ข่าวเรื่องเครื่องบินไซปรัสตกเมื่อต้นเดือนสิงหาคม เพราะนักบินหมดสติ ทำให้ผู้โดยสารกว่าร้อยชีวิตต้องสูญเสียชีวิตนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก และยิ่งทำให้คนที่กลัวการโดยสารเครื่องบินต้องกลัวมากขึ้นไปอีก
ผมเองเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อยครั้งมาก และมีครั้งหนึ่งที่เครื่องบินลำที่ผมนั่งประสบปัญหาเรื่องความดันอากาศเหมือนกัน การเดินทางคราวนั้นผมมีกำหนดการไปสุไหงโกลก และตรวจสอบว่าจะเดินทางอย่างไรจึงจะสั้นและสะดวก โดยปกติหากจะไปสุไหงโกลกให้เร็วๆ ก็นั่งเครื่องบินไปลงที่หาดใหญ่แล้วนั่งรถต่อไปอีกทอดหนึ่ง แต่คราวนั้นผมพบว่าการบินไทยเพิ่งเปิดเส้นทางบินใหม่ไปลงที่นราธิวาส โดยไปแวะกลางทางหนึ่งจุด (เรื่องนี้เกิดนานแล้ว
ผมจำไม่แม่นว่าเป็นที่สุราษฎร์ธานี หรือนครศรีธรรมราช) ก่อนจะเดินทางต่อไปยังนราธิวาส เมื่อผมเห็นว่าเครื่องบินจะออกแต่เช้า และสายๆ ก็ไปถึงนราธิวาสแล้ว ผมก็เลยสั่งจองเที่ยวบินนี้
ช่วงแรกของวันเดินทางนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด เครื่องบินออกตรงเวลา และสักพักพนักงานก็นำอาหารเช้ามาแจก
ผมหยิบกล่องอาหารมาเปิดแล้วก็สังเกตเห็นว่ามีฟองอากาศผุดขึ้นมาตามริมกระดาษที่ปิดถ้วยน้ำส้ม และพร้อมกันนั้นแสงแดดที่ส่องผ่านหน้าต่างมาทางซ้ายมือของผมก็หายไป กลายเป็นไปอยู่ทางขวามือของเครื่องบินแทน ขณะที่ผมกำลังงุนงงอยู่นั้น กัปตันก็ประกาศว่า เครื่องบินมีปัญหากับความดันอากาศ ต้องบินกลับไปกรุงเทพฯ ใหม่ พอได้ยินอย่างนั้นผมก็เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับถ้วยน้ำส้ม และ แสงแดด
ตกลงเราใช้เวลาบินไปและกลับราวครึ่งชั่วโมง แต่ต้องมารอให้ช่างซ่อมเครื่องบินอีกหลายชั่วโมง กว่าจะได้บินอีกครั้งก็ล่วงเข้าไปเพลแล้ว ระหว่างนั้นผมก็คิดสงสัยว่าเขาส่งรถน้ำมันมาเติมให้เครื่องบินด้วยหรือเปล่า ออกบินคราวนี้ เครื่องบินไม่มีปัญหา และเมื่อไปถึงกลางทางเครื่องบินก็ร่อนลงได้อย่างปกติเมื่อใกล้เที่ยง ที่นี่มีผู้โดยสารลงไปกว่าครึ่งลำ และเหลืออยู่บนเครื่องบินอีกราวยี่สิบกว่าคน พวกเรารอได้สิบห้านาที ก็มีพนักงานการบินไทยมาบอกว่า ต้องขออภัยเพราะเครื่องบินไม่สามารถเดินทางต่อไปได้เนื่องจากที่นราธิวาสไม่มีน้ำมันให้เติม ทางการบินไทยได้ไปเช่ารถตู้สองคันมาเพื่อส่งพวกเราไปนราธิวาส ขอให้ไปกันได้
ตอนนั้นผมเริ่มท้องร้องแล้ว ก็เลยท้วงว่าการบินไทยต้องหาอาหารให้พวกเรากินก่อน เพราะระยะทางที่จะต้องไปนั้นอีกตั้งไกลมาก พนักงานทำหน้าแปลกใจ แต่ก็ยอมโทรศัพท์ไปจองโต๊ะให้พวกเราไปรับประทานที่ร้านในเมืองกันก่อนจะเดินทางไกล และกว่าพวกเราจะไปถึงนราธิวาสก็สะบักสะบอมไปตามๆกัน เนื่องจากไปถึงเอาสองทุ่ม และผมเองยังต้องนั่งรถต่อไปสุไหงโกลกอีกหลายสิบกิโลเมตรด้วย
ต่อมาเมื่อปีก่อนผมได้ดูสารคดีเกี่ยวกับเครื่องบินส่วนตัวที่นักกอล์ฟ สจ๊วรต เพนย์ นั่งไปแล้วเกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตพร้อมเพื่อนที่มาด้วย และวิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะเครื่องบินสูญเสียความดันในเครื่องบินไปนั้น ผมก็นึกถึงความโชคดีที่วันที่ผมเดินทางไปสุไหงโกลกคราวนั้น นักบินสามารถนำเครื่องบินกลับมาได้ทัน ความหงุดหงิดที่ถูกการบินไทยทอดทิ้งไว้กลางทางก็เลยหายไป เพราะอย่างน้อยตอนนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่
ครั้นมาคราวนี้มีข่าวว่าเครื่องบินไซปรัสเกิดปัญหาความดันอากาศจนคนตายบนเครื่องบินเป็นจำนวนมากก่อนจะตก จนมีสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่าเป็นสุสานบิน ผมก็ย้อนกลับไปนึกหวาดเสียวในเรื่องอดีตอีกเหมือนกัน
มีคำถามว่า ทำไมการสูญเสียความดันจึงทำให้เกิดโศกนาฏกรรมได้ คำตอบก็คือ ขณะที่เครื่องบินเริ่มขึ้นไปลอยลำนั้น อากาศในเครื่องบินยังมีความดันเท่ากับบรรยากาศข้างล่าง การสูญเสียความสามารถในการสร้างความดันอากาศในตัวเครื่องบินจะทำให้ออกซิเจนในเครื่องบินหนีออกไปจากเครื่องบิน เพราะอากาศข้างนอกมีความดันน้อยกว่า ปกติแล้วหน้ากากออกซิเจนควรจะตกลงมาโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าหากสูญเสียความดันเร็วมาก นักบินอาจจะหน้ามืดหมดสติก่อน และไม่สามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆได้ เครื่องบินจะเย็นลงๆ เพราะอุณหภูมินอกเครื่องบินหนาวจัดต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเชียสมาก ...แน่นอนที่สุด... ทั้งนักบินและผู้โดยสารก็จะเสียชีวิต
ความผิดพลาดของอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือเราต้องไม่ประมาทครับ ถ้าหากเครื่องมือของเราไม่ได้รับการดูแลให้ดีถึงจะมีนักบินที่เก่งกาจอย่างไรก็อาจจะไม่สามารถเอาตัวรอดได้