ผมอยู่กับวงการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามากว่าสามสิบปี ได้เห็นความล้มเหลวทางคุณภาพของการศึกษาระดับนี้เรื่อยมา และพยายามที่จะชี้ประเด็นปัญหาเหล่านี้ให้ใครต่อใครรับทราบ ทั้งในการสัมมนาวิชาการ และ ในข้อเขียนหลายเรื่องของผม แต่ระยะหลังผมก็ท้อถอย เพราะไม่มีใครแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง หลายคนเย้าผมว่า "บ่น" มากไป และอีกหลายคนคิดว่าผมจริงจังมากเกินไปกับเรื่องเหล่านี้ การที่ผมต้องยกเรื่องนี้มาพูดบ่อย ๆ ก็เพราะ เมื่อผมได้เปรียบเทียบคุณภาพอาจารย์และบัณฑิตไทยกับของประเทศอื่นแล้ว ผมเห็นว่าเรากำลังถอยหลังลงเหว ในขณะที่ประเทศอื่นเขากำลังก้าวรุดหน้า หากยังเป็นเช่นนี้เรื่อยไปแล้ว เราก็ไม่มีทางจะทำให้ประเทศไทยของเราก้าวหน้าไปยิ่งกว่าปัจจุบันได้
หนึ่งปีมานี้ ผมปฏิเสธที่จะสอนเต็มวิชาในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เพราะยิ่งสอนก็ยิ่งผิดหวัง นอกจากนั้นผมยังปฏิเสธที่จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการทำวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ด้วย เพราะอายที่จะบอกใครต่อใครว่างานชิ้นนั้นเป็นของลูกศิษย์ของผม นอกจากนั้นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น อาจทำให้ลูกศิษย์ของผมแอบคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาส่ง ในขณะที่ผมเองก็ไม่มีเวลามากพอที่จะติดตามตรวจสอบได้ว่าลูกศิษย์ของผมแอบไปลอกผลงานใครมาส่งบ้าง ผมเห็นว่าการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และสารนิพนธ์นั้นเป็นงานเต็มเวลา และเป็นภาระของอาจารย์ประจำมากกว่าอาจารย์พิเศษอย่างผม ทั้งนี้อาจารย์และลูกศิษย์จะได้มีเวลาพบกันมากขึ้น และมีกลไกในการมอบหมายงานให้ไปทำได้บ่อยครั้งขึ้นด้วย
เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมานี้ หนังสือพิมพ์ มติชน ได้ลงรายงานในหน้าการศึกษาในชื่อว่า "ตะลึงผลวิจัยคุณภาพบัณฑิต "สาขาบริหารการศึกษา"?? ชูสโลแกน...จ่ายครบจบแน่นอน " ผลงานนี้ยืนยันสิ่งที่ผมกล่าวถึงมาโดยตลอด แม้ว่าจะเป็นงานวิจัยในสาขาบริหารการศึกษา แต่ก็เป็นจริงในสาขาอื่น ๆ อีกหลายสาขาด้วย งานวิจัยนี้น่าสนใจมาก ผมไม่ได้ย่อมาให้อ่านหมด แต่ขอหยิบยกเอาแนวทางแก้ไขปัญหาคุณภาพที่คณะผู้วิจัยนำเสนอมาให้อ่านในที่นี้ ปัญหาก็คือ สกอ. จะหาวิธีแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังได้หรือไม่ หากไม่รีบแก้ไข สโลแกนก็จะกลายเป็น "จ่ายครบเมื่อใด ส่งใบปริญญาให้ทันที"
ขอเชิญอ่านข้อเสนอแนะได้ครับ
ดร. เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ประธานคณะกรรมการคุรุสภา และ คณะ ได้รับมอบหมายจาก สกศ. ให้ศึกษาถึงสภาพและปัญหาการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการบริหารการศึกษา และ พบว่า มหาวิทยาลัยกำลังแข่งกันใช้กลยุทธ์ดึงลูกค้าแบบ จ่ายครบ จบแน่นอน และ ที่น่าเป็นห่วงคือการทำวิทยานิพนธ์ หรือ สารนิพนธ์ นั้น ผู้เรียนกับผู้สอนไม่มีความใกล้ชิดกัน ทำให้เกิดการลอกเลียนวิทยานิพนธ์กันแพร่หลาย
คณะผู้วิจัยได้เสนอแนะเชิงนโยบาย 14 ประการ ดังนี้
- สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ควรกำหนดเกณฑ์มาตรฐานผลผลิตระดับบัณฑิต
- ควรเร่งรัดการออกกฎหมายความผิดทางการอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน
- ควรให้สถาบันอุดมศึกษาจัดทำแผนงานและมาตรการที่ชัดเจนและเร่งด่วนในการพัฒนาผู้สอนและหาอาจารย์ทดแทนอาจารย์ที่เกษียณราชการไป
- ควรมีกลไกในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร
- ควรพัฒนาหลักสูตรให้มีความต่อเนื่องทั้งในระดับปริญญาโทและเอก
- ควรมีนโยบายเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาเอกให้เพียงพอกับความต้องการ
- กำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตรให้ชัดเจน
- ควรสนับสนุนให้มีการเปิดหลักสูตรแผนก(2) มากขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่
- ควรจัดประสบการณ์การบริหารในลักษณะการฝึกงานให้แก่นักศึกษา
- ควรปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ให้รายวิชามีลักษณะบูรณาการเนื้อหาสาระของหลักสูตร
- ควรมีมาตรการ กลไก แนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ เพื่อป้องกันการคัดลอก
- ควรปรับปรุงเกณฑ์การรับเข้าศึกษาต่อและเข้มงวดเรื่องคุณภาพ
- ควรปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ให้เนื้อหาหลักสูตรมีความทันสมัย
- ควรให้คณาจารย์ทุกคนสอดแทรกจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้บริหารในทุกรายวิชา