Dr. Kanchit Malaivongs
Home
Duties
Courses
Lectures
Books
FAQ
Contact
IT Idea for Spiritization

พุทธศาสนาและปัญญาชนตะวันตก
พระราชสุทธิญาณมงคล
ศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2542 ราคา 50 บาท หนา 89 หน้า

          ปีนี้พระราชสุทธิญาณมงคล หรือ หลวงพ่อ จรัล ฐิตธมโม แห่งวัดอัมพวัน สิงหบุรี เจริญอายุครบ 6 รอบ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 ทำให้ลูกศิษย์ลูกหามีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และช่วยกันจัดทำหนังสืออนุสรณ์ให้ท่านในรูปเล่มที่ใหญ่กว่าเดิมและสวยงามกว่าที่จัดทำเป็นประจำทุกปีมาก อย่างไรก็ตามผมจะยังไม่กล่าวถึงหนังสือที่ระลึกที่กล่าวมานี้ จะขอกล่าวถึงหนังสือเล่มเล็กๆ อีกเล่มหนึ่งที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อปีที่แล้ว นั่นคือเรื่อง พุทธศาสนาและปัญญาชนตะวันตก

          หนังสือเล่มนี้สรุปบทสัมภาษณ์ของนักวิชาการชาวอเมริกันสามคนที่ขอมาเรียนถามข้อข้องใจเกี่ยวกับความคิด ท่าทีของ ตลอดจน ทัศนคติต่างๆ ของชาวพุทธ นักวิชาการทั้งสามท่านคือ ศ. ดร. เจอรัลด์ แมกเคนนี หัวหน้าภาควิชาศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยไรซ์ ศ. ดร. เจมส์ สจวตท์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฟลอริดา และ ศ. ไวโอเล็ต ลินเบค ผู้เชี่ยวชาญวิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยคอนเนกติกัต นักวิชาการทั้งสามนี้มาสอนอยู่ที่ศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.พินิจ รัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศาสนศึกษา เป็นผู้นำท่านทั้งสามนี้มากราบนมัสการหลวงพ่อจรัลเพื่อซักถามข้อข้องใจ อีกทั้งได้แปลและเรียบเรียงคำสนทนาทั้งหมดออกมาพิมพ์เผยแพร่

          อันที่จริงแล้วคำถามและข้อข้องใจเกี่ยวกับพุทธศาสนานั้นมีมากด้วยกัน ไม่เฉพาะในหมู่ชาวต่างประเทศที่ไม่คุ้นเคยหรือรู้จักพุทธศาสนาเท่านั้น แม้ชาวพุทธไทยเองก็มีข้อข้องใจอยู่ไม่น้อย เพราะคนไทยส่วนมากไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง คำถามประเภทตายแล้วไปไหน ตายแล้วจะเกิดอีกหรือไม่จึงเป็นคำถามที่ถามบ่อย ทั้งๆ ที่คำตอบมีอยู่ชัดเจนอยู่แล้วหากสนใจศึกษาตำรับตำรา โดยเฉพาะพระไตรปิฎก และหากพยายามคิดหาเหตุผลตามที่ปรากฏในพระสูตรต่างๆ เพราะความที่เราไม่ได้ศึกษาให้มากนี่เอง เมื่อเร็วๆ นี้จึงปรากฏวิวาทะเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตาให้ประชาชนทั่วประเทศงุนงง

          เรื่องที่นักวิชาการทั้งสามนำมาถามนั้นน่าสนใจมากเช่น ศ. แมกเคนนี ตั้งคำถามว่า ใครคือผู้สร้างกฎแห่งกรรม การให้ความสำคัญแก่เรื่องกฎแห่งกรรมจะทำให้คนไม่กระตือรือร้นและพยายามแก้ปัญหาต่างๆ หรือไม่ ในเรื่องนี้หลวงพ่อได้อธิบายว่า กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติ ไม่มีใครสร้างขึ้น กฎแห่งกรรมไม่ได้ทำให้คนขาดความกระตือรือร้น แต่ทำให้คนเราเข้าใจว่าตนเองมีอิสระที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตของตน และต้องคอยระวังทำแต่สิ่งที่ดีงาม คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้เราโศกเศร้าเสียใจหรือดีใจกับอดีต (กรรม) ที่ผ่านมาแล้ว และไม่ต้องการให้เราหมกมุ่นอยู่กับการเพ้อฝันถึงอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าคำอธิบายส่วนนี้เป็นการเชื่อมโยงเรื่องของกรรมเข้าหาการทำวิปัสสนาที่มุ่งพิจารณาสภาวะปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

          ศ. สจวรตท์ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่พระสงฆ์ปลีกตัวจากสังคมและแสวงหาความวิเวกโดยลำพัง เท่ากับเป็ฯการไม่สนใจต่อความทุกข์ยากลำบากของประชาชนหรือไม่ คำถามนี้ผมเองก็เคยถูกถามบ่อยๆ เพราะทางตะวันตกนั้นค่อนข้างจะให้ความสนใจต่อเรื่องของสังคมมากยิ่งนัก ดังที่เราจะได้ยินได้ฟังเรื่องของชุมชนบ่อยครั้งมาก แม้พระภิกษุในพระพุทธศาสนาจะไปตั้งวัดในย่านใดๆ ก็ต้องให้ชุมชนนั้นๆ ให้ความเห็นชอบด้วย ดังนั้นการที่พระภิกษุปลีกวิเวกอยู่จึงเป็นเรื่องที่หลายคนมองเห็นเป็นเรื่องที่ไม่รับผิดชอบไป ต่อคำถามนี้หลวงพ่อได้อธิบายว่าพระสงฆ์จะต้องปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสตัณหาที่เป็นพื้นฐานๆ เมื่อจิดใจปราศจากความเห็นแก่ตัวแล้ว ผู้นั้นก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างแท้จริง การช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีนี้จะยังประโยชน์ให้แก่สังคมมากกว่าวิธีอื่น เพราะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นแต่อย่างเดียว ไม่มีประโยชน์ตนแฝงปนอยู่เลย

          ในด้านวิทยาศาสตร์นั้น หลวงพ่ออธิบายว่าพุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้างความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลวงพ่อเห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องเจริญก้าวหน้าต่อไปเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ แต่ขณะเดียวกันหลวงพ่อก็เตือนว่าเราต้องระมัดระวังไม่ให้ความเจริญก้าวหน้านี้นำอันตรายมาสู่มนุษยชาติ สำหรับในเรื่องการโคลนนิงนั้นหลวงพ่ออธิบายว่า พุทธศาสนาก็ไม่ได้ต่อต้านวิธีการนี้เพราะมองเห็นประโยชน์ที่มนุษย์จะได้รับจากการโคลนนิงสัตว์ สำหรับการโคลนนิงมนุษย์นั้นหลวงพ่อให้ข้อสังเกตว่าเรื่องนี้เราควรคิดให้รอบคอบเป็นพิเศษ เพราะเราไม่สามารถรับประกันได้ว่าคนที่ปลูกถ่ายพันธุกรรมมานั้น จะสืบทอดนิสัยดีงามของผู้ที่เป็นต้นแบบมาด้วย เพราะบุคลิกลักษณะและสภาพจิตใจของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยตลอด

          คำถามที่น่าสนใจในหนังสือเล่มเล็กๆ นี้ยังมีอีกมาก และยิ่งได้อ่านข้อสงสัยของนักวิชาการอเมริกันและคำตอบชี้แจงของหลวงพ่อแล้วเราก็ยิ่งประทับใจในความคิดที่ลุ่มลึกของหลวงพ่อ ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จำเป็นที่พวกเราจะต้องนำไปขบและเคี้ยวอย่างละเอียด ที่สำคัญคือเราจะต้องไม่เคี้ยวและกลืนให้เร็วไปนัก หากรู้จักเคี้ยวอย่างเข้าใจแล้ว ผมรับประกันว่าเราจะอิ่มไปนานแสนนาน

Back