สวัสดีครับ
ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในด้านงาน ทำให้ผมไม่ได้ปรับปรุงเนื้อหาในเว็บมาร่วมสองเดือน ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ ตอนนี้แก้ปัญหาได้แล้วครับ จากนี้ไปก็จะพยายามให้ข้อมูลแก่ท่านที่สนใจบ่อยกว่าเดิม เพราะเรื่องไอทีนั้น ถ้าช้าไปก็ไม่เกิดประโยชน์แน่ ๆ
เรามาดูเหตุการณ์ระดับประเทศก่อนดีไหมครับ
เมื่อช่วงเดือนกันยายน มีการประชุมคณะกรรมการไอซีทีแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการชุดนี้เดิมทีมีทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติเป็นเลขานุการ แต่เมื่อตั้งกระทรวงไอซีทีขึ้นแล้ว ก็ได้เปลี่ยนมาให้ปลัดกระทรวงไอซีทีเป็นเลขานุการ ส่วนท่านประธานก็คือ ท่านรองนายก สุวิทย์ คุณกิตติ
ผมเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย แต่การประชุมสองครั้งก่อนผมไม่ได้มาประชุมด้วยเพราะเรียกประชุมกะทันหันมาก ผมมีนัดอยู่ก่อนแล้วและไม่สามารถเปลี่ยนนัดก็เลยไม่ทราบว่าเขาประชุมเรื่องอะไรกันบ้าง ตรงนี้เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของการประชุมแบบนี้ เพราะถ้าหากขาดประชุมก็มักจะไม่มีใครตามเอกสารให้ มาคราวนี้ทางสำนักงานเลขาฯ ได้นัดไว้เนิ่น ๆ ผมจึงสามารถล้อคเวลาไว้ก่อนได้
ห้องประชุมค่อนข้างโหรงเหรง กรรมการฝ่ายเอกชนหายไปหลายคน ท่านประธานก็ไม่ค่อยจะพอใจ ยิ่งเห็นหัวข้อวาระการประชุมด้วยแล้วยิ่งแทบจะทำให้ท่านรองนายกฯ ลุกหนีไปทำงานอื่น อย่างไรก็ตาม ท่านก็ได้ยกประเด็นเรื่องการส่งเสริมไอทีขึ้นมาพูดโดยเน้นว่า นับตั้งแต่รัฐบาลใหม่ได้เริ่มมาทำงานนี่ก็เกือบสามปีแล้ว ยังไม่ได้เห็นผลงานไอซีทีเป็นชิ้นเป็นอัน น่าจะต้องพิจารณาว่าเกิดปัญหาอะไร พอแตะเรื่องนี้เข้า กรรมการที่มาประชุมก็เลยได้โอกาสพูดแสดงความเห็นกันมากมายหลายคน แล้วก็ไปลงเอยตรงที่ขาดแผนการดำเนินงานระดับชาตินี่แหละ ถึงตรงนี้ท่านประธานก็เลยสั่งให้ประเมินการใช้ไอซีทีของทุกกระทรวงโดยด่วน และให้นำผลการประเมินมาพิจารณาในการประชุมที่จะจัดขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับวาระอื่น ๆ ไม่มีอะไรมากครับ คงไม่ต้องกล่าวถึง
ถึงราวต้นเดือนตุลาคม ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสองชุด ชุดแรกคือกรรมการทางด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นกรรมการที่ ครม. ต้องแต่งตั้งขึ้นหลังจากมี พรบ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปลายปี 2544 แต่กว่าจะคลอดกรรมการได้ก็เพิ่งจะผ่านมาเพียงสองปีเท่านั้น กรรมการชุดนี้มีท่านรมต. กระทรวง ไอซีที เป็นประธาน และ ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ในฐานะ ผู้อำนวนการเนคเทคเป็นเลขานุการ ผมได้รับแต่งตั้งในฐานะนักวิชาการคอมพิวเตอร์ภาคเอกชน ขณะที่ผมเขียนเรื่องนี้อยู่นั้น ยังไม่ได้ประชุมกรรมการครับ
กรรมการอีกชุดหนึ่งก็คือ กรรมการบริหารชุดชั่วคราวของ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ หรือ Software Industry Promotion Agency เรียกย่อ ๆ ว่า SIPA เป็นองค์การมหาชนที่รัฐบาลมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นตาม พรบ. องค์การมหาชนและให้สังกัดอยู่กับกระทรวงไอซีที สำนักงานแห่งนี้ทางกระทรวงได้เชิญ คุณ มนู อรดีดลเชษฐ์ อดีตประธานบริษัทดาต้าแมท มาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ กรรมการบริหารอื่น ๆ ที่เป็นภาคเอกชน นอกจากผมแล้วก็มี คุณจำรัส สว่างสมุทร และ คุณอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ ระหว่างนี้คุณมนูยังศึกษารายละเอียดอยู่ครับ ผมจึงไม่มีอะไรมาเล่า
ความจริงแล้วในช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับไอทีเกิดหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ซอฟต์แวร์พาร์ก เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพซอฟต์แวร์จากออสเตรเลียมาบรรยายเรื่องเทคนิคการประเมินคุณภาพที่ชื่อว่า SPICE ให้เจ้าหน้าที่ฟัง ต่อมาก็จัดการสัมมนาให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ฟังเรื่องเกี่ยวกับ ebXML (ความจริงแล้วก่อนหน้านี้ทาง กระทรวง ICT ก็ได้จัดไปหนหนึ่งแล้ว) และสุดท้ายเมื่อเร็ว ๆ นี้เองก็จัดเรื่องเกี่ยวกับ Security ที่โรงแรมโซฟิเทล ลาดพร้าว ผมไม่ได้มางานนี้ แต่ได้ทราบว่ามีคนมางานกันแน่นมาก
พูดถึงเรื่องแน่นมากนี้ ต้องย้อนไปกล่าวว่าผมไปเที่ยวงานมหกรรมหนังสือที่ศูนย์ประชุมสิริกิตติ์ สองวันด้วยกัน เพราะต้องการหนังสือบางเล่ม วันแรกที่ไปเป็นวันที่สองของงาน คนยังไม่ค่อยแน่นมาก แต่วันสุดท้ายของงานนั้นคนมากจริง ๆ เพื่อนฝูงก็บอกว่าสองสามวันสุดท้ายค่อยขายดีหน่อย ต่างจากวันแรก ๆ ซึ่งโรงเรียนยังไม่ปิดและเงินเดือนยังไม่ออก
อย่างไรก็ตามผมคิดว่าการที่คนมาดูงานซื้อหนังสือน้อยลงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนังสือแพงมากเหลือเกิน หนังสือปกอ่อนธรรมดา ๆ ราคาเกือบสองร้อยบาท ผมเองยังต้องถอยฉาก หากไม่ใช่เรื่องที่ต้องการจริง ๆ ก็จะไม่ควักกระเป๋าซื้อแน่ ผมลองแวะไปที่ร้านหนังสือเก่า ซึ่งก็มีหลายร้าน ก็พบว่าตั้งราคาโหดเช่นกัน หนังสืองานศพซึ่งร้านอาจจะไม่ได้มีต้นทุนอะไรมากมาย กลับตั้งราคาแพงเป็นพัน ๆ ขึ้นไป ตั้งราคากันแบบนี้ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือได้มากขึ้นอย่างไร ในเมื่อซีดีเกี่ยวกับสารคดีต่าง ๆ ที่ขายกันอยู่ตกแผ่นละสามสิบบาทเอง เปิดซีดีได้เห็นทั้งภาพที่น่าตื่นเต้น และได้ยินคำอธิบายด้วย อย่างนี้หนังสือจะสู้ไหวหรือครับ ในช่วงเวลาครึ่งเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปบรรยายที่สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ และที่มหาวิทยาลัยโยนกซึ่งเกี่ยวกับเรื่องอาชีพไอซีที เรื่องหลังนี้ผมได้นำเอาเรื่องอาชีพสารสนเทศมาปรับปรุงใหม่โดยเพิ่มเนื้อหาให้มากขึ้น ทั้งสองเรื่องนี้ผมนำลงไว้ในเว็บแล้ว
สำหรับเรื่องอื่น ๆ ในเว็บงวดนี้ขอนำกรณีศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับไอซีทีมาเล่าสู่กันฟังก่อน เรื่องอื่น ๆ จะทยอยปรับปรุงครับ
ครรชิต
มาลัยวงศ์
16 ตุลาคม 2546 |