Dr. Kanchit Malaivongs
Home
Duties
Courses
Lectures
Books
FAQ
Contact
IT Idea for Spiritization

คืนชีวิตสู่ความเรียบง่าย
เฮเลน เซนต์ เจมส์ เขียน    นุชจรีย์ ชลคุป แปล
สำนักพิมพ์ มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2543

          ยิ่งโลกเคลื่อนใกล้ยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้น ประเทศ ชุมชน สังคม ครอบครัว และชีวิตของคนทุกคนก็มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ทุกวันนี้เราถูกบังคับให้ต้องทำอะไรต่อมิอะไรมากขึ้นโดยไม่จำเป็น เราถูกลากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนจำนวนมากโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อชีวิต เมื่อปลายปีที่แล้วเราต้องรับฟังปัญหาการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ในชีวิตของเรานี้จะไม่มีโอกาสได้สัมผัสมือหรือได้เห็นตัวตนจริงๆ ของประธานาธิบดี บุช หรือ คู่แข่ง อัล กอร์ คนไทยจำนวนมากต้องถูกดึงเข้าไปพูดคุยเรื่องผลการตัดสินคดีของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ โดยการพูดของแต่ละคนก็ไม่มีใครทราบความจริง เพราะต่างก็ได้รายละเอียดมาจากหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนเท่านั้น

          ข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มมากจนทำให้เกิดสภาวะ ข่าวสารท่วมท้นชีวิตของเรานั้นไม่ได้มาในรูปแบบของข่าวจากสื่อมวลชนเท่านั้น หากยังมีแผ่นพับโฆษณาที่ส่งตรงมาให้เราถึงบ้าน มีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลข่าวสารทั้งที่จริงและเท็จ มีเอกสารประกอบการสัมมนาจำนวนมากที่เราอาจต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และมีหนังสือเกี่ยวกับซอฟต์แวร์อีกจำนวนมากที่เราต้องมีไว้ประกอบการใช้งาน ในขณะที่ซอฟต์แวร์สำเร็จแต่ละอย่างก็ได้รับการปรับปรุงให้ซับซ้อนมากขึ้น และแน่นอนที่สุด แพงมากขึ้น ไปด้วย

          ด้วยเหตุนี้เองชีวิตของเราจึงซับซ้อนมากขึ้น ต้องหาของใช้ที่ไม่จำเป็นมาใช้มากขึ้น มีทั้งเพจเจอร์ โทรศัพท์มือถือ ออร์แกไนเซอร์ คอมพิวเตอร์แบบพาล์ม คอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ นอกจากนั้นยังต้องเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตได้ด้วย นี่ยังไม่นับอุปกรณ์อำนวยความบันเทิงนานัปการ ทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวี เครื่องเล่นเทปเสียง เครื่องเล่นวีดิทัศน์ เครื่องเล่นซีดีภาพ เครื่องเล่นเลเซอร์ดิสก์ กล้องถ่ายภาพธรรมดา กล้องถ่ายภาพดิจิทัล กล้องถ่ายภาพวีดิทัศน์ ฯลฯ

          เมื่อต้นปี 2543 มีคำสั่งจากคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานทั้งหลายนำหลักการ 5 ส. มาใช้ในหน่วยงาน เพื่อให้ห้องทำงาน และ กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญ 5 ส. อย่างเช่น ดร. ปริทรรศน์ พันธุ์บรรยงก์ ผู้อำนวยการ ศูนย์โลหะและวัสดุแห่งชาติ เห็นห้องทำงานของผมแล้วก็ส่ายหน้าเพราะไม่รู้จะสะสางอย่างไร แน่นอนไม่มีอะไรที่สะสางไม่ได้ แต่การสะสางนั้นจะต้องใช้ตัดใจทิ้งสิ่งของที่ไม่ต้องการออกไปมาก ปัญหาก็คือความรู้สึกเสียดายของที่มีอยู่

          หนังสือ คืนชีวิตสู่ความเรียบง่าย เป็นหนังสือที่มีความเรียบง่ายจริงๆ เพราะประกอบด้วยบทย่อยๆ ถึง 98 บท แต่ละบทสั้นๆ แสดงเนื้อหาตรงประเด็นที่ต้องการบอก นั่นคือจะทำให้ชีวิตของเราเรียบง่ายได้อย่างไร

          ชีวิตที่เรียบง่ายในทัศนะของผู้เขียนนั้นประกอบด้วย การตัดสินใจเลือกที่จะใช้ชีวิตที่เรียบง่าย โยนภาระต่างๆ ที่ไม่จำเป็น หรือที่จะไม่นำไปสู่ชีวิตที่ดีงามออกทิ้ง กำจัดสิ่งของที่สะสมที่ไม่จำเป็นออกทิ้งหรือมอบให้ผู้อื่นไป ทำบ้านและที่ทำงานให้โปร่งเบา ไม่มีสิ่งของที่มากล้นเกินความต้องการ เลือกเครื่องแต่งกายที่เหมาะสม ฯลฯ

          หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วผมคิดว่านี่ก็คือ ชีวิตแบบชาวพุทธ เพราะพุทธศาสนาสอนให้เรามีชีวิตที่มีเป้าหมาย นั่นก็คือการมี ศีล สมาธิ และ ปัญญา สอนไม่ให้เราต้องเป็นทาสของบริโภคนิยม สอนไม่ให้เราสะสมสิ่งอื่นใดนอกจากบุญและกุศล

          ปัญหาคือ เราจะทำให้ชีวิตของเราเรียบง่ายได้อย่างไร เอเลน แนะนำว่าวิธีเริ่มต้นที่เหมาะสมที่สุด ก็คือตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตของเราเรียบง่าย จากนั้นก็ใช้เวลาใคร่ครวญการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ว่าจะทำให้งานในแต่ละวันนั้นยุ่งยากน้อยลงได้อย่างไร อีกนัยหนึ่งเราจะต้องแน่วแน่ จากนั้นก็เริ่มคิดว่าอะไรบ้างที่จะต้องทำเพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้น

          การตอบคำถามที่เอเลนแนะนำนั้น อาจนำไปสู่การปฏิวัติใหญ่ในชีวิตถึงขั้นที่จะต้องเปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนที่อยู่ นี่เป็นเรื่องที่คนไทยอาจจะทำไม่ได้โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างในปัจจุบัน ผมมีเพื่อนสูงอายุหลายคนที่ขายบ้านใหญ่โตแล้วนำเงินไปซื้อห้องในคอนโดมิเนียมอยู่เพราะไม่ต้องการเสียเวลาดูแลห้องหับในบ้าน แน่นอนชีวิตของเขาย่อมจะเรียบง่ายขึ้นกว่าเดิมมากทีเดียว

          การทำให้ชีวิตเรียบง่ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะในหลายกรณีเป็นการก้าวถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อจะเดินหน้าไปสองก้าว การขายของที่มีอยู่เกินความจำเป็นออกไปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเราที่ไม่มีระบบแบบ Garage Sales หรือ ไม่มีประสบการณ์กับการเปิดท้ายขายของ เอเลน เล่าถึงการกำจัดหนังสือที่มีมากเกินความต้องการออกไปจากชีวิต ด้วยการบริจาคให้ห้องสมุดสาธารณะ หากต้องการอ่านเมื่อใดก็สามารถจะไปยืมมาอ่านได้ ผมเองก็มีหนังสืออยู่มาก เคยบริจาคออกไปแล้วครั้งหนึ่งเป็นจำนวนหลายพันเล่ม แต่การไปยืมกลับมาอ่านนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

          การบริจาคสิ่งที่มีเกินพอออกไปนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การพยายามฝืนไม่ซื้อสิ่งของอื่นๆ มาเพิ่มสิ่งที่มีอยู่แล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เอเลนแนะนำว่าวิธีที่ได้ผลก็คืออย่าซื้อทันทีที่เห็น แต่ให้จดรายการที่คิดว่าอยากได้นั้นลงบนกระดาษ จากนั้นอีกหนึ่งเดือนให้ย้อนกลับมาพิจารณาว่าเราต้องการจะซื้อของเหล่านั้นไปเพื่ออะไร หากเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นจริงก็ให้ซื้อ วิธีนี้มีประโยชน์ดี น่าจะลองใช้ดูบ้าง

          การทำให้ชีวิตเรียบง่ายไม่ได้มีแต่การกำจัดของที่ไม่ต้องการออกไปเท่านั้น ยังมีเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาอยู่อีก นั่นก็คือเรื่องภายในของตนเอง และเรื่องชีวิตประจำวัน นับตั้งแต่การทำให้การใช้บัตรเครดิตเป็นเรื่องง่าย การทำเตียงนอนอย่างง่าย การจัดการกับโทรศัพท์ที่ไม่พึงปรารถนา การใช้อีเมล์แบบง่าย การทำอาหารแบบง่าย ฯ และที่สำคัญที่สุดการเลี้ยงดูบุตรหลานให้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและชื่นชอบกับชีวิตที่เรียบง่ายได้

          อันที่จริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ได้หากต้องการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย แต่หนังสือนี้ช่วยชี้ประเด็นต่างๆ นานาที่เราอาจจะหลงลืม หรือไม่ทันได้คิด

          ผมเชื่อว่าหากคนไทยในยุคเศรษฐกิจล่มสลาย เป็นหนี้เป็นสินชนิดที่ต้องชดใช้กันไปอีกหลายชั่วชีวิตจะพยายามใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามแนวคิดในหนังสือนี้ได้แล้ว บางทีเราอาจจะสามารถใช้หนี้สินต่างประเทศได้เร็วขึ้น และ ทำให้ประเทศของเรากลับเข้มแข็งขึ้นใหม่ในความเรียบง่ายได้

Back