Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

       

 

Home
IT Idea for Spiritization

คำทักทาย ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2549

สวัสดีครับ

        ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ ผมมีภารกิจมากเป็นพิเศษ เพราะมีงานประดังประเดเข้ามาในเดือนนี้มากเหลือเกิน ดูราวกับการจัดการหน่วยงานในยุคก่อนซึ่งจะต้องรีบทำงานให้เสร็จภายในสิ้นปีงบประมาณอย่างนั้นแหละ

        ตอนต้นเดือนกันยายน ผมไปบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษาปริญญาเอก ในภาควิชาบรรณารักษ์และสารสนเทศฟังที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ความจริงแล้ว เรื่องการทำวิจัยนั้นน่าจะเป็นงานที่นักศึกษาทุกคนเข้าใจมาบ้างแล้ว เพราะอย่างน้อยก็ต้องผ่านปริญญาโทมา แต่ปัจจุบันนี้การทำปริญญาโทง่ายครับ แค่ไปเรียนไม่กี่วิชา ตามด้วยการทำโครงการง่ายๆ อีกเรื่องหนึ่งก็จบแล้ว ส่วนนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทนั้นมีน้อย เพราะเป็นเรื่องที่ยาก ต้องใช้เวลานาน ดังนั้นความเข้มแข็งทางด้านการวิจัยจึงน้อยไป

        ผมพยายามพูดให้นักศึกษาเข้าใจว่า การศึกษาปริญญาเอกนั้น ไม่ใช่มาเรียนวิชาการ แต่เป็นการสร้างองค์ความรู้ในด้านที่ตนสนใจด้วยตัวเอง ดังนั้นมหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงไม่ได้สอนเนื้อหาวิชามากนัก แต่มุ่งให้นักศึกษาแก้ปัญหาขนาดใหญ่ซึ่งก็คือการทำวิทยานิพนธ์นั่นเอง การแก้ปัญหานี้นักศึกษาจะต้องใช้ความรู้พื้นฐานที่เรียนมาแต่เดิม มาผนวกกับความรู้ที่ต้องเสาะแสวงหาเพิ่มเติมเอง แล้วสร้างเป็นแนวทางเพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่ โดยหวังว่าผลงานที่ได้นั้นจะช่วยให้เกิดความรู้ใหม่แก่โลก

        ที่สำคัญก็คือ ความรู้ใหม่นั้นจะต้องเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและประโยชน์ต่อโลก และสามารถนำไปคิดต่อยอดให้เกิดการประยุกต์หรือสร้างความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้อีก และนี่ก็คือจุดที่จะใช้ในการพิจารณาว่าหัวข้อที่เสนอเป็นวิทยานิพนธ์เรื่องใดเหมาะสมหรือไม่

        เรื่องที่ผมบรรยายนั้นผมได้นำมาเสนอไว้ในเว็บตอนนี้ด้วยแล้ว หลังจากให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกหัวข้อเรื่องแล้ว ผมก็บรรยายเกี่ยวกับการจัดการไอซีทีสำหรับนักไอซีที ซึ่งก็นำเอาเนื้อหาที่นำเสนอมาไว้ในเว็บนี้เช่นเดียวกัน

        ตอนกลางเดือนนั้นทางสภาวิจัยแห่งชาติ ได้จัดการประชุมใหญ่เรียกว่า Thailand Research Expo 2006 ขึ้นที่เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ผมเป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติด้วยก็เลยไปร่วมงานพิธีเปิดซึ่ง รองนายกรัฐมนตรี ศ.นพ. สุชัย เจริญรัตนกุล เป็นผู้มากล่าวเปิดงาน ตามด้วยการอภิปรายเกี่ยวกับการวิจัยซึ่งมีความน่าสนใจหลายประเด็นด้วยกัน

        หลังจากผ่านพ้นงานวิจัยได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์ใหญ่ของประเทศ คือการรัฐประหารล้มรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และรู้กันอยู่แล้ว

        ในช่วงรัฐประหาร ผมต้องสนใจเป็นพิเศษว่าจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ โชคดีของประเทศที่ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ที่ผมต้องเป็นห่วงก็เพราะตอนปลายเดือน ผมต้องเดินทางไปเมลเบิร์น เพื่อเข้าร่วมประชุมวิชาการ SEPG Conference เพื่อฟังงานค้นคว้าเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพซอฟต์แวร์ และ การใช้ CMMI ซึ่งได้รับการพัฒนาให้เป็นเวอร์ชัน 1.2 งานนี้ไม่ไปไม่ได้เพราะผมเป็นอาจารย์คนเดียวที่ได้รับสิทธิ์ให้สอน CMMI ในเมืองไทยเวลานี้ หากไม่ไป upgrade ตัวเองก็จะไม่ได้สิทธิ์สอนต่อไป ก่อนไปคราวนี้ผมจึงต้องอ่านรายละเอียดจากแฟ้มฝึกอบรมออนไลน์ของ SEI เพื่อทำความเข้าใจว่าเวอร์ชันใหม่เป็นอย่างไร มีนโยบายอะไร มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิมบ้าง ทั้งนี้เพื่อที่ผมจะได้มีสิทธิ์ไปสอบในการประชุมวิชาการคราวนี้ด้วย นับเป็นการสอบครั้งแรกของเวอร์ชัน 1.2 และที่ยอมให้จัดที่ออสเตรเลียด้วยก็เพราะที่นี่มีอาจารย์ผู้สอนและผู้ประเมินหลายคน

        การจะเป็นผู้สอนเนื้อหาทางด้าน CMMI ได้นั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจหลักการอย่างชัดเจน ดังนั้นก่อนที่จะเป็นผู้สอนได้ต้องไปเรียนวิธีสอนเนื้อหา CMMI ด้วย เรียนเสร็จก็มีการสอบแบบปิดหนังสือ จากนั้นก็ต้องสอนโดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมานั่งฟังตลอดสามวันที่สอน เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าสอนได้ถูกต้องตรงตามเนื้อหาจริง นอกจากนั้นยังต้องดูด้วยว่าสามารถควบคุมผู้เรียนให้ตั้งใจเรียนจริงๆ ได้หรือไม่ด้วย แนวคิดหลักของ CMMI อยู่ที่ การจะทำอะไรต้องรู้จริง และ ทำเป็นจริง ดังนั้นก่อนเป็นอาจารย์จึงต้องเรียนการเป็นอาจารย์สำหรับวิชานั้นก่อน เรื่องนี้ผมว่าดีครับ และโปรดสังเกต ผมไม่ได้เขียนว่าเรียนหลักวิชาการสอนเป็นอาจารย์นะครับ ผมเขียนว่าเรียนวิธีสอนสำหรับวิชานั้น นั่นก็คือ ถ้าอยากเป็นอาจารย์สอน CMMI ก็ต้องเรียนเนื้อหา CMMI ทั้งในระดับต้นและระดับกลาง จากนั้นก็ต้องเรียนวิธีการสอนเนื้อหา CMMI ขั้นพื้นฐาน เสร็จแล้วก็ยังต้องสอนให้ผู้เชี่ยวชาญด้าน CMMI ฟังด้วยว่าสอนถูกหรือเปล่า ตอบนักศึกษาได้หรือเปล่า ในทำนองเดียวกัน ผมอยากเสนอว่าการสอนวิชาอื่นๆ เช่น ถ้าหากต้องการสอน Systems Analysis and Design ก็ต้องเรียนทั้งเนื้อหาทั้งระดับขั้นต้น และ ระดับกลาง ให้เข้าใจ จากนั้นก็ต้องเรียนวิธีการสอนวิชา Systems Analysis and Design ให้ผ่านเสียก่อน แล้วก็สอนให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยวิจารณ์

        ผมคิดว่าจุดนี้คนไทยพลาดไปครับ คือคิดว่าเป็นอาจารย์แล้วก็สามารถสอนได้ทุกวิชา ด้วยเหตุนี้เองจึงมีอาจารย์สอนวิชาทางด้านคอมพิวเตอร์มากมายทั้งในระดับมัธยมไปถึงระดับปริญญาเอก แต่อาจารย์เหล่านั้นบางคนก็ไม่รู้เนื้อหาวิชาที่ตนสอนมากพอ เพราะไม่เคยเรียนมาก่อน ได้แต่อ่านตำราเองเท่านั้น ส่วนบางคนที่รู้เนื้อหาก็ไม่รู้วิธีที่จะสอนเนื้อหานั้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่บัณฑิตที่จบทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมากจึงทำงานไม่เป็น ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ อีกเรื่องหนึ่ง ก็อย่างผมเองนี่แหละ ถึงผมจะรู้ภาษาอังกฤษดีพอควร แต่จะให้ผมไปสอนวิชาภาษาอังกฤษย่อมไม่ได้ครับ เพราะไม่รู้วิธีสอนและไม่รู้ว่าควรจะสอนอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนเข้าใจ อย่างไรก็ตามเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่จำเป็นก็คือ การรู้เนื้อหาวิชานั้น ถ้าหากไม่รู้เนื้อหาก็เป็นความล้มเหลวเลยครับ

        ด้วยเหตุนี้เองเมื่อทาง SEI พัฒนา CMMI เวอร์ชันใหม่ ผมจึงต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ แล้วก็ไปสอบ ซึ่งไปคราวนี้ผมก็สอบผ่านมาแล้วครับ แต่ยังมีเงื่อนไขอีกข้อหนึ่งที่ผมจะต้องผ่านก่อนจะได้สอนเวอร์ชันใหม่ได้ นั่นคือผมจะต้องไปเข้า CMMI Workshop ที่เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นผมก็จะสามารถสอนเวอร์ชันใหม่ได้ มีคำถามว่า ถ้าผมไม่ไปเข้า Workshop ซึ่งทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ให้สอนเวอร์ชันใหม่ ผมจะสอนเวอร์ชันเก่าต่อไปไม่ได้หรือ คำตอบก็คือไม่ได้ครับ เพราะเขาไม่อนุญาตให้สอนเวอร์ชันเก่าหลังปลายปีนี้แล้ว

        รวมแล้วก็เป็นเรื่องที่เหนื่อยมากเลยครับ สำหรับคราวผมนี้ขอจบเรื่อง CMMI เพียงแค่นี้ครับ แล้วเอาไว้ผมกลับมาจากชาร์ลอตต์เมื่อใดจะมารายงานให้ทราบใหม่ครับ

        ก่อนจะจบจริงๆ ก็ต้องแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้เป็นรัฐมนตรีในครม. ชุดใหม่ เมื่อนำแนวคิดเรื่อง CMMI มาจับ ผมเชื่อว่านี่คือคณะรัฐมนตรีที่มีทั้ง Capability และ Maturity สูงมาก และผมเชื่อว่าทุกท่านคงจะนำประเทศไทยรอดพ้นจากปัญหาความเลวร้ายที่นักการเมืองยุคก่อนๆ สร้างไว้ให้ด้วยความไร้ Maturity ได้

 

ครรชิต มาลัยวงศ์

 

Back