SIPA กับ การพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย
ครรชิต มาลัยวงศ์
รองประธานกรรมการบริหาร
30 พฤษภาคม 2547
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นองค์การมหาชนในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การก่อตั้ง SIPA ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการดำเนินการว่าจะซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ หรือไม่ และขณะนี้ SIPA ทำอะไรบ้าง ด้วยเหตุนี้เองผมจึงจัดทำคำถามคำตอบนี้ขึ้นเพื่อตอบคำถามบางส่วนที่ผมเคยได้รับ
ถาม งานของ SIPA จะซ้ำซ้อนกับของ Software Park และ Nectec หรือไม่
ตอบ เท่าที่ได้ปรึกษาหารือกันระหว่างกรรมการด้วยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร เชื่อว่าการดำเนินงานจะไม่ซ้ำซ้อนกันแน่ Software Park นั้น จะยังคงทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลพื้นที่อาคารซอฟต์แวร์พาร์ก และช่วยเหลือบริษัทซอฟต์แวร์ที่มาเปิดกิจการ ณ ที่แห่งนี้ งานนี้ก็เหมือนกับการทำหน้าที่บริหารเขตหรือนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ นั่นเอง นอกจากนั้นยังจะทำหน้าที่จัดฝึกอบรมเนื้อหาความรู้ใหม่ ๆ ในด้านการบริหารการพัฒนาซอฟต์แวร์ และ การปรับวุฒิภาวะความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของบริษัทซอฟต์แวร์ทั่วไปด้วย อย่างเช่น ทางด้าน CMMI ที่เป็นมาตรฐานใหม่ รวมทั้งมาตรฐาน ISO ด้วย ส่วนเนคเทคนั้นจะมุ่งเน้นด้านการทำวิจัยซอฟต์แวร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งที่จริงแต่เดิมมาเนคเทคก็ทำอยู่แล้ว พูดง่าย ๆ คือเนคเทคจะเป็นหน่วยงานวิจัยซอฟต์แวร์ที่ใหญ่มากที่สุดของประเทศ และจะมีซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจออกมาอีกมาก สำหรับ SIPA นั้นคงจะเน้นในด้านการผลักดันให้มีการพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ออกมามากขึ้น สนับสนุนร่วมทุนกับทางบริษัทซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจมากขึ้น และที่สำคัญคือจะเป็นหน่วยงานกลางสำหรับดูแลการผลักดัน ICT City ด้วย อย่างไรก็ตามผมตอบอย่างนี้ตามความเข้าใจของผมที่ได้สัมผัสกับหน่วยงานทั้งสามนะครับ แนวทางจริง ๆ คงจะต้องอ่านจากเว็บของหน่วยงานทั้งสามเอง
ถาม SIPA เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ เหตุใดจึงเริ่มต้นด้วยการผลักดันเปิดสอนด้านแอนิเมชันก่อนเรื่องอื่น ๆ เพราะคำว่า animation นี้ไม่น่าเกี่ยวกับซอฟต์แวร์แต่อย่างใด
ตอบ ก่อนที่จะตอบปัญหาเรื่องการส่งเสริมของ SIPA ขออธิบายเรื่อง animation ก่อน ทุกวันนี้ animation เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานหลายอย่างด้วยกัน เมื่อไม่นานมานี้มีคนทำภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Toy Story มาฉาย ภาพยนต์เรื่องนี้ใช้วิธีทำการ์ตูนที่แตกต่างไปจากเดิม คือใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพตัวการ์ตูน ให้แสงและเงาเหมือนกับมีตัวตนจริง และสร้างให้มีการเคลื่อนไหวได้อย่างนิ่มนวล รายละเอียดและการเคลื่อนไหวของการ์ตูนและฉากเหมือนกับสิ่งมีชิวิตจริง ๆ การทำการ์ตูนโดยวิธีนี้ทำให้เกิดการทำฉากการ์ตูนในภาพยนตร์โฆษณาอีกหลายเรื่องตามมา การสร้างภาพเคลื่อนไหวทำนองนี้เรียกว่า animation นอกจากนั้นยังมีภาพยนตร์ที่โด่งดังเรื่องจูราสสิกพาร์ก ซึ่งมีฉากของไดโนเสาร์จำนวนมากที่วิ่งและดูเหมือนว่าแสดงร่วมไปกับนักแสดง ไดโนเสาร์เหล่านี้บางส่วนสร้างด้วยหุ่นให้เคลื่อนไหว ซึ่งก็ยังเรียกว่า animation เหมือนกัน และบางส่วนก็สร้างเป็นภาพด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นมาก็มีผู้ใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์สร้างภาพเคลื่อนไหวประกอบกับภาพยนตร์อีกมาก ทุกวันนี้เวลาเราดูภาพยนตร์อเมริกัน เราอาจจะบอกไม่ได้เลยว่าเขาใช้เทคนิคการสร้างภาพเคลื่อนไหวหรือ animation ในส่วนใดบ้าง จากที่อธิบายมานี้จะเห็นว่า animation ได้เริ่มเข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตของเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเมื่อคนเราใช้เวลาเฝ้าอยู่หน้าจอโทรทัศน์วันหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมากด้วยกันก็จะยิ่งทำให้มีการนำเสนอสาระต่าง ๆ เป็นภาพ animation ให้เราได้เห็นมากขึ้น
การทำภาพ animation ให้เป็นภาพยนตร์การ์ตูน ภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดง หรือ ภาพเคลื่อนไหวประกอบบทเรียนทางคอมพิวเตอร์หรือทางโทรทัศน์นั้น มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องที่สำคัญอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกก็คือนักซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่พัฒนาโปรแกรมสำหรับสร้างภาพเคลื่อนไหว กลุ่มที่สองก็คือกลุ่มผู้เขียนบทหรือเนื้อหาสาระ กลุ่มที่สามก็คือผู้นำบทหรือเนื้อหานั้นมาสร้างเป็นภาพโดยอาศัยโปรแกรม กลุ่มที่สี่ก็คือผู้อำนวยการหรือสร้างงาน animation ในภาพรวม และกลุ่มที่ห้าก็คือผู้ลงทุนและเจ้าของงาน
การสร้างซอฟต์แวร์สำหรับสร้างภาพ animation นั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไปสำหรับนักซอฟต์แวร์ไทย เพราะจะต้องใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์มาก สถาบันที่เปิดสอนวิชานี้ก็มีน้อยแห่ง นอกจากนั้นหากสร้างซอฟต์แวร์ได้ก็ไม่แน่ว่าจะมีใครซื้อไปใช้หรือไม่ ลองดูตัวอย่างเช่นโปรแกรมปลาดาวดูก็ได้ ถึงแม้จะเป็นของได้เปล่าก็ยังไม่สามารถเบียดไมโครซอฟต์ ออฟฟิศออกไปได้
การสร้างนักเขียนบทภาพยนตร์หรือบทการ์ตูนนั้น ผมยังไม่เห็นมีหลักสูตรนี้ในเมืองไทย และผมคิดว่าอาจจะสอนไม่ได้ด้วยซ้ำไป แต่อาจจะฝึกเอาประสบการณ์กับนักเขียนบทเก่ง ๆ ได้เหมือนกัน แต่ฝึกแล้วก็อาจจะเขียนไม่ได้อีก เพราะการเขียนบทให้สนุก น่าสนใจ น่าติดตาม นั้นจะต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์สูงมาก ส่วนเรื่องเนื้อหาสาระที่จะนำมาใช้ทำบทเรียนที่จะมีฉากภาพเคลื่อนไหวประกอบนั้นไม่ยาก ไม่ต้องมีการสอนและไม่ต้องสร้าง เพราะคนที่จะมีเนื้อหาสาระก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นครูบาอาจารย์อยู่แล้ว เมื่อจำเป็นก็จะสามารถถ่ายทอดสาระที่ตนรู้ออกมาได้
ประเด็นหลักก็คือผู้ที่จะนำบทภาพยนตร์ หรือ บทเรียน มาสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวขึ้นนี่สิที่เราสามารถสร้างได้ และที่สำคัญคือเรายังขาดคนที่มีความรู้และทักษะทางด้านนี้อีกมาก เราพบกันว่าคนที่มีความสามารถด้านศิลปะ วาดภาพเก่ง จัดองค์ประกอบศิลปะเก่ง เหล่านี้มีมาก บางคนอาจจะเรียนทางด้านศิลปะมาโดยตรง แต่บางคนอาจจะเรียนมาทางด้านอื่นแต่ไม่สามารถประกอบอาชีพทางสายที่ตนเรียนมาได้ ครั้นจะมาทำงานทางด้านการใช้คอมพิวเตอร์สร้างศิลปะหรือสร้างภาพเคลื่อนไหวก็ไม่มีโอกาส ไม่มีทุน และไม่มีแหล่งเรียนรู้ คนกลุ่มนี้ก็คือเป้าหมายที่ SIPA มุ่งจะพัฒนาขึ้น คือมุ่งที่จะจัดหลักสูตร หรือเชิญชวนให้สถาบันการศึกษาทั้งหลายเปิดหลักสูตรฝึกอบรมนักสร้างภาพเคลื่อนไหว รวมทั้งการใช้คอมพิวเตอร์ตกแต่งภาพด้วย
สำหรับคนกลุ่มสุดท้ายคือนักลงทุนคงไม่ต้องพูดถึง
คราวนี้ย้อนกลับมาว่า SIPA เห็นอย่างไรจึงส่งเสริมงานด้านนี้ ได้ตอบไปแล้วว่า SIPA ต้องการที่จะพัฒนานักสร้างภาพ animation ให้มีจำนวนมากขึ้น เพราะเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากมีทักษะและหัวทางด้านศิลปะ ข้อพิสูจน์ดูได้จากภาพเขียนจิตรกรรม และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เวลานี้หลายประเทศมีความต้องการสร้างภาพยนตร์ animation มาก แต่ถึงแม้ว่าเขาจะมีคนที่สร้างภาพเคลื่อนไหวได้แต่ก็สร้างไม่ได้ เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมากเกินไป หากเราสามารถผลิตนักสร้างภาพเคลื่อนไหวได้ออกมาเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งสร้างงานเหล่านี้ได้ เพราะค่าแรงของไทยยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศตะวันตกได้ นอกจากนั้นทุกวันนี้ก็มีผู้จบปริญญาตรีจำนวนมากที่ยังไม่มีงานทำ หากชักชวนให้บัณฑิตเหล่านี้มาศึกษาและฝึกฝนในด้านการสร้างภาพ animation ได้ ก็จะทำให้ไทยสามารถสร้างอุตสาหกรรมทำภาพยนตร์ได้
ถาม ที่อาจารย์อธิบายเรื่องการสร้างภาพเคลื่อนไหวในตอนแรกโดยเฉพาะกับการทำภาพยนตร์การ์ตูนนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ แต่เหตุใดอาจารย์จึงกล่าวเชื่อมโยงไปถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในตอนท้ายล่ะครับ
ตอบ การสร้างการ์ตูนนั้นเป็นภาพยนตร์แน่ ๆ อยู่แล้วใช่ไหมครับ และการ animation ก็เกี่ยวข้องกับการทำการ์ตูนแน่ ๆ อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ที่มีคนแสดงเวลานี้ก็ต้องใช้เทคนิค animation มากเหมือนกัน เช่นหลายเรื่องมีภาพคนที่หน้าตาบิดเบี้ยว หรือภาพคนที่ศีรษะหมุนได้รอบ หรือภาพคนที่ละลายหายไปทีละส่วน หรือภาพคนที่เปราะและแตกกระจาย ภาพแบบนี้จะต้องใช้เทคนิค animation ที่เราพูดกันถึงนี่แหละ เมื่อเราฝึกคนไทยให้เก่งด้านนี้ก็เป็นโอกาสที่จะทำงานเทคนิคเหล่านี้ให้แก่นักสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศได้มากขึ้น นอกจากนั้นเวลานี้ก็มีกองถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ อยู่หลายเรื่อง หากเรามีคนด้านนี้พร้อม เราก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีก
ถาม คราวนี้ขอถามเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์บ้าง ทาง SIPA มีแนวทางส่งเสริมอย่างไรครับ
ตอบ ทาง SIPA ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมไว้ทั้งในระดับแมคโครและไมโครครับ ในระดับแมคโครนั้น เราพิจารณาว่าต่อไปการพัฒนาซอฟต์แวร์จะใช้เทคนิคใหม่ ๆ อย่างเช่น Web Services และ Services Oriented Architecture มากขึ้น ดังนั้นเราจึงร่วมมือกับบริษัทเอกชนจากสิงคโปร์ที่มีความรู้ด้านนี้จัดฝึกอบรมผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยให้รู้เทคโนโลยีเหล่านี้ และนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้และเผยแพร่ต่อไปอีก เรื่องนี้เราได้ดำเนินการไปแล้ว อีกเรื่องหนึ่งก็คือการสร้างนักโปรแกรมจาว่าให้ผ่านการรับรองระดับนานาชาติเป็นจำนวน 10,000 คนในเวลาสามปี เรื่องนี้เราจะร่วมมือกับบริษัท Sun Microsystems เพื่อนำหลักสูตรของบริษัทเข้ามาใช้ โดยทางเราจะขอให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ร่วมกันเปิดหลักสูตรนี้ให้แก่นักโปรแกรมไทยปีละ 10,000 คน เมื่ออบรมแล้วก็จะให้สอบรับรองซึ่งค่อนข้างยาก หากสอบได้สักหนึ่งในสามต่อปีก็จะได้ตามเป้า
ถาม ทำไมต้องเป็นภาษาจาว่าด้วย
ตอบ ประการหนึ่งเป็นเพราะภาษาจาว่าเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมมาก และมีการใช้ในการสร้างงานประยุกต์แบบ Web based ค่อนข้างมาก ประการที่สองเราได้รับคำถามจากบริษัทต่างประเทศที่ต้องการมาทำงานในไทยว่าเรามีนักโปรแกรมภาษาจาว่ามากพอหรือเปล่า หากไม่มากพอเขาก็จะไม่มาตั้งบริษัทในไทย และประการที่สามบริษัทซันไมโครซิสเต็มส์ได้มาเสนอตัวที่จะช่วยพัฒนาด้านนี้
ถาม ความจริงมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มีวิชาการเขียนโปรแกรมภาษาจาว่าอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องใช้หลักสูตรของบริษัทซันไมโครซิสเต็มส์ อีก
ตอบ หลักสูตรภาษาจาว่าที่สอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้นยังไม่ถึงระดับที่จะสอบเอาใบรับรองได้ นอกจากนั้นประสบการณ์ในการใช้งานของผู้เรียนก็อาจจะน้อยเกินไป เราจึงต้องนำหลักสูตรที่เข้มข้นเข้ามาใช้สอน
ถาม SIPA จะสอนทางด้านดอตเน็ตของไมโครซอฟต์ด้วยหรือเปล่า
ตอบ SIPA จับมือกับทุกค่ายครับ หากค่ายไมโครซอฟต์ต้องการร่วมมือพัฒนาคนกับเรา เราก็ยินดีครับ สรุปอีกทีนะครับว่า ทางด้านแมคโครนั้นเราส่งเสริมด้านการพัฒนาคนที่เรายังขาดแคลน และต้องการเสริมทางด้านคุณภาพครับ
ถาม แล้วทางด้านไมโครล่ะครับ
ตอบ ทางด้านไมโครนั้นเราทำหลายเรื่องครับ เรื่องแรกก็คือการส่งเสริมให้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ SME คือบริษัทห้างร้านขนาดกลางและขนาดย่อมของเรานั้นยังไม่ค่อยใช้ไอซีทีกัน อาจจะเพราะมีเงินลงทุนน้อย หรือไม่มีความรู้ด้านนี้ก็ได้ แต่ที่สำคัญก็คือ ไม่มีซอฟต์แวร์ที่ราคาเหมาะสมสำหรับให้ SME ใช้ครับ เราก็จึงตั้งเป้าว่าจะส่งเสริมให้เกิดซอฟต์แวร์สำหรับ SME มากขึ้น เรื่องต่อมาก็คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับช่วยออกแบบ หรือ Computer Aided Design ที่เรียกย่อ ๆ ว่า CAD นั้นแหละ SIPA และหน่วยงานอย่างเช่นสมาคมสถาปนิกเห็นว่าไทยน่าจะมีโปรแกรมสำหรับช่วยออกแบบของเราเอง ดังนั้นเราจึงพิจารณาว่าจะส่งเสริมการทำซอฟต์แวร์ประเภทนี้ในราคาถูกสำหรับใช้กับงานออกแบบ รวมทั้งนำไปใช้ในงานศึกษาด้วย เรื่องที่สามก็คือโครงการร่วมผลิต หรือ Co-production Program ซึ่งเป็นโครงการที่เราจะช่วยร่วมออกทุนดำเนินการให้กับบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพและมีเป้าหมายที่จะทำงานพัฒนาซอฟต์แวร์หรือพัฒนาคนอย่างจริงจัง
ถาม รายละเอียดเป็นอย่างไรครับ เป็นโครงการแบบ Joint Venture หรือเปล่าครับ
ตอบ ไม่ใช่ครับ เราไม่ได้ไปออกทุนให้ตั้งบริษัทหรือทำซอฟต์แวร์ขายเหมือนบริษัทนักลงทุนอื่น ๆ ครับ เราจะออกทุนให้เพียงบางส่วนคือไม่เกิน 30% ของเงินที่บริษัทต้องการในการดำเนินงาน เช่นหากบริษัทต้องการจะพัฒนาซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจออกขาย และต้องใช้เงินลงทุน 10 ล้าน บริษัทอาจเสนอให้เราร่วมผลิตซอฟต์แวร์นั้นได้ แต่ทางเราจะลงทุนให้ไม่เกิน 3 ล้าน ที่เหลือบริษัทจะต้องไปหามาเอง
ถาม วิธีให้ทุนทำอย่างไรครับ พอเห็นว่าโครงการดีก็ให้ไปเลยใช่ไหม
ตอบ ไม่ใช่ครับ การให้เงินนั้นจะพิจารณาจากผลงานที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ เช่นหากเป็นโครงการที่มีการพัฒนาคน เราก็จะให้เงินบางส่วนเมื่อพัฒนาคนสำเร็จเป็นรุ่น ๆ ไป
ถาม วิธีการขอทุนแบบนี้ทำอย่างไรครับ
ตอบ ก็ไม่ยากอะไรครับ ลองเตรียมรายละเอียดไปเล่าให้ผู้อำนวยการ SIPA ฟัง หากผู้อำนวยการเห็นว่าเหมาะสม น่าจะพิจารณารายละเอียดต่อไปก็จะให้แบบฟอร์มไปกรอก จากนั้นก็จะส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณา สุดท้ายก็จะส่งไปให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาอีกที
|