Dr. Kanchit Malaivongs
Home
Duties
Courses
Lectures
Books
FAQ
Contact
IT Idea for Spiritization

พุทธประวัติทัศนศึกษา
พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถระ ราชบัณฑิต)
กองทุนบุญนิธิ หอไตร   วัดราชโอรสาราม
พ.ศ. 2541

          ชาวพุทธไทยที่สติไม่ได้วิปลาสคลาดเคลื่อนย่อมต้องการให้ประเทศไทย ประกาศโดยเปิดเผยว่าเป็นประเทศที่มีศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ แต่แล้วปวง สสร. ที่เราเลือกเข้าไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญก็หาได้กล้าประกาศเช่นนั้นไม่ ต่างก็อ้างว่าปัจจุบันนี้คนทั่วโลกต้องนับถือในสิทธิมนุษยชน นั่นคือต้องยินยอมให้คนในชาตินับถือศาสนาใดก็ได้ และต้องไม่มีการแบ่งชั้น วรรณะ อายุ และ เพศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ก็ไม่ได้รีรอที่จะประกาศว่าประเทศเขาเป็นมุสลิม หรือประเทศทางตะวันออกกลางทั้งหลายก็เช่นกัน

          ที่เป็นเช่นนี้ ความจริงแล้วไม่ใช่อะไรหรอก หากเป็นเพราะนักวิชาการและคนชั้นปกครองของไทยนั้น ไปหลงคารมฝรั่งที่หลอกให้เราดำเนินการต่างๆ ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขา รวมทั้งการที่ชาวพุทธส่วนหนึ่งในไทยเริ่มอ่อนศรัทธาลงเพราะบรรดานักบวชจำพวกสมีทั้งหลายที่ประพฤติผิดพระวินัย หรือการที่หนังสือพิมพ์ประโคมข่าวเกินความจำเป็นนั้น ก็น่าจะเป็นผลงานบ่อนทำลายของบรรดาผู้ฝักใฝ่ศาสนาอื่น ที่มุ่งหวังทำลายศาสนาพุทธนั่นเอง

          ผมขอประกาศยืนยันว่า ในบรรดาศาสนาทั้งหลายทั้งปวงนั้น หาได้มีศาสนาอื่นใดไม่ที่เป็นเหตุเป็นผล ประกอบด้วยศาสดาที่มีพระปัญญาบารมีล้ำเลิศ สามารถสั่งสอนเวไนยสัตว์ด้วยพระธรรมอันเป็นสัจจะ พระธรรมที่ทรงสั่งสอนตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายล้วนสอดประสานผนึกเป็นใยตาข่ายที่แนบแน่น หาได้มีช่องโหว่บกพร่องแม้แต่น้อยนิดไม่ ด้วยเหตุนี้จึงสมควรที่ชาวไทยที่มีปัญญาทุกคนจะต้องสนใจศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าใจลึกซึ้ง เพื่อจะได้เข้าถึงโลกุตรธรรมอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายได้ทุกคน

          การที่จะศึกษาทำความเข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นอาจจะกระทำได้หลายวิธี บางคนอาจจะเลือกวิธีตรง นั่นก็คือการขอเข้าบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วพยายามศึกษาปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงพระนิพพาน แต่ก็ยังมีวิธีอื่นๆ อีกที่ปุถุชนผู้มีภาระมากอย่างพวกเราสามารถปฏิบัติได้ นั่นก็คือการศึกษาจากตำรับตำรา และ พยายามเข้าไปหาพระภิกษุผู้เป็นกัลยาณมิตรเพื่อเรียนรู้หัวข้อธรรมะต่างๆ ที่ลึกซึ้งเกินความเข้าใจ

          ปัจจุบันนี้มีผู้พิมพ์หนังสือทางพุทธศาสนาออกมามากด้วยกัน ส่วนมากเป็นหนังสือที่สอนพุทธศาสนาระดับศีลธรรม สำหรับชาวไทยส่วนใหญ่ อาทิหนังสือของท่านพุทธทาส นักปราชญ์แห่งดินแดนภาคใต้ หนังสือสวดมนต์ หนังสือพระเครื่องพระบูชา ส่วนหนังสือระดับปฏิบัติธรรมในสายครูบาอาจารย์ต่างๆ นั้นก็พอมีอยู่บ้างแต่ค่อนข้างน้อย ส่วนหนังสือที่มุ่งตรงไปสู่ความรู้ที่ถูกต้อง และสามารถเชื่อมต่อชีวิตประจำวันไปยังปรมัตถสัจจะนั้น หาได้ยากมาก จะมีบ้างก็พิมพ์เพียงน้อยเล่ม อีกทั้งยังจะต้องสอบถามและเสาะหามาอ่านกันด้วยความมานะบากบั่น

          ผมต้องการนำหนังสือแบบนี้มาแนะนำสักหลายๆ เล่ม แต่สำหรับในตอนนี้ ขอเล่มง่ายๆ ก่อน นั่นคือพุทธประวัติทัศนศึกษา ที่ประพันธ์โดย พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ผู้เป็นราชบัณฑิตทางวรรณศิลป์

          หนังสือพุทธประวัตินั้นมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายเล่ม แต่เล่มที่นำมาแนะนำนี้ประกอบด้วยภาพสีที่ถ่ายจากสังเวชนียสถานในอินเดีย และ ภาพขาวดำอีกจำนวนหนึ่งที่ถ่ายจากภาพเขียนพุทธประวัติจากวัดต่างๆ และนั่นคือที่มาของคำว่าทัศนศึกษา

          ความจริงแล้วเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัตินั้นมีมากมายมหาศาล มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์เป็นจำนวนมาก และแต่ละคนก็มีเรื่องให้ศึกษามากทีเดียว เพราะเรื่องแต่ละเรื่องนั้นประกอบด้วยข้อธรรมที่น่าหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหาเหตุผลและทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม หากนำเรื่องเหล่านั้นมาประมวลรวมกันไว้เป็นพุทธประวัติก็จะยืดยาวมาก ดังนั้นท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมจึงได้ใช้วิจารณญาณหยิบยกแต่เฉพาะเรื่องอันสำคัญมาประพันธ์เรียงร้อยไว้ในหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ข้อนี้อาจจะไม่จุใจท่านที่สนใจจะอ่านสำนวนอันไพเราะของพระคุณเจ้า เพราะมีเรื่องอีกมากหลายที่มิได้ปรากฎในหนังสือเล่มนี้

          ผมเองได้อ่านหนังสือพุทธประวัติสำนวนต่างๆ มามาก แต่เมื่อได้มาอ่านสำนวนของท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมก็มีความซาบซึ้งในพระปัญญาบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ อย่างไรก็ตามมีหลายเรื่องซึ่งสุดวิสัยที่ปุถุชนธรรมดาจะเข้าใจได้ อาทิ เรื่องที่พระพุทธเจ้าเสด็จเสวยวิมุติสุขและทรงพิจารณาธรรมะต่างๆ ที่ทรงตรัสรู้เป็นเวลานาน 49 วันนั้น ในหนังสือพุทธประวัติบางเล่มหามีใครกล้ากล่าวถึงพระกรณียกิจอื่นๆ เช่น ได้ทรงเสวยพระกระยาหารบ้างหรือไม่ แต่ในหนังสือเล่มนี้ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ไม่ได้ทรงเสวยเลย เรื่องเช่นนี้อาจจะแปลกประหลาดสำหรับพวกเราทั่วไป แต่โดยพุทธวิสัยแล้วย่อมมิใช่ของแปลกแต่ประการใดเลย

          พุทธประวัติดังที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้นั้นย่อมเกี่ยวข้องกับเทวดาหลายองค์ ชาวพุทธหัวใหม่ย่อมไม่สนใจเรื่องนี้แลเห็นว่าเป็นเรื่องคร่ำครึ หรือมิฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เขียนเชิงภาษาธรรม หรือเขียนในเชิงปุคลาธิษฐาน ไม่ใช่เรื่องอันพึงใส่ใจ บางท่านยังเขียนขยายความต่อไปด้วยว่าพระพุทธเจ้านั้นได้ทรงศึกษาศาสนาพราหมณ์อันเต็มไปด้วยทวยเทพมาก่อน ดังนั้นเมื่อประกาศศาสนาจึงได้ลดศักดิ์ศรีของเทพเหล่านั้นให้มาเป็นพุทธสาวก เพื่อประโยชน์ในการปลูกฝังพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นในจิตใจของประชาชนที่เชื่อในเรื่องเทวดามาอย่างแน่นแฟ้น

          ผมมีความเห็นว่า คนที่เขียนขยายความเช่นนี้กำลังดูหมิ่นพระปัญญาของพระพุทธเจ้า เพราะโครงสร้างของโลก จักรวาล และสิ่งมีชีวิต ทางพุทธศาสนานั้นต่างรวมภพภูมิต่างๆ เอาไว้มากมายด้วยกัน หากปฏิเสธเทวดาก็เท่ากับปฏิเสธพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปด้วย

          เรื่องทางพุทธศาสนานั้นมีอีกมากที่จะต้องใช้เวลาศึกษาชั่วชีวิต ผมจึงอยากเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านรีบขวนขวายศึกษาพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ ก่อนที่ท่านจะตื่นขึ้นมาแล้วร้องเสียดายที่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ได้ทำความเข้าใจธรรมะอันประเสริฐ

          ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกท่าน

Back