สวัสดีครับ
ในช่วงเดือนที่แล้วผมได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวชมกุ้ยหลินเมืองไทย
นั่นก็คือการนั่งเรือไปในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนรัชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ความจริงควรจะเล่าตั้งแต่คราวก่อน แต่ไม่ได้เล่า
จึงขอนำมาเล่าในที่นี้
เขื่อนรัชประภาเป็นเขื่อนที่น่าสนใจมากครับ
เพราะเป็นเขื่อนดินที่มีหลายช่วงเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศบังคับ
และทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำกว้างใหญ่ ภูเขาบริเวณเขื่อนเป็นเขาหินปูนที่มีรูปร่างแปลก
ๆ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นยอดเขา
จึงทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม เมื่อนั่งเรือไปชมในอ่างเก็บน้ำ
เรือก็จะแล่นผ่านภูเขาอีกหลายลูกที่มีลักษณะแปลกตา
โดยเฉพาะบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านปากแบะแต่ถูกน้ำ
ท่วมแล้ว (ชื่อหมู่บ้านนี้พิลึกมาก) นั้นลักษณะของหินที่มีรูปทรงเป็นแท่ง
ๆ หลายแท่งทำให้เหมือนในบริเวณกุ้ยหลิน ของประเทศจีนมาก ดังนั้นผู้ที่มาเที่ยวชมเขื่อนแห่งนี้จึงมักจะต้องหาโอกาสนั่งเรือไปเที่ยวชมทัศนียภาพกัน
เรือที่ให้บริการมีทั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
และ เรือหางยาวของชาวบ้าน หากไปเรือหางยาวก็ร้อนและหนวกหู
ครับแต่ถ้าไปกับเรือของกฟผ. เองก็สะดวกสบายหน่อย
ผมมีเวลาพักผ่อนค้างคืนที่เขื่อนเพียงสองคืน
ก็ขับรถกลับมาสุราษฎร์ ระหว่างทางก็แวะนมัสการพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ที่วัดถ้ำสิงขร
วัดนี้เป็นวัดเก่าครับและน่าไปเที่ยวชมมากเพราะมีสิ่ง
ที่แปลกมากให้ชม นั่นก็คือ ถ้ำขนาดใหญ่ซึ่งภายในนั้นผู้มีจิตศรัทธาได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่
ๆมาประดิษฐานไว้
มากมายในถ้ำนี้ทางวัดได้สร้างบันไดให้เดินเข้าไปชมความมหัศจรรย์ของหินงอกหินย้อย
เข้าใจว่ามีไฟฟ้าให้
แสงสว่างด้วยแต่วันที่ผมมาชมนั้นมีครอบครัวของผมกับครอบครัวชาวบ้านละแวกใกล้เคียงกันมาเดินชมเท่านั้นจึง
ไม่มีใครเปิดไฟฟ้าให้เข้าไปชมถ้ำ ถามไถ้ได้ความว่าหากเป็นวันอาทิตย์จะมีชาวบ้านมานมัสการและเที่ยวชมถ้ำ
มากหน่อย
เล่ามาถึงตรงนี้แล้วยังไม่ได้บอกเลยว่า
สิ่งที่แปลกก็คือบริเวณหน้าถ้ำนั้น ตรงบนเพดานถ้ำมีผู้มาตกแต่งลวดลาย
ด้วยปูนปั้นเป็นรูปพุทธประวัติ แล้วยังฝังถ้วยชามลายครามเอาไว้บนเพดานถ้ำด้วย
ลวดลายปูนปั้นและถ้วยชาม
เหล่านี้ได้หลุดตกหล่นลงมามากแล้ว แต่ที่ยังคงติดค้างบนฝาถ้ำและมองเห็นทั่วไปก็ยังมีอยู่มาก
ฝีมือปูนปั้นก็
สวยงามเหมือนกันครับ ดูแล้วน่าจะเก่าแก่สักศตวรรษมาแล้ว สำหรับหน้าถ้ำนั้นมีเจดีย์ที่สร้างเลียนแบบพระธาตุ
สมัยศรีวิชัยอยู่หนึ่งองค์ลักษณะรูปทรงก็คล้ายกับพระธาตุไชยาครับ
ที่นำมาเล่าแบบสั้น ๆ นี้ก็เพื่อให้ทราบกันว่า
ของดีของไทยที่เราควรหาเวลาไปชมและศึกษานั้นยังมีอีกมากครับ
และการชมนั้นก็ควรให้เข้าใจด้วย ไม่ใช่ไปเห็นแบบผ่าน ๆ ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อปีที่แล้วผมได้มีโอกาสไปเที่ยวชม
พระราชวังในกรุงปักกิ่ง แต่มัคคุเทศก์พาเดินแบบให้เห็นว่าที่นี่เป็นอาคารอะไร
ใช้ทำอะไร มากกว่าจะอธิบายให้
ลูกทัวร์ซาบซึ้งเข้าใจในประวัติศาสตร์และศิลปกรรม
การที่จะซาบซึ้งศิลปกรรมและโบราณสถานของไทยนั้น
เราต้องเรียนรู้เรื่องไทย ๆ มากขึ้น เช่น เรื่องของลายไทย
เรื่องของพุทธศิลป์ ประวัติความเป็นมาของสถานที่ วัฒนธรรม และภาษา
โดยเฉพาะคำที่ใช้สำหรับอธิบาย
ส่วนประกอบต่าง ๆ ของเจดีย์ พระปรางค์ พระอุโบสถพระพุทธรูป ฯลฯ
ในงานสัปดาห์หนังสือต้นเดือนเมษายนนี้
มีหนังสือที่ช่วยให้เราอ่านเข้าใจเรื่องราวความเป็นไทยหลายเล่มด้วย
กันแม้แต่ หนังสือที่เนื้อหาไม่น่าจะมีอะไรลึกลับอย่างเช่น กรุงเทพมาจากไหน
ก็มีรายละเอียดอีกมากที่พวกเราอาจ
จะไม่ทราบมาก่อนความจริงยังมีหนังสือเกี่ยวกับกรุงเทพอีกเรื่องหนึ่ง
เป็นหนังสือที่อดีต ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ
คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้เขียนในเล่มนี้มีประวัติของสถานที่ต่าง
ๆ ที่เราควรรู้อีกมากครับ
วันนี้คุยเรื่องสัพเพเหระตั้งแต่เรื่องเที่ยวมาถึงเรื่องหนังสือ
ขอต่อท้ายด้วยเรื่อง คอมพิวเตอร์ฉลากเขียวสักหน่อย หลายปีมาแล้วผมจับพลัดจับผลูไปเป็นประธานอนุกรรมการจัดทำข้อกำหนดคอมพิวเตอร์ฉลากเขียว
ให้กับทาง
สถาบันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่ข้อกำหนดนี้ก็ไม่ได้มีผู้ผลิตรายใดสนใจจะทำตาม
มาถึงขณะนี้ทางสถาบันก็อยาก
ให้ลองคิดดูว่าน่าจะหยิบเรื่องนี้มาปัดฝุ่นอีกทีดีหรือไม่ ทางอนุกรรมการก็มาช่วยกันระดมสมองกันตลอดบ่าย
แล้วก็ได้ข้อสรุปเสนอต่อสถาบัน แต่ผมจะยังไม่บอกในตอนนี้ ผมเพียงแต่นำมาเกริ่น
ๆ ให้คิดกันว่าการที่เราจะ
กำหนดคุณลักษณะด้านเทคนิคของคอมพิวเตอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีผลกระทบอย่างไรต่อการมีการใช้
คอมพิวเตอร์ของไทยและควรจะคิดต่อไปด้วยว่า เราควรจะมีข้อกำหนดเหล่านี้หรือไม่
สำหรับเนื้อหาที่นำมาเสนอในเว็บคราวนี้เป็น
เอกสารประกอบคำบรรยายเรื่องการเตรียมพร้อมไปสู่
E-Commerceที่ผมไปบรรยายให้นักศึกษา MBA และ ผู้สนใจฟังที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้
เองครับ
ครรชิต
มาลัยวงศ์
|