การอภิปรายเรื่องแผนรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
ในช่วงบ่ายของวันที่
31 กรกฎาคม 25456 ผมได้รับเชิญไปเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายว่า
เมืองไทยควรมีแผนรักษาความมั่นคงปลอดภัยหรือไม่ การอภิปรายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาเรื่อง
Network and Information Security จัดโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โรงแรมปทุมวัน ปรินซ์เซส
ความจริงแล้วการสัมมนามีสองวันและเน้นในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางด้านระบบเครือข่าย
และ ระบบสื่อสาร ส่วนการอภิปรายก็เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
ผู้อภิปรายก็คือ ดร.วิษณุ ตัณฑวิรุฬห์
แห่งบริษัท ฟรีอินเตอร์เน็ท ดร.ฉิม ตันติยาสวัสดิกุล
ผู้อำนวยการอาวุโส สายเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย
และ ดร. ปณิธาน วัฒนายาธร อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาความมั่นคง
จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การดำเนินการอภิปรายครั้งนี้ผมใช้วิธีเสวนา
คือถามให้แต่ละท่านตอบ และ ให้ผู้ร่วมอภิปรายแต่ละคนเสริมกันได้
วิธีนี้สรุปได้ยากสักนิด แต่ผมก็จะลองสรุปเรื่องที่ผู้อภิปรายแต่ละท่านได้กล่าวไว้ดังต่อไปนี้
ดร.
ฉิม มองเห็นว่าปัจจุบันธนาคารก็มีความเสี่ยงต่อปัญหาเรื่องความมั่นคงปลอดภัยเหมือนกัน
ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงกำหนดให้ทุกธนาคารต้องจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์สำรองขึ้น
ส่วนในด้านการถูกโจมตีจากแฮกเกอร์นั้นทางดร.ฉิมเห็นว่าอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้
แต่ที่ทราบคือถ้ามีก็ไม่มีธนาคารไหนบอก ดร. ฉิมเห็นว่าโอกาสที่จะเกิดปัญหามีน้อย
แต่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นพวกเราจะต้องคอยตรวจสอบและเฝ้าระวังให้ดี
ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้น่าจะเป็นระบบเชื่อมโยงต่าง ๆ เช่น
โทรศัพท์ หรือแม้แต่ระบบสวิฟต์ที่ใช้ในการโอนเงิน ขณะนี้ทางการยังไม่ได้จัดให้มีการสำรวจอย่างเป็นทางการว่าใครมีอะไรกันบ้าง
และเกิดปัญหาอะไรบ้าง เรายังขาดการประสานงานที่ดี ดังนั้นน่าจะเน้นที่ระดับแต่ละหน่วยงานไปก่อน
และควรบังคับให้ทำกัน
ดร.
วิษณุ (ได้บรรยายเรื่อง BS7799 ในการสัมมนาเรื่องนี้มาก่อนหน้าอภิปรายแล้ว)
กล่าวว่า ภัยทางด้านคอมพิวเตอร์ที่มาจากแฮกเกอร์ที่จะเกิดกับไทยโดยตรงคงจะไม่มี
เพราะนโยบายของประเทศเราค่อนข้างเป็นกลางคือไม่ได้เข้าข้างประเทศที่กำลังมีปัญหากัน
แต่ภัยที่อาจมีได้คือผู้ก่อการร้ายอาจจะใช้ไทยเป็นฐานในการดำเนินการ
เช่นแอบแฝงเข้ามาใช้เซิรฟเวอร์ของหน่วยงานในไทยในการเป็นฐานเข้าไปโจมตีหน่วยงานในประเทศอื่น
(เรื่องนี่ดร.วิษณุยืนยันว่ามีจริง) ดร.วิษณุเห็นว่าการปราบปรามหรือหยุดยั้งแฮกเกอร์คงจะทำไม่ได้
แต่อาจจะใช้วิธีเชิญผู้ที่เจาะระบบเก่ง ๆ มาทำงานด้วยเพื่อหาทางป้องกันการถูกผู้อื่นเจาะระบบ
หรือหากจะป้องกันก็ควรตั้งกองกำลังพิเศษโดยตรง
ดร.ปณิธาน
ได้เล่าถึงอเมริกาว่า หลังจากที่อาคารเวิลด์เทรดถูกผู้ก่อการร้ายใช้เครื่องบินชนจนกระทั่งเสียหายแล้ว
ทางอเมริกาก็ตื่นตัวในเรื่องการป้องกันภัยระดับประเทศ มีการผลักดันแนวคิดที่เรียกว่า
Homeland Security ขึ้นโดยกำหนดยุทธศาสตร์สามด้านคือ
- การป้องกันการก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกา
- การลดความอ่อนไหวเปราะบางในการถูกก่อการร้าย
- การทำให้ผลกระทบจากการก่อการร้ายเกิดน้อยที่สุด
และให้ฟื้นฟูสภาพหลังจากถูกก่อการร้ายได้เร็ว
ตามแนวคิดเรื่อง
Homeland Security นี้ ได้กำหนดงานหกด้านที่จะต้องให้ความสนใจคือ
- ข่าวกรองและการเตือนภัย
- การป้องกันชายแดน
เพราะปีหนึ่งมีคนหลายร้อยล้านเดินผ่านชายแดนของอเมริกา
- การสร้างระบบต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศ
- การป้องกันโครงสร้างหลักที่มีความสำคัญระดับวิกฤติ
เช่น ระบบไฟฟ้า น้ำประปา การไปรษณีย์ การเก็บขยะ ฯลฯ
- การป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามอย่างยิ่งยวด
- การตอบสนองยามฉุกเฉิน
ในการดำเนินการนั้นทางอเมริกาจะใช้เครื่องมือสำคัญสี่อย่างคือ
- การใช้กฎหมาย
และการเปลี่ยนกฎหมายอื่น ๆ ให้ตอบสนองต่อการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและพอเพียง
- การวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- การกำหนดให้มีการแบ่งปันและใช้ข้อมูลข่าวสารร่วมกัน
- การร่วมมือระหว่างประเทศในการตรวจสอบคนและสิ่งที่น่าสงสัย
เช่น การตรวจค้นคอนเทนเนอร์
ดร.
ปณิธาน เห็นว่าการเตรียมการเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญแต่ต้องใช้งบประมาณมาก
สำหรับไทยเองนั้นการดำเนินการด้านนี้อาจจะยังไม่พอเพียง และ
ยังไม่ได้ประสานงานกันเท่าที่ควร กฎหมายต่าง ๆ ก็ยังล้าหลัง
และ โครงสร้างหลักของไทยเองก็ยังเก่า ยืดยาด ยุ่งยาก และ ไม่ยืดหยุ่น
ไม่ประสานกัน ดังนั้นรัฐบาลไทยน่าจะให้ความสนใจต่อเรื่องนี้มากขึ้น
สำหรับผมเองนั้น ได้เสริมว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูง
เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในทำเลที่ดีคือไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรง
ไม่ประสบปัญหาพายุไต้ฝุ่น หรือ ทอร์นาโด แต่ประเทศไทยมีเขตแดนติดต่อกับประเทศอื่น
ๆ หลายประเทศ ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งเรื่องดินแดน และ เรื่องการรุกล้ำเขตแดนเป็นประจำ
ขณะนี้มีคนต่างด้าวเข้ามาเมืองไทยโดยไม่ถูกกฎหมายเป็นจำนวนนับล้าน
ไม่มีทางทราบเลยว่าบุคคลเหล่านั้นจะเข้ามาก่อการร้ายหรือไม่
ในอดีตไทยเรารอดจากการก่อการร้ายมาหลายครั้งแล้ว แต่ในไม่ช้านี้หากไทยไม่เริ่มคิดวิธีการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายแล้ว
เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเราอาจจะแก้ปัญหาไม่ทัน ทำให้เกิดความโกลาหลใหญ่โตก็ได้
โดยสรุปผู้อภิปรายทุกคนเห็นว่าเราควรรีบวางแผนการปัองกันภัยระดับประเทศ
โดยเฉพาะในส่วนที่พูดกันวันนี้ก็คือภัยทางด้านเครือข่ายสื่อสาร
ระบบคอมพิวเตอร์ และระบบสารสนเทศ
|