คำว่า energy นั้นเราใช้คำแปลว่า พลังงาน ซึ่งนับว่าถูกต้องมาก เพราะคำนี้มาจากคำสองคำรวมกันคือ en แปลว่า ที่ และ ergon แปลว่า งาน เมื่อเอาคำสองคำนี้มารวมกันตรง ๆ ก็ได้เป็นภาษากรีกว่า energos ซึ่งต่อมาก็กลายเป็น energy ในภาษาอังกฤษ
ถ้าแปลคำนี้โดยตรงจะเข้าใจยากหน่อย แต่หมายความโดยปริยายว่า กระตือรือร้นในการทำงาน หรือขยันทำงาน อย่างเช่นในประโยคว่า Boonchu is an energetic man. ก็แปลว่า บุญชูเป็นคนขยันขันแข็ง
ต่อมาทางวิชาฟิสิกส์ ได้นำคำว่า energy มาใช้ในความหมายว่าเป็น พลังงาน และทางราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติความหมายว่าเป็น ความสามารถซึ่งมีอยู่ในตัวของสิ่งที่อาจให้แรงงานได้ อ่านแล้วก็เข้าใจยากอีกเหมือนกัน จึงต้องยกตัวอย่าง เช่น แสงแดดเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง เพราะในแสงแดดมีความสามารถที่จะให้แรงงานได้ หรือ น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพลังงานเพราะสามารถนำน้ำมันไปใช้กับเครื่องยนต์และก่อให้เกิดแรงงานต่าง ๆ ได้
ปัญหาก็คือ พลังงานของโลกมีจำกัด แสงแดดก็มีจำกัด นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเมื่อหกสิบล้านกว่าปีมาแล้วมีอุกกาบาตตกบนโลกทำให้เกิดฝุ่นธุลีลอยบดบังแสงแดดอยู่นาน เมื่อไม่มีแสงแดดให้ความอบอุ่น สัตว์จำนวนมากเช่นไดโนเสาร์ก็สูญพันธุ์ไปหมดในช่วงนั้นเอง เวลานี้น้ำมันปิโตรเลียมที่มีมากมายแถบประเทศอาหรับนั้น ไม่ช้าก็จะหมดไปอย่างแน่นอนเพราะวันหนึ่ง ๆ สูบออกมาใช้มากเหลือเกิน ประเทศไทยของเราเองก็ประสบปัญหาเรื่องพลังงานมาก เพราะเราไม่มีแหล่งน้ำมันดิบมากพอให้สูบขึ้นมาใช้ แก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยก็มีไม่มากนัก และอีกไม่กี่ปีก็หมดเหมือนกัน แต่เรามีรถยนต์จำนวนมากที่จะต้องใช้น้ำมัน เราต้องใช้แก็สหุงต้มเพิ่มมากขึ้นเพราะประชากรเพิ่ม และประเทศไทยเราไม่มีต้นไม้มากพอที่จะนำมาใช้เผาเป็นถ่าน มิหนำซ้ำภูมิอากาศของเราก็ร้อนมาก จนต้องมีเครื่องปรับอากาศตามบ้านเรือนและสำนักงาน การใช้รถยนต์และไฟฟ้ากันมาก ๆ ก็เท่ากับต้องไปซื้อน้ำมันจากต่างประเทศมาใช้มาก ๆ ประเทศไทยจะผลิตสินค้าส่งออกได้เงินมาเท่าไร ก็ต้องเอาไปซื้อน้ำมันหมด แถมยังต้องขุดทรัพยากรของเรามาใช้อีก แบบนี้ไม่ช้าประเทศไทยก็จะหมดตัว
ด้วยเหตุนี้เองเราจึงต้องลงมือทำ energy preservation หรือ อนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจริง ๆ แปลว่า สงวนหรือรักษาพลังงานให้คงเดิม แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะเราต้องใช้พลังงานอยู่ทุกวัน ดังนั้นจึงมีผู้ให้ความหมายคำนี้โดยอ้อมว่า ใช้พลังงานแต่พอควร หรือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น