Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

 

สรุปการให้สัมภาษณ์เรื่อง  WBT
ดร
. ครรชิต  มาลัยวงศ์

28
     กุมภาพันธ์  2547

ผมเป็นผู้ที่ทำงานด้านไอทีต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน  ดังนั้นจึงมีผู้ที่สนใจแวะมาสนทนาและสัมภาษณ์เรื่องต่าง ๆ กับผมอยู่เสมอ   นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ หลายแห่งก็แวะเวียนมาพูดคุยและถามความคิดเห็นเป็นประจำ  บ้างก็นำความเห็นของผมไปประกอบในการทำวิทยานิพนธ์  และบ้างก็นำไปประมวลเป็นแนวคิดสำหรับการปฏิบัติงาน

สำหรับคำสัมภาษณ์ต่อไปนี้  ผมเก็บความจากการได้พูดคุยกับนักศึกษาคนหนึ่ง  แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องบันทึกว่าผมพูดเรื่องนี้กับใคร  และเนื้อหาที่ผมนำมาเขียนนั้นบางส่วนก็ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมจากการสนทนาในวันนั้น

 นักศึกษา   อาจารย์มีความเห็นอย่างไรบ้างครับเกี่ยวกับการเปิดหลักสูตรสอนทางเว็บ หรือ  WBT  ที่มีผู้วิจารณ์กันอยู่มากมายในเวลานี้

 ตอบ       ผมไม่ได้อ่านหนังสือมากนักในเวลานี้จึงตอบไม่ได้    แต่อยากทราบว่าเขาวิจารณ์กันเรื่องอะไรครับ

 นักศึกษา   เขาวิจารณ์กันว่า WBT ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอนเด็กไทย  โดยเฉพาะการเปิดสอนระดับปริญญายิ่งไม่เหมาะสมใหญ่

 ตอบ       ผมนึกออกแล้วครับ   เคยได้ยินมาเหมือนกันว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังสนใจที่จะเปิดสอนทางอินเทอร์เน็ต และสอนไปถึงระดับให้ปริญญากันเลย   ก่อนที่จะตอบคำถามของคุณ  ผมขอแสดงความเห็นของผมเองว่า  การให้การศึกษา หรือ การสอนวิชาการต่าง ๆ นั้นมีวัตถุประสงค์อยู่หลายอย่าง   อย่างแรกก็คือการถ่ายทอดให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของวิชาที่สอนนั้นได้อย่างครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้   เช่น ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องโฆษณา  ก็จะต้องมีความรู้จริงเกี่ยวกับกระบวนการโฆษณา  การจัดสื่อโฆษณา  การดำเนินการ  การประเมินผลกระทบ ฯลฯ   อย่างที่สองก็คือต้องทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความคิด  สามารถอธิบายรายละเอียดของเรื่องที่ได้เรียนรู้  และแสดงความคิดเห็นของตนเองในด้านที่ตนเรียนมาได้   อย่างที่สามก็คือต้องนำความรู้นั้นไปประยุกต์ในด้านนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี   และอย่างที่สี่ก็คือสามารถค้นคว้าเรื่องเกี่ยวข้องที่ยังไม่รู้  และทำวิจัยขยายขอบเขตของความรู้นั้นออกไปอีกได้

                ในการที่จะเรียนรู้ให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์นี้ได้   นักศึกษาจำเป็นจะต้องมีวิธีการเรียนรู้ที่เป็นระบบ   มีการตั้งวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้  มีการวางแผนและตรวจสอบความเข้าใจเรื่องที่เรียนรู้  และ มีอาจารย์คอยตรวจสอบว่านักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้จริงหรือไม่

                การจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บในแบบ WBT  นั้น  หากอาจารย์หรือสถาบันที่เปิดสอนได้จัดให้นักศึกษาได้เรียนรู้ได้ตามแบบที่ผมอธิบายมานี้   ก็น่าเชื่อว่าเป็นวิธีการที่ใช้ได้จริง  แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือการไปเรียนในสถาบันการศึกษานั้นมีความแตกต่างไปจากการเรียนผ่านเว็บหรือไม่

                การไปเรียนในสถาบันการศึกษานั้น  นักศึกษาไม่ได้เรียนรู้เฉพาะวิชาการอย่างเดียว  แต่ได้เรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตในสังคมด้วย   นอกจากนั้นสถาบันการศึกษายังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ อีกมากด้วย  อาทิ  การเรียนกับอาจารย์ผู้สอนโดยตรง  การเรียนรู้จาก TA  หรือ Teaching Assistant หรือผู้ช่วยสอนซึ่งหลายมหาวิทยาลัยเริ่มกำหนดให้มีแล้ว   การเรียนด้วยการปฏิบัติการในสนาม  การฟังคำบรรยายพิเศษของนักธุรกิจ  ผู้บริหารประเทศ หรือ อาจารย์ชาวต่างประเทศที่เดินทางผ่านมาเยี่ยมสถาบัน  การรับคำแนะนำจากเพื่อนรุ่นพี่  หรือแม้แต่การเรียนจากเพื่อนร่วมชั้นด้วยกันเอง   ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายที่ช่วยหล่อหลอมให้นักศึกษามีความรู้ความคิดเพิ่มเติมจากที่ได้รับจากชั้นเรียนตามปกติ   ทั้งนี้ยังไม่นับการที่นักศึกษาจะมีโอกาสได้เข้าไปศึกษาค้นคว้าในห้องสมุด  หรือพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย  (อาทิมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์หลายอย่าง เช่น พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์

                ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ และระหว่างนักศึกษาด้วยกันเองนั้นมีความสำคัญมาก และการสอนแบบ  WBT  ไม่สามารถให้สิ่งนี้ได้

 ถาม   แต่เราก็สามารถจัดให้นักศึกษาสนทนาและสื่อสารกันได้นี่ครับ  เช่นใช้เว็บบอร์ดในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความเห็นกัน  หรือใช้อีเมลโต้ตอบหรือส่งงานอาจารย์

 ตอบ   จริงครับ  แต่การสื่อสารแบบนี้  คุณไม่ได้เห็นสีหน้าของคนที่คุณพูดคุยด้วย  คุณไม่ทราบว่าเขาคุยกับคุณด้วยความจริงจังมากขนาดไหน   หรือเขามีนิสัยใจคออย่างไรนี่ครับ   คุณได้อ่านแต่ข้อความซึ่งอาจจะไพเราะเพราะเขาแต่งข้อความมาอย่างดี  แต่ตอนที่เขาแต่งประโยคให้คุณอ่าน เขาอาจจะกำลังยิ้มเยาะอยู่ก็ได้    การสื่อสารกันนั้นคุณจะต้องดูทั้งภาษากาย  ดูว่าเขากล้าสบตาคุณหรือไม่  เขามีท่าทางอย่างไร  สิ่งเหล่านี้เว็บบอร์ดช่วยคุณไม่ได้   คุณคงจำได้ว่ามีข่าวหลายข่าวที่เกี่ยวกับการหลอกลวงทางอีเมล   ผู้ชายหลอกผู้หญิงคู่สนทนาทางอีเมลหรือทางเว็บบอร์ดไปทำปู้ยี่ปู้ยำ

 ถาม   การเรียนรู้ทางด้านวิชาการอย่างเดียวจนเก่งไม่พอหรือครับ  ส่วนความสัมพันธ์ค่อยไปสร้างเอาทีหลัง

 ตอบ   ไม่พอหรอกครับ   อย่าลืมว่าคุณใช้เวลาเรียนระดับปริญญาตรีถึงสี่ปี  ในช่วงนี้คุณสามารถสร้างความเป็นมิตรกับเพื่อนในสถาบันของคุณได้มากด้วยกัน  และไม่จำกัดเฉพาะกับเพื่อนร่วมชั้นของคุณเท่านั้น   ระหว่างการทำกิจกรรมเช่นเล่นกีฬาหรือเชียร์กีฬา  หรือในชมรมต่าง ๆ  คุณจะได้รู้จักและสร้างมิตรภาพกับเพื่อนต่างคณะต่างสาขา   ตรงนี้มีความสำคัญมากในช่วงต่อ ๆ ไปของชีวิต  เพราะเมื่อคุณจบการศึกษาออกไปทำงานแล้ว คุณอาจจะต้อง พึ่งพาอาศัยเพื่อนเหล่านี้มากทีเดียว

                ในกรณีที่คุณเรียนทาง  WBT  เมื่อคุณจบแล้วคุณก็เข้าทำงาน  แต่คุณอาจจะไม่เคยเข้าสังคม หรือเคยทำงานร่วมกับใคร ๆ เลย   คุณหวังจะสร้างมิตรภาพต่อจากนี้  นั่นก็ย่อมทำได้  แต่จะไม่สามารถทำได้กว้างขวางเท่ากับเมื่อคุณเรียนตามปกติ   เพราะส่วนมากคุณจะสร้างมิตรภาพได้เฉพาะกับเพื่อนร่วมงานเป็นส่วนใหญ่   และที่ต้องคำนึงถึงก็คือ  เพื่อนร่วมงานของคุณนั้นจำนวนมากก็คือคู่แข่งขันของคุณที่กำลังจะต้องแข่งกันเพื่อให้ได้ตำแหน่งงานที่สูงขึ้นในปิระมิดงานของหน่วยงาน  ผมไม่คิดว่าคุณจะได้เพื่อนร่วมงานที่จริงใจนักหากในส่วนลึกยังจะต้องแข่งขันกันเช่นนี้   แน่นอนครับคุณอาจจะโชคดีที่ได้เพื่อนร่วมงานที่เป็นมิตรที่ดีบ้าง  แต่ผมคิดว่ามีน้อย

                ผมมองว่ามนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมครับ  และในยุคข้อมูลข่าวสารอย่างทุกวันนี้  เรายิ่งต้องมีสังคมมากขึ้น  ต้องสร้างมิตรภาพมากขึ้น  ระบบอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้เราได้รับสิ่งเหล่านี้ทีหลังครับ   แต่ในตอนแรกเราต้องสร้างมิตรภาพด้วยวิธีปกติก่อน

 ถาม   แต่สถาบันการศึกษาของไทยก็กำลังจะเสนอหลักสูตรวิชาต่าง ๆ ให้เรียนผ่านอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น   อาจารย์คิดว่าจะเกิดปัญหาอย่างไรบ้างครับ

 ตอบ   ผมคิดว่าคนที่เสนอหลักสูตรแบบนี้ไม่ได้มองวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ให้เข้าใจ  และอาจจะทำให้การศึกษาของไทยในระยะยาวมีปัญหามากยิ่งขึ้น

                ในขณะนี้ผมคิดว่าระบบการศึกษาของเรามีปัญหาสำคัญตรงที่ไม่ได้สร้างความใฝ่รู้ให้แก่นักเรียนนักศึกษาทุกระดับ   นักการศึกษาของเราจะมีความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาของไทยอย่างไรก็ตามทีเถอะ  แต่ผมคิดว่าปัญหาพื้นฐานคือเราไม่เคยสร้างความใฝ่รู้ให้แก่คนไทยเลยในรอบศตวรรษที่ผ่านมา   คนไทยทุกระดับถูกระบบการศึกษาทำลายความใฝ่รู้ไปหมด   เมื่อโตขึ้นเรียนจบและประกอบอาชีพแล้ว  คนไทยก็ไม่สนใจจะเรียนรู้อีก  เคยรู้อะไรมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาก็รู้อยู่แค่นั้น  จะรู้มากขึ้นก็เฉพาะข่าวสารที่ได้อ่านพบจากหนังสือพิมพ์หรือได้ยินได้เห็นทางโทรทัศน์เท่านั้น   ไม่มีใครอยากรู้อะไรเพิ่มเติมเพราะคิดว่าไม่สำคัญต่อการประกอบอาชีพหรือการหาเงินอีกแล้ว  ที่พูดมานี้ผมนึกถึงบรรดาครูบาอาจารย์ด้วยนะครับ

                ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง   นานสักเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว  ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยม  มีอาจารย์ฝึกสอนคนหนึ่งมาสอนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียน   อาจารย์คนนี้สอนสนุกทำให้นักเรียนติดใจ และบังเอิญว่าอาจารย์ฝึกสอนผู้นี้มีบ้านพักอยู่ใกล้บ้านของผมด้วย    คราวนี้วันนั้นมีข่าวทางวิทยุว่ารัสเซียยิงดาวเทียมสปุตนิกขึ้นสู่วงโคจรได้แล้ว   ผมตื่นเต้นมากจึงรีบกินข้าวเช้าแล้วหิ้วกระเป๋าไปบอกอาจารย์   แต่ผมก็ผิดหวังมากเพราะเขาไม่สนใจเลย  ไม่ได้นำเรื่องนี้มาอภิปรายในชั้นเรียนด้วยซ้ำ

                คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้แหละครับ   คือไม่ตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรอบตัวเรา   ไม่ได้ตระหนักว่าคนไทยจะต้องแข่งขันกับคนชาติอี่น ๆ อีกหลายร้อยเชื้อชาติ  และขณะนี้ควาามคิดอ่านและความรู้ในทุกด้านของเรายังด้อยกว่าคนชาติอื่น ๆ อีกมาก  ผู้บริหารประเทศจำนวนมากของเราก็ตามยุคสมัยไม่ทัน และไม่สามารถสร้างอนาคตให้ไทยได้

                หากเราสามารถสร้างความใฝ่รู้ให้แก่เด็กไทยได้แล้วละก็   จะสอนวิชาการทุกสาขาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก็ทำไปเถอะครับ  ผมคิดว่าจะประสบความสำเร็จได้แน่  แต่กับคนไทยปัจจุบัน ผมคิดว่าเป็นเรื่องยาก   เด็กทุกวันนี้ต้องการเรียนเพื่อรับประกาศนียบัตรมากกว่าเรียนเพื่อรู้  ดังนั้นเด็กเหล่านี้จึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรมาง่าย ๆ   ไม่ว่าจะเป็นการลอกกัน  ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสถานศึกษาที่มีนโยบาย  “จ่ายครบ จบแน่”  และไม่ว่าจะเป็นการทำทุจริต  ต่างคนต่างพร้อมที่จะทำเพื่อแลกกับกระดาษแผ่นเดียว

                เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้  ผมจึงคิดว่าปัญหาใหญ่ก็คือเรื่องคุณภาพ   เพราะการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นเราไม่สามารถคุมคุณภาพได้ร้อยเปอร์เซนต์   ลำพังสอนกันต่อหน้า  เรื่องที่สอนยังไม่ได้ซึมเข้าไปในสมองของนักศึกษาเลยครับ   แล้วการสอนผ่านอินเทอร์เน็ตที่อาจารย์คุมผู้เรียนไม่ได้เล่าจะขนาดไหน   ยิ่งนักศึกษาไทยจำนวนหนึ่งจ้องที่จะโกงระบบบ้าง  หรือทุจริตในการทำแบบฝึกหัดบ้าง หรือการสอบบ้าง  อย่างนี้คุณคิดว่าจะเชื่อถือคุณภาพของการสอนแบบนี้ได้สักแค่ไหนล่ะครับ

 ต่อหน้า 2

 

Back