ปัจจุบันนี้หน่วยงานและบริษัทหลายแห่งเริ่มตั้งงบประมาณสำหรับการพัฒนา e-Learning และ e-Training กันมากขึ้น บางแห่งก็เริ่มคิดโครงการ Knowledge Management ขึ้นมาในชื่อนี้ตรง ๆ
ดูแล้วเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการที่เมืองไทยจะก้าวไปสู่ยุคสังคมอิงความรู้ (Knowledge based society) แต่การก้าวเดินครั้งนี้อาจจะไม่ราบรื่นเหมือนที่หน่วยงานและบริษัทคาดฝันก็ได้
ผมคงไม่ต้องย้ำให้เจ็บปวดว่า คนไทยจำนวนมากไม่ค่อยสนใจเรียนรู้ เมื่อเราได้รับปริญญาตรีแล้วเราก็ชอบพูดกันว่า จบการศึกษาแล้ว การที่ จบแล้ว นี่เองทำให้ไม่สนใจจะเรียนรู้อีก
คนไทยส่วนใหญ่ไม่ใคร่สนใจว่าความรู้ของโลกได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกๆ ในเวลาเพียงไม่กี่ปี และเรื่องที่ตนได้เรียนรู้ในชั้นมัธยม หรือ อุดมศึกษานั้น ความจริงแล้วล้าสมัยไปทันทีที่พ้นรั้วสถานศึกษาออกมา
พนักงานในหน่วยงานหลายแห่งทำหน้าเหนื่อยหน่ายเมื่อหัวหน้าสั่งให้ไปเข้าสัมมนา หรือให้ไปเข้าเรียนในหลักสูตร และเมื่อจำเป็นต้องไปเข้าเรียนก็ไปเรียนอย่างเสียไม่ได้ ไม่สนใจที่จะใช้โอกาสนั้นตักตวงความรู้มาใส่ตน หลายคนได้เอกสารอันเป็นความรู้มาจากสัมมนาหรืองานประชุมวิชาการแล้วก็นำมาไว้บนหิ้ง หรือยังคงอยู่ในกระเป๋าที่แจกมาแต่เดิมโดยไม่ได้คิดจะเปิดอ่านศึกษาอีกเลย
จริงอย ทุกวันนี้มีผู้สนใจเรียนปริญญาโทและเอกกันมาก และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศก็กำลังเร่งรีบจัดทำหลักสูตรทั้งปริญญาโทและเอกออกมามากมาย แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ดี ผู้เรียนเหล่านี้มีน้อยเหลือเกินที่สนใจอยากได้ความรู้ ส่วนใหญ่อยากได้แผ่นกระดาษปริญญามากกว่า หากผู้เรียนอยากได้ความรู้จริง คงไม่มีใครคิดเปิดธุรกิจรับจ้างทำวิทยานิพนธ์หรือโครงงานอิสระ หรือถ้าเปิดก็คงจะไม่มีลูกค้า ผมรู้จักคนอย่างน้อยสองคนที่ทำธุรกิจแบบนี้และเชื่อไหมครับว่า ทั้งสองคนนั้นไม่เคยทำวิทยานิพนธ์มาก่อนเลย นอกจากนั้นถ้าหากมีคนอยากเรียนรู้เพื่อความรู้จริง ๆ ก็คงไม่มีอาจารย์หรือสถาบันใดคิดเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองตัณหานักการเมืองเป็นแน่
การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญของชีวิตในยุคปัจจุบัน เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพราะสังคมเวลานี้ต้องใช้เทคโนโลยีเป็นพื้นฐานในการทำงานและทำธุรกิจมากทีเดียว ผู้ที่ไม่สามารถตามเทคโนโลยีได้ทัน ไม่รู้จักนำแนวคิดและเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ในหน่วยงาน ก็จะไม่สามารถนำหน่วยงานไปสู่เป้าหมายและความรุ่งเรืองได้
เรื่องที่ต้องเรียนรู้สำคัญ ๆ ในแต่ละสาขาวิชาการนั้นมีความแตกต่างกันมาก แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว ผมเห็นว่ามีที่สำคัญดังต่อไปนี้
- ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของวิชาการนั้น ความรู้ส่วนนี้ต้องการให้เห็นภาพว่าวิชาการนั้นเกิดมาจากปัญหาอะไร เกิดจากความสงสัยเรื่องอะไร หรือเกิดจากความคิดของใคร และความคลี่คลายขยายตัวของวิชาการนั้นสามารถตอบปัญหา หรือข้อสงสัยที่ตั้งไว้ดั้งเดิมอย่างไร
- เนื้อหาทางทฤษฎีของวิชาการนั้น ความรู้ส่วนนั้นต้องการให้เข้าใจทฤษฎีซึ่งเป็นข้อสรุปของข้อเท็จจริงที่นักวิชาการด้านนั้นได้แสวงหามาเพื่อตอบคำถามดั้งเดิม พร้อมกับข้อพิสูจน์ที่ได้ศึกษามา ความรู้นี้ต้องประกอบด้วยส่วนที่เป็นทฤษฎี ผู้คิดทฤษฎี ข้อเท็จจริงที่สามารถอธิบายทฤษฎีนั้น ๆ ได้
- ความรู้ หรือ แนวทางปฏิบัติ ในการนำทฤษฎีไปใช้ในชีวิตจริง หรือสำหรับการพิสูจน์ทฤษฎีนั้นให้เห็นว่าเป็นจริงชัดเจนมากขึ้น เนื้อหาความรู้ส่วนนี้อาจประกอบด้วยแนวทางปฏิบัติ การทดลอง หรือการทดสอบรูปแบบต่าง ๆ
- ความรู้ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ทฤษฎี หรือความรู้ที่เกี่ยวกับสภาพความเป็นจริง เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ ตัวอย่าง หรือกรณีต่าง ๆ ที่สามารถอธิบาย หรือไม่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีที่มีผู้ค้นพบในวิชาการนั้น
- ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาในวิชาการนั้น ความรู้ส่วนนี้ได้จากการวิเคราะห์และสรุปผลจากการนำทฤษฎีไปใช้แก้ปัญหา หรือค้นพบว่าเป็นแนวทางอื่น ๆ นอกเหนือจากทฤษฎีที่มีผู้ค้นพบเอาไว้แล้ว ความรู้ส่วนนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิชาการทุกสาขา และเป็นความรู้ที่อยู่ในระดับพรมแดนของวิชาการสาขานั้น ๆ อีกนัยหนึ่งก็คือเป็นความรู้ที่อยู่ในขั้นตอนที่กำลังมีการวิจัยอยู่ ยังไม่ได้สรุปออกมาเป็นทฤษฎี หรือเป็นหลักการได้อย่างชัดเจน
เมื่อพิจารณาจากประเด็นหัวข้อความรู้เหล่านี้ จะพบว่าความรู้ที่สำคัญสำหรับองค์กรก็คือความรู้ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ทฤษฎีหรือองค์ความรู้ในการแก้ปัญหา และความรู้ที่เกิดจากการแก้ปัญหาต่าง ๆ ขององค์กร โดยการนำเสนอความรู้ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่องค์กรและบริษัทระดับแนวหน้าทั่วโลกได้พยายามทำผ่านเว็บขององค์กรหรือบริษัทอย่างต่อเนื่อง เช่น เว็บที่นำเสนอ Best Practices ในเรื่องที่บริษัทมีความชำนาญซึ่งความรู้ประเภทนี้เป็นส่วนที่อธิบายขั้นตอนการประยุกต์ความรู้ให้เกิดผลและองค์กรหรือบริษัทได้พิสูจน์แล้วว่าเมื่อนำไปใช้แล้วได้ผลดีจริง หัวข้อความรู้อีกกลุ่มหนึ่งก็คือ White Paper ซึ่งเป็นเนื้อหาที่แสดงถึงการแก้ปัญหา หรือองค์ความรู้ใหม่ที่อยู่ในระดับพรมแดนของเรื่องนั้นๆ
โดยทั่วไปแล้วความสำเร็จขององค์กรหรือบริษัทต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยความสามารถของบุคลากรของหน่วยงานเอง หากหน่วยงานไม่มีบุคลากรที่มีความสามารถและทักษะในการทำงานพอเพียงแล้ว การทำงานก็ล้มเหลว ดังนั้น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเวลานี้จึงเริ่มตื่นตัวสนใจในเรื่องการพัฒนาบุคลากรของตนให้มีความสามารถและทักษะมากขึ้น และเริ่มใช้เว็บเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทางด้านนี้
การใช้ไอซีทีมาช่วยในด้านการพัฒนาบุคลากรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ลำพังการนำเนื้อหาวิชาที่คิดว่าเหมาะสมมาบรรจุเป็นคำสอนไว้ในเว็บนั้นยังไม่ถูกต้อง และการเร่งรีบจัดทำ e-Learning ให้ได้เนื้อหาวิชาอยู่ในเว็บเร็ว ๆ ก็เป็นเรื่องที่ผิด ดีไม่ดีอาจจะกลายเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายไปก็ได้ ทั้งนี้เพราะบริษัทหรือหน่วยงานอาจจะไม่มีบุคลากรที่มีความรู้จริงในวิชาการนั้น ๆ และไม่ทราบวิธีการที่จะนำความรู้ที่มีเนื้อหาครบถ้วนตามที่แนะนำข้างต้นมาบรรจุลงในเว็บก็ได้ หรือถ้ามีก็จำเป็นจะต้องแบ่งสัดส่วนระหว่างความรู้ด้านต่าง ๆ ข้างต้นให้เหมาะสมกับการใช้งานของบุคลากรในหน่วยงาน
หน่วยงานที่ต้องการใช้ไอซีทีในการพัฒนาบุคลากรจะต้องพิจารณาแง่มุมต่างๆ ให้รอบคอบ และวางแผนงานอย่างละเอียด
แรกสุด หน่วยงานจำเป็นต้องทราบความต้องการก่อนว่าจะพัฒนาบุคลากรไปทางด้านใด การแข่งขันในทุกวันนี้ทำให้ทุกหน่วยงานต้องพัฒนาบุคลากรในทุกด้าน ด้านความรู้ใหม่ทีจะต้องใช้ในแต่ละการปฏิบัติงานแต่ละด้านก็มีเรื่องมากมายที่ต้องนำมาสอน ด้านความรู้ทั่วไปที่จะช่วยให้การทำงานดียิ่งขึ้น เช่นการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในแบบที่เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น หรือแม้แต่ภาษาไทย เทคนิคการเขียน เทคนิคการนำเสนอ เทคนิคการประชุม เทคนิคการสื่อสาร ฯลฯ (น่าแปลกใจที่บุคลากรในหลายหน่วยงานอ่อนแอในเรื่องเหล่านี้มาก จนอดคิดสงสัยไม่ได้ว่าคนเหล่านี้ไปจบหลักสูตรจากประเทศด้อยพัฒนาที่ไหนมา) ด้านนิสัยและพฤติกรรม ด้านการแก้ปัญหา ด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมแล้วมีเรื่องมากมายที่จะต้องพัฒนา
แต่เราจะจัดสอนเรื่องอะไรบ้าง จะนำบทเรียนอะไรลงเว็บก่อนดี เป็นคำถามที่จะต้องตอบด้วยการวิเคราะห์ว่า บุคลากรแต่ละตำแหน่ง และแต่ละระดับนั้น ทำงานอะไร ต้องรู้อะไรบ้าง จากนั้นจึงนำรายละเอียดที่ศึกษาได้นั้นมาสรุปออกมาเป็นหัวข้อ และจัดลำดับความสำคัญ
เมื่อได้หัวข้อแล้ว ก็จะต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาจัดทำเนื้อหาหลักสูตร และต้องหาผู้ที่สามารถนำเนื้อหามาเรียบเรียงใหม่เป็นบทเรียนที่มีภาพ กราฟิกส และภาพเคลื่อนไหวประกอบ งานส่วนนี้ไม่ใช่งานง่าย เพราะการที่จะถ่ายทอดเนื้อหาที่เป็นข้อความเหมือนบทความนี้ไปเป็นภาพกราฟิกส์ที่สื่อเนื้อหาได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้ อีกทั้งยังต้องมีซอฟต์แวร์สำหรับจัดทำงานนำเสนอเป็นบทเรียนด้วย
บทเรียนที่จะมีแต่เพียงข้อความให้อ่าน หรือมีภาพกราฟิกส์สนุก ๆ ให้ดูนั้น ยังไม่พอเพียงสำหรับการที่จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะได้จริง จำเป็นจะต้องมีแบบฝึกหัดที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ ย้ำตรึงความรู้ที่ได้รับ และ ฝึกการนำความรู้นั้นไปใช้ได้ด้วย แบบฝึกหัดที่มีความหมายสำหรับให้ผู้เรียนได้ฝึกผ่านเว็บนั้นเป็นเรื่องยากมาก และถ้าจะให้ดีต้องผ่านการทดสอบอย่างจริงจังมาด้วย
การนำเสนอบทเรียนในเว็บคือเรื่องใหญ่ที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับต่อมา การนำเสนอในอินทราเน็ตเป็นเรื่องที่เหมาะที่สุด เพราะหน่วยงานย่อมไม่ต้องการให้ผู้อื่นทราบว่าเราพัฒนาบุคลากรอย่างไร หรือสอนวิชาอะไรบ้าง หากจำเป็นต้องนำเสนอในอินเทอร์เน็ตก็ควรใช้แบบ remote access โดยมีรหัสผ่านเข้าไปเรียน อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็เสี่ยงกับการที่พนักงานจะเปิดเผยหรือยอมให้ผู้อื่นเข้ามาดูด้วย สำหรับวิธีจัดทำบทเรียนในแผ่นซีดีหรือดีวีดีนั้นอาจเป็นทางเลือกสุดท้าย
การนำเสนอบทเรียนในแบบ e-Learning ที่กล่าวถึงในตอนต้นนั้นไม่ใช่การนำเอาบทเรียนไว้ในเว็บตามแบบธรรมดา หน่วยงานจำเป็นต้องจัดโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ประกอบด้วย นับตั้งแต่กลไกการจัดทำคลังแบบทดสอบเพื่อให้คอมพิวเตอร์เลือกข้อสอบมาให้ผู้เรียนทำ การจัดสร้างเว็บบอร์ดประจำแต่ละวิชาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนได้ การจัดระบบอีเมลให้ผู้เรียนส่งคำถามไปให้ผู้เป็นเจ้าของเนื้อหาวิชาได้ และที่สำคัญก็คือการสอบและการคิดคะแนนสอบ ถ้าหากจำเป็นจะต้องมี
เรื่องสุดท้ายที่ลืมไม่ได้ก็คือ ถึงจะสามารถจัดทำ e-Learning ได้ดีอย่างไรก็ตาม การพัฒนาบุคลากรก็ไม่มีทางสำเร็จ ถ้าหากหน่วยงานไม่สามารถสร้างนิสัยอยากเรียนรู้ อยากนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาความสามารถ และต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่สุด และไอซีทีไม่สามารถจะช่วยได้
(เนื้อหาหลักของบทความนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Business.com ในช่วงปลายปี 2548 วันที่เขียนเดิมคือ 21 กันยายน 2548 สำหรับบทความนี้ผมได้ขยายความส่วนที่เป็นความรู้อันเป็นแกนกลางสำหรับวิชาการด้านต่างๆ ประกอบ เขียนเสร็จเมื่อ 30 มีนาคม 2549)