เล่าให้คิด
วีรวุธ มาฆะศิรานนท์
สำนักพิมพ์ เอ็กซเปอร์เน็ต จำกัด
กันยายน 2543 137 หน้า ราคา 180 บาท
ผมรู้จักคุณวีรวุธ
มาฆะศิรานนท์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มานานร่วมยี่สิบปี ในช่วงแรกสุดเราเป็นวิทยากรในการสัมมนาด้านคอมพิวเตอร์ให้กับบริษัท
BIT ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือ คุณบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ อดีตผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์
และ ITV ผู้ล่วงลับไปก่อนวัยอันสมควร ผมพบว่าคุณวีรวุธมีความสามารถในการบรรยายและการสื่อสารได้ดีมาก
เป็นที่พอใจของผู้เข้ามารับการฝึกอบรมโดยถ้วนหน้า ต่อมาเมื่อคุณวีรวุธได้ลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัวผมก็ยังได้มีโอกาสพบปะและติดตามความก้าวหน้า
มาไม่กี่ปีนี้ผมยิ่งยินดีมากขึ้นที่คุณวีรวุธได้ผลิตหนังสือดีๆ ออกมาหลายเล่มโดยเฉพาะทางด้านการจัดการยุคใหม่ที่ผู้บริหารชาวไทยกำลังต้องการเป็นอย่างยิ่ง
โลกในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศได้นำความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงมาสู่กิจกรรมทุกอย่างนั้น
ผู้บริหารที่จะสามารถนำกิจการไปสู่ความสำเร็จได้ จะต้องมีความรู้และความสามารถมากกว่าผู้บริหารประเภทเชื่อถือโชคลาง
นับถือไสยศาสตร์ หรือทำงานตามยถากรรม ข้อพิสูจน์นั้นง่ายมาก ปัญหาและความยากลำบากในการพื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำของไทยเป็นเครื่องแสดงอย่างดีว่า
ผู้บริหารไทยทุกระดับยังอยู่ห่างไกลจากการที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นภัยอาณานิคมเศรษฐกิจไปได้
คุณวีรวุธ
เสนอแนวคิดว่าผู้นำยุคใหม่จะต้องมีความรู้ในเรื่องการบริหารเชิงระบบ
ซึ่งประกอบด้วย
- ระบบการพัฒนาวิสัยทัศน์
- ระบบการบริหารเชิงกลยุทธ์
- ระบบการวิเคราะห์ปัญหาและตัดสินใจ
- ระบบการพัฒนาผู้นำ
- ระบบการบริหารคุณภาพ
- ระบบการบริหารทีมงาน
- ระบบการบริหารโครงการธุรกิจ
- ระบบการบริหารองค์กรเรียนรู้
- ระบบการบริหารภูมิปัญญา
แนวคิดของคุณวีรวุธนั้นสอดคล้องกับแนวคิดของผู้บริหารชั้นนำหลายคน
แต่ผมก็ยังเห็นว่ายังขาดระบบคิดที่สำคัญไปอยู่สองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกก็คือระบบการจัดการความเปลี่ยนแปลง
และ ระบบการจัดการเทคโนโลยี คุณวีรวุธอาจจะแย้งว่าระบบการจัดการไอทีนั้นเป็นแบบเดียวกับระบบการบริหารองค์กรเรียนรู้
เพราะไอทีเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ นั่นเป็นเรื่องที่พอจะรับฟังได้
แต่ยังไม่พอเพียง เพราะผมเห็นว่าไอทีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบริหารจัดการทุกระดับ
ตั้งแต่การปฏิบัติการระดับเสมียนพนักงานไปจนถึงการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง
เป็นระบบสำหรับเชื่อมโยงระหว่างบริษัทกับพันธมิตร และ ลูกค้า ดังนั้นในขณะที่ระบบบริหารเชิงกลยุทธ์อาจระบุแนวปฏิบัติว่าต้องใช้ไอที
แต่หากผู้บริหารไม่รู้วิธีที่จะบริหารงานไอทีแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้กลยุทธ์นั้นเป็นจริงได้
สำหรับในเรื่องของการจัดการความเปลี่ยนแปลงนั้น
มาจากแนวคิดว่าผู้นำควรเป็น Change Agent ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำอาจคิดนำระบบไอทีมาใช้
แต่ถ้าหากตนเองยังไม่ยอมเปลี่ยนนิสัยในการทำงานและไม่ได้เริ่มต้นไอทีมาใช้แล้ว
ก็เท่ากับยังไม่ได้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง หากผู้นำยังไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว
จะให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
คุณวีรวุธ
ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับระบบการบริหารต่างๆ ตามที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น
เริ่มต้นด้วยเรื่องของการพัฒนาวิสัยทัศน์ การคิดเชิงกลยุทธ์ การบริหารงานโครงการ
การบริหารเชิงคุณภาพ และ การพัฒนาผู้นำและทีมงาน
รายละเอียดเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่าเดินไปตามแนวคิดเกี่ยวกับผู้นำที่คุณวีรวุธได้ระบุไว้ตั้งแต่ต้น
โดยแต่ละบทได้กล่าวถึงเนื้อหาที่ควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เช่นในเรื่องวิสัยทัศน์นั้น
คุณวีรวุธเริ่มตั้งแต่ความหมายของวิสัยทัศน์ไปจนถึง การพัฒนาวิสัยทัศน์
และ ประโยชน์ ความเลื่อนไหลของเนื้อหานั้นอันที่จริงก็เหมือนกับตำราทั่วไปนั่นเอง
อีกทั้งรูปแบบและการกำหนดหัวข้อต่างๆ ก็มีลักษณะเหมือนตำรามากกว่าจะเป็นหนังสือเชิงบริหารที่ขายกันทั่วไป
การเขียนในลักษณะนี้ทำให้หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยสาระที่เข้มข้น หรือ
Hard fact ซึ่งยากที่จะซึมซับได้
ทุกวันนี้เราพูดกันถึงเรื่องวิสัยทัศน์
กลยุทธ์ และคุณภาพ กันมากทีเดียว ผู้บริหารระดับสูงทุกคนได้รับคำสั่งมาให้กำหนดวิสัยทัศน์กันมากขึ้น
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือส่วนมากก็ยังไม่ค่อยเข้าใจคำๆ นี้ ด้วยเหตุนี้วิสัยทัศน์ที่ผู้บริหารในหลายหน่วยงานกำหนดขึ้นจึงไม่ได้เป็นวิสัยทัศน์ที่เหมาะสมนัก
หากเป็นเสมือนคำขวัญมากกว่า ปัจจุบันนี้มีหลายหน่วยงานได้กำหนดวิสัยทัศน์ขึ้นแล้ว
บังเอิญคุณวีรวุธไม่ได้หยิบยกเอาวิสัยทัศน์เหล่านี้มาแสดงหรือวิพากษ์วิจารณ์
เพราะหากได้นำวิสัยทัศน์ที่หน่วยงานต่างๆ มาวิจารณ์กันบ้าง จะทำให้หน่วยงานเข้าใจมากขึ้นว่าที่เขียนไปนั้นเหมาะสมหรือไม่
อีกหลายเรื่องที่หยิบมาเขียนในหนังสือนี้ก็มีประโยชน์มาก
ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการบริหารจัดการโครงการ และ การสร้างทีมงาน
ผมคิดว่าการขาดความรู้ในเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของประเทศไทย
หากผู้บริหารมีความสามารถด้านนี้เพิ่มขึ้นอีกสักเล็กน้อย จะทำให้การบริหารจัดการงานต่างๆ
ของหน่วยงานห้างร้านไทยก้าวหน้าไปด้วยดี ยิ่งหากได้คิดแบบโครงการมากขึ้นจะทำให้เจ้าข้องงานต้องระมัดระวังไม่โลภมาก
และอาจจะไม่ทำให้ธนาคารทั้งหลายมี NPL มากนักก็เป็นได้
ข้อที่น่าเสียดายอีกเรื่องหนึ่งก็คือ
หนังสือเล่มนี้คุณวีรวุธยังเขียนไม่จบ เพราะยังไม่ได้กล่าวถึง ระบบการบริหารอื่นๆ
ที่กล่าวถึงตั้งแต่แรก เช่น ระบบบริหารองค์กรความรู้ และ ระบบบริหารภูมิปัญญา
ความจริงจะบอกว่าคุณวีรวุธเขียนไม่จบเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะคุณวีรวุธได้เขียนเรื่องเหล่านี้ไว้ในหนังสือเล่มอื่นอยู่แล้ว
ว่างๆ ผมจะนำมาพิจารณ์ให้ได้รับทราบ
ข้อดีของหนังสือเล่มนี้ก็คือ
เรื่องสั้นๆ ที่คุณวีรวุธนำมา เล่าให้คิด เรื่องเหล่านี้เป็นตัวอย่างประกอบเนื้อหาในแต่ละส่วนได้อย่างดี
จะอ่านเรื่องเฉพาะในกรอบ เล่าให้คิด ก็ได้ไม่เสียความ สไตล์การเขียนแบบนี้มีมานานแล้ว
ตำราเล่มใหม่ๆ ทางด้าน MIS ก็เขียนแบบนี้เหมือนกัน
กล่าวโดยสรุป
ผมก็ขอแนะนำให้หาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน จะมีข้อท้วงติงสักนิดก็คือ ราคาอาจจะแพงเกินไปสักหน่อยสำหรับนักศึกษา
แต่อาจจะเหมาะสมสำหรับผู้บริหารทั้งหลาย
|