ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิต
ในศตวรรษที่ 21
พิศวาส ปทุมุต์ตรังษี
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2543
ในช่วงนี้เราได้ยินคำว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตค่อนข้างบ่อย
การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning ที่บางคนเรียกย่อๆ ว่า
LLL นั้นเป็นแนวคิดที่สำคัญสำหรับยุคสมัยก็จริงอยู่ แต่ผมค่อนข้างแปลกใจที่เราพูดกันช้าเกินไป
ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนนั้นคงจะเคยถามปัญหาสำคัญกับตัวเองมาแล้วหลายหนว่า
เราเกิดมาเพื่ออะไร หรืออะไรคือจุดหมายของชีวิต แน่นอนคำตอบของแต่ละคนคงจะแตกต่างกันออกไป
บางคนอาจจะเห็นว่าชีวิตของเขานั้นเกิดมาเพื่อจะกอบโกยให้ได้เงินทองมากที่สุด
บางคนอาจจะเห็นว่าชีวิตของเขาเกิดมาเพื่อจะได้ท่องเที่ยวชมโลก แต่สำหรับชาวพุทธหลายคนที่มีความเข้าใจถูกต้องนั้น
เราเกิดมาก็เพื่อเรียนรู้และปฏิบัติให้ถึงสภาวะสูงสุดคือพระนิพพาน
ด้วยเหตุนี้เองเราจึงเห็นตัวอย่างท่านอาจารย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้น
หลวงปู่แหวน ท่านอาจารย์พุทธทาส ที่ท่านได้เรียนรู้และปฏิบัติธรรมจนถึงวาระสุดท้าย
เพราะฉะนั้นชาวพุทธทุกคนควรจะต้องขวนขวายเรียนรู้ตลอดชีวิต
โดยเฉพาะการเรียนเพื่อให้เข้าใจปรมัตถธรรม หรือ บรมธรรมที่จะทำให้เราเข้าถึงสภาพความสุขอันเป็นนิรันดร์ได้
หนังสือที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้มอบหมายให้คุณพิศวาสแปล
และได้จัดพิมพ์ขึ้นเล่มนี้ อ่านค่อนข้างยาก เพราะรูปแบบการเรียบเรียงเนื้อความค่อนข้างสับสนอันเป็นธรรมดาของผู้เขียนชาวอังกฤษ
ความสับสนของเนื้อหาทำให้น่าเบื่อแม้ว่าผู้แปลจะมีความสามารถในการแปลดีพอควร
โดยเนื้อหาแล้ว
หนังสือเล่มนี้นำเสนอ ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิต 10 ประการ คือ
- การวางกรอบงานในเชิงยุทธศาสตร์
โดยภาครัฐจะต้องแสวงหาการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้
ผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ได้แก่ ข้าราชการ
ลูกจ้าง สหภาพ องค์กรอาสาสมัคร ฯลฯ นอกจากนั้นจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ในด้านนี้ให้ชัดเจน
- การปฏิวัติเจตคติ
คือต้องทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนเข้าใจความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- การขยายขอบเขตของการเข้ามามีส่วนร่วมและผลสัมฤทธิ์ให้กว้างไกล
หมายถึงการเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง
- ความสำคัญของบ้าน
ชุมชน และสถานประกอบการ คือให้สถานที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการพัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
วิธีการคือให้ผู้บริหารระดับท้องถิ่น
นักการศึกษา และ องค์กรต่างๆ ผลักดัน
- การปรับระบบระเบียบให้เรียบง่ายและการบูรณาการ
คือ ให้มีหน่วยงานที่รวบรวมระเบียนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถตรวจสอบความก้าวหน้าของตนเองได้
- การประสานแผน
หุ้นส่วน และความร่วมแรงร่วมใจ คือ
ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นแกนกลางในการร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เพื่อจัดฝึกอบรม และวางแผนการจัดการการเรียนรู้ในท้องถิ่นเอง
- การเข้าถึงสารสนเทศ
คำปรึกษา และการแนะแนว คือการให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลคา
บริการนี้ให้จัดขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ
- ความถูกต้องของข้อมูล
เป้าหมาย และมาตรฐาน ต้องเตรียมการจัดหาข้อมูลเพื่อให้เห็นความต้องการด้านการเรียนรู้ได้ชัดเจน
ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และ ระดับท้องถิ่น
อีกทั้งควรมีการทำประชาพิจารณ์เรื่องเป้าหมายทางการศึกษาและฝึกอบรมแห่งชาติด้วย
- การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ด้านการสื่อสาร
และ การถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลควรหาแนวทางที่เหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เช่น การมีช่องสัญญาณเพื่อการเรียนรู้โดยเฉพาะ
- การจัดสรรเงินทุนกับการใช้จ่าย
คือ การกำหนดมาตรการด้านงบประมาณให้เหมาะสมแก่การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
อาจมีการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อดำเนินการด้านนี้
ผมเห็นว่าหัวข้อยุทธศาสตร์ที่นำมาย่อไว้ข้างต้นนี้ก็คือสาระของหนังสือเล่มนี้
รายละเอียดอื่นๆ ที่มีอยู่ในหนังสือนั้นอ่านค่อนข้างยากและไม่มีอะไรใหม่
เมื่อพิจารณาหัวข้อยุทธศาสตร์ข้างต้นนี้อย่างละเอียดแล้ว
จะพบว่ามีประเด็นสำคัญอยู่ 5 ด้านดังนี้ เจตคติหรือความปรารถนาที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต
การสนับสนุนในระดับจุลภาคคือครอบครัว สังคม นายจ้าง การสนับสนุนในระดับมหภาค
คือ ท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา และรัฐ การจัดหาเงินทุนในการดำเนินการ
และ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ในบรรดาประเด็นเหล่านี้ ผมคิดว่าด่านแรกที่จะต้องช่วยกันทะลายให้ได้ก็คือ
เจตคติ ผมเชื่อของผมว่า ผู้บริหารไทยในอดีตโดยเฉพาะนักการเมืองที่ดูแลกระทรวงศึกษานั้นได้ทำลายระบบการศึกษาของไทยลงไปอย่างสิ้นเชิง
โดยได้เริ่มทำลายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ผลก็คือสถาบันผลิตครูของเราไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร
นักศึกษาของเราอ่อนด้อยทางวิชาการและคุณธรรม และส่งผลให้เด็กนักเรียนรุ่นหลังที่สอนโดยครูอาจารย์ที่อ่อนด้อยเหล่านั้นไม่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้
หากกระทรวงศึกษาธิการของเราสามารถเป็นอิสระจากอิทธิพลของนักการเมืองได้
หากกระทรวงฯ สามารถกำหนดแนวทางและมาตรฐานการศึกษาของชาติ ได้โดยไม่ต้องคอยปรับเปลี่ยนตามแนวคิดของ
รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่ไม่มีความรู้เรื่องการศึกษาได้แล้ว เชื่อว่า
ระบบการศึกษาของไทยก็จะดีขึ้น เราสามารถสร้างเจตคติในการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ดีขึ้น
และประเทศไทยก็จะก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น แต่นั่นแหละนักการเมืองไทยยุคปัจจุบัน
ย่อมอยากให้ประชาชนคนไทยโง่เขลา เพื่อจะได้จูงจมูกทุกคนให้ยอมสยบได้ง่ายขึ้น
จะได้ฉ้อฉลได้สะดวกขึ้น และลงท้ายจะได้พาประเทศลงหายนะได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นพวกเราจะต้องจับตาดูรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ คนใหม่ให้ดี
|