Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

Katrina

ครรชิต มาลัยวงศ์

5 กันยายน 48

     เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2548 พายุเฮอริเคน Katrina ซึ่งเป็นพายุขนาด 5 อันเป็นระดับสูงสุด และมีความเร็วลมที่ศูนย์กลาง 175 ไมล์ต่อชั่วโมง มุ่งหน้าขึ้นสู่ฝั่งรัฐหลุยเซียน่าจากอ่าวเม็กซิโก ขณะที่พายุมาถึงฝั่งของเมืองนิวออร์ลีนส์นั้น พายุได้อ่อนกำลังลงเหลือระดับ 4 ซึ่งมีความเร็วลม 125 ไมล์ต่อชั่วโมงแล้ว แต่ถึงกระนั้นพายุลูกนี้ก็จะเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา และของโลกไปอีกนานว่าเป็นพายุที่สร้างหายนะร้ายแรงที่สุดแก่มนุษยชาติ

     เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดตามหลังพายุนี้ น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้บริหารประเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติให้คิดอ่านวางแผนการรับมือกับภัยพิบัติที่มีขนาดใหญ่อย่างนี้ให้ได้ผลที่สุด

     เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามินั้น พวกเราคิดว่านี่เป็นภัยธรรมชาติที่โหดร้ายที่สุด เพราะทำให้คนเสียชีวิตร่วมสองแสนคนในหลายประเทศ พายุแคทรินานั้นถึงแม้จะไม่ทำให้มีคนเสียชีวิตมากเท่านี้ แต่ภัยพิบัติในวงกว้างราวๆ เก้าหมื่นตารางไมล์ หรือ ราวครึ่งหนึ่งของประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งที่เราคงนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

     ผมจะลองสรุปเหตุการณ์ให้พิจารณาจากข่าวต่างประเทศที่ถ่ายทอดสดๆ ทางโทรทัศน์ออกไปทั่วโลกทาง CNN และ Fox

  1. ก่อนพายุแคทรินาจะเคลื่อนตัวเข้ามาทางนิวออร์ลีนส์นั้น ทางการทราบความรุนแรงอยู่แล้วและได้พยากรณ์ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุลูกนี้อยู่แล้ว มีการคาดคะเนด้วยซ้ำไปว่าความเสียหายจะมากถึงล้านล้านบาท
  2. ทางการประกาศให้คนอพยพออกไปจากพื้นที่ และให้ผู้ที่ไม่ทราบจะไปที่ไหนไปอยู่ที่ซูเปอร์โดมซึ่งเป็นสนามกีฬามีหลังคาคลุมขนาดใหญ่
  3. นักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ต่างๆ มาชุมนุมกันในเมืองนิวออร์ลีนส์และเมืองใกล้เคียง พร้อมกับถ่ายทอดเหตุการณ์ขณะพายุเข้าถล่มเมือง
  4. เมื่อพายุมีความรุนแรงมาก หอบเอาฝนจำนวนมากเข้ามาทิ้ง พร้อมกับที่ทะเลบ้าคลั่งส่งคลื่นลูกใหญ่ขึ้นมาทำลายบ้านเรือนบริเวณชายฝั่ง ก็ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง อาคารบ้านเรือนเสียหาย เส้นทางคมนาคมหลักถูกทำลาย ไฟฟ้าดับ น้ำประปาไม่ไหล โทรศัพท์เสียหายใช้การไม่ได้
  5. เมื่อพายุผ่านพ้นเมืองไปแล้ว สภาพความพินาศของเมืองที่ยับเยินอย่างยิ่งนั้นทำให้ผู้บริหารระดับสูงของทางการตะลึงและทำอะไรไม่ถูกไประยะหนึ่ง ตัวอย่างเช่น
    • ในช่วงสี่วันแรกไม่มีใครคิดถึงประชาชนที่เข้าไปอยู่ในซูเปอร์โดมนับหมื่นคน ประชาชนเหล่านี้ขาดอาหารและน้ำ ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้ยาก็ไม่มียาให้รับประทาน เด็กทารกไม่มีนมจะดื่ม ห้องน้ำห้องส้วมเต็มไปด้วยของเสีย กลิ่นคละคลุ้งไปทั้งสนามกีฬา ในขณะเดียวกันหลังคาบางส่วนของซูเปอร์โดมก็เสียหาย< สภาพภายนอกอาคารน้ำท่วม และเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ประชาชนออกมาจากซูเปอร์โดม
    • ประชาชนที่ไม่ได้อพยพหนีออกไปจากเส้นทางพายุนั้น บางส่วนเสียชีวิตเพราะอาคารบ้านเรือนพังทับ ทางการต้องส่งตำรวจพันกว่านายฝ่าน้ำท่วมออกไปค้นหาผู้รอดชีวิตเพื่อช่วยเหลือ รวมทั้งค้นหาผู้เสียชีวิตด้วย
    • ประชาชนที่อยู่ในเมืองที่ถูกน้ำท่วม และไม่มีอาหาร เริ่มบุกเข้าทำลายและปล้นสะดมร้านค้า เพื่อเอาอาหารและเครื่องดื่ม บางส่วนโจรกรรมเพชรนิลจินดาในร้านอัญมณี และปล้นเอาโทรทัศน์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ทางการเรียกคนเหล่านี้ว่า Looter และเมื่อเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ทางการต้องสั่งให้ตำรวจยุติการค้นหาผู้ประสบภัย และ กลับเข้ามาปราบปราม Looter จนถึงกับสั่งให้ยิงทิ้งได้
    • ตำรวจเองก็ประสบเคราะห์กรรมไม่น้อยกว่าประชาชน บางคนสูญเสียบ้าน และ ครอบครัว บางคนไม่สามารถทนแบกรับสถานการณ์ได้ เมื่อเวลาผ่านไปหกวันมีตำรวจฆ่าตัวตายไปแล้วสองนาย ที่เหลืออีกหลายคนก็คืนตราตำรวจให้แก่หัวหน้า และนับร้อยไม่มาทำงาน พวกที่มาทำงานหลายคนไม่มีเครื่องแบบสวมใส่ ต้องสวมเสื้อเชิ้ตและกางเกงยีน
    • เกิดเพลิงไหม้ในอาคารหลายแห่งพร้อมๆกัน ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า เป็นการวางเพลิง หรือ ท่อแก๊สระเบิด แต่ที่สำคัญคือ สุดวิสัยที่พนักงานดับเพลิงจะเข้าไปดับไฟได้
    • ทางการต้องการให้ผู้คนอพยพออกจากเมือง เนื่องจากสภาพของเมืองกำลังเลวร้าย จนอาจเกิดโรคระบาดร้ายแรง แต่ไม่มีใครทราบว่าทางการจะให้ไปทางไหน คนที่มีญาติอยู่ต่างรัฐ ก็อาจจะมีช่องทาง แต่ผู้ที่ไม่มีญาติก็ไม่ทราบว่าจะไปทางไหน อีกทั้งยังขาดยานพาหนะ และเส้นทางต่างๆ ถูกตัดขาด
    • การกระจายข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนที่ได้รับภัยพิบัติทราบถึงเรื่องที่ควรปฏิบัติ เส้นทางหนี หรือการช่วยเหลือของรัฐนั้น ทำได้ยาก จะใช้โทรทัศน์ก็ไม่ได้เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้โทรศัพท์ก็ถูกตัดขาดเช่นกัน
  6. นักข่าวอเมริกันวิจารณ์ว่าปัญหาเป็นเพราะไม่มีผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ แต่ผมคิดว่าภัยพิบัติในสเกลขนาดนี้ จะใช้คนเดียวรับผิดชอบก็คงไม่ได้ เพราะเหตุการณ์สับสนวุ่นวายไปหมด การบัญชาการก็เป็นเรื่องยาก ทางที่ดีผู้ว่าการรัฐ หรือ แม้แต่ประธานาธิบดี จะต้องอำนวยการเอง
  7. สมมุติว่าทางการสามารถอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ได้หมด สิ่งที่จะต้องคิดก็คือ
    • จะให้ผู้คนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน ทำงานอะไร กินอะไร เรียนที่ไหน และ ใช้ชีวิตอย่างไร
    • จะบูรณะซ่อมแซมเมืองอย่างไร การสูบน้ำออกจากเมืองจะทำอย่างไร การซ่อมถนนต่างๆ และ เส้นทางคมนาคมอื่นๆ จะทำอย่างไร สาธารณูปโภคอื่นๆ จะซ่อมแซมให้เสร็จอย่างไร
    • ทางการจะดูแลทรัพย์สินของประชาชนที่ถูกบังคับให้ออกไปจากเมืองไม่ให้ต้องเสียหายมากไปกว่าถูกภัยธรรมชาติทำลายในครั้งนี้ได้อย่างไร
    • จะให้เด็กๆ ที่พลัดพรากจากพ่อแม่กลับคืนไปสู่อ้อมอกพ่อแม่ได้อย่างไร
    • จะดูแลเด็กๆ ที่พ่อแม่เสียชีวิตต่อไปอย่างไร
    • จะจัดการกับขยะและของเสียต่างๆ อย่างไร
    • จะช่วยให้ผู้ประสบภัยพิบัติหายขวัญผวาได้อย่างไร

     เรื่องที่ผมยกขึ้นมาเป็นประเด็นข้างต้นนี้ ผมไม่มีคำตอบ และแก้ไขปัญหาไม่เป็น ผมเพียงแต่คิดว่าหายนะครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่หลวงมากจริงๆ คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจจะนึกสมน้ำหน้าสหรัฐอเมริกา เพราะไปทำร้ายผู้อื่นเขาไว้มาก อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้น่าจะทำให้เราต้องย้อนกลับมาคิดว่า หากประเทศไทยต้องประสบปัญหาทำนองนี้ เราจะแก้อย่างไร

     ผมจำได้ว่าเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนนั้น มีหางไต้ฝุ่นลูกหนึ่งพัดเข้ามาถึงกทม. โชคดีที่ไม่ถึงกับทำให้อาคารบ้านเรือนพังทลาย แต่น้ำฝนขนาดประมาณ 100 มม. ในช่วงเวลาไม่นานก็ทำให้ถนนหลายสายมีน้ำท่วมระดับเข่าเป็นเวลานาน หากกทม.ถูกไต้ฝุ่นพุ่งเข้าหาเต็มตัว จะเกิดอะไรขึ้นเป็นเรื่องที่นึกภาพไม่ออกเลย

     ผู้บริหารชาวไทยจะต้องรีบเร่งศึกษาเตรียมการไว้รับมือกับอุบัติภัยทำนองนี้ไว้บ้างเท่านั้นแหละครับ


Home | Back