การอภิปรายเรื่อง MIS สำหรับโรงเรียน
ในการสัมมนาเรื่อง โรงเรียนในฝันขุมพลังทางปัญญาของชุมชน
เมื่อประมาณปลายเดือนกรกฎาคม
2546 นี้ ผมได้รับการทาบทามให้ไปร่วมอภิปรายเรื่อง MIS สำหรับโรงเรียน
ในการสัมมนาเรื่องโรงเรียนในฝันที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ จอมเทียม
พัทยา ประจวบเหมาะกับที่การประชุมอีกเรื่องหนึ่งของผมที่เชียงใหม่มีอันต้องเลื่อนออกไปอย่างกะทันหัน
ผมก็เลยตอบรับไปสัมมนาครั้งนี้ แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสจะฟังท่านนายกรัฐมนตรี
พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร พูดในการเปิดสัมมนาที่ไบเทค และน่าเสียดายที่ไม่สามารถอยู่ร่วมสัมมนาได้ตลอดหมดทั้งรายการ
การสัมมนาครั้งนี้เป็นงานช้างทีเดียว
เพราะมีผู้เข้าร่วมสัมมนาราวสี่พันคน และผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดสัมมนาครั้งนี้ก็คือ
สถาบันราชภัฎสวนดุสิต การจัดงานโดยทั่วไปเรียบร้อยดี จึงต้องขอชมเชยมา
ณ ที่นี้
แนวคิดของสัมมนาเรื่องนี้ก็คือ
พยายามผลักดันให้เกิดโรงเรียนในฝัน ในทุก ๆ อำเภอ จนเกิดเป็นคำขวัญว่า
หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน ความจริงแล้วทุกวันนี้ก็มีโรงเรียนระดับต่าง
ๆ ในทุกอำเภออยู่แล้ว แต่รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะให้อย่างน้อยหนึ่งโรงเรียนในแต่ละอำเภอเป็นโรงเรียนที่เป็นต้นแบบในทางที่ดี
ทั้งทางด้านการเรียนการสอน การใช้ ICT การบริหารจัดการ การสะสมปัญญาความรู้
และอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้เองผมจึงได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่อง MIS
ในการอภิปรายเรื่องที่สองของรอบเช้าที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์
ความจริงผมก็ได้ฟังการอภิปรายเรื่องแรกเหมือนกัน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงเรียน แต่ความที่ผมนั่งฟังอยู่กับวิทยากรและประธานในการสัมมนา
จึงมัวแต่สนทนาอยู่ ไม่สามารถจับประเด็นมาเล่าให้ท่านทราบได้
ขอนำไปสู่เนื้อหาของการอภิปรายในรอบที่ผมพูดก็แล้วกันครับ
ผู้นำอภิปรายในหัวเรื่อง
MIS สำหรับโรงเรียน ก็คือ อาจารย์วิพากษ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้อภิปรายก็มี ดร. นิพนธ์ เสือก้อง แห่งโรงเรียนปลวกแดงพิทยา
อาจารย์ สมศักดิ์ ครองยุทธ์ คุณประยงค์ กุศโลปกรณ์ และ ผม
ผมได้รับมอบหมายให้พูดก่อนในเรื่องของ
MIS ผมจึงพูดอภิปรายว่า สำหรับผมแล้ว MIS ไม่ใช่เรื่องอะไรที่ยุ่งยากเลย
หากก็คือ การบริหารจัดการที่ดีโดยการใช้ข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์
ยุคนี้เป็นยุคที่การบริหารจัดการต้องเปลี่ยนแนวคิดไปจากเดิมมาก
แม้ทางพรรคไทยรักไทยจะเน้นด้านคิดใหม่ทำใหม่ ผมก็ยังคิดว่าไม่พอ
ต้องคิดเร็วและทำเร็วด้วย แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องคิดรอบคอบด้วย
ในการที่จะคิดเร็วทำเร็วนั้นผู้บริหารจะต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นปัจจุบัน
และจะต้องค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วด้วย ผมเน้นว่าระบบที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริหารนั้นมีมานานแล้ว
แต่การมีคอมพิวเตอร์ช่วยให้การจัดเก็บและค้นข้อมูลทำได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
สำหรับข้อมูลที่โรงเรียนจะต้องใช้นั้น
ผมเห็นว่ามีอยู่ด้วยกัน 9 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่
1
ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน ได้แก่ ประวัติ ผลการเรียน สุขภาพ
ความสามารถ ความเจ็บป่วย ปัญหาส่วนตัว ข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นข้อมูลนักเรียนเก่าซึ่งทางโรงเรียนควรสนใจหารายละเอียดอื่น
ๆ มาเก็บเช่น จบแล้วไปเรียนต่อด้านใด ประกอบอาชีพอะไร
- กลุ่มที่
2
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ปกครอง ได้แก่ ชื่อ ความสัมพันธ์กับนักเรียน
อาชีพ ความสัมพันธ์กับโรงเรียน ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียนหรือโรงเรียน
- กลุ่มที่
3
อาจารย์และบุคลากร ได้แก่ ข้อมูลประวัติ ผลงาน ประวัติการสอน
ผลการประเมิน ผลงานทางวิชาการ โครงการที่เกี่ยวข้อง
- กลุ่มที่
4
การดำเนินการ ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรงเรียน
เช่น การสร้างอาคารใหม่ ข้อมูลบัญชีและการเงิน ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร
การเรียนการสอน การดำเนินการอื่น ๆ
- กลุ่มที่
5
ทรัพย์สิน ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง ห้องเรียน
อุปกรณ์การสอน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และเครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์
ฯลฯ
- กลุ่มที่
6
ผู้ค้ากับโรงเรียน ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขายสินค้าและบริการให้แก่โรงเรียน
เช่น ผู้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ขายอุปกรณ์เครื่องเขียน
ฯลฯ
- กลุ่มที่
7
มิตรสหาย ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับ โรงเรียนอื่น ๆ สถาบันอุดมศึกษา
เพื่อนอาจารย์ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับ หลักสูตรวิชาระดับอุดมศึกษา
และ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่บรรดามิตรสหายจัดทำขึ้น
- กลุ่มที่
8
สิ่งแวดล้อม ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม
เช่น ชื่อและตำแหน่งข้าราชการในท้องถิ่น โครงการในท้องถิ่น
เศรษฐกิจท้องถิ่น ทรัพยากรในท้องถิ่น ภูมิปัญญา แหล่งท่องเที่ยวและสาธารณประโยชน์ทั้งหลาย
- กลุ่มที่
9
กฎระเบียบและรายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยเหนือ ได้แก่ชื่อผู้บังคับบัญชาระดับต่าง
ๆ กฎระเบียบและรายละเอียด ฯลฯ
ผมเน้นว่าการจัดทำระบบ
MIS ต้องพยายามจัดหาข้อมูลเหล่านี้ให้ได้ เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการบริหารจัดการโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จ
(ดร.
นิพนธ์) อภิปรายว่า การบริหารโรงเรียนในปัจจุบัน จำเป็นจะต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะให้ผู้บริหารโรงเรียนของรัฐทำงานได้เหมือนกับผู้บริหารเอกชน
เวลานี้ผู้บริหารโรงเรียนไทยต้องทำงานภายใต้ภาวะความขาดแคลน
งบประมาณก็จำกัด แต่ภาครัฐก็อยากให้ผู้บริหารเป็นมือ Professional
การที่จะบริหารได้เช่นนั้นจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องใช้ข้อมูล
และข้อมูลที่ต้องนำมาใช้มากที่สุดเป็นเรื่องของ Partner แทนการเรียกว่า
Stake holder โดยเฉพาะก็คือ SSPPCC
- S
แรก คือ School ได้แก่ข้อมูลที่โรงเรียนต้องใช้ได้แก่นักเรียน
อาจารย์ และ การเรียนการสอน
- S
สองคือ Sponsor ซึ่งขอเรียกว่าหุ่นส่วน
- P
แรกคือ Parents คือ พ่อแม่
- P
สองคือ Principal ได้แก่ผู้บริหาร
- C
แรกคือ Community คือ ชุมชน
- C
สองคือ Commitment คือ ภารกิจ
ดร.
นิพนธ์เห็นว่า ผู้บริหารควรกำหนดทิศทางของโรงเรียนให้ชัดเจน
จากนั้นต้องกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ในการดำเนินการ โดยที่การกำหนดกลยุทธ์เราต้องตอบคำถามต่าง
ๆ ต่อไปนี้ให้ได้ จัดแล้วนักเรียนจะได้อะไร , ผู้ปกครองจะได้อะไร
, หลักสูตรควรเป็นอย่างไร , จะมีวิธีจัดการเรียนการสอนอย่างไรจึงจะมีคุณภาพ
, ทำอย่างไรจึงจะทำให้เด็กนักเรียน เรียนแล้วมีความรู้จริง ,
ทำอย่างไรให้ครูมีศักยภาพเพียงพอ , ในเมื่อโรงเรียนมีเงินจำกัดจะบริหารอย่างไร
, หากผู้บริหารโรงเรียนตอบคำถามเหล่านี้ในทางบวกได้ ก็จะทำให้เกิดรากฐานของการเรียนการสอนที่ดี
(อ.
สมศักดิ์ ครองยุทธ์)
อภิปรายว่า ภาวะของโรงเรียนในเวลานี้ คือ ขาดครู ขาดคน ขาดข้อมูล
ที่โรงเรียนทั้งหลายล้วนมีปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะได้ข้อมูลสำหรับใช้ในการบริหาร
ทุกวันนี้เรามีปัญหาเด็กสามด้านคือ โง่ เจ็บ และ จน อ.สมศักดิ์เชื่อว่าครูน่าจะเป็นหมอวิเศษสำหรับช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
หากแก้ไม่เป็นก็เท่ากับโรงเรียนบริหารงานไม่สำเร็จ
อ. สมศักดิ์ยอมรับว่า ข้อมูลเป็นปัญหาที่ยากมาก
ข้อมูลที่โรงเรียนปฏิบัติได้น่าจะดูจาก Outcome ของโรงเรียน
นั่นคือดูผลสัมฤทธิ์ของการเรียน และ สุขภาพของนักเรียน อ.สมศักดิ์เสนอให้เก็บข้อมูลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
(คุณประยงค์)
อภิปรายว่า ดร. อมรวิทย์ นาครทรรพ์ได้สรุปไว้ในข้อเขียนว่าโรงเรียนไทยทุกวันนี้มีความขาดแคลนไปทุกเรื่อง
แต่วันนี้ดีใจที่ทางกระทรวงศึกษาฯ ได้พยายามส่งเสริมการจัดการข้อมูลและสารสนเทศให้เป็นปัจจุบันและมีคุณภาพ
คุณประยงค์ได้นำเสนอให้ใช้ Key Success Factor สองกลุ่มคือ กลุ่มปัจจัยพื้นฐาน
และ กลุ่มระบบงาน ในด้านปัจจัยพื้นฐานนั้นมี ด้านวิสัยทัศน์
ความมุ่งมั่น แนวทางการพัฒนา บุคลากร และ งบประมาณ ส่วนกลุ่มระบบงาน
มี เรื่องของทีมงาน การพัฒนา และ การบริการ
ผู้อภิปรายแต่ละคนมีเวลาพูดเพียงสิบนาทีในรอบแรก
และรอบที่สองก็เป็นการสรุป ผมได้สรุปไว้สามประเด็นคือ
- ระบบ
MIS เป็นระบบที่ใหญ่ แต่เราสามารถพัฒนาได้ทีละน้อย เริ่มจากส่วนที่เป็นข้อมูลที่สำคัญ
แล้วค่อยขยายออกไปจนครบ
- การมีข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญก็จริง
แต่เรื่องที่สำคัญกว่าก็คือ การเห็นข้อมูลแล้วรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป
ส่วนนี้เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาหาประสบการณ์ตลอดเวลา
- กระทรวงต้องจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนด้านไอซีที
a. ให้คำแนะนำ
b. ให้ความรู้ด้านไอซีที
c. จัดหลักสูตรฝึกอบรม
d. จัดทำซอฟต์แวร์และให้บริการซอฟต์แวร์
e. ให้การเชื่อมโยงประสาน
f. พัฒนาระบบแบบ Outsource
ผมบันทึกรายละเอียดมาได้แค่นี้
แต่เชื่อว่าการสัมมนาคงจะมีเนื้อหาที่สรุปได้จากการปฏิบัติการอีกมาก
ใครสนใจคงจะต้องติดต่อขอรายละเอียดและข้อมูลมาศึกษากันเอง
|