เมื่อปลายปี 2544 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ออกมาบังคับใช้ "แก่ธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์" และโดยที่พระราชบัญญัตินี้มีข้อกำหนดให้ให้มีคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกรรมการ (ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) และกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับการสรรหาอีกจำนวนสิบสองคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านดังต่อไปนี้ด้านละสองคน คือด้านการเงิน การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นิติศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ และ สังคมศาสตร์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งของแต่ละด้านต้องมาจากภาคเอกชน และให้ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (หรือเนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ ดังนั้นต่อมาจึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นนับถึงขณะนี้ก็ประมาณสองปีแล้ว
การกำหนดให้มีคณะกรรมการนี้นับเป็นความปรารถนาดีของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างซื่อสัตย์สุจริต เชื่อถือไว้ใจได้ และ แพร่หลายออกไปมากขึ้น เพราะเป็นที่ตระหนักดีว่านับวัน การทำธุรกิจเชิงอิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และรัฐบาลก็จำเป็นต้องควบคุมดูแลให้การดำเนินงานนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องตรงกับมาตรฐานสากลที่นานาประเทศยอมรับ หากไม่ตรากฎหมายออกมารองรับแล้ว งานด้านนี้ก็อาจจะติดขัดและเกิดความเสียหายต่อประเทศ
คณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 6 คณะ ผมเองได้รับ แต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการใหญ่และเป็นประธานอนุกรรมการด้วยคณะหนึ่ง แต่เมื่อปีที่แล้วได้มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการชุดนี้ และผมปฏิเสธไม่ขอสมัครเข้ารับการเลือกสรรเป็นกรรมการชุดใหม่อีก เพราะผมเห็นว่าหากคิดว่าผมเป็นกรรมการที่มีคุณภาพ ก็ควรนำชื่อผมนำเสนอให้กรรมการสรรหาพิจารณาเลยทีเดียว ไม่ใช่ให้ผมสมัครใหม่ ต่อมาก็มีการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่กันเรียบร้อย และกรรมการชุดใหม่ก็คงจะได้ทำหน้าที่สืบต่อกันเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้รู้ว่าคณะกรรมการชุดที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปบ้าง จึงขอถือโอกาสนำผลงานของคณะอนุกรรมการฯ ทุกชุดมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ เพราะดูเหมือนว่างานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของคณะกรรมการยังไม่ได้รับการเผยแพร่ หรือเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่คนทั่วไปมากนัก
คณะอนุกรรมการมีชื่อยาวมาก เพื่อไม่ให้บทความน่าเบื่อเกินไปจึงขอเรียกชื่อย่อ ๆ ดังต่อไปนี้
- คณะอนุกรรมการด้านนโยบายและแผน ทำหน้าที่ศึกษากรอบนโยบายการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย โดยเฉพาะปัจจุบันนี้มีการดำเนินงานแต่ละด้านตามที่กำหนดไว้ไปถึงระดับไหนบ้าง เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและแผน ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานด้านการพาณิชย์และอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ อุตสาหกรรมแฟชัน นอกจากนั้นยังริเริ่มโครงการใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการใช้กระดาษด้วย
- คณะอนุกรรมการด้านกำกับดูแล ทำหน้าที่จัดทำรายงานการศึกษาเบื้องต้นเพื่อกำกับดูแล ผู้ให้บริการด้าน e-Payment และ Certification Authority (CA) รวมทั้งรูปแบบของ CA ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งอนุกรรมการเห็นว่า Root CA น่าจะเหมาะสม และปัจจุบันกำลังนำรายละเอียดมาสรุปกับภาคเอกชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับหาแนวทางจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเอกำกับดูแลการให้บริการด้าน e-Payment และ CA ด้วย
- คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ทำหน้าที่จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา และ พิจารณาการปรับแก้พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อาจมีผู้สงสัยว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็เพิ่งออกมาบังคับใช้ เหตุใดจึงต้องปรับอีก คำตอบก็คือคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินการตาม พรบ. นี้มีข้ออุปสรรคหลายอย่างเพราะไม่มีสำนักงานรองรับอย่างเป็นตัวเป็นตน และงานตามหน้าที่ที่คณะอนุกรรมการแต่ละชุดกำหนดขึ้นนั้นล้วนเป็นกิจกรรมสำคัญซึ่งต้องมีผู้รับไปปฏิบัติ และ ควบคุมดูแลให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงสมควรเสนอให้ปรับปรุงรายละเอียดเหล่านี้ในพรบ.นั้น
- คณะอนุกรรมการด้านความมั่นคง ทำหน้าที่พิจารณาจัดหากลไกในการสร้างความมั่นคง (Security) ในด้านการดำเนินงานทางธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการนี้คณะอนุกรรมการได้พิจารณาเลือกนำมาตรฐานความมั่นคงทางด้านสารสนเทศที่เป็นสากล คือมาตรฐาน ISO 17799 มาเสนอแนะให้ใช้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบธุรกรรมด้านการเงิน เช่นธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และ หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ
- คณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ทางด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ทางด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนามาตรฐานข้อมูลและเอกสาร การส่งเสริมมาตรฐานทางด้านไอซีทีที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนการพัฒนางานประยุกต์ ฯลฯ ผมเองได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการชุดนี้
- คณะอนุกรรมการด้าน PKI Forum ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และแนวทางปฏิบัติในด้านการเข้ารหัสเพื่อยืนยันความแท้จริงของเอกสาร ประสานงานกับ Asia PKI Forum เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ ตลอดจนร่วมกันดำเนินงานทางด้าน PKI (Public Key Infrastructure) ได้
กรรมการชุดใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นนั้นได้ผลักดันงานสืบต่อจากกรรมการชุดเดิมบางงานเสร็จสิ้นไปแล้ว เช่น การตราพระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แต่งานหลักที่ยังค้างอยู่มีอีกมาก เช่น การกำหนดมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในระดับประเทศ หรือโครงการ Thailand Interoperability Framework โครงการจัดทำมาตรฐานข้อมูลและเอกสาร โครงการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ลายน้ำเพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการฯ และการร่างระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พรบ..ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังค้างอยู่จนปฏิบัติกันตาม พรบ. นี้ไม่ได้
อุปสรรคสำคัญของคณะกรรมการชุดที่แล้วก็คือ การจัดตั้งกระทรวงไอซีทีในยุคท่านนายกฯ ทักษิณ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ต่องานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คือทำให้ประธานคณะกรรมการซึ่งต้องทำหน้าที่ควบคุมดูแลงานตาม พรบ. นี้เป็น รมว. กระทรวงไอซีที ส่วนเลขานุการซึ่งทำหน้าที่ดำเนินงานยังคงอยู่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดปัญหาด้านการจัดสรรงบประมาณดำเนินการ และเกิดความขลุกขลักในการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ของเนคเทคและกระทรวงไอซีที ส่งผลให้งานของคณะกรรมการต้องชะงักงันไปอย่างน่าเสียดาย
ผมเชื่อว่าในเวลาอันใกล้นี้ ท่านประธานคณะกรรมการฯ คงจะสามารถผลักดันให้งานของคณะกรรมการชุดนี้วิ่งทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงรุดหน้าอย่างไม่หยุดยั้งได้ แต่ก่อนอื่นกรรมการแต่ละคนเองก็คงต้องวิ่งให้ทันโลกเสียก่อนเพราะเทคโนโลยีด้านนี้ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง