คำตอบ
มหาวิทยาลัยที่เห็นอยู่ในเมืองไทยมีด้วยกันหลายแบบ หากจะตอบแบบง่าย ๆ ก็คือมหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน แต่ถ้าหากลองแบ่งตามรูปแบบการจัดการการศึกษาก็อาจจะแบ่งได้เป็น
1. มหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาวิชาการต่าง ๆ จำนวนมาก (แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถจะเปิดครบ) และมีคณะต่าง ๆ มากมาย ตัวอย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเหล่านี้เปิดสอนเป็นชั้นเรียน นิสิตนักศึกษาจะต้องมาเข้าเรียนในชั้น
2. มหาวิทยาลัยเฉพาะด้าน เป็นมหาวิทยาลัยรวมทั้งสถาบันการศึกษาในชื่ออื่น ที่เปิดสอนสาขาวิชาการหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในอดีตที่เน้นไปทางด้านนิติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในอดีตที่เน้นเฉพาะด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเดิมเน้นไปทางด้านวิชาการเกษตร สำหรับในปัจจุบันก็ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันเทคโนโลยีด้วย
3. มหาวิทยาลัยเปิด เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางไกลเป็นหลัก อาจจะมีสาขาวิชาต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่ได้เน้นการต้องมาเข้าเรียนในชั้นเรียน ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
4. มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนทางไกลโดยการจำลองแบบการเรียนในชั้นเรียน เช่น เปิดสอนวิชาการต่าง ๆ และให้นักศึกษาที่อยู่ห่างไกลทั่วประเทศรับฟังคำบรรยายผ่านระบบดาวเทียม หรือระบบอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันก็มีวิธีการให้นักศึกษาสามารถโต้ตอบสอบถามอาจารย์ได้ มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์นี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า e-University และ บางครั้งเรียกว่า มหาวิทยาลัยเสมือน หรือ Virtual University นักวิชาการศึกษาบางคนอาจจะมองเห็นลักษณะของมหาวิทยาลัยทั้งสองแบบนี้แตกต่างกันออกไปบ้าง
สนใจอยากได้ปริญญาเอก เวลานี้ทำงานอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าควรเรียนหรือไม่
คนไทยเวลานี้อยากได้ปริญญาเอกแต่ไม่อยากเรียนรู้ หากคุณอยากได้ปริญญาเอกก็มีหลายวิธี วิธีแรกคือสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำจะในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ เมื่อเขารับแล้วคุณก็จะต้องตั้งหน้าตั้งตาเรียนจริง ๆ วิธีที่สองก็คือซื้อปริญญาเอกมาประดับตัว บางประเทศ (ได้ข่าวว่ามีในไทยด้วย) มีสถาบันการศึกษา(ไม่รู้ว่าให้การศึกษาหรือเปล่า) ที่ขายปริญญา ราคาก็ไม่แพงมากนัก เสียเงินเพียงไม่กี่หมื่นก็ได้ปริญญาเอกมาโดยไม่ต้องเรียน นักการเมืองบางคนของไทยก็ได้มาโดยวิธีนี้ และในอดีตมีการไปขอเช่าสถานที่สำคัญจัดงานแจกใบปริญญากันอย่างเอิกเกริกด้วย วิธีที่สามก็คือ คุณต้องทำงานให้เก่ง สร้างตัวสร้างหลักฐานให้มั่นคงและช่วยเหลือสังคมให้มาก ๆ แล้วก็จะมีคนเสนอชื่อคุณให้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เพื่อเป็นศักดิ์ศรีแก่วงศ์ตระกูลต่อไป
คุณบอกว่าทำงานอยู่แล้ว ดังนั้นการจะเรียนปริญญาเอกหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณว่าในอนาคตคุณอยากจะทำอะไร การเรียนปริญญาเอกส่วนมากนั้นมุ่งหมายที่จะเป็นอาจารย์หรือนักวิจัย เพราะการทำปริญญาเอกนั้นเน้นด้านการวิจัยและการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ การเรียนไม่ใช่เป็นการนั่งฟังคำบรรยาย แต่เป็นการอ่านตำรา อ่านบทความวิจัย และแสวงหาความรู้ที่จะนำมาใช้สร้างเป็นคำตอบปัญหาที่ตั้งเอาไว้เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ ส่วนปริญญาเอกทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น นอกจากการอ่านตำราแล้วก็ยังต้องทำการทดลองอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งด้วย
หากคุณต้องการเป็นนักวิจัย หรืออาจารย์ที่เก่ง และต้องการมีความรู้ในด้านวิชาการอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งกล้าเสียเวลาระหว่าง 3 ถึง 5 ปีเพื่อศึกษาปริญญาเอกแล้วละก็ คุณก็ควรจะสมัครเรียนปริญญาเอก และผมเชื่อว่าเมื่อคุณจบแล้วคุณจะมีความภูมิใจกับปริญญาเอกของคุณไปตลอดชีวิต