เช้าวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ชาวคณะอาจารย์ราชมงคล ล้านนา และ ผมออกเดินทางไปยังสถาบัน Nippon Institute of Technology หรือ NIT ซึ่งตั้งอยู่ที่ Miyashiro-machi, Minamisaitama-gun เราออกเดินทางแต่เช้า ผมและ อธิการบดี ต้องเช็คเอาท์เพราะเย็นนี้ต้องกลับกรุงเทพแล้ว เราทั้งสองคนมีสัมภาระคือกระเป๋าเดินทาง ดังนั้นจึงร้อนถึงต้องหาอาจารย์มาอาสาลากกระเป๋าเดินจากโรงแรมไปยังสถานีรถไฟอาคาบาเน่ จากนั้นก็เปลี่ยนไปขึ้นรถไฟอีกสายหนึ่งไปลงที่สถานี UENO โชคดีที่รถไฟไม่ค่อยแน่นนัก จาก UENO เราก็ต้องต่อรถไฟไปยังสถานี Kuki แล้วนั่งรถแท็กซีไปยังสถาบัน พวกเราต้องใช้แทกซีหลายคันหน่อยเพราะนั่งได้คันละสี่คนเท่านั้น
สถาบัน NIT นี้มีบริเวณกว้างขวางเหมือนกัน แต่ไม่ทราบว่าเท่ากับ TUT หรือไม่เพราะเราไม่ได้มีโอกาสเดินดูบริเวณทั้งหมด แต่ดูจากภาพถ่ายทางอากาศแสดงบริเวณมหาวิทยาลัยก็รู้สึกว่ากว้างขวางเหมือนกัน พวกเราลงรถกันที่อาคารด้านหน้า ซึ่งน่าจะเป็นสำนักงาน ที่ด้านหน้าแสดงอุปกรณ์ที่ใช้เซลล์แสงอาทิตย์เป็นพลังงาน เป็นการแสดงผลงานให้เห็นตั้งแต่หน้าประตู ผู้ที่มาต้อนรับพวกเราคือ อาจารย์ Yasuo Watanabe เมื่อพวกเรามาพร้อมกันแล้ว เราก็ได้รับเชิญให้เดินไปยังอีกอาคารหนึ่งซึ่งเป็นอาคารของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
อาคารสถาปัตยกรรมศาสตร์นี้มีลักษณะเรียบง่าย ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ ด้านหน้ามีสระน้ำพุเล็ก ๆ และ ด้านข้างอาคารมีประติมากรรมบรอนซ์รูปหญิงสาวเปลือยกำลังยืนในลักษณะชูมือขึ้นเหนือศีรษะ ดูแล้วก็เหมือนกับประติมากรรมที่เห็นที่ มหาวิทยาลัย TUT ซึ่งอาจารย์ท่านหนึ่งแปลความว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงความบริสุทธิ์ของนักศึกษาที่จะเข้ามารับการสอน
พวกเราเดินเข้าไปในห้องประชุมซึ่งใช้เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ด้วย ในห้องเรียนนี้มีสิ่งพิเศษที่ห้องเรียนของไทยไม่มี นั่นก็คืออ่างล้างมือ ผมว่าดีมากจริง ๆ เพราะถึงแม้ว่าการสอนปัจจุบันนี้จะไม่ได้ใช้ชอล์กแล้ว แต่อาจจะใช้ปากกาเขียนบนกระดานสีขาว ซึ่งปากกาเหล่านี้ก็ทำให้มือเลอะเทอะได้ง่าย ควรจะล้างให้มือสะอาดก่อนออกจากห้อง มิฉะนั้นอาจจะทำให้เสื้อเปื้อนได้
อาจารย์สถาปัตยกรรมอีกสองคนที่แนะนำตัวเองคือ Dr. Ken-ichi Narita และยังมี ดร. นาริตะอีกคนหนึ่งซึ่งพูดภาษาไทยได้เพราะมีภริยาเป็นคนไทย แต่คนหลังนี้ไม่ค่อยพูดอะไรมากนัก ดร. เคนอิชิ พูดว่า ตัวเขานั้นทำงานทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทางด้านการประหยัดพลังงาน เมื่อปลาย พ.ค. ที่ผ่านมานี้เอง เขาได้ไปกรุงเทพ เพราะมีโครงการร่วมกับเจโทร ในการนำเทคโนโลยีลดการใช้พลังงานของญี่ปุ่นไปเผยแพร่ในเมืองไทย แต่พอไปเห็นแล้ว เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะคนไทยชอบตั้งเครื่องปรับอากาศให้มีอุณหภูมิต่ำมาก ๆ และผู้หญิงวัยรุ่นชาวไทยก็แต่งตัวแฟชั่น นั่งในสำนักงานที่เย็น ๆ
ดร. เคนอิชิ บรรยายว่า คณะสถาปัตยกรรมนั้นมีคนสองร้อยคน และในปีหน้าจะแบ่งเป็นสองสาขา คือ สาขาสถาปัตยกรรมตามเดิมและมีคน 200 คน อีกสาขาหนึ่งก็คือ Living Environment Design มีคน 50 คน ซึ่งในสาขานี้ จะแยกเป็น Interior design กับ Universal design สำหรับผู้บริหาร ส่วนสาขาสถาปัตยกรรมนั้น จะแยกเป็น สาขาการออกแบบผังเมือง และ วิศวกรรมโยธา หลักสูตรที่นี่นาน 4 ปี ช่วงเริ่มต้นปีหนึ่งจนถึงครึ่งแรกของปีสองทุกคนจะต้องเรียนวิชาเหมือนกัน มาแยกกันในกลางปีที่สอง โดยแยกเป็นสาขาต่าง ๆ ส่วนวิชาปีสุดท้ายนั้นจะให้อยู่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อทำโครงการ หรือทำวิจัย นักศึกษาที่รับเข้ามาศึกษานั้นมีสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือพวกที่จบระดับมัธยม อีกกลุ่มหนึ่งคือพวกจบสายช่างซึ่งเป็นมัธยมแบบผสม ไม่ใช่ ปว.ช. เวลาสอนต้องแยกกันเพราะพื้นฐานไม่เหมือนกัน การเรียนการสอนที่นี่เน้นการปฏิบัติมาก ดร. เคนอิชิ เน้นด้วยว่ามหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในญี่ปุ่นนั้นยังไม่สอนวิชาเฉพาะสาขาในปีที่หนึ่ง แต่ที่นี่สอนแล้ว นอกจากนั้นยังมีห้องปฏิบัติการ CAD สำหรับใช้เขียนแบบ มีห้องออกแบบ Interior Design ที่นี่มีการให้รางวัลเหรียญทอง Meisner ด้วย นั่นคือ ถ้านักศึกษาคนไหน เข้าเรียนครบตามวิชาที่กำหนดแล้วจะได้เหรียญทองนี้
สำหรับประเด็นอื่น ๆ ที่ทาง ดร. เคนอิชิ อยากให้พวกเราทราบนั้น ดร. เคนอิชิ ได้อธิบายทั้งในระหว่างการประชุม และ เมื่อเราเดินไปชมผลงานนักศึกษาที่ตั้งแสดงอยู่นอกห้อง ผมจึงขอสรุปไปด้วยกันทั้งส่วนที่เป็นคำอธิบาย และ คำถามของผม นั่นคือ
- เขาเอาช่างไม้ชาวแคนาดามาสอนวิธีใช้ไม้ขนาด 2X4 นิ้ว ประกอบเป็นบ้านเล็ก ๆ หรือประกอบเป็นสิ่งอื่น ๆ เช่น ป้ายติดประกาศ ผมถามว่าทางญี่ปุ่นก็เก่งเรื่องไม้อยู่แล้ว ทำไมจึงต้องไปเชิญช่างไม้แคนาดามาด้วย ดร. เคนอิชิ นิ่งไปนิดหนึ่งแล้วก็หัวเราะ ตอบว่า การไปเชิญมานั้นก็เป็นลูกเล่นอย่างหนึ่งเพื่อให้เด็กนักศึกษาได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษ แต่จริง ๆ แล้ว ทางแคนาดานั้นเก่งทางด้านช่างไม้ 2 x 4 จริง ๆ
- ที่คณะมีห้องสำหรับเรียนเขียนแบบ และเด็กที่เรียนแต่ละคนจะมีกระดานเขียนแบบให้ใช้อย่างพอเพียงแบบ 1 : 1 นั่นคือ ระหว่างการเขียนแบบ ไม่ต้องยกกระดาษเขียนแบบออกจากโต๊ะ เป็นความสะดวกอย่างหนึ่ง ผมถามว่า ที่นี่ก็มีการสอนเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว แต่ทำไมจึงสอนเขียนแบบด้วยมืออยู่ ยังไม่เลิกหรือ ดร. เคนอิชิตอบว่า ยังเลิกไม่ได้ เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเด็กจะได้คิดภาพรวมได้ในเวลาเขียนร่าง จนกระทั่งเมื่อสามารถเขียนแบบด้วยมือจนชำนาญแล้ว จึงค่อยย้ายไปเรียนการเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์
- เด็กปี 1 2 ต้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับ Sustainable design คำนี้ ผมก็นึกเสียดายที่ไม่ได้ถามว่าเขาหมายถึงอะไร แต่ถ้าคิดว่าประเทศญี่ปุ่นมีภัยพิบัติธรรมชาติหนัก ๆ การออกแบบอย่างยั่งยืน ก็คงจะหมายความถึงการออกแบบให้สิ่งปลูกสร้างนั้นมีความมั่นคง สามารถยืนหยัดสู้ภัยพิบัติต่าง ๆ ได้
- ดร. เคนอิชิ นาริตะ เองมีงานวิจัยเรื่องหนึ่งซึ่งเขาตั้งชื่อว่า Heat Island เป็นการศึกษาการเก็บกักความร้อนและอุณหภูมิของอาคารขนาดใหญ่ในเมือง วิธีการทำวิจัยก็สร้างแท่งคอนกรีตสูงขนาดเมตรครึ่ง ส่วนกว้างยาวตกข้างละเมตร แท่งเหล่านั้นจับวางเป็นตาราง แล้ววัดอุณหูมิว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร นอกห้องยังมีโมเดลที่แสดงอาคารสูงแบบต่าง ๆ วางอยู่ข้างหน้าโมเดลแสดงบริเวณชุมชนที่มีบ้านหลายหลัง ดร. เคนอิชิ อธิบายว่า อาคารสูงเหล่านี้มักจะอยู่ใกล้ชายหาด ทำให้บังลมที่พัดมาจากทะเล การทำโมเดลนี้จะช่วยทำให้เข้าใจว่าลมจะเหลือมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นแล้วยังมีรูปแสดงการวัดอุณหภูมิของอากาศที่ระดับชั้นต่าง ๆ ณ บริเวณ สวนด้านนอกพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิ์ญี่ปุ่น ดร. เคนอิชิ อธิบายว่า การมีต้นไม้ใหญ่นั้นช่วยในการทำให้อากาศเย็นลง แต่ต้องพิสูจน์ว่าเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ผมลืมถามคำถามสำคัญไปว่า ผลการพิสูจน์เป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามแนวคิดที่จะทำวิจัยที่กล่าวถึงนี้น่าสนใจมาก เพราะมหาวิทยาลัยจะต้องลงทุนไม่น้อย เช่นต้องจ้างรถเครนมายกคนขึ้นไปวัดอุณหภูมิที่ระยะสูงต่าง ๆ หรือ แม้แต่การทำแท่งคอนกรีตก็เป็นเงินไม่ใช่น้อย
- เด็กนักศึกษาญี่ปุ่นเวลานี้ไม่ชอบเรียนภาษาอังกฤษ และ ฟิสิกส์ ด้านภาษาอังกฤษได้เล่าไปแล้วว่าทางมหาวิทยาลัยได้พยายามแก้ไข รวมทั้งการเชิญอาจารย์ชาวแคนาดามาสอนช่างไม้ แต่ผมเองเห็นว่าอาจารย์ญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยยอมพูดภาษาอังกฤษ ถ้าหากจะให้เด็กนักศึกษาสนใจมากขึ้น อาจารย์เองก็ต้องแสดงว่าใช้ภาษาอังกฤษคล่องด้วย หรืออีกนัยหนึ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่ใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น สำหรับทางด้านฟิสิกส์นั้น ทาง NIT ได้แก้ไข ด้วยการสาธิต นั่นคือให้นักศึกษาเข้าไปในบ้านซึ่งแต่ละห้องก็มีอุณหภูมิต่างกัน และ ให้นักศึกษาตอบคำถามว่าทำไมห้องเหล่านี้ถึงมีอุณหภูมิต่างกัน คือเป็นการเชื่อมโยงความรู้ด้านฟิสิกส์ซึ่งดูเหมือนจะอยู่ไกลตัว ให้มาเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและสัมผัสได้นั่นเอง
- ในห้องแสดงผลงานนั้น มีเก้าอี้รูปร่างแปลก ๆ ตั้งอยู่สามตัว ดร. เคนอิชิ อธิบายว่า เก้าอี้เหล่านี้เป็นผลงานการออกแบบของคนอื่น แต่ได้นำมาให้นักศึกษาทดลองทำขึ้นให้เหมือนของจริง เพื่อจะได้ศึกษาว่าผลงานเหล่านี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร เป็นการช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
- ดร. เคนอิชิ ย้อนกลับไปพูดเรื่องเมืองไทยอีกครั้งว่า ที่เมืองไทยนั้นใช้พลังงานโดยไร้ประโยชน์ไปมาก การออกแบบเครื่องปรับอากาศก็กำหนดให้ใช้เครื่องที่มีขีดระดับความสามารถ หรือ capacity ของเครื่องสูงมากเกินความจำเป็น ญี่ปุ่นจะไม่ทำอย่างนี้ เพราะเห็นว่าเปลืองโดยใช่เหตุ นอกจากนั้นการกั้นห้องในอาคารของไทย ก็กั้นซอยเป็นห้องเล็กห้องน้อยมากเกินไปทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน คือต้องติดเครื่องปรับอากาศทุกห้อง ควรพิจารณาออกแบบใหม่ และนำหลักการจัดการพลังงานเข้าไปใช้
- ในห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมของอาคาร อาจารย์ญี่ปุ่นอีกท่านหนึ่งได้อธิบายเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบเครื่องปรับอากาศในห้องปิด อาจารย์อธิบายว่าในญี่ปุ่นนั้นมีข้อกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับปริมาณก๊าซ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ต้องไม่เกิน 0.1% ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ต้องไม่เกิน 10 ppm และ ก๊าซ HCHO ต้องไม่เกิน 0.08 ppm ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก ต้องคอยตรวจวัดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ นอกจากนั้นอาจารย์ยังได้อธิบายว่าได้ใช้ตลับวุ้นไปตั้งไว้ในห้องนาน 5 วัน เพื่อเก็บสปอร์ของเชื้อรา Aspergillus, Cladosporium และ Penicillium แล้วนำมาตรวจสอบว่ามีมากน้อยเพียงใด เชื้อราเหล่านี้มีผลทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ ดังนั้นจึงควรออกแบบห้องให้มีระบบถ่ายเทอากาศที่เหมาะสม [เรื่องเชื้อรานี้เป็นปัญหาต่อบ้านเรือนของไทยมาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศร้อนชื้น บ้านที่ใช้พรมปูพื้นมักจะมีเชื้อรามาเกาะอยู่บนพรมสูงมาก มีรายงานของไทยกล่าวว่าเชื้อราเหล่านี้ทำให้ผู้อยู่อาศัยเป็นมะเร็งปอดปีละหลาย ๆ คน ] ผมถามอาจารย์ญี่ปุ่นท่านนี้ว่า ทางญี่ปุ่นมีข้อกำหนดเรื่อง ก๊าซ เรดอน (Radon) หรือไม่ อาจารย์ตอบว่าตอนนี้ยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องนี้ และเท่าที่ตรวจวัดดูเห็นว่ายังมีระดับต่ำ [ก๊าซ เรดอน นั้นเป็นก๊าซที่เกิดจากการแปรสภาพของสารกัมมันตภาพรังสี และ มีตกค้างอยู่ในทรายที่เรานำมาใช้ในคอนกรีต รวมทั้งอยู่ในดินด้วย ศ. นพ. สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิต ได้ศึกษาเรื่องก๊าซนี้ในประเทศไทย และพบว่ามีความสัมพันธ์กับมะเร็งปอดที่เกิดในไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ทางประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานอะไรทำนองนี้เลยเหมือนกัน]
- อีกห้องหนึ่งเป็นห้องปฏิบัติการทางวิศวกรรมโยธา พวกเราได้พบอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ซึ่งท่านบอกว่าใช้เวลาหนึ่งคืน เพื่อเตรียมคำอธิบายภาษาอังกฤษไว้ให้เราอ่านโดยพิมพ์บนกระดาษขนาด A2 ตั้งไว้ให้เราเห็น อาจารย์ท่านนี้มีแนวคิดว่า การเรียนเรื่องแรงต่าง ๆ ในเสาและคานของอาคารนั้นเข้าใจยาก ท่านจึงทำแบบจำลองเป็นกล่องไม้ ภายในมีไม้ที่ตัดเป็นชิ้นบาง ๆ ร้อยตรึงเข้าด้วยกันตรงกลาง กล่องเหล่านี้มีสี่แบบด้วยกัน: กล่องที่แสดงแรงอัดและแรงดึง ก็ใช้วิธีดึงสปริงที่ร้อยผ่านชิ้นไม้บาง ๆ เหล่านั้น, กล่องที่แสดงแรงกดจากด้านบนแสดงด้วยการกดให้เห็นว่าชิ้นไม้แอ่นลงด้านล่าง (bending)} กล่องที่แสดงแรงเฉือน ก็ใช้วิธีดึงด้านข้าง ทำให้เห็นชิ้นไม้นั้นเลื่อนออกจากกัน, และ กล่องที่แสดงแรงบิด (torque) ก็ใช้วิธีบิดหมุนแกน แบบจำลองแสดงแรงนี้เป็นผลงานที่เหมาะสมสำหรับการใช้สอนมาก เพราะปกติแล้วเราจะไม่เห็นแรงเหล่านี้เลย จะรู้สึกก็ต่อเมื่อถูกกระทำเท่านั้น ต่อจากนั้นท่านก็พาไปดูอีกโมเดลหนึ่ง ท่านบอกว่า เวลาสอนเรื่องการออกแบบคอนกรีต ท่านให้นักศึกษาจินตนาการว่า เมื่อตัดเสา หรือ คานแล้ว จะเห็นอะไรบ้าง นักศึกษาก็จะวาดรูปตามความคิดว่าจะเห็นเหล็กอยู่ตรงไหนในเสาหรือคานบ้าง จากนั้นอาจารย์ก็จะเปิดผ้าคลุมโมเดล แสดงส่วนที่เป็นโคนเสาคอนกรีต ให้เห็นว่ามีเหล็กเรียงรายอยู่รอบด้านนอกของเสา และ โมเดลที่เป็นคานก็แสดงให้เห็นว่ามีเหล็กอยู่ทางด้านล่างและด้านบน นอกจากนั้นยังมีเหล็กเส้นเล็ก (stirrup) ที่ร้อยตรึงเหล็กเส้นใหญ่ให้อยู่กับที่ด้วย เมื่อนักศึกษาเห็นโมเดลเหล่านี้แล้วก็จะเข้าใจวิธีการวางเหล็กในส่วนต่าง ๆ ของเสาและ คานได้เป็นอย่างดี
- ต่อจากนั้น เราก็เดินไปชมห้องทำงานอาจารย์ซึ่งอยู่ติดกับห้องนักศึกษา อาจารย์เล่าว่านักศึกษาสามารถคุยกับอาจารย์ได้ตลอดเวลา และใช้ห้องนั้นนั่นแหละในการประชุมปรึกษากัน ผมถามว่า อาจารย์ญี่ปุ่นมีภาระด้านการบริหารมากไหม อาจารย์ตอบว่ามีมากเหมือนกัน ซึ่งผมฟังแล้วก็เห็นว่าคล้ายกับอาจารย์ไทยนี่แหละ ด้านนอกห้องอาจารย์มีโมเดลอาคารแปลก ๆ อยู่แห่งหนึ่งทำด้วยกระดาษ และมีภาพหมู่นักศึกษายืนอยู่หน้าอาคารที่มีลักษณะเหมือนกับอาคารในยุโรป อาจารย์ท่านนี้เล่าว่า อาคารเหล่านี้อยู่ที่เมือง ซิงเต่า ในจีน เมืองนี้เมื่อปี 1933 เยอรมันได้เข้ามายึดครองและสร้างอาคารที่มีสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ทางมหาวิทยาลัยได้ขออนุญาตทางการจีนเข้าไปศึกษาเพื่อหาทางอนุรักษ์
หลังจากเดินชมผลงานของนักศึกษาแล้ว พวกเราก็ได้รับเชิญให้ไปยังห้องประชุมที่สำนักงานอธิการบดี เนื่องจากจะมีพิธีต้อนรับ และ รับประทางอาหารแบบเบนโตะ หรือข้าวกล่องแบบญี่ปุ่น เริ่มต้นด้วยท่านอธิการบดีของ NIT ชื่อ Dr. Isao Karube กล่าวต้อนรับคณะผู้แทนจากประเทศไทย และ ท่านอธิการบดีไชยง กล่าวตอบ จากนั้นก็มีการมอบของที่ระลึกระหว่างกัน โดยท่านอธิการบดีไชยงได้มอบกล่องแจกันเฉลิมพระเกียรติชุดใหญ่ให้ท่านอธิการบดีของ NIT และมอบแจกันชุดเล็กให้แก่อาจารย์ญี่ปุ่นที่มาร่วมรับประทานอาหาร
ต่อจากนั้นก็เป็นการรับประทานอาหารเบนโตะ ซึ่งจัดอาหารมาอย่างดี มีรสชาติอร่อยมาก ช่วงรับประทานอาหารอาจารย์ ต้น ก็ได้บรรยายเรื่องเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ให้ทางญี่ปุ่นทราบ ระหว่างนั้นผมก็ได้คุยกับท่านอธิการบดีของ NIT ด้วยเรื่องทั่ว ๆ ไปสักพักใหญ่ ก่อนกลับท่านอธิการบดีไชยงได้กล่าวกับทางญี่ปุ่นว่า การมาคราวนี้ก็เป็นครั้งที่สองแล้ว แต่ก่อนที่จะมาครั้งที่สาม อยากเชิญให้ท่านอธิการบดีและผู้บริหารของ NIT ไปเยี่ยมที่ราชมงคลบ้าง
ผมกับท่านอธิการบดีไชยง ต้องขอตัวกลับเมื่อเวลา 13.20 น. โดยมี อาจารย์ไทยที่มาศึกษาปริญญาเอกที่นี่คนหนึ่ง และ นักศึกษาปีสองอีกคนหนึ่งช่วยพานั่งแทกซีไปส่งที่สถานีรถไฟ จากนั้นก็ขึ้นรถไฟไปลงที่สถานี Ueno บ่ายสองโมงเศษ เมื่อมาถึงแล้ว ต้องถามหาว่าจะไปขึ้นรถไฟ Skyliner ไปยังสนามบินนาริตะ ได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ห้องขายตั๋วบอกว่าต้องลงไปข้างล่างและออกไปนอกสถานี พวกเราจึงเดินลงไปชั้นล่าง แต่ก็ยังงงอยู่ จึงไปถามเจ้าหน้าที่ที่โต๊ะ Information เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นชายสูงอายุก็ใจดี ลุกเดินออกมาพาไปดูที่แผนที่และชี้ให้ออกไปข้างนอก แล้วเดินไปยังสถานีรถไฟ Skyliner ซึ่งก็คือสถานีของสาย Keisei
พวกเราทำตามคำบอก และเดินออกไปนอกสถานี Ueno ข้ามถนนสายหนึ่งแล้วเดินไปเข้าสถานี Keisei จากนั้นก็ไปซื้อตั๋วรถไฟไปสนามบินนาริตะเมื่อเวลา 14.26 น. (เขาพิมพ์ไว้บนตั๋วด้วย) โชคดีที่รถไฟขบวนต่อไปจะออกเวลา 14.40 น. อาจารย์ไทยและสมบูรณ์พาเราไปถึงโบกี้นั่ง และช่วยยกกระเป๋าไว้บนรถไฟ จากนั้นยังยืนรอส่งจนกระทั่งขบวนรถออกจากสถานี
รถไฟขบวนนี้เป็นรถด่วน และแวะเพียงสี่แห่ง สามแห่งเพื่อรับผู้โดยสารเพิ่ม และแห่งที่สี่คือ Terminal 1 ซึ่งเราจะยังไม่ลง เราไปลงสุดสายที่ Terminal 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของเคาน์เตอร์การบินไทย
รถไฟพาเรามาถึง Terminal 2 เมื่อเวลา 15.30 น. เรายกกระเป๋าลงจากรถแล้วต้องเดินผ่านจุดตรวจซึ่งขอดูหนังสือเดินทาง แล้วเขาก็ให้เราเดินผ่านขึ้นบันไดเลื่อนไปชั้นที่หนึ่ง จากที่นี่เราก็มองหาทิศทางไปยังเคาน์เตอร์การบินไทย ซึ่งอยู่ที่ชั้นสี่ของ South Wing ผมเห็นมีคนรอลิฟต์มากก็เลยชวนท่านอธิการบดีขึ้นบันไดเลื่อนไปสามหน จนถึงชั้นสี่ แล้วก็เดินไปยังเคาน์เตอร์เพื่อออกบัตรที่นั่ง เมื่อเรามาถึงนั้นเป็นช่วงเวลา 15.45 น. แล้ว แม้จะไม่มีคนมาเช็คอินที่เคาน์เตอร์ชั้นธุรกิจนี้ แต่การเช็คอินก็ช้ากว่าจะได้บัตรที่นั่ง ต่อจากนั้นเราก็ต้องเดินเข้าคิวเพื่อตรวจกระเป๋า แล้ว ไปผ่าน ตม. ก่อนจะเดินไปยังประตูหมายเลข 46 ที่บริเวณนี้มีเลานจ์ของสายการบิน ANA ที่ทางการบินไทยใช้บริการอยู่ ผมและท่านอธิการบดีเข้าไปนั่งดื่มน้ำเพียงครู่เดียวก็ได้เวลาขึ้นเครื่อง เราจึงขึ้นมาที่ประตู ก็พอดีเจ้าหน้าที่เรียกไปเปลี่ยนที่นั่งให้เป็นชั้นธุรกิจ ซึ่งนับว่าโชคดีไป หลังจากเราเดินไปนั่งแล้วเมื่อผู้โดยสารขึ้นเครื่องครบ เครื่องบินก็เริ่มเคลื่อนไปรอบิน และได้บินขึ้นจริงเมื่อเวลา 17.30 น. คือช้ากว่าที่กำหนดไว้ราว 40 นาที อย่างไรก็ตาม เครื่องบินก็ทำเวลา และ บินมาถึงกรุงเทพฯ ตามกำหนดเวลาเดิม คือ สามทุ่มเศษ
เป็นอันสิ้นสุดภารกิจของเราที่ญี่ปุ่นเพียงแค่นี้