Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

โน้ตบุ๊ค 100 เหรียญ

ครรชิต มาลัยวงศ์

10 ตุลาคม 48

เมื่อเร็วๆ นี้ท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ให้ข่าวว่าสนใจสั่งซื้อโน้ตบุ๊คราคา 100 เหรียญพื่อมาแจกนักเรียน ข่าวนี้ทำให้เกิดความสนใจอย่างกว้างขวาง และสงสัยว่าคอมพิวเตอร์แบบนี้มีสมบัติอย่างไร พอดีผมไปพบเว็บที่มีคำอธิบายของ ดร.นิโคลาส นีโกรพอนเต แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสสาชูเสทท์ ผู้นำแนวคิดนี้มาเสนอแก่ท่านนายกฯ ผมจึงแปลมาให้อ่านกัน และเพิ่มคำอธิบายบางอย่างลงไปด้วย ก่อนที่จะอ่านขอบอกก่อนว่า เครื่องที่ไทยเรียกว่า Notebook นั้น ทางฝรั่งเรียกว่า Laptop ต้นฉบับจริงจึงใช้ Laptop หมด แต่ผมแปลว่า Notebook หมดเหมือนกัน

ครรชิต มาลัยวงศ์

10 ตุลาคม 48


โน้ตบุ๊คราคา 100 เหรียญนี่เป็นคอมพิวเตอร์แบบไหน?
           คอมพิวเตอร์ราคา 100 เหรียญที่เสนอนี้เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ใช้จอภาพสีแบบแบนเหมือนโน้ตบุ๊คทั่วๆ ไป ใช้พลังไฟฟ้าแบบใหม่ (รวมทั้งที่เป็นแบบไขลานด้วย) และสามารถทำงานได้เกือบทุกอย่างยกเว้นการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ โน้ตบุ๊คแบบนี้จะติดอุปกรณ์ WiFi ใช้เป็นโทรศัพท์มือถือได้ และมีพอร์ต USB เท่าที่คิดไว้ตอนนี้จะใช้โพรเซสเซอร์ขนาด 500 MHz หน่วยความจำขนาด 1GB และ จอขนาด 1 Megapixel (หมายความว่าในเครื่องนี้จะไม่มีฮาร์ดดิสก์ - ส่วนหน่วยความจำนั้นน่าจะนำ Flash memory มาต่อกับพอร์ต USB ได้ -ครรชิต)

เหตุใดเยาวชนในประเทศที่กำลังพัฒนาจึงต้องการใช้โน้ตบุ๊ค
           โน้ตบุ๊คเป็นทั้งหน้าต่างและเครื่องมือ คือเป็นหน้าต่างไปสู่โลก และเป็นเครื่องมือสำหรับคิด และเป็นวิธีการที่มหัศจรรย์มากสำหรับเยาวชนที่จะ "เรียนวิธีการเรียนรู้" ด้วยการสำรวจและการมีปฏิสัมพันธ์แบบอิสระ

ทำไมถึงไม่ทำเป็นเครื่องตั้งโต๊ะ หรือ นำเครื่องเก่ามาปรับใหม
่            เครื่องตั้งโต๊ะราคาถูกกว่า แต่การเคลื่อนที่ได้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในการนำเครื่องกลับไปบ้านตอนกลางคืน เด็กๆ ในโลกที่กำลังพัฒนาจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สุด โดยเฉพาะคือฮาร์ดแวร์แบบใหม่และซอฟต์แวร์ที่เป็นนวัตกรรม การทำงานกับโรงเรียนในรัฐเมตได้ช่วยให้เห็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงของการใช้โน้ตบุ๊คสำหรับการศึกษาและการเล่น เราเคยทำงานกับเด็กๆ ในหมู่บ้านที่ประเทศเขมรและพบว่าการนำโน้ตบุ๊กกลับบ้านทำให้ครอบครัวสนใจ ที่นั่นไม่มีกระแสไฟฟ้า ดังนั้นโน้ตบุ๊คจึงกลายเป็นแหล่งของแสงสว่างสำหรับบ้านด้วย
           สำหรับการนำเครื่องเก่ามาปรับปรุงใหม่นั้น เราประมาณการว่าคงมีเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะใช้แล้วอยู่ราว 100 ล้านเครื่อง แต่ละเครื่องจะต้องใช้แรงงานคนปรับปรุงใหม่ราวหนึ่งชั่วโมง รวมแล้วเป็นเวลาทำงานถึง 45,000 ปี ดังนั้นถึงแม้เราจะสนับสนุนให้มีการนำเครื่องเก่ามาปรับใหม่ แต่ก็ไม่ใช่คำตอบของเราที่ต้องการเห็น เด็กแต่ละคนมีโน้ตบุ๊คหนึ่งเครื่อง

ทำอย่างไรถึงสามารถผลิตเครื่องที่ราคาถูกเช่นนี้ได้

  • แรกสุด ด้วยการลดต้นทุนสำหรับจอภาพลงก่อน เครื่องรุ่นแรกจะใช้ จอภาพ LCD แบบ dual mode ซึ่งใช้กันในเครื่องเล่น DVD ราคาถูก จอแบบนี้สามารถใช้ในแบบขาวดำ ท่ามกลางแสงจ้าของเวลากลางวัน และมีความละเอียดสี่เท่าของจอแบบปกติ จอเช่นนี้ราคาเพียง 35 เหรียญเท่านั้น (เครื่องเล่น DVD แบบพกพาเวลานี้จอภาพมีขนาดไม่ใหญ่นัก ดังนั้นอาจเป็นไปได้ที่จอภาพของโน้ตบุ๊ค 100 เหรียญจะมีขนาดเล็ก - ครรชิต)
  • ประการที่สอง เราพยายามขจัดไขมันออกจากระบบ ปัจจุบันนี้โน้ตบุ๊คส่วนใหญ่อุ้ยอ้ายทั้งนั้น ซอฟต์แวร์ราวสองในสามของโน้ตบุ๊คทำหน้าที่จัดการซอฟต์แวร์ส่วนที่เหลือ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำหน้าที่แบบเดียวกันแต่ด้วยวิธีต่างกันถึงเก้าแบบ
  • ประการที่สาม เราจะนำเครื่องชนิดนี้ออกสู่ตลาดทีละมาก ๆ (จำนวนเป็นล้าน) โดยขายตรงไปที่กระทรวงศึกษาธิการในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปแจกจ่ายเหมือนเป็นหนังสือเรียน

ทำไมจึงสำคัญนักที่เด็กแต่ละคนจะต้องมีคอมพิวเตอร์ ใช้วิธีตั้งศูนย์ชุมชนให้มาใช้ไม่ได้หรือ
           เราคงไม่คิดว่าเด็กจะต้องใช้ดินสอกลางของชุมชนใช่ไหมครับ เด็กทุกคนต่างก็มีดินสอของตนเอง ดินสอเป็นเครื่องมือสำหรับคิด และราคาถูก เอาไปใช้ในการทำงาน การเล่น การวาดภาพ การเขียน และ การคิดเลขได้ง่าย คอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน แต่มีพลังความสามารถมากกว่าดินสอ นอกจากนั้นยังมีเหตุผลอื่นๆ อีกที่ทำให้การเป็นเจ้าของโน้ตบุ๊คเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็ก มันก็เหมือนกับการเป็นเจ้าของลูกฟุตบอล ตุ๊กตา หรือ หนังสือ เด็กๆ จะดูแลสิ่งของของตนเหล่านี้ด้วยความรักและห่วงใย

แล้วการเชื่อมต่อล่ะครับ บริการโทรคมนาคมในโลกที่กำลังพัฒนามีราคาย่อมเยาแล้วหรือ
           เมื่อเราแกะกล่องเอาเครื่องออกมาแล้ว คอมพิวเตอร์เหล่านี้จะติดต่อสื่อสารและสร้างเครือข่ายของมันเอง โดยสร้างเป็นแบบ peer-to-peer ห้องปฏิบัติการมีเดียแลบของ MIT เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ และเรากำลังคิดค้นวิธีที่จะเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับระบบอินเทอร์เน็๖ในราคาถูก

โน้ตบุ๊คขนาดราคา $1000 ทำอะไรได้ดีกว่าราคา $100 บ้างครับ
           ไม่มากนัก เรามีแผนที่จะทำให้เครื่องราคา $100 ทำได้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นการบันทึกเก็บข้อมูลขนาดใหญ่เท่านั้น

คุณจะทำการตลาดเครื่องเหล่านี้อย่างไร
           แนวคิดก็คือพยายามกระจายเครื่องเหล่านี้ไปยังกระทรวงศึกษาธิการของประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งเต็มใจที่จะใช้นโยบาย "หนึ่งเด็กหนึ่งโน้ตบุ๊ค" เราได้เริ่มเจรจากับทางจีน บราซิล ไทย และ อียิปต์แล้ว ต่อไปเราจะเลือกประเทศอื่นๆ เพื่อทำการทดลองอีก การสั่งซื้อระยะแรกจะจำกัดไว้ที่หนึ่งล้านเครื่อง

คุณคิดว่าจะนำเครื่องออกสู่ตลาดเมื่อใด และคุณเห็นว่ามีอะไรเป็นปัญหาใหญ่สำหรับโครงการนี้บ้าง
           กำหนดการแรกสุดของเราก็คือนำเครื่องออกสู่ตลาดตอนปลายปี 2006 หรือต้นปี 2007

           ปัญหาใหญ่สุดก็คือการผลิตอะไรก็ตามที่เป็นจำนวนมากถึง 100 ล้านชิ้น นี่ไม่ใช่เป็นแต่เพียงปัญหาซัพพลายเชนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาการออกแบบด้วย ปริมาณที่จะตองผลิตนั้นน่าตื่นใจมาก แต่ผมก็ยังแปลกใจในข้อเสนอของบางบริษัทที่ยื่นมาให้เราพิจารณา เพราะดูเหมือนว่าจะแก้ปัญหาไปได้กว่าครึ่งแล้ว

แนวคิดนี้มีการจัดโครงสร้างการดำเนินการกันอย่างไร
           ผู้บริหารสามคนที่ MIT เป็นอาจารย์ที Media Lab นั่นคือ นิโคลาส นีโกรพอนเต ซึ่งเป้นผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการนี้ , โจ จาคอบสัน ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการของ E Ink , และ เซย์มัวร์ พาเพิรต ซึ่งเป็นนักทฤษฎีแนวหน้าทางด้านการเรียนรู้ของเด็ก

           นักวิจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย ไมค์ โบฟ์, แมรี ลู เจ็พเซน, อลัน เคย์, ท้อด มาโชเวอร์ และ เทด เซลการ์

           ในระดับองค์กรนั้น MIT จะทำงานกับบริษัทจำนวนหนึ่งซึ่งมีทักษะที่จะพัฒนาและผลิตเครื่องโน้ตบุ๊คจำนวน 50,000 และ 100,000 เครื่องได้ในเวลาน้อยกว่า 12 เดือน โดยเราต้องการผลิตให้ได้ระหว่าง 100 ล้าน ถึง 200 ล้านเครื่องในปีต่อไป ขณะนี้มีบริษัทห้าแห่งยินดีเข้าร่วมโครงการแล้วได้แก่ AMD, Brightstar, Google, News Corporation, และ Red Hat. MIT เองก็จะทำงานกับบริษัทที่ไม่หวังกำไรชื่อ One Laptop per Child (OLPC) และกับมูลนิธิ 2B1


ความเห็นเพิ่มเติมของ อ. ครรชิต
           ผมเชื่อว่าเรื่องโน้ตบุ๊ค 100 เหรียญนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ประการแรกคือภาษาไทยซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับการออกแบบแป้นพิมพ์ให้มีตัวอักษรไทยอยู่ด้วย และซอฟต์แวร์ซึ่งจะต้องทำงานกับภาษาไทยได้ ประการที่สองก็คือโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ สำหรับเยาวชนที่กำลังเรียนรู้ เราต้องทำขึ้นเองหมด เพราะต้องเป็นภาษาไทยและต้องมีเนื้อหาแบบไทย ๆ ด้วย ประการที่สามการฝึกอบรมครูบาอาจารย์ให้สามารถใช้เครื่องชนิดนี้ได้ในระดับชำนาญและสามารถช่วยลูกศิษย์ได้ ประการที่สี่ก็คือการจัดรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ให้สามารถผนวกเนื้อหาปัจจุบันเข้ากับการใช้โน้ตบุ๊คได้ด้วย ประการที่ห้า การบำรุงรักษา ซ่อมแซม รวมถึงการผลิตเพิ่มเติมในอนาคต เราจะทำอย่างไร มีสิทธิ์หรือไม่ และประการที่หก โดยที่ผมเป็นอาจารย์ด้านการจัดการโครงการ ก็อยากเสนอว่าต้องมีคนที่เป็นหัวหน้าโครงการ หรือจะเป็นสำนักงานก็ได้ เวลานี้รู้สึกว่ายังอึมครึมอยู่ เวลานั้นผ่านไปเหมือนติดปีกบิน หากไม่เตรียมการวางแผนต่างๆ ให้รอบคอบแล้ว เครื่องที่รัฐจะซื้อแจกก็คงจะต้องนำมาตั้งไว้ดูเล่นเปล่าๆ

(เนื้อหาส่วนสัมภาษณ์ ดร. นีโกรพอนเต มาจากเว็บของ MIT เดือนกันยายน 2548 สำหรับความเห็นของผมเองนั้นเขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 48)


Home | Back