สวัสดีครับ
เผลอไปไม่ทันใด วันเวลาก็ผันเปลี่ยนมาถึงเดือนพฤศจิกายนแล้ว ฝนเริ่มซาลงในภาคกลาง และไปหนักมากขึ้นในภาคใต้ เมื่อเร็ว ๆ นี้เองฝนก็ตกจนน้ำท่วมบางสะพานใหญ่ พวกเราคงจำได้นะครับว่าน้ำท่วมหาดใหญ่ก็เป็นช่วงนี้แหละ เพราะแนวฝนของประเทศเราจะเลื่อนลงไปทางใต้เรื่อยๆ จนจบฤดูกาล
ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเดินงานหนังสือสามครั้ง แต่ละครั้งเป็นช่วงสั้นๆ คือเลือกไปในราว 10 น. พอเดินได้สักสองชั่วโมงผู้คนก็แน่นมากจนผมยอมแพ้ ไม่อยากเบียดผู้คนที่เข้ามาเลือกอ่านเลือกซื้อหนังสือกันมากจริง ๆ
การมีผู้คนมาเลือกซื้อหนังสือมากๆ อย่างนี้เป็นนิมิตที่ดีครับว่าความคิดของสมาคมหนังสือฯ ที่อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือของโลกนั้นมีโอกาสเป็นจริงได้ ผมเองก็ไม่ได้ศึกษาเงื่อนไขว่าการที่จะเป็นเมืองหนังสือได้นั้นต้องมีอะไรบ้าง แต่ถ้าหากจะดูจากหนังสือที่มีจำหน่ายนั้น ผมคิดว่าเรายังอยู่ห่างไกลจากการเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมการอ่าน เพราะหนังสือที่มีจำหน่ายนั้นดูเหมือนจะเป็นพวกอ่านเล่นๆ สนุกๆ
กันมากกว่าหนังสือที่อ่านแล้วได้สาระความรู้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือหนังสือที่จะทำให้คนอ่านฉลาดขึ้น
การที่คนไทยอ่านหนังสือมากนั้น ผมเห็นว่าทำให้คนไทยฉลาดขึ้นแน่ๆ
ครับ แต่ผมยังรู้สึกเป็นห่วงว่าคนไทยฉลาดขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าคนประเทศอื่นหรือเปล่า เรื่องนี้ไม่มีสถิติยืนยันครับ ได้แต่ดูจากพฤติกรรมของคนไทยโดยเฉพาะที่สะท้อนมาจากนักศึกษา ดังต่อไปนี้
- นักเรียนนักศึกษาเวลานี้อ่านเฉพาะเนื้อหาที่จดมาจากที่อาจารย์บรรยาย
หรืออ่านเฉพาะใน sheet ที่อาจารย์แจกเท่านั้น ไม่ได้อ่านหนังสือประกอบอื่นๆ หรือไม่ได้เทียบเนื้อหาที่เรียนกับที่อยู่ในหนังสืออื่น
- นักศึกษาปริญญาโทของผม ไม่ยอมเสียเงินซื้อตำราทั้งๆ ที่กำหนดว่าเป็นตำราที่จะใช้เรียน
- เมื่อกำหนดให้อ่านตำรามาล่วงหน้า ไม่มีใครอ่านมาเลย
- ในยามว่างจากชั่วโมงเรียน นักศึกษาทั้งหญิงและชายอ่านการ์ตูนแปลจากภาษาญี่ปุ่น
- หนังสือดี ๆ ในห้องสมุดไม่มีนักศึกษายืมออกไปอ่าน
- นักศึกษาบางคนที่อ่านเนื้อหาวิชากับเขาบ้าง เริ่มนิยม "อ่านทางเว็บ" แต่บอกไม่ได้ว่าเนื้อหาที่อ่านมานั้นควรแก่การเชื่อถือหรือไม่
- เนื้อหาที่นักศึกษาอ่านไม่ได้ซึมซับจนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ประจำตัวนักศึกษา
โดยภาพรวมแล้ว ผมรู้สึกเสียดายครับที่ผู้บริหารประเทศในอดีตไม่ได้ปลูกฝังนิสัยให้คนไทยรักการอ่าน หรือเป็นคนที่รักการเรียนรู้และชอบการตรวจสอบความถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ของข่าวสารที่ได้รับ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีหนังสือพิมพ์ที่ยัดเยียดข่าวอาชญากรรมที่ทำให้เกิดการเลียนแบบ ข่าวคาวของบรรดาดาราต่างๆ รวมไปถึงข่าวที่ไร้สาระเต็มหน้ากระดาษ ทำให้นิสัยการแสวงหาความรู้และข่าวสารของคนไทยถูกจำกัดอยู่แต่เพียงการชี้นำของคนบางกลุ่มเท่านั้น
รวมแล้วผมก็กลับมาเริ่มบ่นอีกแล้ว แต่ก็ขอนำมาเสนอให้คิดกันครับว่าเราจะสอนลูกหลานของเราอย่างไรในเรื่องการแสวงหาความรู้ รวมถึงการประเมินความน่าเชื่อถือของสิ่งที่ได้รับฟังหรือที่ได้อ่านมา เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นคนไทยที่ฉลาดมากยิ่งขึ้นในอนาคต