Dr. Kanchit Malaivongs
Home
Duties
Courses
Lectures
Books
FAQ
Contact
IT Idea for Spiritization

การปฏิรูประบบราชการ: ยุทธศาสตร์สำคัญของการเปลี่ยนแปลง
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ
สำนักงาน ก.พ. 2541

          เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าปัญหาสำคัญของประเทศของเราอย่างหนึ่งก็คือ ความอุ้ยอ้ายล่าช้าของระบบราชการ พวกเรามีประสบการณ์บ่อยครั้งเวลาติดต่อกับหน่วยงานราชการว่า ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเชื่องช้ามาก ยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินทองด้วยแล้ว กว่าหน่วยงานราชการจะยอมจ่าย หรือชำระเงินที่เป็นหนี้อยู่นั้น ต้องใช้เวลานานมาก จนกระทั่งบริษัทที่เป็นเจ้าหนี้เกือบจะ....... ที่น่าแปลกใจก็คือความล่าช้านี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่หน่วยงานราชการแต่ละแห่งมีข้าราชการทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก

          เมื่อทำงานเชื่องช้าทั้งๆ ที่มีคนจำนวนมาก จึงเป็นธรรมดาที่หน่วยงานราชการจะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะต้องกันงบประมาณจำนวนมากเอาไว้เป็นเงินเดือน จนกระทั่งไม่เหลือไว้สำหรับการพัฒนาหน่วยงานให้ก้าวทันยุคสมัย สุดท้ายหน่วยงานราชการก็ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่าป่วยหนักจนต้องเยียวยาแก้ไขอย่างรีบด่วน และนั่นคือที่มาของการปฏิรูประบบราชการ

          คำว่าปฏิรูปนั้นเดิมทีหมายถึง reform คือการปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะสม แต่ปฏิรูปในยุคนี้มีความหมายถึง reengineering ซึ่งคือการปรับเปลี่ยนการทำงานอย่างขนานใหญ่ (radical change) ดังที่ ดร. เฉลิม ศรีผดุง รองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้กล่าวไว้ในบทความสุดท้ายที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ว่า การปฏิรูปก็คือการเปลี่ยนแปลง และต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ดร.เฉลิมเห็นว่า "เราต้องหยุดคิดถึงเรื่องอดีต คิดถึงอนาคตซึ่งไม่ใช่เส้นทางที่ต่อเนื่องจากอดีต หรืออาจไม่มีเส้นทางเลย ที่แน่ๆ ก็คือไม่ใช่เรื่องต่อเนื่องจากอดีต"

          ผมเองเห็นด้วยว่าอนาคตนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ดังที่เราได้เห็นกันในช่วงยี่สิบปีมานี้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เราคาดไม่ถึงเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าความสามารถที่จะตามหาบุคคลสักคนหนึ่ง หรือการพยายามติดต่อสื่อสารกับคนผู้นั้นไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใด อาจสามารถทำได้ง่ายดายโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศรูปแบบต่างๆ แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยไปหมดทุกเรื่องว่าอนาคตจะไม่ต่อเนื่องกับอดีต ผู้ที่นำเสนอเรื่องนี้เช่น ไมเคิล แฮมเมอร์ หรือ ปีเตอร์ เซงเก อาจจะพูดถูกเฉพาะในสังคมอเมริกันซึ่งประชาชนโดยรวมมีระดับการศึกษาค่อนข้างดี และมีรากฐานความคิดทางการเมือง แบบประชาธิปไตยมาเป็นเวลากว่าสองร้อยปี แต่สำหรับเมืองไทยซึ่งสังคมยังมีลักษณะแบบเจ้าขุนมูลนาย เชื่อถือไสยศาสตร์ และ โชคลาง การพยายามปฏิรูปหรือกระโดดไปสู่ความเจริญโดยไม่คำนึงถึงอดีตย่อมเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือเรื่องของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในไทยเกือบเจ็ดสิบปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนตระหนักถึงความหมายของประชาธิปไตยได้ชัดเจน ในทางหนึ่งประชาชนยังคงมีความรู้สึกแบบสุดโต่งว่าต้องพินอบพิเทาข้าราชการและนักการเมืองที่เข้ามาปกครอง และต้องยินยอมทำตามคำบัญชาของคนที่เป็น "เจ้าขุนมูลนาย" โดยไม่ปริปาก แต่อีกทางหนึ่งประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ก็ถูกปลุกปั่นให้มีความรู้สึกแบบสุดโต่งอีกว่า การดำเนินงานทั้งหมดของหน่วยงานภาครัฐเป็นการข่มเหงราษฎร และ ประชาชนจะต้องรวมกันต่อต้านโดยอาศัยความรุนแรง

          ผมเห็นว่า ปัญหาของเราในขณะนี้ก็คือการขาดความรู้ทางสังคมไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการระดับกลาง ที่จะต้องเป็นผู้ให้บริการประชาชน นี่รวมทั้งข้าราชการผู้ทำงานในท้องที่และที่อยู่ในส่วนกลาง เมื่อขาดความรู้ที่ถูกต้อง การสั่งการให้ดำเนินการเรื่องต่างๆ จึงไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง และทำให้เกิดการฉ้อฉลขึ้นได้ทุกระดับ

          ด้วยเหตุนี้การปฏิรูประบบราชการให้ได้ผลจึงต้องเข้าใจประวัติความเป็นมาของการปฏิบัติราชการด้านต่างๆ อย่างชัดเจนก่อน ต้องเข้าใจว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีการบัญญัติไว้นั้นเป็นไปเพื่ออะไร และจะลดขั้นตอนลงได้อย่างไร ผมไม่เห็นด้วยกับการสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่ของเก่าโดยไม่ได้ทราบว่าของเก่ามีไว้เพื่ออะไร ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้เสนอให้มี พระราชบัญญัติองค์การมหาชนเมื่อ พ.ศ. 2541 แต่นี่ก็เป็นการแก้ปัญหาเก่าโดยการสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นอีกหลายเรื่อง นี่ยังไม่รวมถึงการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้สร้างปัญหาอีกมหาศาล

          การปฏิรูประบบราชการเป็นเรื่องใหญ่ที่หน่วยงานต่างๆ จะต้องทำความเข้าใจและเห็นด้วยในนโยบายและทิศทาง เมื่อสมัยที่คุณชวน หลีกภัยได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 นั้น ได้กำหนดสาระสำคัญของการปฏิรูประบบราชการไว้ดังนี้

  • ปรับปรุงโครงสร้างและระบบงานของกระบวนการยุติธรรม
  • ปรับปรุงระบบงานภาคราชการและรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม
  • ปรับปรุงคุณภาพบุคลากรภาครัฐโดยเน้นผลงาน ความซื่อสัตย์สุจริต และ จิตสำนึกในการให้บริการประชาชน
  • เร่งรัดการจัดตั้งกระบวนการตรวจสอบในกรณีการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในวงราชการและวงการเมือง
  • เร่งรัดการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสู่ท้องถิ่น
  • ลดบทบาทภาครัฐและสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการ
  • เร่งรัดการปรับปรุง หรือเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม
          คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ เลขาธิการ ก.พ. ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการปฏิรูประบบราชการว่าเป็นไปเพื่อ
  • ให้ราชการเป็นกลไกและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล
  • เสริมสร้างสมรรถนะของประเทศในการแข่งขันระดับเวทีโลก
  • สร้างความโปร่งใส ความตรงไปตรงมา ในการปฏิบัติราชการ
  • ให้ราชการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความสามารถ
  • สร้างวัฒนธรรมและคุณค่าใหม่ในวงราชการ
          คุณหญิงทิพาวดีเห็นว่า การปฎิรูปจะทำได้โดยการ
  • ปรับปรุงบทบาทของภาครัฐโดยเน้นเฉพาะเรื่องที่จำเป็นและทำได้ดีเท่านั้น
  • ปรับปรุงระบบบริหารโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์
  • ปรับปรุงโครงสร้างให้ชัดเจน เช่นแยกหน่วยงานปฏิบัติออกจากหน่วยงานกำหนดนโยบาย
  • ปรับปรุงกลไกและกฎเกณฑ์ เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้บริหารมีอิสระในการบริหาร และ มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส
  • ปรับปรุงระบบข้าราชการ เพื่อให้ได้ข้าราชการที่มีคุณภาพและคุณธรรม
  • ปรับปรุงวัฒนธรรมและค่านิยมของระบบราชการ โดยการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นความสามารถและผลงาน สุจริต มีความคิดสร้างสรรค์ และ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง เพื่อสิ่งใหม่ที่ดีกว่า
  • ปรับปรุงระบบเทคโนโลยีโดยการนำไอทีมาใช้
          บทความในหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกหลายบทที่น่าอ่านและนำเนื้อหาไปขบคิด ยกตัวอย่างเช่น วราภรณ์ รุจิวิวัฒนกุล ได้ตั้งคำถามว่าบทบาทของรัฐในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร หลังจากได้อ้างถึงข้อคิดเห็นของนักวิชาการตะวันตกแล้ว วราภรณ์ได้สรุปแนวคิดของคณะกรรมการปฏิรูปฯ เกี่ยวกับภารกิจของรัฐเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
  • ภารกิจที่เป็นหน้าที่ของส่วนราชการ
  • ภารกิจที่เป็นหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ
  • ภารกิจที่เป็นหน้าที่ขององค์กรมหาชน
  • ภารกิจที่ให้องค์กรท้องถิ่นดำเนินการ
  • ภารกิจที่ให้ธุรกิจเอกชนดำเนินการ
  • ภารกิจที่ให้องค์กรเอกชนดำเนินการ

          กล่าวโดยทั่วไปผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมสาระสำคัญของแนวคิดในการปฏิรูประบบราชการเอาไว้ค่อนข้างมาก แม้ว่าไม่มีผู้เขียนบทความท่านใดกล่าวถึงวิธีการดำเนินการอย่างชัดเจน แต่ก็พอจะมองเห็นแนวทางว่าคณะปฏิรูปต้องการให้เกิดองค์การมหาชน ให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น และให้เอกชนเข้ามารับภาระงานจากราชการไปมากขึ้น

          อย่างไรก็ตามการปฏิรูประบบราชการเป็นเรื่องใหญ่ และมีปัญหาที่จะต้องขบคิดอีกมาก ดังนั้นจึงต้องคอยติดตามดูว่าการปฏิรูประบบราชการจะไปลงเอยอย่างไร

Back