Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

องค์การที่มีวุฒิภาวะสูง

ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต
Authorized CMMI Instructor and Lead Appraiser
29 ตุลาคม 49

        องค์การทั้งหลายไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนควรมีความเจริญก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป. องค์การที่ก่อตั้งมานานแล้วควรมีวุฒิภาวะสูงและมีความสามารถเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ. แต่ดูเหมือนว่าองค์การจำนวนมากไม่ได้เป็นเช่นนี้. องค์การหลายแห่งยิ่งมีอายุมากขึ้นยิ่งทรุดโทรมลงไป. การทำงานเฉื่อยชา, ขาดความกระฉับกระเฉง และ ไม่มีผลงานมากเท่าที่ผู้คนคาดหวัง. ถ้าหากองค์การนั้นเป็นองค์การภาครัฐซึ่งการยุบหน่วยงานทำได้ยาก, รัฐบาลก็มักจะอนุมัติให้ก่อตั้งหน่วยงานในลักษณะเดียวกันขึ้นมาใหม่. มียกเว้นก็เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่รัฐบาลตัดสินใจยุบองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ซึ่งไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทเอกชนได้แล้ว. แต่ถ้าเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่สามารถจะแข่งขันต่อไปได้แล้ว, ทางออกทางเดียวก็คือปิดกิจการ

        เมื่อสิบปีเศษมานี้ สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering Institute หรือ SEI) ในสังกัดมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน, รัฐพิตสเบิร์ก, สหรัฐอเมริกา ได้สร้างต้นแบบสำหรับใช้ปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีวุฒิภาวะความสามารถสูงขึ้น. ต่อจากนั้น, สถาบัน SEI ก็ได้ปรับปรุงต้นแบบนี้ใหม่ และตั้งชื่อว่า CMMI (Capability Maturity Model Integration), ต้นแบบใหม่นี้สามารถนำไปใช้ทั้งในการพัฒนาซอฟต์แวร์, การพัฒนาระบบที่ซับซ้อน และ การพัฒนากระบวนการทำงานได้ด้วย. ต้นแบบ CMMI นี้เน้นแนวคิดใหม่ในการสร้างองค์การให้ก้าวหน้าไปสู่ความเป็นองค์การที่มีวุฒิภาวะสูง (High Maturity Organization)

        คำว่าวุฒิภาวะ (Maturity) หมายความถึงความก้าวหน้าในด้านการปฏิบัติงานจากระดับที่อาจเรียกว่ายังไม่เป็นโล้เป็นพาย ไปสู่ระดับที่ดีเลิศ. ส่วนคำว่าความสามารถ (Capability) หมายถึงการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดี. องค์การในปัจจุบันจำเป็นต้องมีทั้งความสามารถและทั้งวุฒิภาวะที่สูงขึ้น. ลำพังมีความสามารถอย่างเดียวแต่ไม่มีวุฒิภาวะสูงขึ้น, องค์การจะไม่สามารถเติบโตและแข่งขันในอนาคตได้. ในทางกลับกัน, องค์การไม่สามารถมีวุฒิภาวะสูงขึ้นได้ ถ้าหากการปฏิบัติงานขององค์การไม่มีความสามารถมากพอ

        ต้นแบบ CMMI มีส่วนประกอบสามส่วน คือ รายละเอียดหัวข้อปฏิบัติเพื่อก้าวไปสู่องค์การที่มีวุฒิภาวะสูง, รายละเอียดสำหรับการประเมินองค์การว่ามีวุฒิภาวะระดับใด, และ หัวข้อสำหรับการฝึกอบรม. อีกนัยหนึ่ง, ต้นแบบ CMMI มี องค์ประกอบครบถ้วนสำหรับให้องค์การนำไปใช้ในการพัฒนาและประเมินตนเอง

        ตามหลักการของ CMMI แล้ว, องค์การที่มีวุฒิภาวะสูงจะต้องมีกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐาน. ยกตัวอย่างเช่น องค์การที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ ต้องกำหนดกระบวนการมาตรฐานในการพัฒนาซอฟต์แวร์, บริษัทอุตสาหกรรมต้องกำหนดกระบวนการผลิตที่เป็นมาตรฐาน, หรือ ศูนย์สารสนเทศ ก็ต้องกำหนดกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐาน. นอกจากกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจหลักขององค์การแล้ว, ต้นแบบ CMMI v 1.2 ซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2549 นี้ ยังกำหนดให้ต้องมีกระบวนการสำคัญอีก 22 กระบวนการด้วย. กระบวนการที่กำหนดให้ต้องมีนั้นเป็นตัวเสริมให้การดำเนินงานขององค์การเป็นไปอย่างราบรื่น. ตัวอย่างของกระบวนการเหล่านี้ได้แก่: กระบวนการวางแผน, กระบวนการจัดการความเสี่ยง, กระบวนการประกันคุณภาพ, กระบวนการพัฒนากระบวนการทำงานมาตรฐาน, กระบวนการวัดและวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน. ในบทความนี้จะไม่กล่าวถึงกระบวนการเหล่านี้ เพราะมีเนื้อหากว้างขวางมาก. แต่จะกล่าวถึงหัวข้อการปฏิบัติสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งต้นแบบ CMMI ได้กำหนดให้ทุกองค์การต้องทำ

        หัวข้อการปฏิบัติที่ทุกกระบวนการไม่ว่าเป็นกระบวนการหลักขององค์การ หรือ กระบวนการตามที่ CMMI กำหนดให้ทำนั้น มีอยู่ 17 หัวข้อด้วยกัน. ไม่ว่าองค์การจะดำเนินการใด ๆ หากคำนึงถึงและปฏิบัติตามหัวข้อทั้ง 17 หัวข้อนี้ครบถ้วน จะทำให้วุฒิภาวะขององค์การสูงขึ้น. อย่างไรก็ตามในที่นี้ขอนำหัวข้อการปฏิบัติทั้ง 17 หัวข้อนั้นมาปรับปรุงเป็น 15 หัวข้อ ดังนี้

  1. องค์การต้องกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานตามกระบวนการต่าง ๆ ให้ครบถ้วน. องค์การต้องกำหนดรายละเอียดของขั้นตอนในกระบวนการ, กำหนดส่วนที่เป็นอินพุต, ขั้นตอนการตัดสินใจ, กระแสการปฏิบัติงาน, ผลลัพธ์ของการทำงาน, ตัววัดที่เกี่ยวกับการดำเนินการ, รวมทั้งแนวทางการวิเคราะห์ตัววัดที่เก็บมาได้
  2. องค์การต้องกำหนดนโยบายในการทำงานตามกระบวนงานนั้นอย่างชัดเจน. องค์การต้องกำหนดทั้งแนวทางปฏิบัติ, มาตรฐาน, และ วิธีการควบคุม. ต้นแบบ CMMI ถือว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการผูกพันทำให้ผู้บริหารระดับสูงต้องสนใจและรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของกระบวนการนั้น. ถ้าหากไม่มีนโยบายที่ชัดเจน, การดำเนินงานก็อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุน หรือ เมื่อมีปัญหา ผู้บริหารระดับสูงก็ไม่ใส่ใจจะช่วยแก้ไข. ในที่สุดแล้ว การทำงานก็อาจจะไม่ให้ผลดีตามที่ต้องการ
  3. การทำงานตามกระบวนการทั้งหลายต้องมีการวางแผนเสมอ. องค์การจะลงมือปฏิบัติงานใด ๆ โดยไม่มีแผนงานไม่ได้. เรื่องแผนงานนั้นมีคนต่อต้านกันมาก. ผู้คัดค้านมักจะอ้างว่าแผนงานไม่มีประโยชน์ เพราะมีแล้วก็ใช้ไม่ได้. ความจริงแล้ว แผนงานส่วนใหญ่ที่ทำขึ้นแล้วใช้ไม่ได้นั้นเป็นเพราะวางแผนกันไม่เป็น. กระบวนการทำงานที่สำคัญอย่างหนึ่งขององค์การทุกแห่งก็คือกระบวนการวางแผน. นอกจากนั้นเมื่อจะเริ่มกระบวนการวางแผน ก็ต้องวางแผนกระบวนการวางแผนเสียก่อน. ถ้าหากผู้มีหน้าที่วางแผนยังวางแผนไม่เป็นก็ต้องไปเข้ารับการฝึกอบรมให้ทำเป็นเสียก่อน. (ดูข้อปฏิบัติที่ 5 ประกอบ)
  4. ต้องจัดสรรทรัพยากรให้กระบวนการนั้นพอเพียง. เป็นเรื่องที่ทราบดีอยู่แล้วว่าการดำเนินงานตามกระบวนการต่าง ๆ จะบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อมีทรัพยากรพร้อม. แต่เป็นเรื่องแปลกที่ผู้บริหารบางคนก็ไม่ยอมรับเรื่องนี้. นั่นคือกำหนดให้ทำงานโดยไม่จัดสรรทรัพยากรมาให้พอเพียง. ทรัพยากรในที่นี้หมายความรวมทั้งคน เงิน เครื่องมือ เครื่องใช้ สถานที่ปฏิบัติงาน และ เวลาสำหรับทำงาน. หากผู้บริหารไม่สนใจในการจัดสรรทรัพยากรให้ ก็แสดงว่าองค์การยังไม่มีวุฒิภาวะสูงพอ
  5. ต้องมอบหมายหน้าที่ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างชัดเจน. การปฏิบัติงานใด ๆ จำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบ และเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องแต่งตั้งและมอบหมายหน้าที่นั้นอย่างชัดเจน. หากไม่ทำเช่นนี้ก็อาจจะไม่มีใครสนใจดูแลให้การดำเนินงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้. ไม่มีใครลงมือปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง และ ไม่มีใครจะตรวจสอบความก้าวหน้าและรายงานผลให้ผู้บริหารทราบ
  6. ต้องฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้ดำเนินงานตามกระบวนการนั้นได้. เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่องค์การหลายแห่งมักจะมองข้าม. หากลองพิจารณาดูความเป็นไปของหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนหลายแห่งจะพบว่านี่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของไทย. เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารเองหลายคนก็ไม่มีความสามารถในการบริหารงานของหน่วยงาน เพราะได้ดีมาทางการประจบประแจงนักการเมือง. ปัจจุบันนี้ยังโชคดีที่มีการตั้งสถาบันหลายแห่งและหลักสูตรฝึกอบรมหลายเรื่องสำหรับนักบริหาร ทำให้ผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมและเริ่มคิดเป็นบ้าง. แต่สิ่งที่อาจจะยังขาดก็คือความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในองค์การเองซึ่งเรื่องนี้ขอเรียกว่าเป็น Subject Domain. นอกจากผู้บริหารจะไม่ได้รับการฝึกอบรมแล้ว พนักงานที่ปฏิบัติงานในหลายแห่งก็ไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมเช่นกัน. ข้ออ้างสำคัญที่ได้รับฟังอยู่เสมอก็คือ ไม่มีงบประมาณ. แต่บ่อยครั้ง ผู้บริหารเองนั่นแหละคือผู้ที่ไม่สนับสนุน. ต้นแบบ CMMI เน้นเรื่องการฝึกอบรมมาก และ กำหนดไว้เป็นหลักการว่า ผู้ที่จะดำเนินการใด ๆ ได้ ต้องได้รับการฝึกอบรมให้ทำงานด้านนั้นเป็นก่อน. ดังนั้นองค์การที่มีวุฒิภาวะสูงต้องเน้นการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้จริง และ ต้องมีแผนการพัฒนาบุคลากรและมีการจัดสรรงบประมาณด้านนี้ให้พอเพียง
  7. ต้องจัดเก็บรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงาน การดำเนินงาน และ ผลงานเอาไว้เพื่อการควบคุม. เรื่องนี้สำคัญมาก องค์การต้องกำหนดวิธีการจัดเก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินงานเอาไว้ให้ครบถ้วน. วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เป็นประวัติสำหรับติดตามการดำเนินงาน และควบคุมให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้อง. ความจริงแล้วองค์การต่าง ๆ ล้วนมีการจัดเก็บเอกสารต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่มักเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับธุรกรรมของหน่วยงาน. เอกสารในที่นี้เน้นในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการขององค์การด้วย. เช่น การวางแผนงานก็ต้องเก็บเอกสารเกี่ยวกับการวางแผนว่าใช้ข้อมูลอะไรบ้างในการวางแผน, เก็บแผนที่เขียนขึ้นและที่ต้องปรับปรุงใหม่เป็นระยะ ๆ. การทำเอกสารนี้เป็นหัวข้อปฏิบัติที่เป็นมรดกมาจากการพัฒนาซอฟต์แวร์. นั่นคืองานที่เรียกว่า Configuration Management หรือ การจัดการเอกสารซอฟต์แวร์ระหว่างการพัฒนา เพื่อให้สามารถติดตามการพัฒนาได้ว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว
  8. ต้องพิจารณาว่ากระบวนการนั้นเกี่ยวข้องกับผู้ใดบ้าง และต้องให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเสมอ. กระบวนการทำงานต่าง ๆ นั้นอาจต้องเกี่ยวข้องทั้งกับผู้ที่อยู่ในองค์การและหรือนอกองค์การ. ถ้าหากผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องด้วยนั้นไม่ได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กำหนดไว้, ผลงานก็อาจจะไม่สำเร็จดีเท่าที่ควร. ดังนั้นก่อนดำเนินงานใด ๆ ต้องพิจารณาว่างานนั้นจะไปเกี่ยวข้องกับใครบ้าง. ต้องเข้าใจความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องให้ชัดเจน และต้องดูแลให้ผู้นั้นเข้ามาร่วมงานตามความรับผิดชอบ
  9. ต้องควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงาน. การควบคุมงานนั้นเป็นเรื่องจำเป็น และผู้ที่ทำหน้าที่บริหารการดำเนินงานกระบวนการต้องดูแลและติดตามว่าการดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและสอดคล้องกับแผนงานหรือไม่. ถ้าไม่เป็นไปตามแผนก็ต้องเร่งรีบแก้ไข
  10. ต้องตรวจสอบว่าการดำเนินงานนั้นเป็นไปตามหัวข้อปฏิบัติที่กำหนดเอาไว้และบรรลุเป้าหมายครบถ้วนหรือไม่. ในบทความนี้ไม่ได้กล่าวถึงหัวข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของหน่วยงาน. ดังนั้นพึงเข้าใจด้วยว่า ทุกองค์การจะต้องกำหนดกระบวนการทำงาน และหัวข้อปฏิบัติในกระบวนการนั้นให้เป็นมาตรฐานด้วย. ยกตัวอย่างเช่น ในการรับพนักงานใหม่, จะต้องมีหัวข้อปฏิบัติมาตรฐานเกี่ยวกับการรับสมัคร, การสัมภาษณ์, การรับเข้าเป็นพนักงาน, การประเมิน, และ การพัฒนาพนักงานอย่างครบถ้วน. นอกจากการกำหนดหัวข้อปฏิบัติแล้ว ยังต้องกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ไว้ด้วย. เมื่อดำเนินการรับพนักงานใหม่ก็ต้องตรวจสอบว่า การดำเนินงานนั้นเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานการดำเนินงานของกระบวนการนั้นหรือไม่, และ จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่
  11. ต้องมีการรายงานผลให้ผู้บริหารระดับสูงรับทราบ. การดำเนินงานใด ๆ ต้องมีการสรุปผลการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ. การรายงานผลนั้นมีหลายวิธี: คือ การรายงานด้วยวาจาแก่ผู้บริหาร, การจัดประชุมนำเสนอความก้าวหน้า, หรือ การรายงานด้วยเอกสาร. วิธีที่น่าจะเหมาะสมและสอดคล้องกับหัวข้อปฏิบัติข้อ 7 ด้วยก็คือ การจัดทำรายงานเป็นเอกสาร. รายงานนี้ควรจัดทำเป็นสองแบบ. แบบแรกคือรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ ตามที่กำหนดในแผนงาน. แบบที่สองก็คือรายงานเมื่อเกิดปัญหา. การรายงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการก็จริงอยู่ แต่มีความหมายต่อไปว่า ผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับรายงานนั้นจะต้องพิจารณาความก้าวหน้า หรือ ปัญหา และ ดำเนินการช่วยเหลือเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย
  12. ต้องรวบรวมผลการดำเนินงานและข้อพิจารณาเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน. หัวข้อปฏิบัตินี้เป็นเรื่องที่องค์การไทยมักจะไม่ค่อยได้คิด. ผู้ปฏิบัติงานตามองค์การต่าง ๆ มักได้รับประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ผ่านมา. แต่น้อยนักที่จะหวนกลับมาคิดว่า ถ้าหากจะให้ทำงานนั้นใหม่ พวกเขาควรจะทำอย่างไร หรือ ควรปรับปรุงอย่างไร. ด้วยเหตุนี้เอง หากองค์การต้องทำงานนั้นอีก, การปฏิบัติงานก็อาจจะผิดพลาดเหมือนเดิมต่อไปเรื่อย ๆ. การปรับปรุงกระบวนการทำงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากของการมีวุฒิภาวะสูงขึ้น. เรื่องนี้คือหัวใจของต้นแบบ CMMI เลยทีเดียว. โดยทั่วไป องค์การต้องกำหนดให้มีกลุ่มผู้รู้งานขององค์การคอยช่วยกันพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการทั้งหมดให้มีความสามารถดีขึ้น. บุคคลกลุ่มนี้จะรับข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและข้อเสนอในการปรับปรุงการทำงานจากผู้ปฏิบัติ แล้วนำมาปรับปรุงกระบวนการอยู่เสมอ. โดยวิธีนี้ องค์การก็จะมีกระบวนการทำงานที่ดีขึ้นตลอดเวลา
  13. ต้องจัดการการปฏิบัติงานต่าง ๆ ในเชิงสถิติ. บริษัทอุตสาหกรรมรู้จักการจัดการแบบนี้ดีในชื่อว่า Statistical Process Control. สถาบัน SEI เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมาก จึงนำมากำหนดเป็นหัวข้อปฏิบัติสำหรับองค์การที่มีวุฒิภาวะระดับสูง. โดยหลักการก็คือ องค์การต้องกำหนดตัววัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการทำงานทั้งหมดขององค์การ. จากนั้นก็กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานต้องวัดผลการดำเนินงานและวัดผลงานตามตัววัดที่สร้างขึ้น. ผู้บริหารงานต้องนำตัววัดมาพิจารณาเพื่อจัดการให้การดำเนินงานได้ผลดีขึ้น หรือ อีกนัยหนึ่งคือต้องคอยตรวจสอบการดำเนินงาน และ ปรับค่าสำหรับควบคุมผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง. ขอยกตัวอย่างที่ใช้กันทั่วไปให้เห็นภาพชัดขึ้น. ในด้านการขายสินค้า, ผู้บริหารการขายจำเป็นต้องทราบว่าเป้าหมายที่เป็นยอดขายเฉลี่ยเป็นเท่าใด. เมื่อการขายตกต่ำไม่เป็นไปตามยอดเฉลี่ย, ผู้บริหารต้องแก้ปัญหาโดยปรับเปลี่ยนวิธีการขายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย. แต่ถ้าหาก การขายได้ผลดีทำยอดขายได้สูง, ผู้บริหารก็ต้องปรับยอดขายให้สูงขึ้นตาม. สำหรับองค์การอื่น ๆ ก็มีลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์, งานอุตสาหกรรม, หรือ งานบริการ
  14. ต้องค้นหาสาเหตุของปัญหา. องค์การทั้งหลายล้วนต้องเคยประสบปัญหาในการดำเนินงานมาแล้วทั้งนั้น. ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสองลักษณะใหญ่ ๆ. ลักษณะแรกคือปัญหาพิเศษที่ไม่คาดฝัน เช่น เกิดอุบัติภัยจนพนักงานมาปฏิบัติงานไม่ได้, เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง, เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ, ฯลฯ. ลักษณะที่สองคือปัญหาเรื้อรังที่เกิดประจำ เช่น ปัญหาพนักงานทำงานผิดพลาดประจำ หรือ เครื่องจักรเก่าหรือบกพร่อง. การแก้ปัญหาพิเศษ ทำได้ยาก แต่อาจคาดคะเนได้ด้วยการศึกษาความเสี่ยงล่วงหน้า และเตรียมการรับความเสี่ยงไว้ก่อน. ส่วนการแก้ปัญหาเรื้อรังนั้น องค์การต้องใช้วิธีค้นหาสาเหตุร่วมของปัญหา แล้วหาทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานั้น
  15. ต้องสร้างวัฒนธรรมของการปรับปรุงตนเอง. เรื่องนี้สำคัญมากเพราะองค์การที่มีวุฒิภาวะสูงจะต้องพยายามปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง. นั่นหมายถึงจะต้องสร้างคนในองค์การให้วัฒนธรรมในการปรับปรุงตนเองเสมอ. การปรับปรุงนี้มีความหมายรวมทั้ง การปรับปรุงความสามารถของตนเอง, ความสามารถของกระบวนการ, และ ความสามารถในการบริหารกระบวนการด้วย. องค์การใดที่ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ได้จะไม่มีทางก้าวไปสู่วุฒิภาวะระดับสูงได้เลย
  16.         การนำแนวคิดเกี่ยวกับหัวข้อปฏิบัติไปสู่ความเป็นองค์การที่มีวุฒิภาวะระดับสูงไปใช้นั้น ไม่ใช่เรื่องยากมากนัก. ทั้งหมดขึ้นอยู่กับบุคลากรทุกระดับขององค์การเอง. ที่สำคัญคือผู้บริหารระดับสูงจะต้องเห็นชอบกับแนวคิดและมีความปรารถนาที่อยากจะเห็นองค์การของตนมีวุฒิภาวะระดับสูงเสียก่อน. อย่างไรก็ตาม บทความนี้ทำได้แต่เพียงชี้แนะหัวข้อปฏิบัติที่สำคัญเท่านั้น. ถ้าหากต้องการศึกษาโดยละเอียดก็จะต้องเข้าฝึกอบรมเรื่อง CMMI ซึ่งทาง เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย (Software Park ) เป็นผู้จัดเป็นประจำ

            แนวคิดที่นำมาเสนอนี้ความจริงแล้วยังอาจนำไปใช้ในระดับบุคคลได้ด้วย. ลองย้อนกลับไปอ่านหัวข้อปฏิบัติทั้ง 15 ข้อใหม่อีกครั้ง. คราวนี้ลองพิจารณาเทียบกับงานที่เราต้องทำในปัจจุบันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาระดับใด ๆ , การปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า, การสั่งซื้อวัสดุครุภัณฑ์ให้หน่วยงาน, หรือ แม้แต่การจัดงานสมรส, จะพบว่าเราสามารถนำหัวข้อปฏิบัติมาประยุกต์ให้งานที่เราทำอยู่นั้นมีระดับความสามารถเพิ่มขึ้นได้จริง

    บรรณานุกรม

    1. Chrissis, Mary Beth., Mike Konrad and Sandy Shrum, CMMI- Guidelines for Process Integration and Product Development, Addison Wesley, Boston, 2003
    2. ดูรายละเอียดอื่น ๆ ในเว็บ www.sei.cmu.edu
    3. ดูหลักสูตรฝึกอบรม CMMI ในเว็บ www.swpark.org

    Home | Back