พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ และ ประธานองคมนตรี ได้เป็นองค์ปาฐกพิเศษเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๘ และ ได้นำพระราชดำริ ๑๔ ประการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้มานำเสนอให้ศึกษากัน โดยพลเอกเปรมได้อธิบายบางตอนเพิ่มเติมในระหว่างการปาฐกถาด้วย สำหรับพระราชดำริโดยย่อมีดังนี้
- การบริหารจะต้องเป็นการบริหารเพื่อความมั่นคงของชาติ เพื่อความเจริญของประเทศ และ เพื่อความผาสุกของประชาชน การบริหารจะต้องไม่เอาประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ของญาติพี่น้อง ประโยชน์ของบริวารเข้ามาเกี่ยวข้อง
- จะต้องบริหารด้วยความสามัคคี เพราะจะนำไปสู่ความร่วมมือ และความเข้มแข็ง ทำให้งานบรรลุผลสำเร็จ ผู้บริหารต้องเข้าใจว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ใช่ความขัดแย้ง ขัดขืน ผู้บริหารที่ดีต้องยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น ให้โอกาสผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วม
- จะต้องบริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในความคิดและการกระทำ และนอกจากนั้นยังจะต้องดูแลคนรอบข้างให้ซื่อสัตย์สุจริตด้วย นอกจากนั้นผู้บริหารจะต้องเพิ่มคำว่า "เสียสละ" และ "จงรักภักดี" เข้าไปด้วย
- จะต้องเป็นการบริหารที่ถูกต้อง คือถูกต้องกฎหมาย ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เที่ยงธรรม เที่ยงตรง มีประสิทธิภาพ และให้ประสิทธิผลสูง ผู้บริหารต้องมีมาตรฐานเดียว เสมอหน้า ทั่วถึงกัน ต้องไม่มีหลายมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานเลย
หรือใช้มาตรฐานตามอารมณ์ มาตรฐานตามกิเลส
- จะต้องเป็นการบริหารงานที่เป็นเอกภาพ คือการประสานงาน ประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงาน ไม่ใช่แข่งขันแก่งแย่งกันเองระหว่างหน่วยงาน
- จะต้องเป็นการบริหารด้วยความเฉียบขาดอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นพระมหาชนก ผู้บริหารจะต้องไม่กลัวลำบาก กลัวเหนื่อย ดำรงความมุ่งหมายอย่างกล้าหาญ กล้าเผชิญอุปสรรค และอดทนต่อความยากลำบาก ไม่คำนึงว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนคืนหรือไม่ มุ่งแต่ความสำเร็จของการบริหาร และผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
- ผู้บริหารจะต้องไม่หวาดกลัวต่ออิทธิพลใดๆ และต้องอยู่คนละฝ่ายกับความไม่ถูกต้อง
- ผู้บริหารจะต้องศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง ลึกซึ้ง กว้างขวาง ทั้งทางลึก และทางกว้าง ต้องสนใจกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาวิชาการอยู่ตลอดเวลา ต้องเป็นมืออาชพ รู้จริง ทำได้จริง และ แสวงหาความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ รู้จักหน้าที่ชัดเจน รู้จักใช้คน รู้จักวางคนให้เหมาะสมกับงานโดยไม่ลำเอียง
- ผู้บริหารจะต้องมีความสำนึกในความรับผิดชอบและเห็นความสำคัญของงาน ตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุตามที่กำหนด
- ผู้บริหารจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและฉลาด มีความถูกต้องเหมาะสม
- ผู้บริหารจะต้องมีสติปัญญา สามารถพิจารณาปัญหาได้กว้างไกลรอบคอบทุกแง่ทุกมุม ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงมาก ยิ่งต้องรอบรู้มาก
- ผู้บริหารจะต้องแน่วแน่ที่จะแก้ไขในสิ่งที่ผิด
- ผู้บริหารจะต้องบริหารแบบ "ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา" ไม่โอ้อวด มุ่งแต่ผลงาน ไม่หวังคำชมเชย ภูมิใจแต่ความสำเร็จ
- ผู้บริหารต้องประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
(สาสน์สวรรค์ ๑-๓๑ มีนาคม ๒๕๔๙)