ความเข้าใจเรื่องนิพพาน
เมื่อไม่นานมานี้ชาวไทยพุทธจำนวนมากมีวิวาทะกันเรื่องนิพพานว่าเป็นอนัตตาหรืออัตตา
นั่นก็คือก็มีผู้แสดงความคิดเห็นโต้แย้งกันตามสื่อต่างๆ มากมาย รวมทั้งที่พิมพ์เป็นเล่มออกมาเผยแพร่ด้วย
การโต้แย้งนี้สำหรับชาวพุทธชั้นปลายแถวอย่างผมแล้วรู้สึกว่าหนักสมอง
เพราะอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจเนื่องจากเป็นเรื่องเทคนิคที่ซับซ้อน ผสมผสานด้วยความคิดเชิงปรัชญา
และที่น่าเสียดายคือไม่สามารถพิสูจน์ได้ง่ายๆ
ผมคิดตามประสาชาวพุทธปลายแถวว่า
การบรรลุธรรมของพระสาวกแต่ละท่านในอดีตกาล ตามที่มีบันทึกตกทอดมาถึงสมัยนี้นั้น
ไม่เห็นมีใครเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามยากๆ เช่นนี้แต่อย่างไร ในพระสูตรจำนวนมากที่เป็นวิวาทะทางปัญญานั้น
ส่วนมากก็ลงเอยด้วยการที่พราหมณ์ฝ่ายที่กังขา ได้รับคำอธิบายจนเข้าใจแจ่มแจ้ง
แล้วจะพูดยกย่องพระพุทธเจ้า แล้วก็จบพระสูตร แต่พระสูตรซึ่งบันทึกคำสอน
ส่วนที่นำไปสู่การบรรลุธรรมนั้นไม่ได้เป็นมีเนื้อความอันยุ่งยาก อย่างที่นำมาเถียงกันในสมัยนี้เลย
พระสูตรเหล่านี้จะเน้นแต่เฉพาะในเรื่องการปฏิบัติธรรมที่จะทำให้หลุดพ้นเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้
ผมจึงคิดว่า นิพพานจะเป็นอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้ลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังหรือเปล่า
เราได้ปฏิบัติธรรมขั้นที่ง่ายที่สุดคือบริจาคทานเพื่อลดความตระหนี่ของเราหรือเปล่า
เราได้ถือศีลห้ากันอย่างบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อยหรือเปล่า เราได้นั่งภาวนาและศึกษาความเป็นไปของชีวิตของเราให้เข้าใจหรือเปล่า
ในหนังสือของพระเดชพระคุณ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันเรื่อง ความเข้าใจเรื่องนิพพาน
ที่ผมได้นำมาบอกเล่าในที่นี้นั้น ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.
2542 และมีเนื้อความสำคัญอยู่หกตอน คือ โมกขธรรมเมื่อก่อนตรัสรู้ โมกขธรรมเมื่อตรัสรู้
บ่ายหน้าไปสู่นิพพาน ศัพท์ว่านิพพาน นิพพานมี ๒ และนิพพานเป็นสัจธรรม
สมเด็จพระสังฆราชทรงแสดงความเห็นว่า
เมื่อก่อนตรัสรู้นั้นน่าเชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะ คงจะทรงประสงค์ที่จะบรรลุโมกขธรรม
ที่จะนำไปสู่การเกิดที่ไม่มีการเจ็บ การแก่ และ การตาย แต่เมื่อตรัสรู้นั้นได้ทรงพบความจริงอันสำคัญว่า
การเป็นพุทธะคือผู้รู้นั้นก็คือการไม่ยึดถือ จึงเป็นผู้ที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ
ไม่ตาย พร้อมทั้งไม่เกิดอีก เพราะว่าไม่มีกิเลส ไม่มีกรรมอะไรที่จะนำให้บังเกิดอีกต่อไป
เมื่อทรงตรัสรู้ทั่วถึงแล้ว อวิชชาก็ดับ ตัณหาอุปาทานก็ดับ ไม่ทรงยึดถืออะไรๆ
ในโลกทั้งหมด ไม่ทรงเห็นว่าขันธ์ห้าเป็นอัตตาตัวตน เป็นเรา เป็นเขา
ทรงปล่อยวางได้หมด
พระเดชพระคุณสมเด็จพระสังฆราชทรงสอนว่า
ผู้ที่ชื่อว่าปฏิบัติพุทธศาสนานั้น จะรู้จักคำว่านิพพานหรือไม่รู้จักคำว่านิพพานก็ตาม
เมื่อปฏิบัติให้ถูกจุดพุทธศาสนาแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติบ่ายหน้าเข้าหานิพพานทั้งนั้น
และจะเริ่มพบรสคือวิมุตติความหลุดพ้นตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ
รายละเอียดส่วนที่เป็นวิชาการอันลึกซึ้งก็คือเรื่องศัพท์นิพพาน
และ นิพพานมี ๒ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงอธิบายไว้ว่า การใช้คำว่านิพพานเดิมนั้นหมายถึงการไม่มีเครื่องร้อยรัด
ไม่มีเครื่องเสียดแทง และหมายถึงการบรรลุผลสูงสุดในการปฏิบัติซึ่งมีมาแต่ก่อนพระพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้น
เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้วก็ได้ใช้คำนี้มาแสดงโดยให้มีความหมายทางพุทธศาสนาเสียใหม่
ในพระไตรปิฎกนั้นได้กล่าวถึงนิพพานไว้หลายแห่ง โดยมากสรุปว่ามีสองคือ
สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีอุปาทิเหลืออยู่ และ อนุปาทิเสสนิพพาน
นิพพานที่ไม่มีอุปาทิเหลืออยู่ คำอธิบายทั่วไปที่กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงแสดงอธิบายไว้ก็คือ
นิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีขันธ์ห้าเหลืออยู่คือยังดำรงชีวิตอยู่เรียกว่า
สอุปาทิเสสนิพพาน ส่วนนิพพานของพระอรหันต์ผู้ดับขันธ์สิ้นชีวิตนั้นเรียกว่า
อนุปาทิเสสนิพพาน ตามนัยนี้นิพพานก็คือการดับกิเลสสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงแสดงต่อไปว่า
คำว่านิพพานที่ใช้กันในบาลีอาจจะมีความหมายตามนัยอื่นได้อีก คือหมายถึงความดับหรือความสงบของกิเลสเป็นบางส่วนหรือดับชั่วคราวได้
เช่นในขณะที่กำลังปฏิบัติธรรมจนถึงนิพพานญาณ
ท้ายที่สุดทรงแสดงว่า
นิพพานก็คือสภาพที่เป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างแท้จริง อันมีความรู้ความสว่างแจ่มแจ้งอย่างเต็มที่
มีความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ สิ้นกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดทั้งหมด ไม่มีกิเลสที่เปรียบเสมือนลูกศรเสียบแทงอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเลย
จึงเรียกว่าอสังคตะ ไม่มีปัจจัยอะไรปรุงแต่งทั้งหมด
ขอให้สาธุชนพึงทราบเช่นนี้และตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพื่อบ่ายหน้าไปถึงพระนิพพานเทอญ
|