คำตอบ
เมื่อผมได้ไปสัมผัสกับโรงเรียน
สถาบัน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว ผมพบว่า เรายังต้องการคนที่มีความรู้ทางด้านบรรณารักษ์อีกมาก
นี่พูดในแบบเก่านะครับ นั่นคือ ตำแหน่งงานที่จะเป็นได้เลยก็คือบรรณารักษ์
แต่มีปัญหาอยู่สองประการ คือ ผมมองเห็นว่า ทาง ก.พ. ยังไม่ได้ปรับปรุงแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตำแหน่งบรรณารักษ์ให้ก้าวหน้าทันกับยุคสมัย
ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า หลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ไม่ได้สอนพื้นฐานทางด้านบรรณารักษ์พอเพียงนั้น
บัณฑิตที่จบมาอาจจะไม่ได้รับการรับรองให้ได้ตำแหน่งเป็นบรรณารักษ์ตามแบบเก่าได้
ทุกวันนี้
หน่วยงานราชการและเอกชนจะต้องใช้สารสนเทศมากขึ้น และต้องการคนไปปฏิบัติงานในด้านการผลิตสารสนเทศมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต้องมีคนคอยดูแลระบบข้อมูลข่าวสารราชการ
ดังนั้นก็ต้องการคนที่จบทางด้านสารสนเทศศาสตร์ไปทำงาน บริษัทเอกชนต้องจัดเก็บสารสนเทศซึ่งเป็นทั้งแบบภายในและภายนอกเพื่อการแข่งขันก็ต้องการคนที่รู้ทางด้านนี้เข้ามาทำงาน
อย่างไรก็ตาม
โดยที่เวลานี้เศรษฐกิจยังไม่ค่อยดีนัก ราชการเองก็ไม่เปิดตำแหน่งรับข้าราชการเพราะมีการตรึงอัตรากำลังเอาไว้
ภาคเอกชนเองก็ยังเมินเฉยไม่สนใจงานด้านสารสนเทศนัก ดังนั้นนิสิตนักศึกษาทางด้านนี้จึงควรเรียนวิชาอื่น
ๆ เอาไว้ด้วย จะได้หางานในตำแหน่งใกล้เคียงกันได้ง่ายขึ้น เช่น เรียนการพัฒนาเว็บสำหรับให้ข้อมูลข่าวสารให้เก่ง
(ซึ่งรวมไปถึงเรื่องอินเทอร์เน็ตและฐานข้อมูลด้วย) หรือ เรียนทางด้านการประชาสัมพันธ์
การโฆษณา การบริหารสำนักงาน การบริหารเอกสาร การหนังสือพิมพ์ ฯลฯ