สวัสดีครับ
ในรอบครึ่งเดือนที่ผ่านมา
ประเทศไทยต้องผจญกับวิกฤติการณ์ที่หนักหน่วงอีกหลายครั้ง ทั้งเรื่องการก่อการร้ายถึงขั้นฟันพระ
และโรคระบาดไข้หวัดนกที่ทำให้ต้องฆ่าไก่ไปหลายล้านตัว เหตุการณ์ทั้งสองนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่วงการบริหารไอทีเรียกว่า
Risk หรือความเสี่ยง การก่อการร้ายและโรคระบาดเป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลจะต้องคอยหมั่นระมัดระวังตรวจสอบและเฝ้าดูตลอดเวลา
เราคงบอกไม่ได้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในอนาคต ณ ที่ใด
หรือเกิดกับใคร แต่เราต้องมีกระบวนการในการติดตามศึกษาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น
และเหตุการณ์นั้นจะนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายต่อไปหรือไม่ หากคาดว่าจะเป็นเรื่องที่ร้ายแรงก็จะต้องรีบป้องกัน
ข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับมุ่งโจมตีว่ารัฐบาลไม่เปิดเผยข้อมูลเพราะน่าจะทราบเรื่องมีผู้ป่วยด้วยโรคหวัดนกมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
ผมไม่มีข้อมูลปฐมภูมิพอที่จะยอมรับหรือปฏิเสธข่าวนี้ ส่วนมากเป็นแต่เพียงข่าวขุดคุ้ยของหนังสือพิมพ์บางฉบับ
ถ้าข่าวนี้เป็นจริงก็อาจจะมีความเป็นได้หลายอย่าง คือผู้เกี่ยวข้องจงใจปิดข่าวเพราะไม่ทราบผลกระทบ
หรือหน่วยงานในภาครัฐไม่ได้มีกระบวนการที่ถูกต้องในการรายงานสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น
หรือมีกระบวนการแต่ผู้ปฏิบัติไม่ได้ทำตามกระบวนการซึ่งอาจจะเป็นเพราะการละเลย
หรือเพราะไม่มีวิจารณญาณที่ดีพอที่จะทราบผลกระทบของการไม่ทำตามกระบวนการ
และไม่ว่าจะเป็นเพราะกรณีใด สาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือการขาดการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติมีความรู้ในด้านการเฝ้าระวังและการดำเนินงานตามกระบวนการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
ข้อที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งที่อ่านพบจากข่าวก็คือ ชาวบ้านจำนวนมากยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดอย่างพอเพียง
หลายคนนำซากไก่ตายไปทิ้งน้ำซึ่งอาจจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปได้มาก
ข้อที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งก็คือ การระบาดครั้งนี้ได้ทำให้ผู้บริหารประเทศเข้าใจความสำคัญของข้อมูลข่าวสารมากแค่ไหน
หรือรู้แต่เพียงว่าเจ็บตัวเพราะสื่อมวลชน เท่าที่ได้ทราบมา ผู้บริหารประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้สนใจข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไข้หวัดนก
และยังไม่ได้สนใจว่าข้อมูลเหล่านี้ควรนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างไร
ขอมาพูดถึงเรื่องไอทีบ้าง ความจริงแล้วการใช้ไอทีในบ้านเราก็เกิดวิกฤติการณ์บ่อยครั้ง
เคยมีบางครั้งที่คอมพิวเตอร์ของธนาคารหรือบริษัทก็เกิดปัญหาจนทำให้เกิดความเสียหายและลูกค้าสูญเสียความเชื่อมั่นในบริการ
จากการตรวจสอบก็พบว่าเป็นเพราะหน่วยงานไอทีไม่ได้กำหนดกระบวนทำงานที่รัดกุม
และไม่ได้ติดตามว่าพนักงานดำเนินงานตามกระบวนการนั้นด้วยเช่นกัน
การจัดการความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และผมรู้สึกว่าเรายังสนใจเรื่องนี้กันน้อยไป
แม้ว่าขณะนี้เราจะมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องอุบัติภัย มีหน่วยงานกู้ภัย
และตามหน่วยงานต่าง ๆ นั้นทางสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ก็กำหนดให้มีการพิจารณาความเสี่ยงของกระบวนการทำงานต่าง ๆ อยู่แล้ว
แต่การศึกษาเรื่องความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ยังมีน้อย นอกจากนั้นหน่วยงานต่าง
ๆ ยังแทบจะไม่ได้สอนให้คนเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ร้ายรูปแบบต่าง
ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เลย ที่เห็นทำจริงจังก็อาจจะมีบริษัท ปตท.
และรัฐวิสาหกิจสำคัญอีกบางแห่งเท่านั้น ดังนั้นผมจึงขอฝากให้ท่านผู้อ่านลองศึกษาเรื่องการจัดการความเสี่ยงแล้วนำมาปรับใช้กับหน่วยงานของท่านเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้อีก
ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมมีโอกาสไปร่วมอภิปราย กับ ศ.
นักสิทธิ์ คูวัฒนชัย ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เพื่อชักชวนให้นักศึกษา เข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษามากขึ้น
ผมได้นำสรุปคำบรรยายของผมมาลงไว้ในเว็บนี้ด้วยแล้ว
สำหรับเนื้อหาของเว็บช่วงต้นกุมภาพันธ์นี้ ผมได้นำบทวิจารณ์หนังสือมาลงไว้หลายเล่มเป็นการเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านหามาอ่านบ้าง
นอกจากนั้นยังได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาบทเรียนในวิชา การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศไปพร้อมกัน
และได้เพิ่มบทความแนะนำการเรียนระดับบัณฑิตศึกษาไว้ให้ด้วย บทความนี้ยังไม่ได้เผยแพร่ที่ใดครับ
พบกันในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้าครับ
สวัสดีครับ
ครรชิต มาลัยวงศ์
9
กุมภาพันธ์ 2004
|