SEPG เป็นคำย่อของ Software Engineering Process Group หมายถึงกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ศึกษากระบวนการทำงานด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของหน่วยงาน แล้วปรับปรุงกระบวนการขึ้นใหม่ให้ดีกว่าเดิม คำนี้เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของผู้ที่ใช้มาตรฐาน SW-CMM หรือ Software Capability Maturity Model ซึ่งเป็นต้นแบบสำหรับการปรับปรุงและวัดวุฒิภาวะความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของหน่วยงาน SW-CMM นั้นเป็นผลงานคิดค้นของสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering Institute หรือ SEI) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ในเมืองพิตตสเบิรก สหรัฐอเมริกา และต่อมาทางสถาบัน SEI ก็ได้ปรับปรุง SW-CMM ใหม่ให้กลายเป็น CMMI หรือ Capability Maturity Model Integration แม้ว่า CMMI จะขยายต้นแบบออกไปครอบคลุมงานด้านอื่นอีกหลายด้าน แต่ก็ยังนิยมเรียกคนที่ทำหน้าที่ศึกษาปรับปรุงกระบวนการตามชื่อเดิมว่า SEPG
การประชุม SEPG นั้นถึงแม้จะมีการนำเสนอบทความวิชาการเหมือนการประชุมวิชาการอื่น ๆ แต่บทความที่นำเสนอก็ไม่เชิงเป็นผลงานวิจัยเหมือนการประชุมวิชาการอื่น ๆ เพราะมุ่งนำเสนอประสบการณ์ในการใช้ CMMI และ ความรู้อื่น ๆ ที่ได้จากการนำ CMMI ไปใช้ โดยปกติแล้วแม้ว่าจะมีผู้ประเมินการดำเนินงานตามกรอบ CMMI หลายร้อยคนทั่วโลกซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประเมินด้วย แต่สถาบัน SEI ได้กำหนดจริยธรรมไว้ว่าผู้ประเมินต้องไม่เปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วยงานที่รับประเมิน อย่างเช่นชื่อของบริษัทที่ถูกประเมินเอง ก็บอกใครไม่ได้ นอกจากบริษัทจะประกาศเอง อย่างไรก็ตามผู้ประเมินสามารถนำประสบการณ์หลาย ๆ แห่งมาประมวลให้เกิดเป็นองค์ความรู้ได้โดยต้องไม่บอกว่าเป็นข้อมูลของใคร ดังนั้นการประชุมลักษณะนี้จึงมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้รับฟังประสบการณ์ของบริษัทว่ามีการเตรียมตัวอย่างไร รวมทั้งได้รับฟังคำแนะนำจากผู้ประเมินด้วยว่าการก้าวไปสู่วุฒิภาวะที่มีระดับสูงขึ้นนั้นควรเตรียมตัวอย่างไร
ทุกปีจะมีการประชุม SEPG ในภูมิภาคหลายแห่งทั่วโลก เช่น ในสหรัฐอเมริกา ลาตินอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และ เอเชีย (ที่เอเชียนั้นปกติจัดที่อินเดีย โดยบริษัท QAI) ผมเคยไปประชุม SEPG มาแล้วที่อินเดีย, อเมริกา, และ ยุโรป แต่ยังไม่เคยไปอีกสองแห่ง และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มาร่วมประชุม SEPG Australia
เจ้าภาพจัดการประชุม SEPG Australia คือ สถาบัน Software Quality Institute หรือ SQI ซึ่งสังกัดมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ในเมืองบริสเบน แต่สำหรับปีนี้เจ้าภาพตัดสินใจมาจัดที่โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เมลเบิร์น
สถาบัน SQI นั้นเป็นพันธมิตร (Partner) ที่ดีของ SEI และได้รับเชิญให้ร่วมในงานของ SEI หลายด้านด้วยกัน เช่น สามารถเปิดสอนหลักสูตร CMMI Instructor ได้ ผมเองก็มาเรียนในหลักสูตรนี้กับสถาบัน SQI ที่บริสเบนเช่นกัน คราวนั้นผู้สอนคือ Angela Tuffley ซึ่งในการประชุม SEPG คราวนี้ก็ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมด้วย
เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ก่อนหน้าการประชุม SEPG ได้เดือนเดียว ทางสถาบัน SEI ก็ได้ประกาศโมเดล CMMI เวอร์ชันใหม่ คือเปลี่ยนจากเวอรชันเดิม V1.1 เป็น V 1.2 พร้อมกับประกาศยกเลิกการสอน CMMI V1.1 ในสิ้นปีนี้ และยังยอมให้มีการประเมิน V1.1 ต่อไปถึงเดือนสิงหาคมปี 2007 อย่างไรก็ตามโดยที่ V1.2 นั้นแตกต่างไปจากเดิมบ้าง ทาง SEI จึงกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประเมิน และ อาจารย์ ต้องทำตามอีกสามข้อด้วยกันคือ หนึ่ง: ต้องศึกษาความเปลี่ยนแปลงของเวอร์ชันใหม่ผ่านระบบฝึกอบรมออนไลน์ ซึ่งเขาส่งมาให้ผู้ประเมินและอาจารย์ศึกษา สอง:เมื่อศึกษาจบแล้วต้องสอบให้ผ่าน โดยข้อสอบนั้นเป็นแบบปรนัย 45 ข้อสำหรับอาจารย์ และ สาม: ต้องไปเข้าประชุมแบบ Face-to-Face ซึ่งจะจัดขึ้นครั้งแรกที่เมืองชาร์ลอตต์ ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ในกลางเดือนตุลาคมนี้ สำหรับผู้ประเมินระดับ 4 -5 นั้น สถาบัน SEI เห็นว่า ผู้ประเมินหลายคนยังไม่มีความสามารถจึงกำหนดกฎขึ้นมาอีกข้อหนึ่งว่า ต้องไปสอบปากเปล่าก่อนจึงจะประเมินระดับ 4- 5 ได้ แต่ต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีกว่าจะกำหนดรายละเอียดและแนวทางการสอบขึ้น
สำหรับการประชุม SEPG ที่เมลเบิร์นนี้ ทางสถาบัน SEI ได้อนุญาตให้ผู้ประเมินและอาจารย์ CMMI มาสอบได้ด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผมจะต้องมาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้เพื่อสอบให้ผ่าน และเขากำหนดให้สอบได้เพียงสามหน หากสอบไม่ผ่านก็ต้องไปเรียน CMMI กันใหม่ แต่เขาไม่ได้บอกว่าต้องกลับไปเรียนระดับไหน
การประชุม SEI Partner
ผมมาถึงเมลเบิร์นและเข้าพักที่โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เมลเบิร์น ในวันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2549 ในวันรุ่งขึ้นคือวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2549 ก็มีการประชุม SEI Partner ซึ่งผมเข้าประชุมด้วย โดยผู้จัดคือ SEI ซึ่งนำข่าวสารมาแจ้งให้ทราบว่า ทาง SEI ต้องการให้มี Partner หรือพันธมิตรสำหรับสอนหลักสูตร PSP (Personal Software Process) หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับการสอนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยให้รู้จักการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง ผมเองเคยเรียนเรื่องนี้มาแล้ว แต่ไม่ได้เรียนอย่างเป็นทางการหรือในหลักสูตรที่ทาง SEI รับรอง ขอยืนยันว่าเป็นหลักสูตรที่ดี เพราะช่วยปูพื้นฐานการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ดีมาก บัณฑิตในหลักสูตรคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ทั่วไปนั้นถึงแม้จะเรียนวิชาเขียนโปรแกรมมาแล้วแต่ก็ไม่ได้เรียนเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง ดังนั้น การส่งเสริมให้เรียน PSP จึงเป็นเรื่องสำคัญ หรือมิฉะนั้นก็จะต้องพัฒนาหลักสูตรทำนองเดียวกันขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งที่ทาง SEI นำมาเสนอก็คือการประชาสัมพันธ์ ในการประชุมกลุ่มย่อยนี้ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของ SEI กล่าวว่าทาง SEI จะช่วยประชาสัมพันธ์งานด้าน CMMI ให้แก่บรรดาพันธมิตรทั้งหลาย โดยทางพันธมิตรจะต้องแจ้งรายละเอียดไปให้ทาง SEI ทราบเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และกระจายข่าวสารให้
Tutorials วันแรก
การประชุม SEPG ที่เมลเบิร์นนี้เริ่มต้นรายการด้วยการจัด Tutorials ในวันจันทร์ที่ 25 กันยายน ในตอนเช้าผมเลือกเข้าฟังเรื่อง Establishing an Effective Process Architecture ซึ่งบรรยายโดย นายปาสกาล แรบบาธ แห่งบริษัท S-3
นายปาสกาลนั้นเป็น CMMI Instructor ซึ่งเรียนมาพร้อมกับผม แต่เขาเปิดบริษัทกับน้องชายอีกคนหนึ่งร่วมกันให้บริการทางด้านการพัฒนากระบวนการทำงานที่มีวุฒิภาวะมาได้สามสี่ปีแล้ว และถึงแม้จะมีคนทำงานเพียงสองคน ก็ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานของรัฐหลายแห่งให้เข้าไปให้คำปรึกษาในการสร้างกระบวนการทำงานให้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่านายปาสกาลเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้มาก
Tutorial ของนายปาสกาลนั้นเน้นพื้นฐานของสถาปัตยกรรมกระบวนการ (Process Architecture) ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยให้เห็นลำดับ, อินเทอร์เฟส, และ ความเกี่ยวข้องกัน ของ องค์ประกอบต่าง ๆ ภายในกระบวนการมาตรฐาน และระหว่างกระบวนการภายในกับภายนอก เพราะเมื่อสามารถกำหนดสถาปัตยกรรมนี้ได้แล้ว จะทำให้เห็นภาพชัดว่าหน่วยงานมีกระบวนการอย่างไรและสัมพันธ์กันอย่างไร และเมื่อเข้าใจภาพชัดแล้วก็สามารถปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นได้ แต่กระบวนการมาตรฐานนั้นจะต้องสร้างขึ้นอย่างถูกต้อง คือต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร ต้องมีนโยบายกำกับ ต้องเน้นให้สามารถปฏิบัติได้จริง อีกทั้งยังต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงธุรกิจของหน่วยงานด้วย นอกจากนั้นการสร้างกระบวนการยังต้องสร้างฐานข้อมูลสำหรับวัด performance ของกระบวนการ และสร้างห้องสมุดทรัพย์สินกระบวนการ (Process Asset Library) ด้วย เมื่อสร้างแล้วหน่วยงานจะต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการนำกระบวนการไปใช้มาไว้ในฐานข้อมูลและห้องสมุดนี้เพื่อใช้สำหรับการอ้างอิงและปรับปรุงกระบวนการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับ Tutorials ที่สองในช่วงบ่ายนั้น ผมเลือกเข้าฟังเรื่อง CMMI V1.2 ซึ่งนำเสนอโดย นายไมค์ ฟิลลิปส์ จากสถาบัน Software Engineering Institute เอง ความจริงผมก็ได้รับการฝึกอบรมเวอร์ชันใหม่แบบออนไลน์มาแล้ว แต่ผมต้องการฟังประเด็นสำคัญใหม่ ๆ ที่อาจจะหลงหูหลงตาไปบ้าง เพื่อจะได้จำไว้ใช้ในการสอบตอนเย็นวันพุธ
CMMI เวอร์ชัน 1.2 นั้นได้รับการปรับปรุงให้กะทัดรัดมากกว่าเวอร์ชันก่อน และเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น เพราะมีการปรับปรุงโดยตัดส่วนที่ไม่จำเป็นหรือขัดแย้งกันออก โดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องยาวจึงไม่ขออธิบายในที่นี้ ขอสรุปเพียงว่า นอกจากการปรับปรุงเวอร์ชันใหม่แล้ว SEI ยังกำหนดว่า ผู้ที่จะประเมิน CMMI ระดับ 4 และ 5 ในอนาคตได้จะต้องผ่านการรับรองจาก SEI อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ ผู้ได้รับอนุญาตให้ประเมิน CMMI หรือที่เรียกว่า SCAMPI Lead Appraiser ( SCAMPI ย่อมาจาก Standard CMMI Appraiser Method for Process Improvement) จะต้องสอบปากเปล่ากับผู้เชี่ยวชาญของ SEI สองคน แต่ก่อนจะได้รับอนุญาตให้สอบได้ SEI จะต้องพิจารณาคุณสมบัติว่ามี การศึกษา ประสบการณ์ และ เคยร่วมในการประเมินระดับสูงด้วยหรือไม่ หากพิจารณาตรงไปตรงมาแล้ว ผมอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่าน เพราะยังไม่เคยร่วมในการประเมิน CMMI ระดับสูงมาก่อน เคยแต่ SW-CMM เท่านั้น
SEPG Conference
ในวันอังคารที่ 26 กันยายน ก็มีพิธีเปิดการประชุม SEPG Australia อย่างเรียบง่าย โดยผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ จากนั้นก็มีการบรรยายรับเชิญโดย นาย Satyendra Kumar ผู้เป็น รองประธานอาวุโส และ หัวหน้ากลุ่มคุณภาพ ของบริษัท Infosys Technologies จำกัด ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศอินเดีย
นายกุมาร บรรยายว่า บริษัทอินโฟซิส เห็นความสำคัญของคุณภาพมานานแล้ว และได้นำระบบคุณภาพต่าง ๆ มาใช้หลายระบบด้วยกัน รวมทั้ง CMMI ด้วย และทางบริษัทได้รวมเนื้อหาทั้งหลายให้เข้ากันได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังได้ทำเครื่องมือสำหรับใช้ในการจัดเก็บความรู้เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น บริษัทมีนโยบายให้ทุกศูนย์ในต่างประเทศรวม 27 แห่ง ต้องประเมินผ่าน CMMI ระดับ 5 ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายแต่ก็ทำได้จริง นอกจากนั้นบริษัทยังศึกษาผลการทำงานของโครงการที่ระดับ 3 กับระดับ 5 หลายโครงการ พบว่าโครงการที่ระดับ 5 นั้นได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าระดับ 3 อย่างเห็นชัด
ช่วงต่อมาผมนั่งฟังการนำเสนอเรื่อง Software and Systems Engineering Process Capability in the South Australian Defense Industry นำเสนอโดย นาย Trent Kroeger ซึ่งเก็บข้อมูลจากบริษัทที่ทำงานด้านซอฟต์แวร์และระบบให้กับกระทรวงกลาโหม ออสเตรเลีย เนื้อหาเป็นเรื่องของการสำรวจบริษัทที่ทำซอฟต์แวร์ให้กับกระทรวงกลาโหม บริษัทเหล่านี้มีขนาดต่างกันมาก มีตั้งแต่บริษัทที่มีพนักงานไม่ถึง 9 คน ไปจนถึงมีมากกว่า 100 คน พบว่า หลายรายใช้ CMMI และ มากกว่า 50% ใช้ ISO 9000-2000 บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถตอบได้ว่าการนำ CMMI และ มาตรฐานมาใช้ทำให้เกิดประโยชน์เป็นจำนวนเท่าใด แต่บอกได้กว้าง ๆ ว่า การทำงานมีลักษณะสม่ำเสมอมากขึ้น, สามารถควบคุมการทำงานและสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น, ช่วยให้มีแนวทางทำงานสำหรับพนักงานที่ไม่มีประสบการณ์, และ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่มักเกิดเป็นประจำ สำหรับปัญหาของบริษัทเหล่านี้ก็คล้ายกัน คือ ไม่สามารถหาพนักงานที่มีทักษะมาร่วมงานได้, ปัญหาด้านการเงิน และ กระแสเงินสด, ปัญหาการเติบโต คือไม่สามารถเติบโตไปสู่ระดับนานาชาติ, ปัญหาการจัดการกับความซับซ้อน, การปรับปรุงกระบวนการทำงาน, ค่าประเมินแพง, สร้างกระบวนการได้ยาก, และ ปัญหาการจัดการการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์การ
ผมนั่งฟังการนำเสนองานอีกหลายเรื่อง แต่บางเรื่องก็เป็นงานที่ยังไม่ได้ทำจริงจัง เป็นแต่เพียงการเริ่มต้นทดลองทำเท่านั้น นั่นคือ การใช้ CMMI กับหน่วยงานวิจัยขนาดใหญ่ ของ Fiona Mahony บางเรื่องก็เป็นเรื่องธรรมดาที่รู้แล้ว เช่น Quickstart to CMMI ของ นาย Alan Abrahams แห่งบริษัท Object Consulting อีกเรื่องหนึ่งของ นาย Terry Rout ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่กับสถาบัน SQI ผู้จัดรายการประชุมนี้เอง เทอร์รี นำเสนอความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่าง CMMI กับโมเดลของ 15504 ของ ISO ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเทอร์รีได้พูดมาหลายหน แต่เขาย้ำว่าคราวนี้นำมาจากการทำโครงการนำร่องที่โปรตุเกส ร่วมกับนาย David Kitson แห่ง SEI อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเรื่องการประเมิน CMMI อย่างเร็ว ๆ ของ นาง Angela Truffley ซึ่งเป็นประธานจัดงานเอง แองเจล่าเล่าว่าเรื่องนี้ทาง SQI ได้ทดลองทำมาระยะหนึ่งแล้ว ได้ผลดี แต่เขาไม่ได้บอกว่าทำอย่างไร
ในวันที่สองของการประชุมวิชาการ ผู้บรรยายรับเชิญก็คือ Bill Curtis ผู้เป็นหนึ่งในทีมที่คิดสร้างโมเดล People CMM ให้กับทาง SEI นายเคอร์ติสบรรยายแนวคิดว่าปัจจุบันนี้เรามีประเด็นที่ขัดแย้งกันสองอย่าง อย่างแรกคือเราเห็นว่า "พนักงานเป็นทรัพยากรที่สำคัญ และ เราต้องพัฒนาให้มีความสามารถ" แต่ขณะเดียวกัน "พนักงานก็พยายามมองหางานที่ให้รายได้สูงกว่าเดิม และจะลาออกไปอยู่กับบริษัทใหม่ถ้าที่ใหม่ให้เงินเดือนดีกว่า" เมื่อเป็นเช่นนี้ บริษัทก็ไม่ต้องการจะลงทุนพัฒนาบุคลากรเพราะกลายเป็นค่าใช้จ่ายไป ส่งผลให้บุคลากรไม่มีความสามารถพอที่จะทำงานให้บริษัทได้ และไม่ใช่ทรัพยากรของบริษัท ในภาพรวมก็คือบริษัทไม่ประสบความสำเร็จ
นายเคอร์ติสเสนอว่า เราต้องพิจารณาใหม่ว่า บุคลากรของบริษัทไม่ใช่ทั้ง Assets และ Expense แต่เป็นนักลงทุน (Investor) และเราควร "Attract and maintain people like investors." นั่นคือ ต้องให้รางวัลหรือค่าตอบแทนตามผลการทำงาน, ให้โอกาสที่จะได้รับรางวัลจากการทำงาน, และ มีโอกาสที่จะเพิ่มค่าให้ตนเองได้
ต่อจากนั้น ผมได้นั่งฟังการนำเสนอบทความของนาย Haresh Amre เรื่อง Enhancing Business Value through Integration of ITIL Framework and Six Sigma methodology เนื้อหาเป็นเพียงการพยายามรวมแนวคิดของมาตรฐานการให้บริการไอที (ITIL) เข้ากับ Six Sigma แต่รายละเอียดเกี่ยวกับการ implementation จริง ๆ มีน้อย
เรื่องที่เป็นประโยชน์คือ Building Process Asset Libraries that Work ของนาย Stephen Garth แห่งบริษัท IBM ซึ่งอธิบายว่า การดำเนินงานของ IBM แต่เดิมก็มีความสับสน เพราะผู้ปฏิบัติงานไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกันให้ใช้งาน ต่อมาทางบริษัทได้พัฒนา Application Management Systems ขึ้นเป็นมาตรฐานสำหรับใช้ในการพัฒนางานประยุกต์ต่าง ๆ และ AMS นี้เองที่เป็นมาตรฐานกลางที่เก็บไว้เป็น Process Asset Libraries ที่พนักงาน IBM สามารถเข้าไปศึกษาและนำมาใช้ผ่านระบบอินทราเน็ตของไอบีเอ็มได้
เรื่องต่อมาเป็นเรื่อง Distributed Process Improvement นำเสนอโดยนาย Stephen Halyoake แห่งบริษัท Tenix ซึ่งอธิบายการปรับปรุงกระบวนการของบริษัทซึ่งมีขนาดใหญ่ เขาเน้นว่าเรื่องนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง ส่วนผู้บริหารระดับแผนกก็ต้องยินยอมพร้อมใจในการทำงานข้ามแผนก และจะต้องเลือกใช้พนักงานที่มีความสามารถสูงในการดำเนินการปรับปรุงในขั้นต้น
เรื่องสุดท้ายของช่วงบ่ายเป็นเรื่องความคิดในทางทฤษฎี ของ นาย Warwick Adler ชื่อเรื่อง Why your Process Improvement Group should be your best friend(s) คำอธิบายเน้นไปที่การสร้างกลุ่ม SEPG ในองค์การให้เข้มแข็ง
ระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน มีคำบรรยายพิเศษประมาณ 20 นาที โดย ผู้อำนวยการ SEI นาย Paul Nielsen เนื้อหาของคำบรรยายเกี่ยวกับการทำวิจัยและพัฒนาหลักการใหม่ ๆ สำหรับการส่งเสริมงานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน สถาบันได้รับมอบหมายให้พัฒนากระบวนการสำหรับสร้างเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้องค์การด้วย
ในช่วงบ่าย ผมไม่ได้เข้าร่วมประชุม เพราะจำเป็นต้องทบทวนเนื้อหาของ CMMI V1.2 ซึ่งมีรายละเอียดมาก และผมต้องอ่านรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนเข้าสอบ
การสอบ CMMI Instructor
เย็นวันพุธเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ผมต้องเข้าสอบ CMMI Instructor ซึ่งใช้เวลาสองชั่วโมง เป็นข้อสอบปรนัย 45 ข้อ เนื้อหามาจาก CMMI V1.2 Tutorial Online ซึ่งผมได้ศึกษาไปแล้ว แต่รายละเอียดปลีกย่อยมีเยอะ และในเมื่อข้อสอบเป็นแบบปรนัย จึงแสดงว่าต้องเข้าใจและรู้รายละเอียดมากทีเดียว
ผมเข้าไปนั่งสอบแถวหน้า คือใครมาก่อนตามเวลาก็ไปนั่งก่อน จึงไม่ได้เหลียวหลังมาดูว่ามีผู้เข้าสอบกี่คน แต่เข้าใจว่าสักสิบคนเท่านั้น ข้อสอบเป็นเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในโมเดลอย่างที่ผมคิด แต่ก็มีบางส่วนซึ่งเป็นคำถามที่ต้องเชื่อมโยง และ ตีความหลายตลบ ผมจึงต้องกำจัดคำตอบออกไปทีละข้อ แต่บางข้อก็เหลือสองข้อซึ่งจะเลือกคำตอบแบบใดก็ได้สุดแท้แต่การตีความหรือความเข้าใจ เมื่อผมทำข้อสอบเสร็จ เจ้าหน้าที่ก็ตรวจคำตอบผมทันที แล้วก็ให้ผ่าน แต่ผมก็ทำผิดไปหลายข้อและเป็นข้อที่ต้องตีความอย่างที่ผมอธิบายไว้ข้างต้น และผิดไปเพราะไปตีความไม่ตรงกับที่ทาง SEI ต้องการ อาจจะเพราะผมคิดลึกไป หรือ ตื้นไปก็ได้
แม้ผมจะสอบผ่านแล้ว แต่ก็ยังสอนโมเดลใหม่ไม่ได้ ผมต้องรอไปเข้า workshop แบบ Fact-to-Face ในวันที่ 16 ตุลาคม ที่เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ธแคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา อีกครั้งหนึ่ง
Tutorial วันพฤหัสบดี
ผมจองมาเข้า Tutorials วันพฤหัสบดีหลังการประชุมอีกสองเรื่อง ความจริงช่วงเช้าผมจองเรื่อง Complex Engineering Systems ไว้แต่ ผมเปลี่ยนใจไปเข้าฟังเรื่อง People CMM เพราะเห็นว่า นายบิลล์ เคอร์ติส เป็นผู้บรรยายที่เยี่ยมยอด และผมก็ไม่ผิดหวัง เพราะเกิดความเข้าใจในหลักการของ People CMM เพิ่มมากขึ้น
สำหรับช่วงบ่าย ผมฟังเรื่องเกี่ยวกับ การสร้าง Tailoring Guidelines ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสับสนสำหรับหลายองค์กร การบรรยายของ.... ทำให้ผมเข้าใจเทคนิคการสร้างคู่มือปรับเปลี่ยนกระบวนการมาตรฐานไปสู่กระบวนการสำหรับงานโครงการได้ดีมากขึ้น ก่อนอื่นเราต้องสร้างกระบวนการมาตรฐานที่ละเอียด มีหัวข้อปฏิบัติที่ชัดเจนครบถ้วน จากนั้นเราต้องวิเคราะห์โครงการต่าง ๆ ว่ามีลักษณะอย่างใด แล้วจำแนกโครงการเป็นกลุ่ม ๆ ให้ได้ เมื่อได้ข้อมูลครบแล้ว ก็ให้พิจารณาว่า กระบวนการมาตรฐานที่เขียนขึ้นนั้น มีข้อปฏิบัติส่วนใดบ้างที่ต้องนำไปปฏิบัติในทุกโครงการ ข้อปฏิบัติใดบ้างที่เลือกไม่ต้องทำก็ได้ และ ข้อปฏิบัติใดบ้างที่ไม่ต้องทำ แล้วนำรายละเอียดมาเขียนเป็นรูปแมทริกส์ ผู้บรรยายได้แสดงตัวอย่างของเอกสารที่ใช้ที่บริษัทของผู้บรรยายด้วย แต่ไม่สามารถทำสำเนาแจกได้เพราะเป็นความลับ
การดูงานที่บริษัท IBM Global Services
นายอลัน นอร์ตัน ผู้ประเมินและผู้สอน CMMI ของบริษัท IBM เป็นผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตรเป็นผู้สอน CMMI พร้อมกับผมที่เมืองบริสเบนเมื่อหลายปีมาแล้ว ก่อนหน้าเดินทางมาเมลเบิร์น ผมได้นัดหมายที่จะไปขอสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการอนุวัติ CMMI ในบริษัท IBM เพราะบริษัท IBM เป็นบริษัทที่ผ่านการประเมินถึงระดับที่ 5 และเคยได้รับรางวัลบริษัทที่มีกระบวนการทำงานที่ดีเยี่ยมมาแล้ว
ผมทราบมาจากการฟังคำบรรยายในที่ประชุมว่า ไอบีเอ็มใช้เวลาก้าวไปสู่ระดับ 3 ในเวลา 2 ปี และใช้อีก 2 ปีก้าวไปสู่ระดับ 5 ดังนั้นผมจึงถามเขาว่า การประเมินมาสู่ระดับ 5 ของไอบีเอ็มยากไหม
อลันตอบว่า ตอนที่ไอบีเอ็มตัดสินใจจะก้าวไปสู่ระดับ 4 และ 5 นั้น เขาอยู่ที่ไอบีเอ็ม สิงคโปร์ และ ทางไอบีเอ็มออสเตรเลีย ได้ขอให้เขากลับมาช่วยเรื่องนี้ เขาบอกตรง ๆ ว่า ตอนนั้นเขาก็งงมาก ไม่ทราบว่าระดับ 4 และ 5 นั้นมีลักษณะอย่างไร เพราะไม่เคยทำ เขาจึงต้องติดต่อกับไอบีเอ็มทั่วโลก และพบว่ามีหลายแห่งที่ได้ระดับ 4 และ 5 ไปแล้ว เขาจึงขอคำแนะนำจากผู้ที่ผ่านจนพอเข้าใจ ในเรื่องนี้เขาบอกว่าโชคดีที่ไอบีเอ็มมีวัฒนธรรมการวัด (metrics) มานานแล้ว ดังนั้นเขาจึงเริ่มต้นที่เรื่องตัววัด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันมาก เพราะเมื่อลองถามดูก็พบว่าใช้ตัววัดต่าง ๆ กันมากมาย รวมแล้วนับสี่สิบห้าสิบตัวด้วยกัน
อลัน ตัดสินใจที่จะต้องลดตัววัดลง เขาสร้างแมทริกซ์ขึ้นบรรจุตัววัดเหล่านี้ลงไปในแต่ละแถว ส่วนในแนวตั้งนั้น เขาตรวจสอบการใช้ตัววัดของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของ IBM อินเดีย ของ SEI และ ของบริษัทอื่น ๆ เท่าที่จะหาได้ ถึงตรงนี้เขาก็พอจะทราบแล้วว่าบริษัทต่าง ๆ ใช้ตัววัดอะไรบ้าง เขาเรียกรายการตัววัดเหล่านี้ว่า Wish List
จากนั้นเขาต้องสอบถามคนที่ให้รายการตัววัดนั้นมาว่า นำเอาตัววัดเหล่านั้นไปใช้อย่างไร ตัววัดเหล่านั้นตอบสนองวัตถุประสงค์เชิงธุรกิจ (Business Objectives) หรือไม่ การใช้หรือไม่ใช้มี Risk อะไรบ้าง การถามนี้ก็เพื่อให้ผู้ถูกถามคิดและตัดสินใจว่า จะใช้ตัววัดนั้นหรือไม่ ในที่สุดก็ได้ตัววัดออกมาหนึ่งชุดสำหรับใช้ในการจัดการกระบวนการทางสถิติ
เมื่อมีตัววัดและจัดการด้านสถิติได้แล้ว การก้าวไปสู่ระดับ 5 ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นการศึกษางานที่มีสถิติกำกับ เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุร่วมของปัญหา (Common cause of problems) เท่านั้น ส่วนแนวทางการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในระดับ 5 นั้น ทางไอบีเอ็มชำนาญอยู่แล้วในด้านการศึกษาติดตามเทคโนโลยีใหม่เพื่อ transition มาใช้ในบริษัท จึงไม่มีปัญหาในการประเมินอีกเช่นกัน
ผมถามความคิดและประสบการณ์ของเขาว่า การที่จะก้าวจากระดับ 1 ไปสู่ระดับ 5 ได้นั้นต้องใช้เวลานานหรือไม่ อลันบอกว่าตอบยาก เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยที่สำคัญก็คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรซึ่งเริ่มตั้งแต่ระดับที่ 3 เป็นต้นไป เพราะการนำ CMMI มาใช้นั้นไม่ใช่เป็นการเขียนกระบวนการไว้บนกระดาษ แล้วก็นำไปใช้กับโครงการสี่โครงการเพื่อยกมาให้ประเมิน แต่ต้องใช้กับทุกโครงการ และทุกคนในองค์การต้องปฏิบัติตามกระบวนการอย่างสม่ำเสมอ เมื่อผ่านระดับสามแล้ว ทุกคนก็ต้องหัดใช้ข้อมูลเพื่อการจัดการ ต้องนำผลการดำเนินงานเดิมมาปรับปรุงกระบวนการทำงานใหม่ และ เมื่อไปถึงระดับห้า ก็ต้องพิจารณาแก้ไขสาเหตุของปัญหาร่วมที่ทำให้การทำงานต้องติดขัดอยู่เสมอ รวมทั้งต้องมีการพิจารณาเรื่องนำเทคโนโลยีใหม่มาทดลองใช้กับองค์การอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วย เขาคิดว่า เวลาในการสร้างวัฒนธรรมองค์การและการฝึกหัดให้คนบริหารเป็นนั้นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสามปี
ผมถามอลันต่อไปว่า ปัจจุบันที่ออสเตรเลีย มี CMMI Lead Appraiser กี่คน และ Instructor กี่คน เขาตอบว่า เขาเองเป็นทั้ง Instructor และ Lead Appraiser นอกนั้นยังมี LA อีกสองคน และมี CBAIPI (ผู้ประเมิน SW-CMM) อีกหนึ่งคน แต่คนนี้ไม่เรียน CMMI ต่อ ส่วนทั่วโลกนั้นคิดว่ามี LA อยู่ราว 20 คน
ผมถามว่า เขามีปัญหาไหมสำหรับการประเมินบริษัทของตนเอง เขาตอบว่ามีบ้าง เพราะโดยหลักการแล้วผู้ประเมินจะต้องเป็นอิสระ (Independent) จากฝ่ายการจัดการ อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางฝ่ายบริหารกำลังพิจารณาจะปรับโครงสร้างงานของเขาใหม่ ซึ่งอาจจะไปขึ้นกับทางผู้จัดการใหญ่โดยตรง
ผมถามว่า เขามีกลุ่ม SEPG กี่คน เขาอธิบายว่าเรื่องนี้ตอบยาก เพราะไม่ได้มีกลุ่มเดียว แต่มีหลายกลุ่ม ต่างคนต่างก็ดูกันไปกลุ่มละเรื่องสองเรื่อง
เรื่องที่ผมสนใจมากจนต้องถามเขาเป็นพิเศษก็คือ หลังจากที่ไอบีเอ็มบรรลุระดับ 5 แล้ว ทำอะไรต่อ เพราะโดยหลักการแล้วบริษัทที่ระดับ 5 จะต้องคอยปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ในเรื่องนี้อลันตอบว่า กรณีของไอบีเอ็มเป็นเรื่องแปลก คือ ผู้จัดการของออสเตรเลีย ได้ย้ายไปอยู่ที่อเมริกา และรับผิดชอบสร้างกระบวนการอื่น ๆ ให้ดีเหมือนที่ออสเตรเลีย ดังนั้นหน้าที่ของทางกลุ่มของอลันคือสนับสนุนการพัฒนากระบวนการอื่น ๆ ที่อเมริกา
เรื่องสุดท้ายที่ผมถามก็คือเรื่อง Tailoring Guideline ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ระดับ 3 และผมอยากรู้ว่าเขาใช้เทคนิคอะไร อลันตอบว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนออสเตรเลีย คือถ้าหากไปกำหนดว่าให้ทำอะไรแล้ว คนออสเตรเลียจะไม่ค่อยชอบ ต่างไปจากคนสิงคโปร์ ซึ่งถ้าหากไม่เขียนข้อกำหนดให้ทำก็จะไม่ทำ ดังนั้นหลังจากมีกระบวนการมาตรฐานแล้ว ทางไอบีเอ็มก็ไม่ได้กำหนดแนวทางอะไรมาก บอกแต่เพียงระดับ minimum ไว้เท่านั้นว่าจะต้องทำอย่างต่ำแค่นี้ แต่ห้ามใช้กระบวนการอื่น ๆ ที่ไม่ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน เรื่องที่เห็นชัดก็คือ Template กับ Form เวลาใช้ Template นั้น อย่างน้อยผู้ใช้จะต้องเลือกหัวข้อที่กำหนดว่าจะต้องมี ส่วนหัวข้ออื่น ๆ ก็สุดแท้แต่ความต้องการ ส่วนแบบ Form นั้นจะต้องใช้ตามที่กำหนด ไม่ใช้ไม่ได้
ในเรื่องเกี่ยวกับ Process Asset Library นั้น อลัน บอกว่าให้ไปอ่าน Presentation ของ สตีเฟน การธ ซึ่งมานำเสนอในการประชุมคราวนี้ เขาไม่สามารถจะให้ตัวอย่างได้เพราะเป็นความลับ
สรุป
การประชุม SEPG Conference ที่ออสเตรเลียประจำปี 2006 นี้มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 150 คน นับเป็นการประชุมขนาดเล็ก ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ศึกษาและอนุวัติ CMMI มีผู้ที่เป็น Lead Appraiser และ Instructor หลายคน บางคนมาจากสหรัฐอเมริกา เกาหลี และ มาเลเซีย โดยทั่วไปแล้วบรรยากาศการประชุมมีการแลกเปลี่ยนทัศนะกันดี ยกเว้นเนื้อหาบางส่วนค่อนข้างจะหนักไปทางทฤษฎี ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าผู้ปฏิบัติงาน CMMI ชาวออสเตรเลียไม่ใช่นักวิชาการประเภทที่อยากจะนำรายละเอียดผลการดำเนินงานของตนมาเผยแพร่ก็ได้ นอกจากนั้นนักวิชาการนอกออสเตรเลียก็ไม่ค่อยอยากมานำเสนอบทความที่นี่มากนัก