หยาดเพชร
หยาดธรรม ภูมิปัญญาเพื่อการศึกษาไทย
พระธรรมปิฎก
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
ธันวาคม 2541
ในบรรดาพระภิกษุที่ทรงศีลเป็นที่เคารพนับถืออย่างสนิทใจในปัจจุบันนี้
เห็นทีจะไม่มีใครเกิน ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเป็นแน่ ผมเองได้เคยอ่านผลงานพุทธธรรมฉบับย่อมาก่อนที่ท่านจะขยายความต่อเป็นหนังสือระดับ
Masterpiece ทางพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดในรอบหลายร้อยปีของไทย เมื่ออ่านแล้วก็ได้ตระหนักถึงความคิดอันลุ่มลึกอย่างน่าอัศจรรย์ของพระคุณเจ้า
และแน่นอนที่สุดนั่นเป็นหนังสือที่ไม่อาจอ่านและย่อยได้ภายในชั่วชีวิตของเราๆ
ท่านๆ
ในโอกาสที่พระคุณเจ้ามีอายุครบ
60 ปี ในวันที่ 12 มกราคม 2542 ทางกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้รวบรวมสาระนิพนธ์ทางด้านการศึกษาของท่านมาจัดพิมพ์ขึ้น
โดยรวบรวมเฉพาะส่วนอันเป็นสาระสำคัญที่ท่านได้นิพนธ์ไว้ในบทนิพนธ์ต่างๆ
จำนวนมากมาไว้ที่เดียวกัน การทำเช่นนี้นับเป็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่เพราะทำให้เราได้ทราบความคิดเห็นอันเอนกอนันต์ของท่าน
อีกทั้งยังได้อรรถรสจากสาระนิพนธ์ที่ท่านได้กลั่นกรองไว้อย่างดียิ่ง
ผมไม่มีปัญญาพอที่จะกลั่นกรองเนื้อหาสาระทางด้านการศึกษาที่พระคุณเจ้าได้นิพนธ์ไว้
แต่จะขอหยิบยกข้อความบางตอนที่สำคัญมาให้พิจารณาใคร่ครวญ
ในเรื่อง
การศึกษากับการดำเนินชีวิต ท่านกล่าวว่า
"การฝึกหัดพัฒนาคนและพัฒนาตนให้เดินอยู่และเดินไปในวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามนั้น
เรียกว่า สิกขา หรือ การศึกษา
มี ๓ ด้าน คือ
(๑)
ฝึกฝนพัฒนาในด้านการแสดงออกทางกายและวาจา (อธิศีล)
(๒)
ฝึกฝนพัฒนาในด้านคุณภาพ สมรรถภาพ และ คุณภาพจิต (อธิจิต)
(๓)
ฝึกฝนพัฒนาในด้านปัญญา (อธิปัญญา)
จึงเรียกว่า
ไตรสิกขา หรือการศึกษา ๓ ด้าน"
ในด้านความหมายของการศึกษานั้น
ท่านได้ชี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า "ที่จริง คำว่า ศึกษา
เป็นการปฏิบัติ ไม่ใช่เล่าเรียน เล่าเรียนเป็นเบื้องต้นของการศึกษา
ถ้าพูดให้เต็มก็คือ เรียนให้รู้เข้าใจ และทำให้ได้ ให้เป็น หรือ เรียนรู้และฝึกทำให้ได้ผล
จึงจะเรียกว่าการศึกษา ไม่ใช่เรียนแต่เนื้อหาวิชาอย่างเดียว"
ผมคิดว่าบรรดานักศึกษาปริญญาโทด้านไอทีทั้งหลายควรจะสำเหนียกในเรื่องนี้ให้มาก
เพราะนักศึกษาหลายคนที่ผมพบมานั้นไม่ได้สนใจในเรื่องนี้เลย กลับคิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรจึงจะได้ปริญญาบัตรมาง่ายๆ
เท่านั้น แม้แต่ความรู้เองก็ยังไม่สนใจที่จะเรียนรู้ด้วยซ้ำ
ในเรื่องจุดมุ่งหมายของการศึกษา
พระคุณเจ้าได้นิพนธ์ไว้ว่า " การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ชีวิตเข้าถึงอิสรภาพ
คือทำให้ชีวิตหลุดพ้นจาก อำนาจครอบงำ
ของปัจจัยแวดล้อมภายนอกให้มากที่สุดและมีความเป็นใหญ่ในตัวในการที่จะกำหนดความเป็นอยู่ของตนให้ได้มากที่สุด"
และอีกตอนหนึ่ง
"ถ้ามีใครถามว่าจะศึกษาไปเพื่ออะไร ก็เห็นจะตอบได้ง่ายๆ ว่า ศึกษาเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต
ชีวิตมีจุดมุ่งหมายอย่างไร การศึกษาก็เพื่อให้ชีวิตถึงจุดหมายอย่างนั้น
หมายความว่า จุดหมายของการศึกษาเป็นสิ่งเดียวกันกับจุดหมายของชีวิต"
ในด้านปัญหาพื้นฐานของการศึกษานั้น
ท่านได้นิพนธ์ไว้ว่า "เมื่อพูดถึงปัญหาการศึกษานั้น จะต้องมองไปที่ปัญหาของสังคมทั้งหมด
หรือปัญหาทั้งโลก ฉะนั้น จะต้องแยกให้ถูกต้อง เราจะนึกถึงปัญหาการศึกษาวนอยู่ในวงการของการศึกษาเท่านั้นไม่ได้
การที่จะใส่ใจ
เอาใจใส่ต่อปัญหาการศึกษาก็คือ การมองปัญหาของสังคมทั้งหมดหรือทั้งโลก
เพราะว่าปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เราพูดได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากคน
แล้วการศึกษาก็มีหน้าที่ที่จะสร้างคนหรือพัฒนาคน ทำให้เป็นคนดีมีคุณภาพ
ถ้าคนยังมีปัญหามาก ก็แสดงว่าการศึกษายังทำหน้าที่ได้ไม่สำเร็จผลด้วยดี"
ปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลง
โดยเฉพาะนักคอมพิวเตอร์ยิ่งต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในเรื่องนี้พระคุณเจ้ากล่าวว่า
"การศึกษามีความมุ่งหมายประการหนึ่ง คือไม่ให้คนเป็นทาสของความเปลี่ยนแปลง
แต่ให้เป็นผู้สามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้ คือให้เป็นอิสระอยู่เหนือการถูกกระทบกระแทกชักพาโดยการเปลี่ยนแปลง
และกลับนำความรู้เท่าทันต่อเหตุปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงนั้นมาชี้นำจัดสรรความเปลี่ยนแปลง
ให้เป็นไปในทางที่เป็นผลดีแก่ตนได้"
เนื้อหาแต่ละหน้าในเล่มนี้เต็มไปด้วยเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างจริงจัง
ดังนั้นทางที่ดีที่สุดสำหรับพวกเราก็คือหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านไปทีละตอนอย่างช้าๆ
และพินิจพิเคราะห์ สำหรับในที่นี้ผมขอจบลงด้วย "..ระยะนี้ชอบพูดกันว่า
จะต้องรีเอนยิเนียริง หรือ รื้อปรับระบบและกระบวนการทำงานกันใหม่ แต่แค่นั้นไม่พอ
เราบอกว่าจะต้องพัฒนาคนเพื่อเป็นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ถ้าจะให้การพัฒนายั่งยืนได้จริง
สิ่งที่จะต้องรีเอนยิเนียริง ก็คือต้องรื้อปรับระบบและกระบวนการพัฒนาคนนั่นเองกันใหม่ทั้งหมด"
|