ในวารดิถีขึ้นปีใหม่
2547 นี้ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วยดลบันดาลให้เพื่อนสนิทมิตรสหาย
ครูบาอาจารย์ ศิษย์ และท่านผู้อ่านที่ติดตามเว็บของผมประสบแต่ความสุขความเจริญ
มุ่งหวังสิ่งใดในทางที่ชอบธรรมขอจงได้รับตามที่มุ่งหวังไว้ทุกประการครับ
เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้
ผมไปเข้าเรียนหลักสูตร CMMI Intermediate และ SCAMPI Lead Appraiser
ที่สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน เมืองพิตตสเบิร์ก
รัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลาร่วมสองสัปดาห์
ผมได้เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการฝึกอบรม CMMI เอาไว้ในเว็บนี้ด้วยแล้วครับ
เนื้อหาเกี่ยวกับ CMMI ก็เคยนำลงไปแล้ว แต่ส่วนที่เป็นเนื้อหา
SCAMPI หรือการประเมินวุฒิภาวะความสามารถนั้นผมยังไม่ได้เขียน
กรุณารอไปสักหน่อยก่อนครับ
ผมกลับมาถึงเมืองไทยตอนตีหนึ่งของวันจันทร์ที่
15 กลับถึงบ้านเข้านอนตอนตีสาม พอรุ่งเช้าก็ไปเป็น Keynote Speaker
ในการประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้เว็บในการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม การพูดครั้งนี้ผมไม่ได้มีเวลาเตรียมเนื้อหาไว้ก่อนเลยเพราะรับเชิญเพียงสองวันก่อนเดินทาง
จึงคิดว่าจะไปเตรียมที่พิตตสเบิร์ก แต่หลักสูตรทั้งสองที่ผมไปเข้าเรียนที่พิตตสเบิร์กนั้นมีทั้งการบ้านและการสอบด้วยทำให้ต้องใช้เวลาดูหนังสือมากขึ้น
ไม่อยากสอบตกเพราะค่าเรียนก็แพง ขณะเดียวกันก็เกิดอาการ Jet
Lag เนื่องจากเวลาที่นั่นต่างจากที่เมืองไทย 12 ชั่วโมงพอดี
จึงได้แต่งุนงงงัวเงีย ไม่เป็นอันทำเนื้อหาบรรยายได้อย่างที่ตั้งใจไว้
มาลงมือทำจริง ๆ ก็เมื่อตอนนั่งเครื่องบินกลับกรุงเทพฯนี่แหละครับ
ดังนั้นเนื้อหาที่ทำจึงไม่ค่อยจะเรียบร้อยดีสักเท่าใด แต่ก็พอใช้เป็นตัวนำการบรรยายได้
การบรรยายครั้งนี้เป็นภาษาอังกฤษ เพราะมีผู้ร่วมประชุมมากต่างประเทศหลายราย
เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เขมร ลาว ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์
ไซปรัส ตุรกี
วันที่
17 18 ธันวาคม ก็มีการจัดประชุมวิชาการ NCEB 2003 หรือ National
Conference on e-Business ครั้งที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผมเป็นกรรมการช่วยคัดเลือกบทความที่มีผู้ส่งมาให้พิจารณาอยู่หลายเรื่อง
และได้รับเชิญไปบรรยายในวันแรกด้วย แต่ผมต้องขอตัวเพราะเตรียมไม่ทันจริง
ๆ เพราะเขาเชิญมาตอนผมเดินทางไปสหรัฐอเมริกาแล้ว ไม่มีเวลาจะตรวจสอบหาข้อเท็จจริงมาเสนอให้ผู้ฟังรับทราบ
การประชุมนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำธุรกิจเชิงอิเล็กทรอนิกส์
หรือ e-Business นี่แหละ ขณะเขียนเรื่องทักทายนี้ผมยังไม่ได้อ่านบทความทั้งหมด
แต่เชื่อว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามจริง ๆ
นอกจากการประชุมวิชาการทั้งสองเรื่องนี้แล้วได้ทราบว่าในเดือนนี้ยังมีการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ซึ่งผมไม่ได้ไปร่วมฟัง
มีการประชุมแนะนำตัวกรรมการและอนุกรรมการตามพรบ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
และ การสัมมนาไอซีทีในภาครัฐที่สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยจัด
มีการประชุมเรื่องวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่ทางจุฬาฯ จัด และที่สำคัญ
คือ ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปบรรยายแสดงวิสัยทัศน์ทางด้านไอซีทีเป็นที่ฮือฮากันด้วย
ที่เล่าเรื่องการประชุมต่าง
ๆ ให้ทราบนั้น ก็เพื่อให้ตระหนักว่าเมืองไทยเราเริ่มมีผู้สนใจในเนื้อหาสาระต่าง
ๆ ทางด้านไอซีทีกันมากขึ้น จนมีการจัดประชุมวิชาการด้านนี้หลายครั้งในแต่ละเดือน
อย่างไรก็ตามลำพังการไปนั่งฟังในที่ประชุมเองยังมีประโยชน์ไม่มากนัก
จำเป็นจะต้องนำเนื้อหาดี ๆ ที่ได้จากการประชุมไปคิดไตร่ตรอง
และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย ยกตัวอย่างเช่นในวันที่ 23 ธันวาคมนี้
สำนักงานกองทุนวิจัย หรือ สกว. ก็ได้จัดให้มีการบรรยายสรุปงานวิจัยเรื่อง
การคาดการณ์อนาคตวิทยาศาสตร์กายภาพในประเทศไทย ขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล
แม้จะไม่ใช่การประชุมด้านไอซีทีแต่ผมก็รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ไปร่วมฟังเรื่องนี้
เพราะติดงานอื่นอยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตามทางสกว. ได้นำตารางและดัชนีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ลงเผยแพร่ไว้ในเว็บแล้ว
ผมจึงขอเชิญชวนท่านที่สนใจให้ลองเปิดอ่านดูสาระของงานวิจัยนี้ได้ที่
www.trf.or.th
ปัญหาอย่างหนึ่งของการประชุมวิชาการด้านไอซีทีของไทยเราก็คือ
คนพูดส่วนใหญ่เป็นคนหน้าเดิม ๆ อย่างผมนี่แหละ บางทีก็ต้องไปพูดเรื่องเดียวกันซ้ำ
ๆ ในการประชุมหลายแห่ง ผมเองนั้นเวลารับปากใครว่าจะไปพูด ผมจะเหนื่อยมากเพราะต้องเตรียมเนื้อหาเองหมด
เท่าที่พูดมาตั้งแต่หนุ่มนั้นเคยมีคนเตรียมเนื้อหาให้เพียงสองสามครั้งเท่านั้นเองครับ
การประชุมวิชาการส่วนมากที่เชิญผู้บริหารไปพูดนั้นส่วนใหญ่มีคนจัดเตรียมเนื้อหาให้หมดเพราะท่านเหล่านั้นไม่มีเวลาจะค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง
แต่กระนั้นเวลาท่านเหล่านี้พูดบางคนก็ทำได้ดีทีเดียว สามารถเชื่อมโยงเนื้อหาให้น่าสนใจได้
ผมเองอยากให้มีนักพูดนักอภิปรายหน้าใหม่
ๆ ทางด้านไอซีทีเกิดขึ้นอีกมาก ๆ วงการจะได้คึกคัก และได้รับความรู้เรื่องต่าง
ๆ มากขึ้นแทนที่จะวนเวียนอยู่กับหน้าเดิม ๆ อย่างผมซึ่งนับวันก็จะมีแต่เฉื่อยชาล้าสมัย
และทำให้บางครั้งคิดว่าถึงเวลาต้องปลดระวางแล้ว
ข้อมูลอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับไอซีที
ก็คือ ราชบัณฑิตยสถานได้จัดพิมพ์ศัพท์บัญญัติรวมชุดคอมพิวเตอร์กับเทคโนโลยีสารสนเทศออกมาใหม่อีกหนึ่งเล่ม
ราคาถูกมากเลยครับคือแค่ 100 บาทเท่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้หนากว่า
400 หน้า ถึงแม้จะไม่สนุกเหมือนอ่านแฮรรี พอตเตอร์ แต่ก็เป็นหนังสือสำคัญที่นักไอซีทีควรมีไว้ประจำตัวครับ
ปีใหม่นี้ผมคิดว่าเมืองไทยเราคงจะมีเรื่องน่าตื่นเต้นให้ติดตามกันอีกมาก
ซึ่งผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปในเว็บนี้ สำหรับวันนี้ขอให้ข้อมูลแค่นี้ก่อนครับ
ครรชิต
มาลัยวงศ์
29 ธันวาคม 2546
|