หมอไทยไปนอก
ส. ฟลอริดา
สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พิมพ์ครั้งที่ 3 กันยายน
2543
ผมพลาดหนังสือเล่มนี้เมื่อครั้งที่พิมพ์ครั้งที่
1 และ 2 ไปได้อย่างไรไม่ทราบ ทั้งๆ ที่ผมก็เดินเข้าเดินออกร้านขายหนังสือดอกหญ้าออกบ่อย
มาคราวนี้ก็เลยได้อ่านอย่างสนุกสมกับที่หนังสือได้โปรยจั่วหัวไว้ว่า
เรื่องสนุก อ่านสบาย สไตล์หมออารมณ์ดี
ผมรู้จักหมอหลายคน
แต่ที่รู้จักอาชีพแพทย์ค่อนข้างมากก็จากการอ่านหนังสือที่หมอหลายคนเขียน
ผมคิดว่าหมอที่เป็นนักเขียนมีมากกว่านักวิชาการสาขาอื่น อาจจะเป็นเพราะหมอได้เห็นเรื่องแปลกๆ ที่เกี่ยวกับชาวบ้านมากกว่านักวิชาการอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นผมเองนั้นไม่มีหนทางได้เข้าไปรู้เรื่องส่วนตัวมากๆ ของใครต่อใครเหมือนกับเรื่องที่เล่าในเล่มนี้เป็นอันขาด เมื่อยี่สิบปีก่อนผมอ่านเรื่องที่
คุณหมอเสนอ อินทรสุขศรีเขียนเกี่ยวกับเรื่องเพื่อนของท่าน อ่านเรื่องศักดินารามา
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่นพ. พูนพิศ อมาตยกุลเขียนเกี่ยวกับวงการแพทย์ที่โรงพยาบาลรามา
อ่านแล้วก็พอจำได้ว่าใครเป็นใคร เพราะผมก็บังเอิญได้รู้จักนายแพทย์ที่นี่หลายคนเหมือนกัน
มาสมัยนี้ผมก็ยังได้มีโอกาสอ่านเรื่องที่แพทย์อีกหลายต่อหลายคนเขียนขึ้น
รวมทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับแพทย์เองด้วย
แม้ว่าผมจะรู้จักหมอหลายคน
แต่ก็ไม่ได้คุ้นเคยกับการหาหมอเพื่อรักษาโรคมากครั้งนัก ดังนั้นจึงไม่ค่อยจะได้ทราบว่าระหว่างการตรวจรักษานั้น
หมอแต่ละคนมีอารมณ์เป็นอย่างไร จะอารมณ์ขุ่นมัวเพราะคนไข้บ้างหรือเปล่า
จะหงุดหงิดบ้างหรือไม่ เคยอ่านเรื่องของคุณหมออมรา มลิลา ที่ท่านเล่าว่าเมื่อคนไข้ของท่านตายเป็นคนแรกนั้นท่านรู้สึกทำใจไม่ได้มากยิ่งกว่าญาติของผู้ตายเสียอีก
ผมไม่ทราบว่า
ส. ฟลอริดา คือนายแพทย์ท่านใด แต่หนังสือของท่านได้แสดงว่าท่านมีอารมณ์ดีสมกับที่ได้โปรยหัวไว้จริง
เรื่องที่นำมารวมพิมพ์ไว้ในนี้เป็นเรื่องที่ท่านเขียนไปลงตามนิตยสารต่างๆ
หลายเล่มด้วยกัน โดยเฉพาะก็ต่วยตูนซึ่งตรงกับบุคลิกของเรื่องของท่านอยู่แล้ว
ความแปลกของเรื่องที่ท่านเขียนก็คือคนไข้ซึ่งเป็นฝรั่งเพราะท่านประกอบอาชีพเปิดคลีนิกอยู่ในอเมริกา
ความจริงไม่ว่าฝรั่ง แขก จีน ไทย ต่างก็เป็นคนเหมือนกัน และเมื่อพูดกันถึงเรื่องการเจ็บป่วยแล้วก็มีความรู้สึกวิตกกังวลคล้ายกัน
กลัวตายเหมือนกัน โดยเฉพาะก็กลัวการเป็นโรคมะเร็งเหมือนๆ กัน
คุณหมอผู้เขียนช่วยชี้ให้เห็นธาตุแท้ของคนที่แสดงออกในยามเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี
หรือในเรื่องที่ท่านเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เช่นเรือบตของท่านเสียไปติดค้างอยู่ริมฝั่งทะเลสาบไกลผู้คนในยามที่อากาศกำลังหนาวจัดนั้น
ท่านก็เล่าได้ดีเช่นเดียวกัน
เรื่องแปลกๆ
ที่ท่านนำมาเขียนนั้นเหลือเชื่อจริงๆ เช่น เรื่องแหม่มมีลูกแฝด แต่คนหนึ่งมีผิวขาว
และอีกคนมีผิวดำ เพราะสาวคนนี้ดันไปหลับนอนกับนักบาสเก็ตบอลล์สามคนในคืนเดียวกัน
ผลก็คือมีสเปิร์มสองตัวจากนักบาสสองคนเจาะไข่เข้าไปได้สองฟอง สงสัยจะเป็นรายเดียวในโลก
แต่จะได้ลงในกินเนสส์บุ๊คด้วยหรือเปล่านั้นท่านไม่ได้เล่า
เรื่องที่น่าประทับใจมากก็คือเรื่องสุนัขชื่อโทน
ที่ท่านเก็บตกมาเลี้ยงเพราะเจ้าของหมามาตายที่โรงพยาบาลในแบบไร้ญาติขาดมิตร
ท่านจึงต้องยอมนำกลับบ้านมาเลี้ยงดูจนเป็นเรื่องเป็นราวมากมาย นับตั้งแต่การที่มันหมั่นเห่าจนเป็นที่รำคาญแก่เพื่อนบ้าน
แต่ในที่สุดก็ทำให้เพื่อนบ้านหายรำคาญได้เพราะมันมีโอกาสช่วยให้เพื่อนบ้านรอดตายเพราะเสียงเห่าของมัน
จากนั้นก็มีเรื่องที่ท่านย้ายบ้านแล้วเจ้าโทนนี่หายตัวไประหว่างการเดินทาง
แต่แล้วเจ้าโทนก็กลับไปปรากฎที่บ้านของเพื่อนบ้านคนเดิมจนได้ และอีกครั้งก็คือเมื่อเจ้าโทนกัดท่านอย่างไม่มีสาเหตุจนเป็นแผลเหวอะระหว่างที่ท่านกำลังจะเปิดประตูขึ้นรถเพื่อไปขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทย
ส่งผลให้ท่านต้องเลื่อนเที่ยวบินเพื่อไปทำแผลและคิดจะส่งเจ้าโทนไปฉีดยาให้ตาย
แต่ต่อมาอีกไม่นานระหว่างท่านรอเที่ยวบินใหม่ ท่านก็ได้ทราบข่าวว่าเครื่องบินสายการบินเกาหลี
ที่ท่านพลาดไปนั้นไปถูกเครื่องบินของรัสเซียยิงตก ผู้โดยสารตายทั้งลำ
ทำให้ท่านต้องกอดมันที่ช่วยให้รอดตายมาได้
ไม่มีใครทราบว่าเจ้าโทนคิดอย่างไรในขณะที่กัดคุณหมอ
มันรู้ใช่หรือไม่ว่าเครื่องบินที่เจ้านายของมันจะไปขึ้นนั้นเป็นเครื่องบินหายนะ
หรือมันกัดหมอเพราะเกิดมันเขี้ยวขึ้นมา หากเป็นกรณีแรกก็มีคำถามถัดมาว่าทำไมสุนัขจึงมีประสาทที่หกได้
และเป็นเช่นนี้เฉพาะบางตัวหรือเป็นหมดทุกตัว
ผมเคยเลี้ยงสุนัขอยู่หลายตัว
ทุกตัวไม่มีการศึกษา เพราะผมไม่เคยส่งไปเข้าโรงเรียน และผมก็ไม่สามารถเป็นครูสอนหมาที่ดีได้ด้วย
ผมเคยถูกหมาที่เลี้ยงกัดหลายหน แต่ไม่เห็นว่าจะเป็นเพราะมันมีประสาทที่หกอย่างไรเลย
ทุกตัวสู้เจ้าโทนของคุณหมอ ส. ฟลอริดา ไม่ได้ คิดดูแล้วเจ้าโทนนี่คงจะต้อเป็นสุนัขพิเศษจริงๆ
ลองหามาอ่านดูนะครับ
อ่านแล้วเพลินดี ไม่มีพิษมีภัย
|