กฤษณมูรติ
ที่หุบเขาฤาษี
สุภาพร พงศ์พฤกษ์ บรรยาย
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
พฤษภาคม 2543 ราคา 90 บาท
ผมอ่านข้อเขียนของกฤษณมูรติด้วยความประทับใจมากว่าสามสิบปีแล้ว
ตอนนั้นผมทำงานที่เอไอทีซึ่งอยู่ในจุฬาฯ ยังไม่ได้ย้ายมาที่รังสิต
และช่วงกลางวันก็เดินมารับประทานอาหารและแวะเข้าร้านหนังสือศึกษิตสยามเป็นประจำ
ที่นี่เองที่ผมซื้อหนังสือของกฤษณมูรติไปอ่านสองเล่มด้วยความสนใจและประทับใจในความคิดของท่านผู้นี้
เล่มที่ผมมีล่าสุดคือ Questioning Krishnamurti ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 1996
นี่เอง
หลังจากที่ผมได้รู้จักความคิดของกฤษณมูรติแล้วอีกหลายปีต่อมาจึงมีผู้แปลข้อเขียนของ
เขาออกมาอีกหลายเล่ม รวมทั้งเล่มที่ผมกล่าวถึงนี้ด้วย
กฤษณมูรติเป็นนักคิดคนสำคัญ
แม้เขาจะไม่ใช่นักคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ระดับมหภาค
ที่จะมีอิทธิพลต่อการค้าหรือการปกครองของประเทศต่างๆ แต่ความคิดของเขาก็มุ่งตรงไปที่ตัวตนแท้ของแต่ละคน
หรืออีกนัยหนึ่งในระดับปัจเจกนั่นเอง
หุบเขาฤาษี
เป็นสถานที่ซึ่งคุณสุภาพร ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ได้ไปเยี่ยมเยือนมาแล้ว
และกล่าวว่าเป็นดินแดนอันน่ารื่นรมย์มาก นั่นไม่แปลกอะไรเลยหากเราได้อ่านและคุ้นเคยกับความคิดของกฤษณมูรติที่ต้องการให้เขาเข้าถึงธรรมชาติ
ได้ยินนกร้อง ได้เห็นต้นไม้ ได้เห็นท้องฟ้า อย่างลึกซึ้งมากกว่าที่เราเคยสัมผัสกันยามปกติ
หนังสือของกฤษณมูรติมีความลึกซึ้งที่เราจะอ่านแต่เพียงลวกๆ
ไม่ได้ ต้องพยายามอ่านไปด้วยคิดไปด้วย และ สรุปเป็นความเข้าใจของเราเองด้วย
นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของนักคิดผู้นี้ที่เหนือกว่าของนักคิดหลายคน
หนังสือเล่มที่กำลังกล่าวถึงนี้เกี่ยวข้องกับการศึกษา
โรงเรียน และ ครู มีแง่มุมต่างๆ ที่เราคิดไปไม่ถึงอยู่ในนี้มากมาย
ยกตัวอย่างเช่นในตอนที่ว่าด้วย นำเรียนกับการศึกษา เขาเขียนไว้ว่า
การศึกษาไม่ได้หมายเพียงการเรียนรู้จากหนังสือ
ท่องจำข้อมูลบางอย่าง แต่ยังหมายถึงการเรียนรู้ที่จะดูที่จะฟังสิ่งที่ในหนังสือได้กล่าวไว้
ฟังว่ามันกำลังพูดสิ่งที่จริงหรือปลอม ทั้งหมดนี้แหละจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา
การศึกษาไม่ใช่การสอบผ่าน ได้ปริญญาบัตร และมีการงานทำ แต่งงานและตั้งหลักปักฐาน
แต่ยังหมายถึงความสามารถที่จะฟังเสียงนกร้อง มองดูท้องฟ้า เห็นความงามประหลาดของต้นไม้
เส้นสันทิวเขา รู้สึกไปกับมัน สัมผัสมันได้โดยตรงและอย่างแท้จริง เมื่อพวกเธอเจริญวัยขึ้น
ความรู้สึกที่จะฟังจะเห็นอย่างนั้นจะหายไปอย่างน่าเสียดาย เพราะว่าพวกเธอกังวล
พวกเธอต้องการเงินทองมากขึ้น รถยนต์ยี่ห้อหรูขึ้น มีลูกมากขึ้นหรือน้อยลง
พวกเธอจะกลายเป็นคนขี้ริษยา ทะเยอทะยาน ละโมบ อิจฉา พวกเธอจึงได้สูญเสียสัมผัสแห่งความงามของแผ่นดิน
พวกเธอรู้ไหมว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับโลกนี้ พวกเธอต้องเรียนรู้สถานการณ์ปัจจุบัน
เกิดสงคราม การจลาจล ประชาชาติต่างแบ่งแยกกีดกั้นกันเอง ในประเทศนี้ก็เข่นกัน
มีการแบ่งแยก การแยกกันอยู่ มีคนเกิดมากมายยิ่งขึ้น ยากจน มอซอ และใจหยาบกระด้างอย่างที่สุด
ผู้คนไม่สนใจว่าคนอื่นๆ จะเป็นอย่างไร ตราบเท่าที่ตัวเองปลอดภัยอยู่
และพวกเธอเองก็กำลังได้รับการศึกษาเพื่อให้สอดประสานเข้ากับสิ่งที่เอ่ยมานี้
พวกเธอรู้หรือไม่ว่าโลกกำลังบ้าคลั่ง การต่อสู้ การทะเลาะเบาะแว้ง
การข่มเหงเบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกัน นี่คือความบ้าคลั่งทั้งมวล
และเธอเองก็จะเติบโตขึ้น เพื่อที่จะเหมือนและกลมกลืนกับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด
ที่พูดมานี้ถูกไหมนี้เป็นสิ่งที่การศึกษาหมายถึงใช่หรือไม่ ว่าเธอจะต้องเข้าไปอยู่ในโครงสร้างบ้าๆ
นี้ ที่เรียกว่าสังคม ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เธอรู้หรือเปล่าว่าเกิดอะไรขึ้นกับศาสนาทั่วโลก
นี้ก็เช่นกันที่แตกแยกเป็นฝักฝ่าย ไม่มีใครเชื่อในสิ่งใดอีกต่อไปแล้ว
มนุษย์สิ้นไร้ซึ่งศรัทธา และศาสนาก็เป็นแต่เพียงผลพวงของการโฆษณาชวนเชื่ออย่างมโหฬารเท่านั้น
และในอีกตอนหนึ่งคือ
ครูกับวิสัยทัศน์อันยาวไกล เขาเขียนว่า
ฉันไม่ได้ต่อต้านความรู้
แต่มีความแตกต่างกันระหว่างการเรียนรู้กับการหาความรู้ การเรียนรู้หยุดลง
เมื่อมีเพียงการสะสมความรู้ จะมีการเรียนรู้ก็ต่อเมื่อไม่มีการสั่งสมครอบครองใดๆ
เมื่อความรู้ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การเรียนรู้ก็สิ้นสุดลง
ยิ่งฉันหาความรู้เพิ่มมากขึ้นเพียงใด จิตใจก็ยิ่งรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและมั่นใจยิ่งขึ้น
ฉะนี้จิตก็หยุดการเรียนรู้ การเรียนรู้หาใช่กระบวนการสั่งสมเพิ่มพูนไม่
เมื่อเราเรียนรู้ นั้นเป็นเพียงกระบวนการที่ตื่นตัวฉับไว ในขณะที่การค้นหาความรู้เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูล
และเก็บเข้าคลังสมอง ดังนั้น ฉันจึงคิดว่ามีความแตกต่างระหว่างการหาความรู้และการเรียนรู้
การศึกษาที่เป็นอยู่ทั่วโลกเป็นแต่เพียงการครอบครองความรู้ ดังนั้นจิตจึงมืดทึบและหยุดการเรียนรู้
จิตจึงเป็นแต่เพียงการรวบรวมความรู้ การครอบครองความรู้ได้มาบงการกำหนดแบบแผนของชีวิต
ด้วยเหตุนี้จึงจำกัดประสบการณ์เอาไว้ ทว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งไม่จำกัด
ในโรงเรียน
เป็นไปได้ไหมที่เธอไม่เพียงแต่จะมาหาความรู้ ซึ่งก็เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะอยู่ในโลกนี้
แต่ยังมีจิตใจที่สามารถจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาด้วย เพราะทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้ขัดแย้งกัน
แต่ในโรงเรียนที่ความรู้กลายเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การเรียนรู้ก็กลายเป็นเรื่องขัดแย้งไป
การศึกษาควรใส่ใจกับความเป็นทั้งหมดของชีวิต ไม่ใช่กับการตอบโต้ฉับพลันต่อสิ่งท้าทายเฉพาะหน้า
ขอถามตามคำพูดของกฤษณมูรติว่า
ท่านผู้อ่านได้เห็นอะไรบ้างจากย่อหน้าที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้
ท่านได้มองเห็นความแตกต่างระหว่างการรู้ กับ การแสวงหาความรู้หรือไม่
อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ชีวิตเราควรจะแสวงหาสิ่งใด
ลองคิด
ลองตอบคำถาม แล้วท่านอาจจะต้องไปหาหนังสือเล่มอื่นของกฤษณมูรติมาอ่านเพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก
|