Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

 

Home
IT Idea for Spiritization

คำทักทาย ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2551

 

สวัสดีครับ

        ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ผมได้เดินทางไปภาคอีสานรวมสองครั้ง แต่ละครั้งก็ไปดูการดำเนินการโครงการ SML ในจังหวัดรวมทั้งหมด 4 จังหวัดด้วยกันครับ ผมเองนั้นความจริงก็เกิดในชนบท แต่ก็มาอยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เล็ก จึงไม่ได้มีโอกาสรับทราบวิถีชีวิตและความเป็นไปของชาวชนบทมากนัก ผมจึงไม่ค่อยทราบความคิดเห็นของคนในชนบทมากนัก เวลาที่ผมเขียนเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี และ การพัฒนาประเทศ ก็เน้นไปที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก คือนำเอากรุงเทพฯ ไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่

        สาเหตุที่ทำให้ผมต้องเดินทางไปอีสานก็เพราะผมเป็นประธานอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อนุคตป. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง

        อนุกรรมการแบบนี้มีอยู่สี่ชุด หน้าที่หลักของเราก็คือสอบทานผลการตรวจสอบภายใน, การควบคุมภายใน, การดำเนินงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ, งบการเงิน และ รายงานการตรวจสอบของผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นยังมีการตรวจสอบโครงการพิเศษด้วยซึ่งในปีนี้ก็คือการตรวจสอบการดำเนินการของโครงการ SML

        ในช่วงแรกคณะอนุกรรมการชุดที่ผมเป็นประธาน ได้เดินทางไปจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในของจังหวัดและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับ การควบคุมภายใน (Internal control) และผมก็ถือโอกาสอธิบายความก้าวหน้าเกี่ยวกับการประยุกต์ไอซีที และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วย การสัมมนานี้เราจัดตอนต้นเดือนสิงหาคมที่จังหวัดอุดรธานี และ ตอนปลายเดือนที่จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างการจัดสัมมนา เราก็เดินทางไปเยี่ยมคารวะและปรึกษาหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องการตรวจสอบ และ การดำเนินงานด้านไอซีทีของจังหวัด แล้วก็ออกไปยังหมู่บ้านที่เลือกไว้เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการที่แต่ละหมู่บ้านเลือกขึ้น

        ความจริงแล้วการจัดสรรเงินให้ชนบททั่วประเทศใช้เพื่อพัฒนาสิ่งที่แต่ละชุมชนหมู่บ้านเห็นว่าเป็นประโยชน์นั้นมีมานานแล้ว โครงการแรกก็คือโครงการเงินผันในสมัยที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจากนั้นมาก็มีการจัดสรรเงินให้ในรูปแบบต่าง ๆ หลายแบบ แม้แต่การจัดสรรงบประมาณ ผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ ผู้ว่า CEO นั้นก็เพื่อให้ท่านผู้ว่าฯ สามารถนำเงินไปพัฒนาได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ก่อนหน้าที่รัฐบาลชุด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะถูกปฏิวัตินั้น ก็มีโครงการชื่อ SML หรือ Small, Medium, Large ซึ่งหมายถึงขนาดของหมู่บ้านเล็ก, กลาง, ใหญ่ ซึ่งมีการกำหนดให้หมู่บ้านชุมชนไปคิดโครงการพัฒนาหมู่บ้านขึ้นมานำเสนอต่อรัฐบาล แล้วรัฐบาลก็มีคณะกรรมการคัดเลือกจัดสรรเงินงบประมาณให้ไปดำเนินการ การดำเนินงานตามโครงการเหล่านี้ในทางหนึ่งก็เพื่อให้หมู่บ้านมีงบประมาณไปใช้จ่ายตามความต้องการ ซึ่งประชาชนในหมู่บ้านต้องร่วมกันพิจารณาเองวาต้องการอะไรแล้วนำเสนอขึ้นมา หลังจากเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลชุด พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แล้ว โครงการ SML ก็ถูกพับไปซึ่งคงจะเห็นว่าเป็นโครงการแบบประชานิยม แต่รัฐบาลเองก็ได้รับคำเรียกร้องจากประชาชนในชนบทว่าโครงการนี้ควรทำต่อ รัฐบาลก็เลยดำเนินการต่อในชื่อว่า โครงการตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข และจัดสรรเงินไปให้จังหวัดต่าง ๆ พิจารณาส่งให้หมู่บ้านนำไปพัฒนาท้องถิ่น ครั้นมาถึงต้นปีนี้มีการเลือกตั้งและ พรรคไทยรักไทย ได้เป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล รัฐบาลก็สั่งให้เปลี่ยนโครงการอยู่ดีมีสุขกลับมาเป็นโครงการ SML ใหม่ และนั่นก็คือโครงการที่พวกผมไปดูนั่นแหละครับ

        โครงการเหล่านี้มีปัญหาในการดำเนินงานอย่างไร ผมจะไม่เล่าในที่นี้เพราะเป็นเรื่องที่ผมจะต้องรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อคิดหาวิธีแก้ไขต่อไป แต่ผมจะเล่าว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการทั้งหลายก็คือทำให้หมู่บ้านชุมชน มีความเข้มแข็ง ได้เรียนรู้วิธีการทำโครงการ และ ประชาชนได้รับประโยชน์จริง

        ผมบอกไม่ได้ว่า ทุกหมู่บ้านบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้หรือไม่ เพราะแต่ละจังหวัดมีโครงการนับพันโครงการ และผมมีเวลาไปเยี่ยมเยือนเพียงจังหวัดละหนึ่งหรือสองโครงการเท่านั้น อย่างไรก็ตามผมเห็นชัดว่า หมู่บ้านที่ทำโครงการนี้ได้สำเร็จเป็นอย่างดี ล้วนมีผู้นำ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน หรือ กำนันที่มีความรู้และเข้มแข็ง อีกทั้งมีวิสัยทัศน์ที่เห็นภาพในอนาคตว่าหมู่บ้านควรจะพัฒนาไปทางไหน ด้วยย่างก้าวแบบใด แต่ที่สำคัญยิ่งขึ้นก็คือ ข้าราชการที่ดูแลและปกครองท้องถิ่นนั้นจะต้องให้การสนับสนุนและประคับประตองให้การดำเนินงานตามโครงการเป็นไปอย่างราบรื่น

        เรื่องชนบทไทยนี้ ผมทราบมาว่ามีนักสังคมศาสตร์จากสถาบันต่าง ๆ ได้ศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ มากมายแล้ว นอกจากนั้นยังได้เขียนเป็นบทความออกมาเผยแพร่กันมาก แต่ขอพูดตรง ๆ นะครับ ผมคิดว่าบทความทางสังคมศาสตร์ที่เขียนกันมากมายนั้นอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องเลย ถ้าหากท่านนักวิชาการสังคมศาสตร์จะเปลี่ยนวิธีเขียนให้เป็นวิชาการน้อยลง ก็จะทำให้สิ่งที่ท่านได้ศึกษาวิจัยมานั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทั่วไปมากขึ้น ผมคิดว่าขณะนี้มีช่องว่างค่อนข้างมากระหว่างเมืองใหญ่ ๆ กับชนบท และยังมีช่องว่างระหว่างความคิดของคนในเมืองใหญ่กับคนในชนบทอีกมาก ถ้าหากเราไม่รีบขจัดช่องว่างนี้ให้หายไปหรือทำให้แคบลงแล้ว ชนบทจะกลายเป็นปัญหาใหญ่มากของประเทศในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของคนกรุงเข้าไปใช้ประโยชน์จากชนบทอย่างไม่เป็นธรรม หรือปัญหาการที่คนท้องถิ่นที่ไม่ซื่อสัตย์ใช้ความช่วยเหลือของรัฐบาลไปหาประโยชน์ให้ตนเอง

        นอกจากเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ผมยังไปร่วมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ด้วยครับ

        ผมรับหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการคัดเลือกนักเรียนไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกมาเป็นเวลานาน 18 ปีแล้ว แต่ในช่วงหกปีที่แล้วผมไม่ได้คุมทีมนักเรียนไปแข่งขันเอง คงมอบหมายให้ ดร. พันธ์ปิติ เปี่ยมสง่า เป็นหัวหน้าทีม ดร. จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล เป็นรองหัวหน้าทีม อย่างไรก็ตามปีนี้ ผม ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการนานาชาติในการจัดแข่งขัน ดังนั้นผมจึงต้องไปร่วมประชุมซึ่งจัดขึ้นระหว่างการแข่งขันด้วย การแข่งขันคราวนี้ทุกคนก็คงทราบแล้วนะครับว่า นักเรียนไทยได้เหรียญทองสองเหรียญ, เหรียญเงินหนึ่งเหรียญ และ เหรียญทองแดงหนึ่งเหรียญ

        การที่ผมได้เป็นกรรมการนานาชาติ ก็ไม่ใช่เพราะมีใครเขาพิศวาสผมหรอกครับ แต่เพราะทางประเทศไทยได้รับมอบหมายให้จัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกในปี ค.ศ. 2011 และ ไทยเราต้องเตรียมตัวศึกษาการจัดการแข่งขันตั้งแต่ปีนี้และอีกสองปีข้างหน้าเพื่อให้สามารถจัดการแข่งขันได้อย่างราบรื่นไร้เสียงตำหนิ ดังนั้นทางเราจึงต้องส่งคณะอาจารย์นำโดย รศ. ยืน ภู่วรวรรณ ไปช่วยดูแง่มุมต่าง ๆ ของการจัดการแข่งขัน ให้แน่ใจว่าเราเข้าใจกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะต้องจัดในระหว่างการแข่งขัน

        หลายคนที่อ่านบทความนี้อาจจะไม่ทราบว่า เขาแข่งขันอะไรกัน ผมจะขอเล่าให้ฟังย่อ ๆ ครับว่ากำหนดการทั่วไปมีดังนี้

  • เสาร์ที่ 16 สิงหาคม ผู้เข้าแข่งขันทุกชาติเดินทางมาถึงสถานที่แข่งขันคือ Mubarak Education City (เป็นสถานที่ฝึกอบรมอาจารย์ของอียิปต์ และตั้งอยู่กลางทะเลทราย ห่างจากกรุงไคโรกว่า 40 กม.) ปีนี้มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 78 ประเทศ มีนักเรียนเข้าแข่งขันทั้งหมด คน
  • อาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม วันเปิดการแข่งขัน และ การซ้อมเขียนโปรแกรมกับคอมพิวเตอร์ที่จะใช้แข่งขันจริง (การแข่งขันเป็นแบบ 1 คน 1 เครื่อง หรือต่างคนต่างเขียน ไม่ได้ช่วยกัน) ช่วงเย็น หัวหน้าและผู้ช่วยหัวหน้าทีมเข้าประชุมกรรมการใหญ่เพื่อคัดเลือกโจทย์ที่จะให้นักเรียนสอบแข่งขัน โดยทางผู้จัดแข่งขันจะเสนอโจทย์ให้พิจารณา และอภิปราย ถ้าพอใจก็ใช้ ถ้าไม่พอใจเล็กน้อยในบางจุดก็แก้ไขโจทย์นั้นใหม่ หรือถ้าไม่พอใจมาก ก็อาจจะโหวตไม่ยอมรับโจทย์ และผู้จัดก็จะเสนอโจทย์ใหม่ให้เลือก รวมทั้งหมดก็จะเลือกโจทย์ไว้สามข้อ สำหรับใช้ทำนาน 5 ชั่วโมง โจทย์เหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อเลือกได้แล้ว แต่ละประเทศก็ต้องแปลเป็นภาษาของตนเองเพื่อให้นักเรียนอ่านแล้วเข้าใจ (บางปีแปลไปจนถึงเช้ากว่าจะเสร็จ – ถ้าโจทย์ยาวมาก)
  • ันทร์ที่ 18 สิงหาคม นักเรียนรับประทานอาหารเช้าแล้ว ไปสอบตั้งแต่ 9 น. ถึง 14 น. จากนั้นกรรมการจะใช้โปรแกรมตรวจผลงานเขียนโปรแกรมของนักเรียน แล้วให้คะแนนเลย โดยการตรวจนี้ทางกรรมการได้จัดทำข้อมูลทดสอบโปรแกรมพร้อมผลลัพธ์ไว้แล้วรวม 10 ข้อ ถ้าหากผลลัพธ์ตรงตามที่กำหนดก็ได้ข้อละ 10 คะแนน ถ้าไม่ตรงก็ไม่ได้ รวมแล้วโจทย์สามข้อก็มีคะแนนเต็ม 300 คะแนน เมื่อได้คะแนนแล้วก็ประกาศให้แต่ละทีมทราบเลย ถ้าใครคิดว่าไม่น่าจะได้คะแนนตามที่ได้รับแจ้ง ก็สามารถคัดค้านและขอคำอธิบายได้
  • วันอังคารที่ 19 สิงหาคม หัวหน้าทีมและรองหัวหน้าทีม เข้าประชุมพิจารณาว่ามีใครทักท้วงคะแนนสอบหรือไม่ จากนั้นก็ร่วมกับนักเรียนเดินทางไปทัศนศึกษา (ในกรณีของอียิปต์นี้ก็คือเดินทางไปชมพิระมิด) จากนั้นตอนเย็นหัวหน้าทีมและรองหัวหน้าทีมก็ต้องเข้ประชุมเพื่อเลือกโจทย์อีกสามข้อสำหรับสอบวันที่สอง
  • วันพุธที่ 20 สิงหาคม เป็นการสอบวันที่สอง ซึ่งก็เหมือนกับวันจันทร์ที่ 18
  • วันพฤหัสบดี 21 สิงหาคม เป็นการพิจารณาผลสอบ, พิจารณาคะแนนว่าจะให้เหรียญต่าง ๆ เป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน ส่วนนักเรียนก็ไปเที่ยวทัศนศึกษา (ในกรณีของอียิปต์นี้ เขาพาไปสวนสนุก Dream Park ซึ่งแค่คิดผมก็เกือบสลายเป็นไอเพราะความร้อนแล้ว) โดยทั่วไปแล้วพิธีปิดจะเป็นวันศุกร์ แต่บังเอิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ทางผู้จัดได้เชิญมาเป็นประธานในการปิดนั้น ไม่ว่างในช่วงวันศุกร์ เขาจึงต้องจัดพิธีปิดและแจกเหรียญในวันนี้
  • วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม เขาพาทีมประเทศต่าง ๆ ไปเที่ยวทะเลแดง (ถ้าเป็นการจัดในประเทศอื่นก็จะจัดพิธีปิดในช่วงกลางวันหรือเย็น จากนั้นก็แสดงความยินดีและถ่ายรูปกัน แต่ทีมไทยเราได้รับความเอื้อเฟื้อจากท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำอียิปต์ ส่งรถมารับไปเที่ยวชมโอเอซิส และ พิระมิดขั้นบันไดที่ซักการา ก่อนจะเลี้ยงอาหารเย็นและส่งพวกเราไปยังสนามบินเพื่อบินกลับกรุงเทพฯ)
  • วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม ทีมประเทศอื่น ๆ ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ส่วนทีมไทยก็บินกลับมาถึงกรุงเทพฯ เวลาเที่ยงวันพอดี

        สรุปเหรียญที่ได้รับมีดังนี้
        นายภาณุพงศ์ ภาสุภัทร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหรียญทอง
        นายธนะ วัฒนวารุณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหรียญทอง
        นายอาภาพงศ์ จันทร์ทอง โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เหรียญเงิน
        นายวิสิฐ ภัทรนุธาพร โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เหรียญทองแดง
        โดยนายภานุพงศ์ ภาสุภัทร ได้คะแนนเป็นอันดับที่สองของนักเรียนที่เข้าแข่งขันทั้งหมด
การแข่งขันครั้งนี้มีประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมด 77 ประเทศ โดยผลการแข่งขัน เป็นดังนี้
ที่ประเทศเหรียญทองเหรียญเงินเหรียญทองแดงอันดับ
1จีน31-1
2โปแลนด์31-1
3รัสเซีย22-3
4สหรัฐอเมริกา22-3
5ไทย2115
6ไต้หวัน2115
7เกาหลีใต้13-7
8ออสเตรเลีย1218
9เบลารุส1218
10ฮังการี1218
11โครเอเชีย11211
12ญี่ปุ่น11211
13โรมาเนีย11113
14อินโดนีเซีย1-314
15แคนาดา1-215
16เยอรมัน1-215
17อังกฤษ-3-17
18บัลแกเรีย-2218
19เนเธอร์แลนด์-2218
20สโลวาเกีย-2218
21เวียดนาม-2218
22เชค-2-22
23คาซัคสถาน-2-22
24สวิตเซอร์แลนด์-2-22
25สิงคโปร์-1325
26ฮ่องกง-1226
27อิตาลี-1226
28ลัตเวีย-1226
29ลิทัวเนีย-1226
30ยูเครน-1226
31แมกซิโก-1131
32สวีเดน-1131
33คิวบา-1-33
34นิวซีแลนด์-1-33
35บราซิล--435
36จอเจียร์--336
37อินเดีย--336
38อาร์เจนติน่า--238
39อาร์มีเนีย--238
40ฟินแลนด์--238
41เซอร์เบีย--238
42ตุรกี--238
43ออสเตรีย--143
44โคลัมเบีย--143
45เดนมาร์ก--143
46อียิปต์--143
47ฝรั่งเศส--143
48กรีซ--143
49ลักเซมเบิร์ก--143
50สโลเวเนีย--143
51อัฟริกาใต้--143
52สเปน--143

        เราได้รับคำถามอยู่เสมอว่าการแข่งขันแบบนี้บอกอะไรได้บ้าง คุ้มหรือไม่ ผมก็ขอตอบตรงไปตรงมาว่า บอกได้อย่างเดียวว่าเด็กไทยนั้นหัวสมองไม่เป็นรองใครครับ แต่กว่าจะทำให้สมองของพวกเขาพัฒนาได้นั้น จำเป็นต้องลงทุนฝึกอบรมกันมากทีเดียว พวกเราต้องใช้เวลานานครับกว่าจะสร้างเด็กที่มีความสามารถขนาดนี้ได้ แต่เมื่อทำแล้วก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าเราทำได้จริง ๆ ปัญหาก็คือเด็กเหล่านี้ไม่สามารถสะท้อนถึงระดับความรู้ของเด็กไทยทั่วไปได้ เอาง่าย ๆ นะครับ คือ เด็กพวกนี้ถูกฝึกอบรมด้านการเขียนโปรแกรมมาให้เก่งกว่าเด็กมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีหรือโทเสียอีก แต่เขาจะเก๋งด้านเดียวครับ ยังไม่รอบรู้ในวิชาต่าง ๆ มากมายอย่างเด็กปริญญาตรี สมมุตินะครับว่าเด็กเหล่านี้ต้องการทำงานด้านการเขียนโปรแกรมละก็ เขาจะทำงานได้ดีเยี่ยมทีเดียวในขณะที่บัณฑิตวิทยาการคอมพิวเตอร์อาจจะทำไม่ได้ด้วยซ้ำไป

        ปัญหาคือ ทำอย่างไรเราจึงจะผลิตเด็กปริญญาตรีในทุกสาขาให้เก่งเหมือนเด็กโอลิมปิกแบบนี้บ้าง

        คำตอบก็คือยาก เพราะทุกวันนี้มีปัจจัยทางลบมากเหลือเกินที่มาฉุดรั้งให้เด็กไทยเรามีความสามารถย่ำแย่ลง ตราบใดที่ปัจจัยลบเหล่านี้ยังไม่เบาบางหรือหมดไป ก็เป็นการยากที่จะหวังให้บัณฑิตไทยมีความสามารถได้เต็มศักยภาพที่เราคาดหวัง เพราะบางทีเขาอาจจะทำได้เต็มศักยภาพเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้แล้ว และไม่มีใครไปบอกเขาว่าเขายังมีศักยภาพที่น่าจะไปได้มากกว่านี้อีก แต่...เขาจะต้องออกแรง, จะต้องเอาชนะปัจจัยลบทั้งหลายให้ได้, และจะต้องผลักดันตนเองให้ถึงที่สุดด้วย แค่นี้พวกเขาก็คงจะวิ่งหนีกระเจิงแล้ว

        ครับ...วันนี้เขียนเล่าเรื่องต่าง ๆ มามากแล้ว ขอลาเพียงแค่นี้ละครับ

 

สวัสดีครับ

ครรชิต มาลัยวงศ์

 

Back