Benchmarking
หลักการวิเคราะห์และเปรียบเทียบความสามารถอย่างเป็นระบบ
พอล เจมส์ โรแบร์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2543
การรู้เขารู้เรา
นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตในปัจจุบัน
การทำธุรกิจนั้นเป็นของแน่ที่เราจะต้องรู้จักว่าเรามีดีอะไร เราเก่งอะไร
และ คนอื่นเขามีดีและเก่งอย่างไร เพื่อจะได้เปรียบเทียบว่าเราจะสู้กับเขาได้ไหม
หากเราเก่งอย่างหนึ่งแต่กลับพยายามไปแข่งขันในอีกด้านหนึ่งกับคนอื่นที่เขาเก่งกว่าเรามาก
เราก็อาจจะมีปัญหาได้ ผมเชื่อว่าการที่เรามีปัญหาเศรษฐกิจหนักหนาสาหัสถึงปานนี้ก็เพราะว่าเราไม่ได้พยายามรู้เขารู้เรานี่เอง
การรู้เขารู้เรา
ทำได้หลายวิธี อาทิ การว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจตลาด หรือสถานการณ์การขายสินค้าของตัวเราและคู่แข่ง
วิธีนี้ช่วยให้รู้แต่เฉพาะส่วนที่เป็นผลลัพธ์ภายนอกของการทำธุรกิจเท่านั้น
เราอาจจะรู้ว่าคู่แข่งขายสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน ตัวเราขายได้แค่ไหน
แต่ไม่ได้ล่วงรู้ไปถึงว่าค่าใช้จ่ายในการขายของคู่แข่งเป็นอย่างไร
ใช้คนกี่คน และทำงานกันอย่างไร อีกวิธีหนึ่งคือการทำจารกรรมทางอุตสาหกรรม
คือหาคนไปล้วงความลับหาข้อมูลจากคู่แข่งมาให้เราทราบ วิธีนี้ก็ทำกันทั่วไปแต่ไม่ค่อยจะถูกต้องนักเพราะอาจจะไปเข้าข่ายการละเมิดความลับทางการค้าได้
อีกวิธีหนึ่งก็คือการทำ Benchmark ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบการดำเนินการระหว่างบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ
หนังสือเกี่ยวกับ
benchmarking มีอยู่ไม่มากนัก ที่เป็นภาษาไทยยิ่งมีน้อย เล่มหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องนี้ก็คือ
วัดรอยเท้าช้าง แต่ก็เป็นเพียงบทความสั้นๆ เท่านั้น หากต้องการอ่านเล่มที่มีเนื้อหาครบถ้วนก็ต้องเล่มที่แต่งโดยมร.
โรแบร์ เล่มนี้
คุณพอล
โจนส์ โรแบร์ มีประสบการณ์การทำงานมาตั้งแต่ปี 1969 และทำงานกับบริษัทมาหลายแห่ง
เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท โรแบร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ดำเนินธุรกิจด้านที่ปรึกษา และฝึกอบรม ด้านระบบคุณภาพมาตรฐานอยู่ในประเทศไทย
ในบทนำของหนังสือนี้
มร. โรแบร์แนะนำว่า "เบ็นชมาร์คเป็นเครื่องมือคุณภาพที่ช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาผลการปฏิบัติงาน
โดยการประเมินตนเองและคู่แข่งทางธุรกิจ เบ็นชมาร์คช่วยองค์กรในการวัดสินค้า
บริการ และ แนวปฏิบัติ โดยเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นและองค์กรชั้นนำทั่วโลก
ความรู้ในการทำเบ็นชมาร์คนี้ จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างและดำเนินการตามแผน
เพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า และกลายเป็นผู้นำที่มีการปฏิบัติงานที่ดีที่สุด"
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนให้อ่านเพื่อความสนุก
เพราะที่จริงอ่านไม่สนุกเลย ผมต้องใช้เวลานานมากในการอ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบเนื่องจากแต่ละหน้าเต็มไปด้วยเนื้อหาที่แน่นมาก
เปรียบเสมือนกับการนำเอาหัวข้อในแผ่นใสมาเรียงต่อกันมากกว่า และที่จริงก็คงเป็นเช่นนั้น
เพราะพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงน่าจะเป็นเอกสารประกอบการสอนด้วย
มร.
โรแบร์ เริ่มต้นด้วยการอธิบายความหมายของเบ็นชมาร์ก แล้วตามด้วยประเภทของการทำเบ็นชมาร์คซึ่งระบุว่ามีอยู่สี่อย่างคือ
การเปรียบเทียบการทำงานภายในขององค์กร (แบบ Internal) การเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
(แบบ Competitive) การเปรียบเทียบเฉพาะกิจกรรมที่มีลักษณะเหมือนกัน
(แบบ Functional) และการเปรียบเทียบกิจกรรมที่มีลักษณะต่างกัน (แบบ
Generic)
ต่อจากนั้น
มร. โรแบร์ ได้อธิบายแบบจำลองการทำเบ็นชมาร์กของบริษัทโรแบร์ ที่ได้คิดขึ้นตามรูปแบบวัฏจักร
Plan Do Check Act รวมเป็น 10 ขั้นตอน ดังนี้
- เลือกกระบวนการที่ต้องการทำเบ็นชมาร์ก
- เลือกและจัดเตรียมทีมงาน
- กำหนดบริษัทหรือหน่วยงานที่จะต้องการจะประเมินเปรียบเทียบ
- รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทหรือหน่วยงาน
- วิเคราะห์ตรวจสอบว่าบริษัทหรือหน่วยงานมีความแตกต่างระหว่างจุดแข็งอย่างไรบ้าง
- ศึกษาระบบของบริษัทหรือหน่วยงานในขอบเขตที่กว้างมากขึ้น
- สื่อสารให้ทุกระดับทราบถึงสิ่งที่ค้นพบในการทำเบ็นชมาร์ก
- กำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติงาน
- สร้างแผนการดำเนินงาน
ดำเนินงานตามวิธีปฏิบัติ และ ควบคุมความก้าวหน้า
- ดำเนินการประเมินเปรียบเทียบซ้ำ
จุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การอธิบายแนวทางการดำเนินงานทั้ง10
ขั้นตอนนี้อย่างละเอียด แต่ก็เป็นการอธิบายเป็นหัวข้อๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว
ข้อที่น่าเสียดายก็คือการเขียนหัวข้อทั้งสิบนี้ไม่ค่อยจะคงเส้นคงวาเท่าใดนัก
ทำให้ต้องย้อนกลับมาอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์หลายตลบ นอกจากนั้นหัวข้อย่อยในแต่ละขั้นตอนทั้งสิบขั้นนั้นก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้าง
อ่านแล้วก็ไม่ทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และทำอย่างไร มร. โรแบร์อาจจะแย้งว่าหนังสือเล่มนี้เพียงแต่บอกว่าเบ็นช์มาร์กทำอะไรเท่านั้น
แต่สำหรับผมแล้วเห็นว่ายังไม่พอ เพราะนักบริหารไทยส่วนมากไม่เข้าใจเรื่องนี้
จำเป็นจะต้องมีแนวทางการทำเบ็นชมาร์ก และ ตัวอย่างประกอบให้เห็นชัดด้วย
กล่าวโดยทั่วไปวิธีการทำเบ็นชมาร์กตามที่
มร. โรแบร์ นำเสนอในหนังสือนี้ก็เป็นแนวคิดในทางทฤษฎี ในขณะที่แทบจะไม่ได้หยิบยกหัวข้อสำคัญทางปฏิบัติมากล่าวเลย
เช่น การประสานงานกับบริษัทที่จะร่วมกันทำเบ็นชมาร์ก แนวทางการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำเบ็นช์มาร์ก
การตกลงเปิดเผยข้อมูลร่วมกัน ฯลฯ หากมร.โรแบร์จะปรับปรุงหนังสือเล่มนี้
โดยปรับปรุงด้วยการใส่พลความเข้าไปให้อ่านง่ายขึ้น ใส่รายละเอียดของกรณีศึกษาที่ไม่เป็นความลับมากนัก
ก็จะทำให้เป็นหนังสือที่มีคุณประโยชน์ต่อผู้บริหารธุรกิจระดับต่างๆ
มากขึ้น
|