ช่วงนี้มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเป็นข่าวใหญ่หลายเรื่องด้วยกัน
และเป็นเรื่องที่น่าคิดน่าเรียนรู้ทั้งนั้น. ในที่นี้ผมจะยกมาให้พิจารณาสักสี่เรื่อง,
สามเรื่องเป็นข่าว อีกเรื่องหนึ่งเป็นความคิดของผมเอง.
เรื่องแรก
ก็คือเรื่องของอากู๋. หลายคนมองเห็นว่าการที่มีผู้พยายามฮุบสื่อนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร
และต้องต่อต้าน. มีคำถามว่าถ้าหากเป็นคนอื่นซึ่งมีเงินมากพออยากจะซื้อสื่อที่ดัง
ๆ ไปเป็นสมบัติอย่างนี้จะเรียกว่าฮุบหรือไม่? และจะมีผู้ต่อต้านหรือไม่?
บังเอิญเรื่องที่เกิดขึ้นคราวนี้ไม่ค่อยชอบมาพากล ก็เลยมีการต่อต้านกันขนานใหญ่.
ความเป็นจริงของโลกก็คือ ไม่ว่าจะเป็นสื่ออะไร ย่อมต้องมีเจ้าของแน่นอน.
การที่จะมีสื่อที่ดีนั้นจริงๆ แล้วอยู่ที่เจ้าของ และ นโยบายของเจ้าของ
รวมทั้งความสามารถที่จะดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายนั้น. จุดนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก.
ผมเองยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่าเจ้าของสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ในเวลานี้นั้น
เป็นผู้ที่คิดถึงอนาคตของประเทศ และอยากให้ประเทศของเราเจริญมั่นคงสืบไปหรือเปล่า?
ฝากให้พิจารณาดูครับ. การพิจารณาก็ดูไม่ยาก. ลองอ่านดูข่าว และการนำเสนอว่า
สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อเยาวชน หรือ เป็นข่าวประเภทมอมเมา,
ต้องการขายความฟุ้งเฟ้อ หรือ เสนอความรุนแรงในสังคมให้เป็นเรื่องปกติของสังคมหรือไม่.
เรื่องที่สอง
ก็คือเรื่องพายุดีเพรสชัน ทำให้น้ำท่วม กทม. หลายจุดด้วยกัน.
การป้องกันอุบัติภัยต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญครับ. ชาวบ้านควรได้ทราบวิธีการป้องกัน
หรือ เอาตัวรอดจากภาวะคับขัน หรือ ภาวะที่เป็นอันตรายด้วย. การเตือนล่วงหน้าก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง.
นี่ขนาดฝนตกเพียง 60 มม. เท่านั้น กทม. ยังมีปัญหามากมาย ถ้าหากต้องประสบกับพายุฝนที่ตกมากขนาด
200 มม. กทม. มิยิ่งจมน้ำไปหมดทั้งเมืองเลยหรือ.
เรื่องที่สาม
ก็คือ การก่อการร้ายที่ระบาดไปทั่วโลก. ผมเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนเราตั้งหน้าตั้งตาฆ่าคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่.
เหตุที่เกิดขึ้นไม่ว่าที่ภาคใต้ของไทย อิรัก ไอร์แลนด์เหนือ
หรือที่ต่างๆ นั้น ผู้ถูกฆ่าตายส่วนใหญ่คือคนบริสุทธิ์. ในทางศาสนาพุทธ
การตายของพวกเขาเป็นเพราะกรรมมาตัดรอน. แต่การที่ผู้ถูกฆ่าตายคือคนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางอุดมการณ์
หรือ การเมือง หรือ ความโลภโมโทสันเป็นสิ่งที่เลวร้าย. ผมคิดไม่ออกหรอกครับว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร.
ในเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่หยุดการทำลายล้างเสียแล้ว ก็จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่.
มีคำถามว่า เราจะใช้ความเมตตาและสันติวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่.
เมื่อไม่นานมานี้เอง ผมได้มีโอกาสนั่งเครื่องบินข้างๆ ท่านไพศาล
วิสาโล ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่ชัยภูมิ และได้มีโอกาสสนทนากับท่านถึงเรื่องนี้.
ท่านเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์ และ ท่านยืนยันว่าวิธีนี้แก้ได้.
แต่รัฐบาลต้องทำอย่างจริงจัง.
เรื่องที่สี่
เป็นเรื่องที่ผมไปงานครบรอบสองปีของ SIPA หรือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ.
งานออกมาหรูหราเกินกว่าที่ผมคาดคิดตอนที่นำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการ.
ในทางหนึ่งก็ดี, แต่อีกทางหนึ่งอาจจะดูว่าฟุ่มเฟือยไป. เรื่องนี้คงจะต้องนำมาพิจารณากันต่อครับ.
แต่เรื่องที่ต้องการคุยในวันนี้ ก็คือเรื่องของบุคลากรคอมพิวเตอร์.
เวลานี้เราขาดแคลนบุคลากรด้านนี้มากครับ. จริงๆ แล้วไม่ได้ขาดแคลนบัณฑิตทางด้านคอมพิวเตอร์มากนัก.
แต่ขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็น และ มีทัศนคติที่ดีกับการทำงาน.
เวลานี้บัณฑิตที่จบทางด้านคอมพิวเตอร์มาเรียกร้องเงินเดือนแพงๆ.
แต่ขออภัยครับ...ลดเงินเดือนไปครึ่งหนึ่งยังทำงานได้ไม่คุ้มเลย.
ครูบาอาจารย์ในสถาบันต่างๆ สอนกันอย่างไรไม่ทราบ. บัณฑิตจบทางด้านคอมพิวเตอร์
จำนวนมากเป็นคนที่เขียนโปรแกรมไม่เป็น, ไม่อยากเขียนโปรแกรม,
คิด Logic ไม่ได้, เริ่มต้นงานไม่เป็น, ทำงานหยิบโหย่ง, วันๆ
ได้แต่เปิดเว็บอ่านเรื่องไร้สาระ. หากเรามีบัณฑิตทำนองนี้อยู่มากๆ
อย่าไปหวังสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เลยครับ.
วันนี้ยกแต่เรื่องหนักๆ
มาให้พิจารณาครับ. เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องมีจุดยืนของตนเองในการอ่านข่าว.
เราต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองพร้อมกันไปด้วย. ที่สำคัญคือเราต้องพัฒนาจิตใจของเราให้ดียิ่งขึ้นไปโดยไม่ถูกกระทบจากข่าวต่างๆ
ไม่ว่าดีหรือเลว. และ...สุดท้าย เราต้องทำงานหนักครับ ประเทศชาติจึงจะเจริญได้.