เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ระบุว่าสถานศึกษาจำนวนมากของไทย หรือราว 55% ของไทยไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เรื่องนี้ไม่แปลกแต่อย่างใด เพราะใคร ๆ ก็รู้กันทั้งนั้น โดยเฉพาะคือนายจ้างที่รับบัณฑิตจบใหม่มาทำงานต่างก็ทราบดีว่า บัณฑิตใหม่เวลานี้มีข้อเรียกร้องมากเหลือเกิน แต่กลับทำงานไม่คุ้มค่ากับเงินที่เรียกร้อง ความจริงแล้วผมคิดว่าหากประเมินกันอย่างจริงจังแล้ว จำนวนสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการประเมินน่าจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป และที่ประกาศออกมาว่ามีเพียง 55% นั้นก็เป็นเพราะผู้ประเมินดำเนินการแบบช่วยกันเต็มที่แล้ว
ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาของไทยที่เสื่อมลงไปทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษานั้นมีมานานแล้ว และถ้าไล่เรียงดูจะพบว่ามีต้นเหตุแห่งความเสื่อมนับร้อย ๆ เรื่อง สาเหตุเรื่องหนึ่งที่จะยกมากล่าวถึงในที่นี้ก็คือการที่ผู้บริหารไทยในอดีตนิยมนำแนวคิดแบบตะวันตกมาใช้โดยไม่ได้ศึกษาให้รอบคอบว่าเหมาะกับสภาพแวดล้อมแบบไทยหรือไม่ และไม่ได้ดูความพร้อมเสียก่อน
ในอดีตนั้นเราได้ยินเสียงบ่นกันหนาหูจากนักวิชาการว่า ทำไมไม่ให้อิสระแก่ชุมชนที่จะบริหารสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นตามความคิดของตนเอง หรือบ่นว่าสถานศึกษาควรจะสามารถจัดหลักสูตรตามความต้องการของชุมชนเพราะแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน รวมความว่าในด้านการปกครองนั้นนักวิชาการก็อยากให้ท้องถิ่นบริหารเอง ไม่อยากให้ส่วนกลางบังคับ จนในที่สุดก็เกิดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นระดับต่าง ๆ ขึ้น ส่วนหลักสูตรก็อยากจะจัดให้ตรงกับความต้องการของชุมชนเอง ไม่ต้องการใช้หลักสูตรกลาง แล้วก็เลยกำหนดให้โรงเรียนเขียนหลักสูตรของตนเอง เสร็จแล้วก็จัดสอบและตัดสินกันเองว่าใครสอบผ่านประถมหรือมัธยมได้บ้าง
ในมหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกัน แต่ก่อนนี้ทบวงมหาวิทยาลัยคุมหลักสูตรหมดทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ยกตัวอย่างทางด้านคอมพิวเตอร์นั้น ผมเองก็เคยเป็นกรรมการทำนองพิจารณาหลักสูตรคอมพิวเตอร์ทั้งในสถาบันของรัฐและของเอกชน เวลาสถาบันใดต้องการเปิดหลักสูตรด้านคอมพิวเตอร์ก็ต้องส่งมาให้คณะกรรมการพิจารณา ปรากฏว่าหลักสูตรของสถาบันหลายแห่งใช้ไม่ได้ เพราะขาดองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับงานด้านคอมพิวเตอร์ ต้องส่งให้กลับไปแก้ไขปรับปรุงตามคำแนะนำของกรรมการ
มาเวลานี้มหาวิทยาลัยของรัฐเป็นอิสระทางด้านหลักสูตร ใครอยากทำหลักสูตรอะไรก็ทำไป อยากสอนอะไรในหลักสูตรก็ทำไป ผลหรือครับ...บัณฑิตจำนวนมากทางด้านคอมพิวเตอร์ที่จบจากมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งทำงานตามที่บริษัทต้องการไม่ได้เพราะระหว่างอยู่ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนเนื้อหาวิชามามากพอ หรือไม่ได้เรียนถึงระดับที่จะทำงานเป็น
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ อาจารย์จำนวนมากที่สอนวิชาต่าง ๆ นั้นที่จริงแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นองค์ความรู้สำหรับงานนั้น ๆ คือรู้แต่ทางทฤษฎี แต่ไม่สามารถปฏิบัติในอาชีพนั้น ๆ วิชาที่เกี่ยวกับงานอาชีพนั้นต้องสอนโดยอาจารย์ที่รู้งานในอาชีพนั้นจึงจะทำให้นักศึกษาเข้าใจได้ เช่น วิชาการแพทย์ต้องสอนโดยอาจารย์ที่เป็นแพทย์ ถ้าเอาอาจารย์ที่ไม่ใช่แพทย์ไปสอนก็สอนได้เหมือนกัน แต่ไม่สามารถเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของแพทย์ หรือ วิธีคิดวิธีการทำงานของแพทย์ได้ งานอื่น ๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ก็เหมือนกันครับ วิชาวิเคราะห์และออกแบบระบบงานซึ่งเป็นวิชาสำคัญและเป็นหัวใจของการทำงานหลังจากจบมาแล้วนั้น หลายแห่งสอนโดยอาจารย์ที่ไม่เคยวิเคราะห์และออกแบบระบบงานที่ใช้จริง ดังนั้นจึงไม่สามารถสอนให้นักศึกษารู้จริง และทำงานจริงได้
วิชาการที่สอนในระดับอุดมศึกษานั้น ผมเห็นว่ามีอยู่สามกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือวิชาพื้นฐานความรู้ เช่น ภาษาและการสื่อสาร คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มที่สองเป็นวิชาการระดับก้าวหน้าสำหรับนำไปใช้ประกอบการปฏิบัติงานอื่น ๆ เช่น ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ศิลปกรรม การจัดการ การบริหารโครงการ และกลุ่มที่สาม เป็นวิชาการที่เป็นวิชาชีพ เช่น วิชาในกลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ ทันตแพทย์ศาสตร์ เภสัชศาสตร วิชาการบัญชี วิชาการตรวจสอบ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ฯลฯ
วิชากลุ่มที่สามนั้น ผมเห็นว่าจะต้องสอนโดยผู้ประกอบวิชาชีพนั้นโดยตรง จะให้อาจารย์ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพมาสอนไม่ได้ ที่สำคัญก็คือวิชาทุกวิชาจะต้องสอนทั้งเนื้อหาวิชา และ จริยธรรมในการใช้วิชานั้น ๆ ในการประกอบอาชีพด้วย
วิชากลุ่มที่สองนั้น ผมเห็นว่ายังมีลักษณะผสมผสานกันอยู่ บางวิชาเช่นปรัชญานั้นเป็นระบบความคิดที่ละเอียดอ่อนและลึกซึ้งแต่ไม่ใช่วิชาที่นำไปประกอบอาชีพโดยตรงในเมืองไทย คือผมยังไม่เคยพบใครประกอบอาชีพเป็นนักปรัชญาโดยตรง วิชาในกลุ่มนี้บางวิชาก็เริ่มเป็นอาชีพโดยตรงแล้ว เช่น นักเศรษฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ ศิลปิน อย่างไรก็ตามผมเห็นว่าวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตและการปฏิบัติงานประจำวันที่ทุกคนควรทราบ วิชาในกลุ่มนี้จึงต้องแบ่งการสอนเป็นสองแนวทาง คือสอนให้นักศึกษาทั่วไปรู้เนื้อหา และสอนให้นักศึกษาที่จะไปประกอบอาชีพรู้แนวทางการทำงานในอาชีพนั้น ๆ
สำหรับวิชากลุ่มที่หนึ่งนั้น สามารถกำหนดให้อาจารย์ที่รู้เนื้อหาด้านนั้นสอนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์ที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพหรืออาชีพทางด้านนั้น ๆ
สิ่งที่สถาบันการศึกษาจะต้องพิจารณาจัดทำก็คือ กำหนดหลักสูตรให้ชัดเจนลงไปถึงระดับอาจารย์ที่จะสอนวิชานั้น ๆ ได้ และ กำหนดตำรามาตรฐานที่ควรใช้ในการสอนแต่ละวิชาด้วย
ปัจจุบันนี้การจัดทำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย ยังไม่ได้ลงลึกมากขนาดที่ผมอธิบายมาข้างต้น หลักสูตรส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้ก็ลอกมาจากหลักสูตรมาตรฐาน โดยไม่ได้เข้าใจพื้นฐานหลักการของสาขาวิชานั้น เช่นลอกจากหลักสูตรของสถาบัน IEEE ซึ่งจัดทำหลักสูตรทั้งด้าน Computer Science, Computer Engineering, Information System และ Software Engineering เวลาลอกมากก็หยิบเอาเฉพาะชื่อวิชาและเนื้อหามาใส่ในหลักสูตรของตน ไม่ได้ศึกษาความเกี่ยวพันระหว่างเนื้อหาในแต่ละวิชา และลำดับขั้นตอนที่ควรกำหนดในการสอนเนื้อหานั้น ๆ ไม่ได้พิจารณาให้ชัดเจนว่า บัณฑิตที่จบสาขาเหล่านี้ต้องทำอะไรเป็นบ้าง ด้วยเหตุนี้เองเราจึงพบว่า บัณฑิตทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เขียนโปรแกรมไม่เป็น บัณฑิตทางด้านระบบสารสนเทศไม่สามารถตั้งโครงการและวิเคราะห์ระบบงานได้ ผลก็คืองานที่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้บัณฑิตใหม่เหล่านี้ทำล้วนแต่ไม่ประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่
ด้วยเหตุนี้เองผมจึงขอเสนอในที่นี้ว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญของความเสื่อมของระบบการศึกษาของไทยนั้นอยู่ที่หลักสูตร นั่นคือ ผู้พัฒนาหลักสูตรไม่เข้าใจหลักสูตร ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของแต่ละวิชาในหลักสูตร ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวิชา และ ไม่ได้กำหนดผู้สอนและตำราที่เหมาะกับแต่ละวิชาได้
ขอขยายความที่เกี่ยวกับผู้สอนและตำราต่อไปอีก โดยทั่วไปแล้วการสอนทางด้านคอมพิวเตอร์และไอซีทีเวลานี้มีปัญหาเรื่องขาดแคลนอาจารย์ ดังนั้นสถาบันจึงต้องเชิญอาจารย์ภายนอกมากสอน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงก็คือ สถาบันไม่มีผู้รับผิดชอบหลักสูตรโดยรวม เวลาเชิญอาจารย์ภายนอกจึงระบุแต่เพียงชื่อวิชา ไม่ได้บอกว่าจะให้สอนเนื้อหาอะไรบ้าง ปล่อยให้อาจารย์ท่านนั้น ๆ คิดเอาเองว่าจะสอนเนื้อหาอะไร ใช้ตำราอะไร อีกนัยหนึ่งก็คือปล่อยให้เป็นอิสระ เพราะเกรงว่าถ้าไปกำหนดให้แล้วอาจารย์จะลำบากใจและสอนไม่ได้ แต่ตรงนี้แหละครับคือจุดอ่อน เพราะในหลาย ๆ กรณี อาจารย์ไม่ได้สอนอย่างที่คาดคิดไว้ หลายท่านสอนไปคนละเรื่องกับเนื้อหาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร หรือสอนแล้วไม่ถึงระดับที่ต้องการ คือถ้าเป็นวิชาที่นักศึกษาจะต้องเรียนแล้วทำบางสิ่งบางอย่างเป็น แต่เมื่อจบแล้วก็ยังทำไม่เป็น
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความหมายที่ผมต้องการสื่อสารให้ชัดขึ้น ขอยกตัวอย่างผมเอง เมื่อหลายปีก่อนผมได้รับอนุญาตให้เป็นอาจารย์สอนหลักการด้าน Software Capability Maturity Model ซึ่งเป็นหลักการในการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ที่ สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering Institute หรือ SEI) ในสังกัดมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน เป็นผู้พัฒนาขึ้น ก่อนที่ผมจะได้เป็นอาจารย์จะต้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับ SW-CMM ระดับต้น ตามด้วยการประเมินบริษัทซอฟต์แวร์ตามแนวทาง SW-CMM แล้วจึงเรียนวิธีการสอน SW-CMM จากนั้นเมื่อเรียนครบแล้ว ทางสถาบันก็ยอมให้ผมสอนได้โดยส่งอาจารย์ของสถาบันมาสังเกตการสอนของผม ในกรณีของผมนั้นเขายินยอมให้ผมเป็นผู้สังเกตอาจารย์ไทยคนอื่นได้ด้วย นั่นคือก่อนที่อาจารย์ไทยท่านอื่น ๆ จะสอนได้ จะต้องสอนแล้วให้ผมไปสังเกตว่าสอนดีหรือไม่ สอนเนื้อหาถูกต้องหรือไม่ แล้วให้เสนอเป็นรายงานไปให้ทางสถาบัน SEI อนุมัติให้เป็นอาจารย์
มาเมื่อสองปีที่แล้ว ทางสถาบัน SEI ได้ยกเลิกหลักการ SW-CMM และเปลี่ยนเป็น CMMI หรือ Capability Maturity Model Integration แทน และกำหนดให้ทุกคนต้องไปเรียน CMMI ใหม่ หากใครต้องการเป็นอาจารย์ก็ต้องไปเรียนอีกสองวิชาเพิ่มเติม และจะต้องสอบผ่านให้ได้ในระดับดีมาก แล้วจึงจะให้สอนได้ แต่ก่อนจะให้ใบอนุญาตสอนได้ เขากำหนดว่าจะต้องส่งอาจารย์มาสังเกตการณ์ด้วย โดยที่หลักการ CMMI เข้มงวดมากขึ้น อาจารย์ผู้สังเกตการณ์จึงมาควบคุมการสอนของผมอย่างจริงจัง ใครพูดคุยกัน ใครโทรศัพท์ ใครหลบหายไปจากชั้น อาจารย์ฝรั่งมาถามผมว่าคุณรู้ไหมว่ามีคนทำอย่างนี้ ๆ ผมบอกว่าผมทราบ คนที่หายไปนั้นเขามาขออนุญาตแล้ว อาจารย์ฝรั่งบอกไม่ได้ ถ้าหายไปครึ่งวัน (จากหลักสูตร 3 วัน) ก็ให้วุฒิบัตรไม่ได้ ต้องมาเรียนใหม่ หรือให้ไปศึกษาเพิ่มเติมมาส่ง ส่วนคนที่คุยกันหรือโทรศัพท์นั้น อาจารย์ฝรั่งกำชับให้ผมสั่งไม่ให้ทำอีก ใช่แต่ดูพฤติกรรมคนเรียนเท่านั้น อาจารย์ฝรั่งยังนั่งฟังผมบรรยายทุกคำพูด และจดไว้หมดว่า ผมตอบคำถามอะไรถูกต้องหรือไม แล้วเขาก็มาชี้แจงให้ผมทราบว่า ผมตอบถูกหรือไม่ถูกอย่างไร
เห็นไหมครับว่า การเป็นอาจารย์ที่จะต้องสอนอย่างจริงจัง และถูกต้องตามเนื้อหานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เวลานี้ผมเห็นหัวหน้าภาคมอบหมายวิชาให้อาจารย์สอนกันโดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถของอาจารย์ และไม่เคยทดสอบด้วยว่าอาจารย์จะสอนได้ถูกต้องตามเนื้อหาหรือไม่ การอธิบายถูกต้องหรือไม่ ผลก็คือในสถาบันที่ไม่ได้เข้มงวดในด้านการเดินตามเนื้อหาของหลักสูตรนั้น บัณฑิตที่จบออกมาไม่มีคุณภาพ ทั้ง ๆ ที่หลักสูตรนั้นเป็นหลักสูตรที่ดี หรือหลักสูตรที่ลอกแบบมาจากหลักสูตรมาตรฐานของฝรั่ง
ในช่วงปีที่แล้วผมเดินทางไปประชุมในหลายจังหวัด พบว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งในจังหวัดต่าง ๆ เริ่มโฆษณาหลักสูตรปริญญาโทและเอกกันอย่างครึกโครม สาขาที่สนใจเปิดสอนกันมากก็ได้แก่ รัฐประศาสนศาสตร์ การบริหาร และ ไอที
ผมไม่ติดใจคุณภาพของหลักสูตรเหล่านี้ เพราะผมคิดว่าผู้คิดหลักสูตรก็คงจะไปนำหลักสูตรมาตรฐานจากที่ต่าง ๆ มาดัดแปลง แต่ผมข้องใจในคุณภาพของอาจารย์ผู้สอน และผมไม่เชื่อว่าสถาบันสามารถควบคุมให้การสอนเป็นไปตามหลักสูตรได้ เพราะกระบวนการเชิญอาจารย์และมอบหมายให้อาจารย์สอนเป็นไปตามที่ผมเล่ามาแล้ว นอกจากนั้นการที่จะก้าวล่วงเข้าไปดูเนื้อหาที่อาจารย์สอนก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารหลักสูตรของสถาบันทั้งหลายไม่กล้าทำเสียด้วย
ที่ผมเป็นห่วงมากก็เพราะว่า บัณฑิตปริญญาตรีที่เป็นการศึกษาระดับต้นที่เปิดสอนและมีอาจารย์ค่อนข้างพร้อมนั้น ท่านยังไม่สามารถผลิตให้มีคุณภาพได้ แล้วท่านจะไปผลิตบัณฑิตปริญญาโท และ เอก ให้มีคุณภาพได้อย่างไร
อาจารย์ที่จะสอบปริญญาโทและเอกได้นั้น จะต้องทำงานวิจัยมีชื่อเสียงระดับชาติ มีผลงานให้มหาชนรับทราบอย่างกว้างขวาง รู้เนื้อหาสาระในสาขาวิชาที่สอนในระดับแนวหน้า รู้ว่าอะไรเป็นปัญหาที่จะต้องค้นคว้าหาคำตอบ รู้ระเบียบวิธีวิจัย และรู้วิธีที่จะควบคุมคุณภาพของผลงานวิจัย จำได้ไหมครับว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้นักวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ของเกาหลีท่านหนึ่งถูกเล่นงานเพราะปลอมแปลงผลงานวิจัยออกเผยแพร่ ทำให้เสียชื่อเสียงประเทศด้วย ก่อนหน้านี้ไม่มีนักวิจัยคนไหนจับได้ว่านักวิจัยเกาหลีผู้นี้ปลอมแปลงผลงานเลย นี่ขนาดนักวิจัยเก่ง ๆ ยังจับผลงานที่ปลอมแปลงไม่ได้ แล้วอาจารย์ที่ไม่ชำนาญจะจับได้หรือไม่ว่านักศึกษาปริญญาโทและเอกของท่านทำวิจัยได้ถูกต้องหรือไม่ หรือแอบไปจ้างให้ใครทำผลงานวิจัยให้
เราลองมองหาตำรับตำราที่อาจารย์เหล่านี้เขียนในร้านหนังสือดูสิครับ...จะพบว่ามีอาจารย์ที่แต่งตำราดี ๆ เพียงไม่กี่คน นอกนั้นได้แต่แปลตำราฝรั่งมาพิมพ์เป็น sheet ขายนักศึกษา แถมยังแปลผิด ๆ ถูก ๆ ด้วย ก็ในเมื่อตนเองยังไม่รู้เนื้อหาวิชาถึงระดับทำตำราขายให้อ่านกันได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งไม่มีผลงานให้ผู้รู้วิจารณ์ได้อย่างนี้ แล้วจะไปสอนปริญญาเอกได้อย่างไรกัน
ผมขอเสนอว่า รัฐต้องกลับมาควบคุมหลักสูตรต่าง ๆ ใหม่อีกครั้ง โดยจะต้องเน้นด้านคุณภาพของการสอนของอาจารย์ คุณภาพของอาจารย์ และ คุณภาพของเนื้อหาที่ใช้สอน มิฉะนั้นแล้วหลักสูตรวิชาสาขาต่าง ๆ ก็จะเลอะเทอะมากยิ่งขึ้น
หากทำไม่ได้เพราะกลัวอาจารย์จะเดินขบวนประท้วง ผมก็เสนอให้สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรเหล่านั้นรีบดำเนินการจัดทำหลักสูตรมาตรฐาน และประกาศให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ นำหลักสูตรนั้นไปใช้
การตรวจสอบนั้นต้องทำอย่างจริงจัง นับตั้งแต่การพิจารณาหลักสูตรและรายวิชา พิจารณาเนื้อหาในแต่ละวิชาที่เปิดสอน พิจารณาตำราที่เลือกใช้ประจำแต่ละวิชา ตรวจสอบแบบฝึกหัดที่กำหนดให้นิสิตนักศึกษานำไปปฏิบัติ ตรวจสอบคุณภาพของข้อสอบ ตรวจสอบการให้คะแนน และที่สำคัญคือตรวจสอบคุณวุฒิและผลงานทางวิชาการของอาจารย์ รวมทั้งตรวจสอบว่าอาจารย์ผ่านการรับรองวิชาชีพด้วยหรือไม่ การตรวจสอบเหล่านี้ควรจะต้องทำทุกสองหรือสามปี และให้ประกาศอันดับของมหาวิทยาลัยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งจัดอันดับระดับความสามารถในเชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยด้วย
ผมเชื่อว่าถึงเวลาแล้ว ที่มหาชนจะต้องมีอำนาจในการตรวจสอบเหล่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ สถาบันต่าง ๆ และอาจารย์ในสถาบันทำอะไรตามใจชอบ
ไม่มีประเทศไหนหรอกครับที่จะก้าวหน้าทางวิชาการได้โดยไม่มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพวิชาการ ทุกประเทศล้วนต้องตรวจสอบความเข้มข้นทั้งนั้นถ้าหากต้องการให้ประเทศของตนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ มีความมั่นคง และมีความสามารถอย่างยั่งยืน