นักพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับก้าวหน้าย่อมรู้จัก SW-CMM ดีว่า เป็นต้นแบบสำหรับใช้ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีวุฒิภาวะความสามารถดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงระดับสูงสุดซึ่งเป็นระดับที่มีการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ดีขึ้นตลอดเวลา ต่อมาสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering Institute) ผู้เป็นต้นคิดได้ปรับปรุงต้นแบบนี้ใหม่กลายเป็น CMMI (Capability Maturity Model Integration) ซึ่งสามารถนำไปใช้ทั้งในการพัฒนาซอฟต์แวร์ พัฒนาระบบที่ซับซ้อน และ พัฒนากระบวนการทำงานได้ด้วย การเปลี่ยนต้นแบบนี้ได้เน้นแนวคิดใหม่ในการใช้ CMMI เพื่อสร้างองค์การให้ก้าวหน้าไปสู่ความเป็นองค์การที่มีวุฒิภาวะสูง (High Maturity Organization)
ตามหลักการของ CMMI แล้ว องค์การที่มีวุฒิภาวะสูงจะต้องมีกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐาน และ การดำเนินงานตามกระบวนการทุกกระบวนการยังต้องมีการปฏิบัติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกสิบห้าประการดังนี้
- องค์การต้องกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานตามกระบวนการต่าง ๆ ให้ครบถ้วน กำหนดรายละเอียดของขั้นตอนในกระบวนการ กำหนดส่วนที่เป็นอินพุต ขั้นตอนการตัดสินใจ กระแสการทำงาน ผลลัพธ์ของการทำงาน และ ตัววัดที่เกี่ยวกับการดำเนินการ รวมทั้งแนวทางการวิเคราะห์ตัววัดที่เก็บได้
- องค์การต้องกำหนดนโยบายในการทำงานตามกระบวนงานนั้นอย่างชัดเจน คือกำหนดทั้งแนวทางปฏิบัติ มาตรฐาน และ วิธีการควบคุม ในแนวคิดของ CMMI นั้นถือว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการปฏิบัติที่เชื่อมโยงกระบวนการเข้ากับผู้บริหารที่รับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของกระบวนการนั้น ถ้าหากไม่มีนโยบายที่ชัดเจน หากทำไปก็อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุน และผลการทำงานก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
- การทำงานตามกระบวนการทั้งหลายต้องมีการวางแผนเสมอ จะลงมือทำโดยปราศจากแผนไม่ได้ เรื่องแผนงานนั้นมีคนต่อต้านกันมากโดยมักจะอ้างว่าแผนงานไม่มีประโยชน์ เพราะมีแล้วก็ใช้ไม่ได้ แต่ความจริงแล้วส่วนใหญ่ที่ใช้ไม่ได้เพราะวางแผนกันไม่เป็น อันที่จริงแล้วกระบวนการทำงานที่สำคัญเรื่องหนึ่งขององค์การทุกแห่งก็คือกระบวนการวางแผน และเมื่อจะเริ่มทำตามกระบวนการวางแผน ก็ต้องวางแผนกระบวนการวางแผนเสียก่อน และถ้าหากมองดูต่อไปในข้อที่ 5 จะพบว่า ถ้ายังวางแผนไม่เป็นก็ต้องไปเข้ารับการฝึกอบรมให้ทำเป็นเสียก่อน
- ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรให้พอเพียง เป็นเรื่องที่ทราบดีอยู่แล้วว่าการดำเนินงานตาม กระบวนการต่าง ๆ จะบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อมีทรัพยากรพร้อม แต่เป็นเรื่องแปลกที่ผู้บริหารบางคนก็ไม่ยอมรับเรื่องนี้ คือไม่จัดสรรทรัพยากรมาให้พอเพียง ทรัพยากรในที่นี้หมายความรวมทั้งคน เงิน เครื่องมือ เครื่องใช้ สถานที่ปฏิบัติงาน และ เวลาสำหรับทำงานนั้น ดังนั้นอย่าได้มองข้ามเรื่องนี้ หากผู้บริหารไม่สนใจก็แสดงว่าองค์การยังไม่มีวุฒิภาวะสูงพอ
- ต้องมอบหมายหน้าที่ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างชัดเจน การปฏิบัติงานใด ๆ จำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบ และเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องแต่งตั้งและมอบหมายหน้าที่นั้นอย่างชัดเจน หากไม่ทำเช่นนี้ก็อาจจะไม่มีใครสนใจดูแลให้การดำเนินงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
- ต้องฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้ดำเนินงานตามกระบวนการนั้นได้ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่องค์การหลายแห่งมักจะมองข้าม และหากลองพิจารณาดูความเป็นไปของหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนหลายแห่งจะพบว่านี่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของไทย เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารเองหลายคนก็ไม่มีความสามารถในการบริหารงานของหน่วยงาน เพราะได้ดีมาทางการประจบประแจงนักการเมือง ปัจจุบันนี้ยังโชคดีที่มีการตั้งสถาบันและหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับนักบริหารหลายแห่งและหลายเรื่องด้วยกัน ทำให้ผู้บริหารหน่วยงานเริ่มคิดเป็นบ้าง แต่ถ้าจะยังขาดก็คือความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในองค์การเองซึ่งเรื่องนี้ขอเรียกว่าเป็น Subject Domain นอกจากผู้บริหารแล้ว พนักงานที่ปฏิบัติงานในหลายแห่งก็ไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมเช่นกัน ดังนั้นองค์การที่มีวุฒิภาวะต้องเน้นการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้จริง
- ต้องจัดเก็บรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงาน การดำเนินงาน และ ผลงานเอาไว้เพื่อการควบคุมให้ เรื่องนี้สำคัญมาก องค์การต้องกำหนดให้มีการจัดเก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินงานเอาไว้อย่างครบถ้วน วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เป็นประวัติสำหรับติดตามการดำเนินงาน และควบคุมให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้อง
- ต้องพิจารณาว่ากระบวนการนั้นเกี่ยวข้องกับผู้ใดบ้าง และต้องให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเสมอ กระบวนการทำงานต่าง ๆ นั้นอาจต้องเกี่ยวข้องทั้งกับผู้ที่อยู่ในองค์การและหรือนอกองค์การ และถ้าหากผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องด้วยนั้นไม่ได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ ผลงานก็อาจจะไม่สำเร็จดีเท่าที่ควร ดังนั้นในการดำเนินงานจึงต้องคอยพิจารณาว่าจะไปเกี่ยวข้องกับใครบ้าง และต้องดูแลให้ผู้นั้นเข้ามาร่วมงานตามความรับผิดชอบ
- ต้องควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงาน การควบคุมงานนั้นเป็นเรื่องจำเป็น และผู้ที่ทำหน้าที่บริหารการดำเนินงานกระบวนการต้องดูแลและติดตามว่าการดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและสอดคล้องกับแผนงานหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามแผนก็ต้องแก้ไข
- ต้องตรวจสอบว่าการดำเนินงานนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดและบรรลุเป้าหมายครบถ้วนหรือไม่ ข้อปฏิบัติส่วนนี้สืบเนื่องมาจากข้อ 8 ที่กล่าวไปแล้ว กล่าวคือต้องดูว่าการดำเนินงานนั้นเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานการดำเนินงานของกระบวนการนั้นหรือไม่ และ จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่
- ต้องจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานเสนอต่อผู้บริหารเป็นประจำ และ เมื่อมีเหตุการณ์พิเศษที่สมควรให้ผู้บริหารรับทราบ การจัดทำรายงานนั้นเป็นงานสำคัญอย่างหนึ่ง หลายองค์การใช้วิธีรายงานด้วยวาจาซึ่งก็ดี แต่ปัญหาก็คือผู้ฟังอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือไม่อาจทบทวนเรื่องที่ได้รับรายงานในภายหลังได้ ดังนั้นการรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรจะเหมาะสมดีที่สุด ส่วนรายงานจะต้องเป็นกระดาษหรืออยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ องค์การสามารถคิดเองได้
- ต้องนำกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานไปปรับใช้ให้เหมาะสม องค์ประกอบข้อแรกที่ได้อธิบายไปในตอนก่อนนั้น ระบุว่าองค์การจะต้องกำหนดกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานสำหรับใช้งาน ส่วนข้อนี้กำหนดเพิ่มเติมว่า องค์การอาจกำหนดให้มีแนวทางสำหรับปรับใช้กระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ซึ่งอาจจะแตกต่างไปได้ ที่สำคัญก็คือผู้ปฏิบัติงานจะต้องใส่ใจในเรื่องการวัดการปฏิบัติงาน และ ผลการปฏิบัติงานในเชิงสถิติ เช่น การใช้เวลาในการปฏิบัติงาน, ผลลัพธ์ที่ได้, และปัญหาที่เกิดขึ้น
- ต้องมีการรวบรวมผลการทำงานในเชิงสถิติตามข้อ 12 ข้างต้น และนำเสนอแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ข้อนี้มีความหมายว่า องค์การจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งสำหรับคอยตรวจสอบการปฏิบัติงานตามกระบวนการต่าง ๆ ว่าได้ผลดีจริงหรือไม่ โดยผู้ปฏิบัติงานตามกระบวนการนั้น ๆ จะต้องส่งรายงานที่แสดงผลการปฏิบัติงาน และ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานพร้อมข้อเสนอในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น เมื่อได้รับรายงานแล้วเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ก็จะพิจารณารายงานหลักฐาน และพิจารณาปรับปรุงกระบวนการทำงานนั้นต่อไป แนวคิดขององค์ประกอบข้อนี้ก็คือ พยายามหาทางให้ผู้บริหารสามารถทำนายผลการปฏิบัติงานตามกระบวนการให้ได้แม่นยำที่สุด เช่น ทำนายระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการปฏิบัติงาน, ทำนายผลการปฏิบัติงาน, ทำนายปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อหาวิธีการป้องกันปัญหาล่วงหน้า การทำนายผลการปฏิบัติงานได้อย่างแม่นยำนั้นถือว่าเป็นความสามารถสำคัญขององค์การที่มีวุฒิภาวะสูง
- พิจารณานำกระบวนการทำงานแบบใหม่ หรือ เทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน ทุกวันนี้มีผู้คิดค้นกระบวนการทำงานใหม่ ๆ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานสำเร็จรวดเร็วขึ้นออกมาเผยแพร่ตลอดเวลา องค์การที่มีวุฒิภาวะสูงจะต้องพิจารณาว่าสมควรที่จะรับแนวคิดใหม่มาใช้หรือไม่ ถ้าหากต้องนำมาใช้ก็จะต้องมีวิธีการเปลี่ยนแปลงการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อไม่ให้เกิดการหยุดชะงัก หรือ การประท้วงไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่
- พิจารณาหาสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานใด ๆ ย่อมอาจเกิดปัญหาได้สารพัดรูปแบบ ปัญหาต่าง ๆ นั้นอาจจำแนกได้เป็นสองลักษณะ คือปัญหาที่เกิดประจำ (เช่น คอมพิวเตอร์ถูกไวรัสรบกวน, โปรแกรมล่ม, พนักงานทำงานผิดพลาด) และปัญหาพิเศษ (เช่น น้ำท่วมทำให้สำนักงานต้องปิด, หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้ซัพพลายเออร์ส่งชิ้นส่วนให้ไม่ได้) การศึกษาสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ และหาทางขจัดต้นตอของปัญหานั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก และจัดว่าเป็นงานสำคัญขององค์การที่มีวุฒิภาวะสูงซึ่งจะต้องไม่ยอมให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำ ๆ ตลอดเวลา ส่วนปัญหาพิเศษนั้น องค์การอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่สามารถพิจารณาในแง่ของความเสี่ยง และบริหารความเสี่ยงได้
จากที่ได้อธิบายมาแล้วนี้ จะเห็นได้ว่าการที่จะเป็นองค์การที่มีวุฒิภาวะระดับสูงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เป็นการทำงานให้เสร็จไปวัน ๆ เท่านั้น แต่ต้องทำงานด้วยจิตใจที่พร้อมจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และมีความปรารถนาที่จะปรับปรุงการทำงานขององค์การให้ดีขึ้นได้ตลอดเวลา การก้าวจากองค์การธรรมดาไปสู่องค์การที่มีวุฒิภาวะสูงจึงจำเป็นต้องศึกษาตีความองค์ประกอบทั้ง 15 ข้อข้างต้นให้แตก และพยายามนำแนวคิดข้างต้นมาปรับใช้โดยมุ่งให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีวัฒนธรรมการทำงานที่มีวุฒิภาวะ ไม่ใช่ทำงานตามยถากรรม หรือทำงานแบบขอไปทีอีกต่อไป