คำตอบ
งานสัมมนาเรื่องนี้ผมไปพูดแค่ครึ่งเช้าครับ
เพราะได้รับเชิญล่วงหน้าแค่สัปดาห์เดียว แต่เห็นว่าน่าสนใจและผมสามารถเลื่อนนัดตอนเช้าของผมออกไปก็เลยไปร่วมฟังและอภิปรายด้วย
หลังจากนั้นผมก็ต้องนั่งรถไปสุพรรณบุรีต่อ จึงไม่ได้ฟังทั้งสัมมนา
ผมขอตอบเป็นสามประเด็นดังนี้
1.
ผมเห็นด้วยที่พยายามจะสร้างโรงเรียนในฝัน ซึ่งน่าจะหมายถึงโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศในด้านวิชาการอย่างแท้จริง
ความจริงแล้วหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝันนั้นอาจจะทำได้ยากเพราะงบประมาณจำกัด
ผมเคยคิดว่าแต่ละจังหวัดน่าจะมีโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศหรือโรงเรียนวิทยาศาสตร์สักหนึ่งโรงเรียนก่อน
เพราะจะทำได้ง่ายกว่าและหลายจังหวัดก็มีโรงเรียนที่เยี่ยม ๆ อยู่แล้ว
หากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้ครูเก่งมากขึ้น แล้วทำให้เป็นโรงเรียนพี่เลี้ยงของโรงเรียนระดับอำเภอก็จะเป็นการดี
แต่นี่มาคิดเรื่องหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝันไปเลยก็ไม่เป็นไร
2.
สิ่งสำคัญแรกสุดของงานนี้ก็คือ ครูอาจารย์ในโรงเรียนต่าง ๆ ต้องได้รับการพัฒนาให้มีความเป็นเลิศ
ไม่ใช่อยู่โรงเรียนในฝันแล้วก็ฝันกลางวัน หรือเพ้อฝันไปเรื่อยเปื่อย
แต่ต้องเก่งจริงในวิชาการที่ตนสอนบวกกับเก่งคอมพิวเตอร์ คือยุคนี้ไม่ว่าจะทำงานอะไรหรือสอนเรื่องอะไรต้องเก่งการใช้คอมพิวเตอร์ในงานที่รับผิดชอบไปด้วยพร้อมกัน
ปัญหาที่ผมกลัวก็คือ โรงเรียนในฝันจะเอาเงินงบประมาณไปสร้างอาคารบ้าง
ซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์มากขึ้นบ้าง แต่ไม่เอาไปพัฒนาครูอาจารย์นี่สิครับ
แม้จะใช้หลักการเรียนการสอนแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ก็ต้องใช้ครูอาจารย์นะครับ
3.
ปัญหาสำคัญของการทำงานของไทยไม่ว่าจะในหน่วยงานใด ก็คือขาดแผนการทำงานที่เป็นรูปธรรมและได้ผล
ทุกคนอยากจะทำโน่นทำนี่ แต่ไม่เคยพิจารณาความเป็นไปได้ ไม่เคยตั้งเป้าหมายที่วัดได้
และไม่เคยวางแผนงานที่เหมาะสม อีกไม่ช้าก็อาจจะมีคนติดป้ายโรงเรียนว่า
"โรงเรียนนี้อยู่ในโครงการโรงเรียนในฝันของรัฐบาล" แต่ข้างในก็เหมือนเดิม
เพราะไม่ได้พัฒนาครูอาจารย์รวมทั้งผู้บริหารให้เข้าใจเรื่องนี้ การส่งผู้บริหารและครูอาจารย์ไปดูงานต่างประเทศ
ไม่เกิดประโยชน์หรอกครับ หากดูแล้วไม่รู้จักนำมาใช้จริง