พลังการเรียนรู้
: ในกระบวนทัศน์ใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร. วิชัย วงษ์ใหญ่
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2542
ช่วงนี้ผมต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาค่อนข้างมาก
ไม่ใช่เพราะเป็นนักการศึกษาหรอกครับ แม้ผมจะเป็นอาจารย์สอนระดับบัณฑิตศึกษามานานกว่าสามสิบปี
แต่นักการศึกษาระดับมืออาชีพเขา ไม่ยอมคิดว่าผมมีความรู้ทางด้านนี้มากพอที่จะเป็นนักการศึกษาได้
ผมเพียงแต่สนใจในฐานะเป็นคนไทยที่จะอยากเห็นการศึกษาได้รับการปรับปรุง
เพราะทุกวันนี้ต้องกลุ้มใจกับความสามารถและผลงานของเด็กรุ่นใหม่ ที่เข้ามาทำงานกับผมมากทีเดียว
พูดก็พูดเถอะครับ แม้แต่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง ก็ยังมีความสามารถต่ำกว่าความคาดหวังของผมมาก
โลกนี้ก้าวหน้าได้ด้วยการคิดค้นเรื่องใหม่ๆ โดยเด็กรุ่นหลังที่ต้องเก่งกว่าผู้ใหญ่
หากเด็กไทยแต่ละรุ่นมีความสามารถด้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นล่ะครับ
อย่าลืมนะครับว่า
โลกกำลังก้าวไปสู่สังคมความรู้ สังคมที่เราจะต้องใช้ความรู้ในการดำรงชีวิต
ในการทำงาน ในการทำธุรกิจ ในการแข่งขันระหว่างธุรกิจและระหว่างประเทศ
หากประเทศใดไม่สามารถก้าวเข้าสู่สังคมความรู้ได้ ก็เป็นการยากที่จะไปแข่งขันกับประเทศอื่นได้
หนทางเดียวที่จะแก้ไขเรื่องความด้อยความสามารถของเยาวชนของเราได้ ก็คือการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นี่เองที่ทำให้เราได้ยินเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา ไปจนถึงเรื่องครูประท้วงไม่ยอมไปสังกัดกับ
อบต.
หนังสือเรื่อง
พลังการเรียนรู้เล่มนี้เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง เนื้อหาหลักที่
ดร. วิชัย ต้องการบอกพวกเราก็คือ เราจะใช้วิธีการสอนเยาวชนของเราแบบเดิมไม่ได้แล้ว
เราจะต้องเปลี่ยนแนวทางการสอนเป็นแบบใหม่ หรือกระบวนทัศน์ใหม่ คำว่ากระบวนทัศน์นี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า
paradigm แต่ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าใครคิดใช้คำนี้ก่อน ฟังดูก็ดีเหมือนกันแม้ความหมายจะไม่ตรงนัก
เอาเป็นว่ากระบวนทัศน์ก็คือ paradigm
การเปลี่ยนแนวทางใหม่นี้
ดร. วิชัย ประกาศว่า "ก่อนจะย่างก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เราจะต้องสร้างสังคมของเราให้สามารถเชื่อมโยงความรู้กับปัญญาเข้าด้วยกัน
และนำคุณค่าของแต่ละสิ่งมาเกื้อกูลกันเป็นชีวิตที่อยู่ ด้วยปัญญาเป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด"
ทั้งนี้เพราะ ดร. วิชัย เห็นว่า สังคมข่าวสารข้อมูล หรือ สังคมสารสนเทศนั้นมีแต่การบริโภคข่าวสาร
ศึกษาและแลกเปลี่ยนข่าวสาร ไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ย่อยข่าวสารสร้างเป็นองค์ความรู้
ความเห็นเช่นนี้ออกจะแปลก เพราะผมเห็นว่ามนุษย์เราได้สร้างองค์ความรู้ขึ้นตลอดเวลานับตั้งแต่ก่อนยุคเกษตร
ไม่ใช่มาสร้างองค์ความรู้ในยุคความรู้ ความหมายที่แท้จริงของยุคความรู้ก็คือ
คนส่วนมากดำรงชีพหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับความรู้ และความรู้เป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติงานดังกล่าวมาแล้ว
การจัดการศึกษาตามกระบวนทัศน์ใหม่ในทัศนะของ
ดร. วิชัย นั้นหมายถึงการทำให้เกิด "การเรียนรู้ตามสภาพจริง (authenticity
learning) การประเมินผลตามสภาพจริง รวมทั้งบทบาทของผู้สอนเป็นผู้อำนวยกระตุ้นการเรียนรู้
(facilitator) เป็นนักจัดการเรียนรู้เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
ตามความสนใจตามถนัดและความต้องการนั้น เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของแต่ละบุคคลให้เจริญสูงสุด..โดยมีเป้าหมายให้เป็นคนดี
คนเก่งและมีความสุข"
ดร.
วิชัยเห็นว่าบุคคลที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 จะต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
คือ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น
มีความสามารถในการเรียนรู้ มีค่านิยมในการตัดสินใจที่ถูกต้อง มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมสมัยใหม่
ในด้านการเป็นคนดีนั้น
ดร. วิชัยระบุว่า ตัวบ่งชี้พฤติกรรมคนดี ได้แก่ ความมีวินัยและค่านิยมประชาธิปไตย
ตัวบ่งชี้อย่างหลังนี้ผมไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะดร.วิชัยนำเอาชื่อลัทธิการปกครองแบบหนึ่งมาใช้
ในขณะที่ตัว ดร.วิชัยเองก็ระบุต่อไปว่า ตัวบ่งชี้ความเป็นประชาธิปไตย
ก็คือ การเห็นคุณค่าตนเองและผู้อื่น เคารพสิทธิและป้องกันสิทธิของตนเองและของผู้อื่น
ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีเหตุผล เคารพกติกาของสังคม ทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็น
ตัวบ่งชี้เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องชี้ไปที่ค่านิยมประชาธิปไตยอย่างเดียว
ประเทศอีกหลายประเทศที่มีลัทธิการปกครองแตกต่างไปจากประชาธิปไตยก็มีคนดีอยู่ไม่น้อย
สำหรับการเป็นคนเก่งนั้น
ดร. วิชัยอ้างถึงเรื่องพหุปัญญา ที่ผมเคยกล่าวถึงไปแล้วในบรรณพิจารณ์ตอนหนึ่ง
และ ดร. วิชัยได้ชี้แนะในส่วนท้ายของหนังสือว่า การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนที่มีปัญญาหรือศักยภาพแตกต่างกันนั้นจะทำได้อย่างไร
ในส่วนที่สองของหนังสือนั้น
ดร. วิชัยอธิบายความเจริญเติบโตของสมองแต่ละส่วน พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า
สมองแต่ละส่วนนั้นมีความแตกต่างกันทั้งในด้านความคิดและความรู้สึก
เมื่อเด็กทารกเริ่มถือกำเนิดขึ้นนั้น สมองจะเริ่มเจริญเติบโตพร้อมกับสร้างทักษะในการทำงานขึ้นจากสมองชั้นในมาสู่ชั้นกลางและสมองชั้นนอก
และในที่สุดสมองซีกซ้ายและขวาก็จะทำงานต่างกัน โดยสมองซีกซ้ายมีศักยภาพเกี่ยวกับภาษา
การฟัง ความจำ การวิเคราะห์เหตุผล การจัดลำดับ การคิดคำนวณ สัญลักษณ์
เหตุผลเชิงตรรกและวิทยาศาสตร์ ส่วน สมองซีกขวา มีศักยภาพเกี่ยวกับจินตนาการ
ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ความรู้สึกรับรู้ภาพรวม การรับรู้ทางประสาทสัมผัส
ไม่มีลำดับก่อนหลัง ศิลป สุนทรี รูปทรง รูปแบบ สี ดนตรี มิติสัมพันธ์
และ การเคลื่อนไหว ดร. วิชัยได้กล่าวถึงลักษณะการเรียนรู้ของผู้ที่มีความถนัดของสมองซีกซ้ายและขวาต่างกันเอาไว้ด้วย
แต่ผมจะไม่นำมากล่าวถึงในที่นี้
ประเด็นหลักเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ใหม่ก็คือ
การเรียนการสอนที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง กระบวนการนี้ประกอบด้วย
- ผู้สอนมีความเชื่อว่า
ความรู้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา
- การเรียนรู้ผู้เรียนเป็นผู้กระทำ
หรือดำเนินการเรียนเอง
- มีการปรับเปลี่ยนจากเนื่อหามาสู่กระบวนการ
- มีการพัฒนาแบบองค์รวม
โดยจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้โดยผู้เรียนเป็นผู้กระทำ
- กิจกรรมการเรียนเป็นโครงสร้างแบบเปิด
เป็นวงจรการเรียนรู้
- มีการประเมินในขณะดำเนินการเรียนการสอน
สำหรับการจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้นั้น
ดร. วิชัย อธิบายว่าประกอบด้วย
- การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิดหลัก
(Main concept)
- ส่งเสริมให้ผู้เรียนติดตามสิ่งที่น่าสนใจ
และ สร้างความเชื่อมโยงกับแนวคิดหลัก
- ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญ
- สร้างโอกาสให้ผู้เรียนค้นพบด้วยตัวเอง
และ ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิธีการแก้ปัญหาซึ่งกันและกัน
- ยอมรับว่ากระบวนการเรียนรู้และกระบวนการประเมินการเรียนรู้เป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาอยู่เสมอ
ผมเองยังไม่ค่อยเห็นด้วยมากนักว่า
กระบวนทัศน์นี้จะถูกต้องและใช้การได้หมดในการเรียนการสอนทุกวิชา หรือ
สอนทุกระดับชั้น ในทางตรงกันข้ามหากครูผู้สอนไม่มีความเข้าใจในกระบวนทัศน์นี้แล้ว
โอกาสที่จะทำให้การเรียนรู้เสียหายย่อมมีมากกว่ากระบวนทัศน์แบบเก่า ขณะนี้ผมกำลังเริ่มทดลองสอนแบบให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางอยู่
ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าจะออกมารูปแบบไหน เพราะเป็นการทดลองที่ยุ่งยากพอสมควร
นักศึกษาเองก็ยังไม่เห็นด้วย เพราะพวกเขาต้องทำงานมากขึ้น แทนที่จะเข้ามาฟังผมพูดพล่าม
ก็จะต้องเข้ามาทำงานเพิ่มอีกมาก เรื่องนี้คงจะต้องติดตามต่อไปว่ากระบวนทัศน์ที่
ดร. วิชัย เสนอนี้ผมจะรับไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่
|