารพในการกำหนดมาตรฐานการทับศัพท์ที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากได้ถกเถียงกันมาแล้ว ดัง นั้นผมจึงยอมรับกฎเกณฑ์เหล่านั้นมาใช้ทั้งนี้เพื่อให้การเขียนเป็นมาตรฐานแบบเดียวกัน และจะได้สามารถใช้คอมพิวเตอร์ค้นคืนข้อความและเนื้อหาต่างๆ ได้ ยก ตัวอย่างเช่นต่อไปเราคงไม่สามารถค้นหาบทความที่มี ค็อมพิ้วเต้อร์ของคุณจำนงค์ได้เพราะไปสะกดแปลกไปจากมาตรฐานเสียแล้ว

          ยกประเด็นเรื่องการเขียนทับศัพท์ไม่เหมือนกฎเกณฑ์ออกแล้ว ผมมีความเห็นว่าหนังสือที่คุณจำนงค์เขียนเล่มนี้อ่านสนุก ได้เกร็ดความรู้ และเกิดความคิดดีๆ หลายอย่างด้วยกัน นอกจากนั้นอ่านแล้วยังเข้าใจคนอเมริกันได้มากขึ้นจริงๆ

Back