พระนครควรชม
ธรรมเกียรติ กันอริ
สำนักพิมพ์ ผู้จัดการ 2538
ราคา 150 บาท
พจนานุกรมเกี่ยวกับ วัด วัง ถนน สะพาน และป้อม ที่ได้แนะนำไปแล้วนั้น
ทำให้ผมนึกถึงหนังสือของ ธรรมเกียรติ กันอริ เล่มนี้ได้ แม้จะพิมพ์มานานแล้วแต่ก็ยังอ่านได้ไม่เบื่อ
ดังนั้นผมจึงหยิบขึ้นมาอ่านเพื่อแนะนำให้ผู้สนใจเปิดอ่านเว็บไซต์ของผม
รีบหาซื้อมาอ่านก่อนที่จะหาซื้อไม่ได้
ความจริงแล้วเรื่องที่รวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้เคยพิมพ์เป็นตอน ๆ
ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมาแล้ว การนำมารวมตีพิมพ์เป็นเล่มทำให้สะดวกมากขึ้นแก่การอ่าน
และอ้างอิง เสียดายที่ภาพที่นำมาลงประกอบค่อนข้างจะเล็กและมืดไปสักหน่อย
จากการที่ผมได้เคยคุยกับใครต่อใครมาหลายคน ผมพบว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยรู้จักประวัติของสถานที่ต่าง
ๆ ในกรุงเทพฯมากนัก คนกรุงเทพฯ จำนวนมากเป็นชาวพุทธ เคยเข้าวัดเข้าวามาก็หลายหน
แต่ส่วนมากไปเข้าวัดเพื่อเผาศพหรืองานสวดพระอภิธรรมศพมากกว่าจะเข้าไปนั่งฟังเทศน์หรือปฏิบัติธรรม
และผมเชื่อว่าท่านเหล่านี้ไม่ทราบประวัติของวัดเหล่านั้นหรอกครับ
อันที่จริงก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปรู้จักประวัติของสถานที่ต่าง ๆ ในกทม.
หรือ ในเมืองไทยโดยรวม แต่การรู้จักประวัติจะทำให้เราเชื่อมโยงไปสู่อดีตได้อย่างเข้าใจความหมาย
เมื่อรู้แล้วก็จะเกิดสำนึกที่จะปกป้องอนุรักษ์สถานที่เหล่านั้นให้มีความมั่นคงถาวร
ขณะเดียวกันก็สามารถสงวนรักษาสภาพเดิมเอาไว้ให้ศึกษาได้ หากเราไม่เข้าใจอดีต
เราก็อาจจะไม่สามารถต่อเชื่อมไปสู่อนาคต และสุดท้ายก็จะไม่มีอะไรที่จะทำให้เรามีสำนึกถึงความเป็นไทยได้
หนังสือพระนครชวนชม พยายามแนะนำประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ
ที่อยู่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ การแนะนำนั้นก็ไม่ได้เขียนทื่อ ๆ แต่เขียนเชิงวิจารณ์โดยนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่เขียนบทความนั้นเข้ามาผนวกกับข้อเขียนด้วย
ทำให้การเขียนมีเสน่ห์ออกไปอีกแบบ เนื่องจากคนอ่านต้องใช้ความคิดไปด้วย
ไม่ใช่อ่านเพลิน ๆ เหมือนหนังสือนำเที่ยวทั่วไป
ธรรมเกียรติ ได้ค้นหาข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการเขียนเรื่องนี้มากทีเดียว
และมีหลายเรื่องที่คนทั่วไปก็ไม่ทราบ อาทิ เรื่องการสร้างโรงเรียนสวนกุหลาบนั้น
เดิมที รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้หลวงไพศาลศิลปศาสตร์ (นามเดิม สนั่น
เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา ต่อมาได้เป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) เป็นผู้ไปตั้งโรงเรียนโดยอาศัยศาลาวัดของวัดราชบูรณะ
แต่คุณหลวงท่านได้ทำเลยคำสั่งไป คือ ได้ยึดที่ของวัดมาตั้งเป็นโรงเรียนเสียเลยเนื่องจากไม่แน่ใจว่า
เจ้านายคือเสนาบดีกระทรวงธรรมการจะอนุมัติให้ทำหรือไม่ เป็นเหตุให้เสนาบดีต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล
และทำให้ในหลวงทรงตำหนิแต่ก็มิได้ลงพระอาชญาเพราะทรงเข้าพระทัยดีว่า
ท่านเป็นคนหนุ่มและต้องการทำงานที่เห็นแก่บ้านเมือง ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่อย่างใด
เรื่องนี้นักเรียน สก. อาจจะทราบมาก่อนแล้วก็ได้ แต่ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นนักเรียน
สก. อย่างผมและอาจจะสำหรับท่านผู้อ่านบรรณพิจารณ์อีกหลายคนก็ได้
เมื่อสักครู่นี้ได้อ้างว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนหนังสือนำเที่ยว
นั่นก็ยังไม่เชิงนักทีเดียว เพราะธรรมเกียรติยังไม่ได้ขยายความรายละเอียดของสถานที่ต่าง
ๆ เอาไว้มากนัก คงเขียนแต่เพียงสถานที่อันเป็นจุดเด่นหรือจุดหลัก ๆ
เท่านั้น ส่วนที่เหลือก็เป็นเกร็ดอันหาอ่านได้ยากดังได้กล่าวมาแล้ว
ผมไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจับผิด จึงไม่ได้สังเกตว่าได้นำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดไปบ้างหรือไม่
แต่ถึงมีก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก เพราะหนังสือนี้ไม่ใช่ตำราวิชาการ
หากเขียนขึ้นเพื่อให้คนกรุงเทพฯได้รู้จักกรุงเทพฯ ดีขึ้น ดังนั้นจึงขอเชิญชวนให้เสาะแสวงหามาอ่านอีกสักเล่มหนึ่ง
|