Dr. Kanchit Malaivongs
Home
Duties
Courses
Lectures
Books
FAQ
Contact
IT Idea for Spiritization

หม่อมหลวงชัยวัฒน์  ชยางกูร จอมยุทธ์การตลาด ผู้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
พันวลี เรียบเรียง
สำนักพิมพ์ดับเบิลนายน์
มิถุนายน 2544   ราคา 120 บาท

          ผมรู้จัก มล. ชัยวัฒน์ ชยางกูร อย่างผิวเผิน ได้มีโอกาสพบปะพูดกันบ้าง แต่ไม่เคยมีเรื่องที่จะต้องเกี่ยวข้องกันทางธุรกิจหรือในด้านอื่นๆ ดังนั้นการได้มีโอกาสอ่านหนังสือประวัติส่วนตัวของ มล. ชัยวัฒน์ จึงทำให้มีโอกาสเข้าใจนักบริหารผู้นี้มากขึ้น และช่วยทำให้ผมเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ มล. ชัยวัฒน์ในอดีตมากขึ้นตามไปด้วย

          ในวงการคอมพิวเตอร์นั้น ผมมีความนิยมชมชอบบุคคลหลายท่านด้วยกัน บางคนผมชอบในด้านความคิด บางคนชอบในด้านการอุทิศตน และบางคนก็ชอบในด้านการบริหารงาน ผมได้สดับตรับฟังมานานแล้วว่า มล. ชัยวัฒน์ มีความสามารถในด้านการบริหาร จนถึงกับได้รับตำแหน่งระดับสูงในบริษัทหลายแห่งทั้งของไทยและต่างประเทศ การได้อ่านประวัติและแนวคิดในหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมแน่ใจว่าความนิยมของผมนั้นไม่ผิด

          เท่าที่ได้ศึกษาชีวิตของชาวไทยผู้ประสบความสำเร็จในด้านการทำธุรกิจมาหลายคนนั้น ผมพบว่า ผู้ที่ได้ผ่านการทำงานหนักมาตั้งแต่ยังเล็กนั้น ได้สั่งสมประสบการณ์และความสามารถเอาไว้มากกว่าคนที่เกิดมาเพียบพร้อม และอยู่ในตระกูลที่ร่ำรวย จริงอยู่คนกลุ่มหลังนี้มีโอกาสมากกว่าที่จะได้รับการศึกษาในระดับสูง ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ดีทั้งในและต่างประเทศ แต่ความที่ไม่ต้องดิ้นรน หรือตัดสินใจในระดับคอขาดบาดตายมาก่อน ศักยภาพที่จะผลักดันให้องค์กรที่ตนบริหารก้าวไปสู่ระดับสุดยอดจึงมีน้อยกว่าคนกลุ่มแรก

          มล. ชัยวัฒน์ เกิดมาในราชสกุลซึ่งควรจะมีความสะดวกสบาย แต่การที่ต้องสูญเสียบิดาไปตั้งแต่เมื่อมล.ชัยวัฒน์เรียนอยู่เพียงประถมปีที่ ๕ ก็ทำให้เขาต้องดิ้นรนช่วยตัวเอง ด้วยการเล่นดนตรีหาเงินมาเรียนหนังสือ แม้เขาจะเรียนหนังสือดีมาก แต่การหมกมุ่นกับการเล่นดนตรีจนกระทั่งมีเวลาเรียนไม่พอทำให้ต้องเรียนซ้ำชั้นเมื่ออยู่ มศ. ๕ และนั่นคือบทเรียนสำคัญของ มล. ชัยวัฒน์ ต่อจากนั้น เขาได้เข้าศึกษาที่วิทยาลัยกรุงเทพทางด้านการตลาด เมื่อจบแล้วก็ได้เข้าเป็นพนักงานของโรงพิมพ์ด่านสุทธา ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นนักขายประกันชีวิตซึ่งนั่นได้ทำให้มารู้จักกับ คุณเรวดี ฉัตตะลดา ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทไอบีเอ็ม และเป็นภริยาของคุณประวิตร ฉัตตะลดา ผู้บริหารระดับสูงของไอบีเอ็ม คุณเรวดีนี่เองที่ชักชวนให้ มล. ชัยวัฒน์มาทำงานที่ไอบีเอ็ม

          มล. ชัยวัฒน์ ทำงานที่ไอบีเอ็มนานถึง 13 ปี 8 เดือน ที่ไอบีเอ็มนี่เขากล่าวว่าได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องการบริหารงาน การขาย การตลาด หลักการทำงานที่ถูกต้อง เหตุผล โดยเฉพาะเขากล่าวว่าไอบีเอ็มมีหลักการทำงานอยู่สามข้อคือ Respect for Individuals คือการให้เกียรติพนักงานทุกคน สองคือ Strive for Excellence คือ พยายามทำงานให้บรรลุความเป็นเลิศ และ สามคือ Provide the best service คือ การให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

          ความสามารถด้านการบริหารงานของเขาทำให้เขาได้รับข้อเสนอให้ไปทำงานที่บริษัทสยามกลการ และนั่นคือความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ เพราะต้องทำให้พนักงานยอมรับว่าเขามีความสามารถในการขายรถยนต์ด้วย ไม่ใช่รู้แต่การขายคอมพิวเตอร์เท่านั้น เขาได้ร่วมแก้ปัญหาต่างๆ นานา ของบริษัทซึ่งมีวิธีการบริหารงานแบบครอบครัวให้ก้าวไปสู่การคิดแบบมืออาชีพ และเขาก็ได้รับรางวัลด้วยการเสนอให้ไปเป็น เอ็มดีของบริษัทสยามดนตรียามาฮ่า ข้อเสนอนี้ มล. ชัยวัฒน์แทบไม่ต้องพิจารณานานเลยเพราะเขามีความรักดนตรีอยู่ในสายเลือดเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม เขาก็อยู่ที่นี่ไม่ได้นานเพราะเพียงปีครึ่งเขาก็ได้รับข้อเสนอให้ไปสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทดิจิตอล อีควิปเมนต์ คอร์ปอรเรชัน ประเทศไทย ในตำแหน่งนี้เขารั้งอยู่นาน ๓ ปี ๘ เดือน และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งสูงสุดนี้ งานที่นี่แม้จะดูเหมือนกับที่เขาคุ้นเคยมาจากไอบีเอ็ม แต่กลับยุ่งยากกว่าเพราะเป็นช่วงที่บริษัทคอมแพคเข้ามาซื้อกิจการไป และทำให้เขาต้องทำงานหนักเพื่อให้การรวมบริษัทผ่านไปโดยราบรื่น

          ในตอนต้นปี 2543 มล. ชัยวัฒน์ก็รับเชิญมาทำงานที่บริษัทสามารถในฐานะของประธานกรรมการผู้อำนวยการ ในกลุ่มของบริษัทสามารถอินเตอร์เน็ต แต่จากนั้นอีกหนึ่งปี เขาก็ลาออกมาตั้งบริษัท CE Enterprise Consulting ขึ้น โดยตัวเขาเป็น CEO เอง

          มล. ชัยวัฒน์ได้ให้แนวคิดในการบริหารว่า จะต้องดูแลเรื่องสำคัญสามเรื่องให้ได้คือ เรื่องของพนักงาน ลูกค้า และ ผลกำไรบริษัท นอกจากนั้นผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองอีกสี่เรื่องคือ บุคลิก เพื่อน นาย และ การตอบแทนสังคม

          ความจริงแล้วเนื้อหาของหนังสือมีมากกว่าเรื่องย่อๆ ที่ผมนำมาเล่าในที่นี้ หนังสือยังกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารอีกมากมายหลายเรื่องและล้วนน่าสนใจศึกษาทั้งสิ้น แต่โดยที่การวิจารณ์จะต้องก้าวล่วงเข้าไปสู่แนวคิดส่วนตัวและการทำงานของ มล. ชัยวัฒน์เอง ผมจึงขอทิ้งไว้ให้ผู้ที่สนใจไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านเอาเอง

Back