วิธีเขียนรายงานการวิจัย
เพชรา สังขะวร ผู้แปล
งานแปลของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ อันดับที่173
คนไทยได้ละเลยงานวิจัยมานานแล้ว
แม้รัฐบาลจะตั้งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว
และแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะมีตำแหน่งเป็นประธานของคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
แต่กระนั้นรัฐบาลก็ไม่ได้เห็นความสำคัญของงานวิจัยแต่อย่างไร ความข้อนี้สังเกตได้จากงบประมาณเพียงเล็กน้อย
เปรียบเสมือนเศษเงินที่ได้รับมาจากรัฐบาลจ นไม่สามารถที่จะสร้างผลงานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้แก่ประเทศไทยได้
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจที่ในปี
ค.ศ. 2001 สถาบัน IMD ได้กำหนดอันดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของไทยเอาไว้อันดับสุดท้ายคือ
อันดับ 49 ในจำนวนทั้งหมด 49 ประเทศ เพราะหนึ่งในปัจจัยที่นำมาพิจารณาก็คือการลงทุนด้านการวิจัย
ปัญหาในการทำงานวิจัยของไทยมีมานานแล้ว
การไม่ได้รับงบประมาณอย่างพอเพียงสำหรับให้การสนับสนุนนักวิจัยนั้นเป็นปัญหาระดับประเทศ
แต่ในระดับย่อยลงมาก็ยังมีปัญหาอีกมาก อย่างเช่น ปัญหาเรื่องข้อเสนองานวิจัยจำนวนมากที่ส่งเข้ามาที่สภาวิจัยนั้นต้องกล่าวว่าไม่ถึงระดับที่ควรให้การสนับสนุน
นั่นเป็นเพราะนักวิจัยที่เสนอข้อเสนอเหล่านี้ยังไม่มีความรู้และความสามารถพอเพียงที่จะทำงานวิจัยระดับดีประการหนึ่ง
และเป็นเพราะนักวิจัยเองก็ยังไม่มีองค์ความรู้พอเพียงที่จะรู้ว่าขอบเขตของความรู้อยู่ที่ใด
และมีเรื่องอะไรบ้างที่น่าจะทำวิจัย
แต่ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการเขียนรายงานวิจัย
ในฐานะที่เป็นผู้บริหารคนหนึ่งของ
สวทช. ผมได้ว่าจ้างสถาบันบางแห่งทำงานวิจัยให้ แต่รายงานวิจัยที่ได้รับนั้นน่าผิดหวังมาก
เรื่องน่าผิดหวังมีอยู่สองด้านด้วยกัน ด้านแรกก็คือเนื้อหาหรือผลงานวิจัยที่ทำมาส่งนั้นไม่ถึงระดับ
และอีกด้านก็คือตัวรายงานเองก็ไม่มีคุณภาพ ปัญหาแรกนั้นคงจะแก้ได้ยากเพราะเป็นเรื่องที่นักวิจัยแต่ละสาขาจะต้องหาทางสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานให้ดีขึ้นด้วยตัวเอง
แต่ปัญหาที่สองนั้นสามารถแก้ไขได้
หนังสือเรื่อง
วิธีเขียนรายงานการวิจัย นี้เป็นผลงานแปลที่ตีพิมพ์โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
เนื้อหาแบ่งออกเป็น 8 บทด้วยกันคือ
- การเลือกหัวเรื่อง
: การใช้ห้องสมุด
- การเตรียมบรรณานุกรม
- การจดบันทึก
- การเรียบเรียงเนื้อเรื่อง
- ต้นฉบับตัวจริง
- ตัวอย่างรายงานการวิจัยที่ดี
- ข้อผิดพลาดที่ควรเลี่ยง
- การลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนขึ้นสำหรับนักวิจัยโดยตรง
เพราะเป้าหมายหลักอยู่ที่นักศึกษา แต่โดยที่นักวิจัยของไทยจำนวนมาก
ก็ยังมีความสามารถระดับนักศึกษา ดังนั้นหากนักวิจัยจะอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ถึงกับเสียหน้าอะไร
กลับจะได้รับความรู้มากขึ้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในภาคผนวกนั้นมีคำแนะนำสำหรับการใช้ภาษาที่ไม่แบ่งแยกเพศซึ่งกำลังเป็นเรื่องใหญ่สำหรับทางตะวันตกอยู่ในขณะนี้
หนังสือนี้มีรายละเอียดให้ศึกษาหลายเรื่อง
เรื่องที่น่าสนใจก็คือการจดบันทึก การเรียบเรียงเนื้อเรื่อง และการอ้างอิงซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของนักวิจัยไทย
โดยเฉพาะในเมื่อคนไทยโดยรวมไม่ได้รับการสั่งสอนในโรงเรียนให้หัดจดบันทึกมานานกว่าสามสิบปี
ได้ทำให้คนไทยขาดความสามารถในการสังเกต การจดรายละเอียด และ การเขียนรายงาน
ข้อที่น่าเสียดายก็คือ
หนังสือเล่มนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษ ต้นฉบับเดิมได้ยกตัวอย่างการใช้ภาษาที่ควรแก้ไขเอาไว้มากด้วยกัน
แต่เมื่อถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยแล้วก็ไม่ค่อยจะสื่อความมากนัก น่าจะมีอาจารย์นักวิจัยสักท่านหนึ่งที่รวบรวมตัวอย่างการใช้ประโยคภาษาไทยที่ควรแก้ไขมาเผยแพร่
พร้อมกันนั้นก็ควรเสนอแนะว่าจะแก้ไขอย่างไรด้วย
หนังสือเล่มนี้นำเสนอตัวอย่างบทความวิจัยที่ดีเอาไว้เหมือนกัน
แต่บังเอิญเป็นเรื่องที่ผมไม่สนใจก็เลยไม่อยากอ่าน อีกทั้งไม่แน่ใจด้วยว่าผู้แปลจะสามารถถ่ายทอดบทความวิจัยที่ว่าดีมาเป็นภาษาไทยได้ดีพอด้วย
โดยทั่วไปขอแนะนำให้นักศึกษาทั้งหลายลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน
แม้จะยังขาดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการอ้างอิงเว็บไซต์ เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนมาก่อนยุคอินเทอร์เน็ต
แต่ก็ควรมีไว้อ้างอิงใกล้มือจะได้เขียนรายงานวิจัยได้ดีขึ้น
|