ผมมาญี่ปุ่นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2549 ก็เพื่อพานักศึกษาในหลักสูตร Mini MIPS ของสถาบันวัฒนธรรมวาเซดะ ประเทศไทย มาดูงานและฟังคำบรรยายของอาจารย์ญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ วิทยาเขตคิตะคิวชู และหลังจากฟังคำบรรยายแล้วก็จะไปฟังการบรรยายและดูการทำงานที่โรงงานโตโต้
ใช่แล้วครับ ก็โรงงานเครื่องสุขภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อลือนามของญี่ปุ่นนั่นแหละครับ ในขณะที่บ้านเรารู้จักเครื่องสุขภัณฑ์ American Standards และ กะรัต เป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นต้อง Toto ครับ มีคำถามว่าทำไมถึงไปโรงงานนี้ ที่นี่มีอะไรดีหรือ
คำตอบก็คือ มีมากครับ โรงงานแห่งนี้ได้รับรางวัล TPM ระดับ World Class ซึ่งมีโรงงานเพียงไม่กี่แห่งทั่วโลกที่ได้รับรางวัลนี้ ดังนั้นแค่มาเรียนรู้ว่าเขาทำอย่างไรถึงได้รับรางวัลนี้ก็คุ้มค่าแล้วละครับ
โรงงานโตโต้นั้นเปิดดำเนินการที่เมืองคิตะคิวชูมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1917 หรือเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้ว และต่อมาอีกสามปีจึงสร้างอุโมงค์เตาเผาขนาดยาวเป็นแห่งแรกของญี่ปุ่น บริษัทได้เริ่มนำหลักการ TQC หรือ Total Quality Control มาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1985 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำมาสู่ TPM ต่อมาในภายหลัง เพียงสี่ปีหลังจากนำ TQC มาใช้เท่านั้นบริษัทก็ได้รับรางวัลเดมมิง ซึ่งเป็นรางวัลทางด้านคุณภาพที่มีชื่อเสียง หลังจากนั้นบริษัทก็ได้ผ่านการรับรองด้านคุณภาพอื่น ๆ อีกหลายรายการ คือในปี 1998 ผ่านการรับรอง ISO 9001 ในปี 1999 ได้รับการรับรอง ISO 14001 ในด้านการลดฝุ่น และในปี 2000 ผ่านการรับรอง ISO 14001 ทั้งบริษัท
ผลิตภัณฑ์สำหรับห้องสุขาที่เป็นสินค้าหลักของบริษัทโตโต้ประกอบด้วย อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำโถปัสสาวะชาย โถปัสสาวะหญิง โถส้วมธรรมดา โถส้วมอิเล็กทรอนิกส์ และโถส้วมแบบใหม่ชื่อ Neorest ซึ่งเป็นโถส้วมที่ไม่ต้องมีถังบรรจุน้ำเหมือนโถส้วมทั่วไป โถส้วมอิเล็กทรอนิกส์นั้นทางบริษัทได้ผลิตออกจำหน่ายมาร่วมยี่สิบปีแล้ว และปัจจุบันนี้จำหน่ายไปได้ทั้งหมดร่วมยี่สิบล้านชุดเช่นกัน ชนิดที่หรูหราและมีฟังก์ชันมากที่สุดนั้นมีราคาราว 140,000 บาท ฟังก์ชันสำหรับส้วมอิเล็กทรอนิกส์มีหลายอย่างครับ อย่างแรกก็คือมีเครื่องทำความร้อนให้ส่วนที่ใช้นั่งมีความอุ่นสบาย ไม่หนาวก้นในฤดูหนาว ใครที่เคยอยู่ประเทศหนาว ๆ ละก็คงจะจำได้ครับว่าในหน้าหนาวนั้น การต้องเข้าไปนั่งในห้องสุขานั้นไม่ได้มีความสุขเลยครับ ฟังก์ชันต่อมาก็คืออุปกรณ์ฉีดน้ำล้างก้น และ ฉีดน้ำชำระสำหรับผู้หญิง ได้ทราบว่าเขาออกแบบอุปกรณ์ฉีดน้ำให้นวดก้นด้วยครับ
สินค้าสุขภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเคลือบหรือซีรามิกส์ วัตถุดิบหลักก็คือดินเหนียว และสารประกอบอื่น ๆ ซึ่งต้องนำมาจากเมืองอื่นหรือประเทศอื่น กระบวนการทำเครื่องสุขภัณฑ์ทุกวันนี้ต้องใช้เครื่องจักรมากมายหลายแบบด้วยกัน ยิ่งการผลิตมีลักษณะเป็นแบบครั้งละมาก ๆ ก็ต้องออกแบบโรงงานให้มีสายการผลิตที่ยืดหยุ่น คือสามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปผลิตสินค้ารูปแบบอื่น ๆ ได้ อย่างไรก็ตามสำหรับงานเครื่องเคลือบแบบนี้ การปรับเปลี่ยนสายการผลิตดูจะไม่ง่ายนัก ในระหว่างการเยี่ยมชมได้รับทราบว่าโถส้วมแบบไม่ต้องมีถังบรรจุน้ำที่เรียกว่า Neo Rest กำลังได้รับความนิยมมาก เพราะประหยัดเนื้อที่ดี แต่เมื่อโถนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น บริษัทกลับมีปัญหาต้องปิดโรงงานที่อีกเมืองหนึ่งไปเพราะโรงงานนั้นผลิตถังบรรจุน้ำสำหรับใช้กับโถส้วมทั่วไป เมื่อไม่ต้องใช้ถังน้ำอีกแล้ว โรงงานนั้นก็ไม่จำเป็นอีก อย่างไรก็ตามผมไม่ได้ถามว่าเมื่อปิดไปแล้ว ทางบริษัทแม่ทำอย่างไรกับพนักงานหรือโรงงานแห่งนั้น
การเยี่ยมชมโรงงานเครื่องสุขภัณฑ์แห่งนี้เริ่มด้วยการนั่งฟังคำบรรยายของผู้บริหารงาน TPM ของบริษัท เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบริษัทและการดำเนินงานด้าน TPM ก่อนเข้าชมโรงงานเขาแจกหูฟังพร้อมเครื่องรับสัญญาณวิทยุให้ติดตัวไปคนละอัน และมอบไมโครโฟนพร้อมเครื่องส่งวิทยุให้คุณชูชิ ทากาฮาชิ ผู้จัดการฝ่ายอบรมของทางสถาบันวัฒนธรรมวาเซดะประเทศไทยให้เป็นผู้อธิบายเป็นภาษาไทย
แรกสุดเราเดินเข้าไปในห้องทำงานของฝ่ายธุรการ ซึ่งเขาต้องการแสดงให้เห็นการนำแนวคิด 5 ส. มาใช้ในการปรับปรุงห้องทำงานให้สะอาดและ สะดวกสบาย โต๊ะทำงานไม่มีกระดาษวางเกลื่อนมากนัก ตู้เก็บแฟ้มเอกสารแลดูสวยงาม เพราะบนสันเอกสารติดภาพขนาดใหญ่ต่อเนื่องกันทุกแฟ้ม ทำให้เห็นชัดว่ามีแฟ้มไหนหายไปจากที่บ้าง หรือถ้าหากวางแฟ้มสลับที่ก็จะมองเห็นทันทีเพราะจะทำให้ภาพไม่ต่อเนื่องเป็นภาพเดียวกัน ในลิ้นชักโต๊ะทำงานนั้นเขาก็ไม่ได้เอาอะไรยัดใส่เข้าไปมาก แต่ใช้โฟมยางเจาะเป็นช่องสำหรับวางเครื่องเขียนและอุปกรณ์ที่จำเป็นเอาไว้เป็นสัดเป็นส่วน คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ก็วางไว้อย่างเป็นระเบียบ นอกจากนั้น ณ จุดที่ต้องมีคนดูแลประจำ ก็ยังติดภาพและชื่อของผู้ดูแลเอาไว้ด้วย
นี่ก็คือผลงานอย่างหนึ่งของ TPM ครับ
TPM นั้นเดิมเป็นหลักการบำรุงรักษาเครื่องจักรครับ แนวคิดหลักก็คือถ้าหากโรงงานจัดให้มีการบำรุงรักษาเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพดีตลอดเวลาแล้ว เครื่องจักรก็จะไม่เสียหาย และแน่นอนที่สุดว่าจะไม่ทำให้ต้องหยุดการผลิตซึ่งไม่เป็นผลดีต่อโรงงานเลย การบำรุงรักษาเครื่องจักรโดยทั่วไปนั้นมีสองลักษณะ ลักษณะแรกก็คือ บำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) หมายความว่าดูแลไม่ให้เครื่องจักรเสียหาย ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือ การซ่อมแซมเครื่องจักรที่เกิดความเสียหายให้กลับมาทำงานได้ดีเหมือนเดิม การบำรุงรักษาเครื่องจักรนั้นปกติก็ต้องใช้ช่างที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษมาทำหน้าที่นี้ แต่โรงงานที่มีเครื่องจักรมาก ๆ นั้นถ้าบริษัทจะต้องว่าจ้างช่างเป็นจำนวนมากมาทำหน้าที่บำรุงรักษาเครื่องจักรก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น และทำให้ต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย วิธีการที่ง่ายกว่าก็คือฝึกอบรมให้พนักงานที่ประจำอยู่กับเครื่องจักรนั่นแหละทำหน้าที่ดูแลเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพดี ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดหลังการใช้งาน การคอยสังเกตปัญหาต่าง ๆ ที่อาจะเกิดขึ้นกับเครื่องจักร การหยอดน้ำมันตามกำหนด ฯลฯ
การให้พนักงานช่วยกันคิดเรื่องบำรุงรักษาเครื่องจักรนั้น จำเป็นต้องชักชวนให้พนักงานร่วมคิดร่วมกันเสนอแนะแนวทางการบำรุงรักษาและปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งทางบริษัทก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะก่อนอื่นทางผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเองก็สนใจสนับสนุน และขณะเดียวกันทางบริษัทก็มีรางวัลให้แก่ผู้ที่คิดปรับปรุงการทำงานให้ได้ผลดีด้วย
แม้ว่า TPM จะเริ่มจากการบำรุงรักษา แต่ต่อมาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ได้ขยายแนวคิดออกไปอีก และ PM ก็ไม่ใช่ Preventive Maintenance อีกต่อไป TPM จึงกลายเป็น Productive Management แทน
บริษัทโตโต้ ให้ความหมายของ TPM ไว้หลายด้านดังนี้ คือ "การตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ระบบการผลิตมีประสิทธิภาพมากที่สุด" "การกำหนดกรอบการทำงาน ณ จุดผลิตเพื่อป้องกันการสูญเสียด้านต่าง ๆ เช่น ทำให้อัตราการสูญเสียชีวิตเป็นศูนย์ อัตราการคลาดเคลื่อนจากมาตรฐานเป็นศูนย์ และ ไม่เกิดความยุ่งยากเสียหายใด ๆ ตลอดวงจรการผลิต" "การให้ทุกแผนกของโรงงาน เช่น แผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ แผนกขาย ฝ่ายจัดการ และฝ่ายผลิต ร่วมกันพัฒนาระบบการทำงานที่ลดการสูญเสีย" และ "การให้ทุกคนตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงไปถึงพนักงานมีส่วนร่วมในการพยายามบรรลุความสูญเสียเป็นศูนย์"
โดยหลักการแล้ว TPM อาศัยเสาหลัก 8 ด้านด้วยกันคือ
- Individual Improvement หรือ การปรับปรุงความสามารถส่วนบุคคล
- Self-maintenance หรือ การบำรุงรักษาอุปกรณ์ของตนเอง
- Planned maintenance หรือ การบำรุงรักษาตามแผนงาน
- Quality maintenance หรือ การบำรุงรักษาคุณภาพ
- Development and management of product and equipment หรือ การพัฒนาและจัดการสินค้าและเครื่องจักร
- Education and Training หรือ การศึกษาและฝึกอบรม
- Indirect division of manufacture หรือ การปรับปรุงแผนกที่มีส่วนร่วมทางอ้อมในการผลิต
- Management of safety, hygiene and environment การจัดการความปลอดภัย สุขอนามัย และ สิ่งแวดล้อม
เรื่องนี้เป็นวิชาการที่ต้องไปเรียนเองครับ ผมนำมาเล่าให้ฟังเพียงเพื่อให้เห็นภาพเท่านั้นว่างาน TPM นั้นเกี่ยวกับอะไรบ้าง
ย้อนกลับมาเที่ยวชมโรงงานดีกว่าครับ
ออกจากสำนักงานแล้ว ผู้จัดการฝ่าย TPM ก็พาเราลงไปชั้นล่าง และชี้ไปที่โถปัสสาวะชายที่ตั้งเอาไว้สามชิ้น ชิ้นแรกมีลักษณะเหมือนปั้นด้วยดินดิบแล้วอธิบายว่าในตอนแรกที่ถอดแบบพิมพ์ใหม่ ๆ จะมีลักษณะดังชิ้นนี้ ส่วนชิ้นที่สองมีลักษณะเป็นดินดิบเหมือนกันแต่ขนาดย่อมกว่า ผู้จัดการอธิบายว่าเมื่อถอดพิมพ์แล้วนำโถไปผึ่งให้แห้งแล้ว โถจะหดตัวลงไป 3 % จากนั้น เขาก็ชี้ไปที่ชิ้นสุดท้ายซึ่งขนาดเล็กลงไปอีก และบอกว่าเมื่อนำไปเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบและเผาในเตาเผาแล้ว โถจะหดลงไปอีก 10% การหดนี้ทำให้การออกแบบแม่พิมพ์ต้องคำนึงและคำนวณขนาดที่จะลดลงไปด้วย เพื่อให้ชิ้นส่วนทุกชิ้นต่อเข้ากันได้อย่างเหมาะเหม็ง ถ้าใครไม่เข้าใจก็ลองดูโถส้วมที่บ้านชนิดใช้นั่งก็แล้วกันครับ จะเห็นว่ามีแยกเป็นสองส่วนอย่างเห็นได้ชัด คือส่วนที่เป็นโถ และส่วนที่เป็นถังน้ำ ทั้งสองส่วนนี้ต้องเข้ากันได้พอดีมิฉะนั้นมันก็จะโยกเยก หรือ เหลื่อมกัน
หลังจากทำความเข้าใจเรื่องการหดตัวของผลิตภัณฑ์แล้ว เราก็เข้าไปในโรงงานซึ่งสะอาดสะอ้านอย่างน่าแปลกใจทั้ง ๆ ที่เป็นโรงงานที่ต้องใช้ดินเหนียวและยิบซั่มซึ่งน่าจะมีฝุ่นและสกปรกจากดินโคลน ผู้จัดการฝ่าย TPM บอกว่าที่นี่รักษาความสะอาดเป็นเยี่ยมครับ ถ้าสกปรกอยู่ก็ไม่มีทางได้การรับรองด้าน TPM แน่ ๆ โรงงานแห่งนี้ใช้แสงสว่างเฉพาะจุดที่มีเครื่องจักรทำงานครับ ส่วนสายพานไหนที่ไม่มีการผลิตก็ดับไฟแสงสว่างไว้เพื่อประหยัดพลังงานครับ รอบ ๆ ฝาผนังโรงงานติดกระดาษกราฟแบบต่าง ๆ ซึ่งดูไม่ออกว่าเป็นกราฟอะไรบ้าง บางรูปก็มีภาพพนักงานติดอยู่กับกราฟรูปใยแมงมุมซึ่งพอจะเดาออกว่าเป็นการแสดงสมรรถนะความสามารถในการทำงานด้านต่าง ๆ ของพนักงานผู้นั้น กราฟของบางคนก็ได้คะแนนทุกด้านเกือบเต็ม แต่ของบางคนก็ได้ดีเพียงไม่กี่ด้าน นอกนั้นก็มีภาพเครื่องสุขภัณฑ์ที่เสียหายมีรอยร้าว และใช้ปากกาแมจิกวงตรงจุดที่เสียหาย พร้อมกับข้อความเหมือนกับให้ระวังจุดที่อาจจะเสียหายง่าย กราฟเหล่านี้พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ ถามได้ความว่าพนักงานจัดทำกราฟเอง โดยทางโรงงานมีการสอนให้ใช้โปรแกรมเหล่านี้ และในห้องพักพนักงานก็มีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ใช้พร้อมเครื่องพิมพ์ ห้องพักพนักงานนั้นทางโรงงานเขาอนุญาตให้พนักงานแต่ละกลุ่มตกแต่งเองครับ บางห้องก็มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย เพราะทำโครงการ TPM ได้ผลดีมากจนได้รับรางวัลมา ในห้องพักบางห้องก็มีห้องเล็กสำหรับให้สูบบุหรี่ด้วย
จุดแรกที่เราดูไม่ใช่ส่วนแรกของการผลิตครับ แต่เป็นส่วนที่ใช้สายพานลำเลียงโถส้วมมาตกแต่งและใช้แสงไฟฟ้าอบ ต่อจากนั้นก็มีการประกอบชิ้นส่วนบางส่วนเข้าไปกับโถส้วมในขณะที่ดินยังชื้นอยู่ เพราะโถรุ่นใหม่นั้นเป็นแบบมีน้ำในตัวโถ จึงต้องวางชิ้นส่วนไว้กั้นน้ำ จากนั้นเราก็เดินขึ้นไปดูข้างบนซึ่งเป็นบริเวณที่มีหุ่นยนต์สำหรับฉีดน้ำยาเคลือบโถส้วม ดูแล้วน่าจะดีครับ เพราะดูเหมือนจะฉีดได้ผลดีมาก น้ำยาเคลือบติดผิวโถส้วมสม่ำเสมอดี จากจุดนี้เราก็ไปดูการลำเลียงโถส้วมเข้าไปในเตาเผาซึ่งยาวราว 150 เมตร โดยโถส้วมที่วางไว้บนรถเข็นจะค่อย ๆ เลื่อนจากปลายเตาด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง อุณหภูมิที่ทางเข้าของเตาเผานั้นไม่มากนัก แต่เมื่อเลื่อนโถส้วมเข้าไปลึกถึงตรงกลางแล้วอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1,500 องศาเซลเชียสทีเดียวครับ เชื้อเพลิงที่ใช้เผาก็คือน้ำมันครับ
เมื่อเผาเสร็จ และรอจนเย็นแล้ว พนักงานก็จะลำเลียงโถส้วมไปตรวจสอบคุณภาพ มีทั้งเคาะฟังเสียง มีทั้งอัดลมเข้าไปเพื่อดูว่ามีรอยแตกรั่วหรือไม่ เมื่อผ่านการตรวจคุณภาพแล้วก็จะบรรจุกล่องเพื่อส่งไปให้แก่ผู้สั่งครับ
จบจากการดูกระบวนการทำงานแล้ว ผู้จัดการฝ่าย TPM ก็พาพวกเราเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ส้วมครับ ห้องที่เป็นพิพิธภัณฑ์ไม่ใหญ่นักหรอกครับ แต่มีภาพจำลองแสดงส้วมสมัยโบราณหลายแบบ และมีโถส้วมของจริงในสมัยแรก ๆ มาตั้งให้ดูด้วย ที่แปลกก็คือโถส้วมของนักมวยปล้ำซูโม่ซึ่งต้องใหญ่เป็นพิเศษ โถส้วมที่วาดลวดลายสีคราม โถปัสสาวะชาย โถปัสสาวะหญิง (สำหรับยืนฉี่ครับ) และยังมีโถส้วมที่ทำเป็นศิลปะโดยปฏิมากรชาวญี่ปุ่นด้วย แต่ดูแล้วก็ไม่มีใครคิดอยากได้ไปประดับในบ้านหรอกครับ
ในภาพรวมแล้ว ผมเห็นว่าการทำเครื่องสุขภัณฑ์นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะส้วมเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์ชาติปัจจุบัน ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าหากอาคารสำนักงานไม่มีส้วม จะเกิดอะไรขึ้น หรือถ้าส้วมไม่สะอาด หรือสกปรกมากเหมือนส้วมในต่างจังหวัดประเทศจีน หรือ การไม่มีส้วมให้ใช้เลยระหว่างการเดินทางในชนบทของอินเดีย จะเป็นเรื่องยุ่งยากแก่ชีวิตมากขนาดไหน
ก่อนที่จะจบ ผมขอเพิ่มเติมว่า บริษัทโตโต้ เขามีแผนกวิจัยด้วยนะครับ นักวิจัยของเขามีหน้าที่คิดค้นว่าจะปรับปรุงเครื่องสุขภัณฑ์ให้ดีขึ้นได้อย่างไร นักวิจัยคนหนึ่งเวลาแกไปเที่ยวที่ไหน หรือไปเที่ยวบ้านเพื่อน เป็นต้องขอเข้าไปดูตามส้วมเพื่อดูว่าใช้เครื่องสุขภัณฑ์กันอย่างไร สะอาดหรือไม่ และมีหนทางที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้หรือไม่
ครับ...ขนาดส้วมยังต้องวิจัยกันอย่างเอาจริงเอาจังมากอย่างนี้ แล้วพวกเราจะไปสู้เขาได้อย่างไรล่ะครับ