สวัสดีครับ
ช่วงนี้อากาศยังคงร้อนอยู่ แม้จะมีฝนตกลงมาหนักบ้างเบาบ้างในหลายพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่แล้วอุณหภูมิก็ยังร้อนจัดจนแทบจะทำให้คลุ้มคลั่ง อย่างไรก็ตามที่ร้อนจัดยิ่งกว่าอากาศ ก็คืออุณหภูมิการเมืองที่เริ่มต้นด้วยการเปิดข้อสอบเอนทรานซ์ และการปราบปรามผู้ก่อการร้ายอย่างเด็ดขาดในภาคใต้ซึ่งเริ่มมีผู้ทักท้วงว่ารุนแรงไปหรือไม่ ผมได้สังเกตวิธีการตัดสินใจและการทำงานของคนไทยทั่วไปมานานมากแล้ว ต้องขอวิจารณ์สักเล็กน้อยว่า ปัญหาส่วนมากที่ลุกลามไปไกลนั้น เป็นเพราะเรามักจะไม่ค่อยคิดถึงผลลัพธ์ของการกระทำหรือการตัดสินใจของเราให้กระจ่างก่อนในทุกแง่ทุกมุม เมื่อทำอะไรไปจนเกิดเป็นปัญหาเสียแล้วก็ไม่สามารถจะถอยหลังกลับ หรือ แก้ไขได้ง่าย ๆ
เราคงจะต้องช่วยกันกำจัดจุดอ่อนในเรื่องเหล่านี้ให้หมดไป นั่นคือต้องหัดคิดคาดคะเนผลของการตัดสินใจก่อนหน้าลงมือปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงใด และต้องคิดเสมอว่าทางแก้ปัญหานั้นโดยปกติจะมีหลายวิธีเสมอ ดังนั้นจึงต้องเลือกวิธีปฏิบัติที่ให้ผลดีกว่าทางเลือกอื่น ๆ ทุกครั้ง เมื่อหัดคิดแบบนี้อยู่เสมอแล้ว ก็จะทำให้เรามีความรอบคอบมากขึ้น และ ความผิดพลาดก็จะน้อยลง
เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ผมไปร่วมงานใหญ่กับทางสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ สทอภ. สองงานด้วยกัน งานแรกคือร่วมไปเข้าเฝ้าถวายหนังสือจากห้วงอวกาศสู่พื้นแผ่นดินไทย พ.ศ. 2546 แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หัวหน้าคณะก็คือ คุณกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนอีกงานหนึ่งก็คือไปร่วมประชุม Earth Observation Summit ครั้งที่ 2 ที่โรงแรม โอคูระ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
หนังสือ จากห้วงอวกาศสู่พื้นแผ่นดินไทย พ.ศ. 2546 ที่ทางสทอภ. ทูลเกล้าฯ ถวายนั้นทั้งใหญ่และหนัก คือหนักถึง 4 กิโลกรัม แต่เนื้อหานั้นมีสาระที่น่าศึกษามากทีเดียว วันหลังผมจะเขียนคำวิจารณ์เชิญชวนให้อ่าน แต่ตอนนี้ขอให้ผู้สนใจเรื่อง Remote Sensing และ GIS สะสมค่าหนังสือไว้ก่อน เพราะเล่มละ 2,500 บาท อย่างไรก็ตามบรรดานักเรียนทั้งหลายไม่ต้องอดค่าขนมนะครับ เพราะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะพระราชทานหนังสือไปยังห้องสมุดโรงเรียนมัธยมฯ ทุกแห่งในประเทศ ไม่ช้าก็คงจะได้อ่านแน่ครับ
สำหรับการประชุม Earth Observation Summit นั้นก็เป็นงานใหญ่ เพราะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาเปิดงานท่ามกลางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างเข้มงวดและขึงขัง ดูการปฏิบัติหน้าที่แล้วต้องยอมรับว่าเขาจริงจังมากกว่าการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ไทยในงานประเภทเดียวกันที่เมืองไทยมาก เนื้อหาของการประชุมแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่เข้าประชุมก็จะกล่าวคำปราศรัยสั้น 4 นาที กล่าวถึงนโยบายและความมุ่งมั่นของรัฐบาลประเทศของตนในอันที่จะร่วมมือกันพิทักษ์ปกป้องโลกของเราให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และลดการกระทำที่จะสร้างมลภาวะและปัญหาโลกร้อนมากขึ้น (Global warming) หลังจากนั้นก็มาถึงการประชุมส่วนที่สองซึ่งก็เป็นการยอมรับข้อเสนอที่จะสร้างความร่วมมือในการดำเนินการดังกล่าว
งานนี้อาจจะเห็นว่าไม่ค่อยเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเลย แล้วผมไปทำอะไรในที่ประชุมนี้ คำตอบก็คือ เรื่อง Earth Observation นั้นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศโดยตรง เพราะเป็นการสำรวจให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับด้านต่าง ๆ ของโลก แล้วนำมาวิเคราะห์และแปลผลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เรื่องทำนองนี้สทอภ. เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และในฐานะที่ผมเป็นกรรมการบริหารของ สทอภ. ก็เลยต้องรับทราบและทำความเข้าใจสิ่งที่นานาชาติเขาเห็นพ้องต้องกันด้วย
ครับ... สำหรับในคราวนี้ ผมได้นำเนื้อหาเกี่ยวกับด้านไอทีที่ผมไปบรรยายให้กับเจ้าหน้าที่การนิคมอุตสาหกรรม มาลงไว้ให้ศึกษา พร้อมกับคำวิจารณ์หนังสือที่ผมได้มาจากงานวันมาฆบูชา และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
สวัสดีครับ
ครรชิต มาลัยวงศ์
6 พฤษภาคม 2547 |