Dr. Kanchit Malaivongs
Home
Duties
Courses
Lectures
Books
FAQ
Contact
IT Idea for Spiritization

การปกครองที่ดี (Good Governance)
สมาคมรัฐประศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย
143 หน้า ไม่มีราคา

          คนไทยที่มีสติสัมปชัญญะและความรับผิดชอบย่อม ตระหนักดีว่าประเทศไทยกำลังมีปัญหา และปัญหาอย่างฉกาจฉกรรจ์มาจากวิธีการปกครองที่เอื้ออำนวย ให้นักการเมืองเลวๆ ฉ้อฉล สร้างอำนาจให้แก่ตนเองและพรรคพวก และช่วยกันผลาญ ทรัพยากรของประเทศจนทำให้พินาศสิ้นทั้งป่าไม้ แร่ธาตุ แลสัตว์ทั้งบนบก ในน้ำ และในอากาศ จะมีก็แต่นัก การเมืองที่ปราศจากหิริโอตตัปปะและลูกสมุนเท่านั้นที่พยายาม ประกาศว่าประเทศไทยของเรากำลังก้าวไปสู่ความรุ่งโรจน์ และปัญหาเศรษฐกิจกำลังจะหมดสิ้นไปในไม่ช้า

          เพราะตระหนักถึงปัญหาอันเรื้อรังสุดจะเยียวยานี่เองที่ทำ ให้นักวิชาการสังคมการเมืองหลายคนพยายามมองหาและนำ เสนอรูปแบบการปกครองที่เชื่อว่าจะดีกว่าเดิม และน่าจะทำให้คนไทยหลุดพ้นจากปลักแห่งความยากจน ได้ และนั่นนำมาสู่แนวคิดเรื่อง Good Governance ซึ่งได้มีผู้บัญญัติ ศัพท์เอาไว้หลากหลาย รวมทั้งราชบัณฑิตยสถานเองก็ได้ให้ศัพท์บัญญัติไว้ว่า "การปกครองที่ดี" อันเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้

          ความจริงสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทยเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า เอกสารวิชาการ ไม่ได้เรียกว่าหนังสือ แต่การจัดพิมพ์ก็ยังคงเป็น รูปเล่มของหนังสืออยู่ดี เนื้อหาในเล่มเป็นบทความที่เกี่ยวเนื่องกับการปกครองที่ ดีหลายบท ทั้งของ คุณชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คุณสุดจิต นิมิตกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ได้โยกย้าย ไปเป็นเลขาธิการ รพช. บทความเรื่องระเบียบวาระแห่งชาติของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี บทความของคุณปริญญา นาคฉัตรีย์ อธิบดีกรมการปกครอง ดร.พีรพล ไตรทศาวิทย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง อ. อมรา พงศาพิชญ์ คุณสมชาย ปรีชาศิลปกุล ดร. ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ และ บทความของผมเอง

          บทความในช่วงต้นเน้นไปที่เรื่องของการปกครองที่ดี หรือที่ ดร. ธีรยุทธ์ บุญมี บัญญัติเป็นศัพท์หรูว่า ธรรมรัฐ และมีผู้เขียนบทความหลายท่านใช้คำนี้ค่อนข้างมาก คุณชนะศักดิ์ ได้ให้กรอบของการปกครองที่ดีว่าจะต้องสอด คล้องกับหลักการพื้นฐานอย่างน้อย 6 ประการ คือ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และ หลักความคุ้มค่า ในเมื่อคุณชนะศักดิ์บอกไว้ก่อนว่าเป็น minimum principle ผมจึงใคร่ขอเพิ่มหลักการเพิ่มขึ้นมาอีกสักหลักหนึ่ง นั่นคือหลักของการรู้เท่าทันโลก ที่ขอเรื่องนี้ก็เพราะ เท่าที่สังเกตดูรู้สึกว่า นักการเมืองนักและนักปกครองในเวลานี้แพ้รู้และแพ้ เปรียบประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงต้องตกเป็นหนี้ IMF เราต้องเปิดประตู บ้านให้พ่อค้าประเทศอื่นส่งสินค้าเข้ามาตีตลาดของไทย ผมไม่ใช่นักปกครองและไม่แน่ใจว่าเราควรรวมหลักนี้ ไว้หรือไม่ แต่ที่แน่ก็คือเรามีจุดอ่อนในเรื่องนี้

          คุณสุดจิต ได้นำหลักข้างต้นมาขยายความว่าการบริหาร กิจการบ้านเมืองที่ดีของกระทรวงมหาดไทย (และผมคิดว่ารวมของกระทรวงอื่นๆ ด้วย) ควรมีองค์ประกอบดัง นี้

  • การมีส่วนร่วม (Participation)
  • ความยั่งยืน (Sustainability)
  • ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม (Legitimacy) และ ให้การยอมรับ (Acceptance)
  • มีความโปร่งใส (Transparency)
  • ส่งเสริมความเป็นธรรม (Equity) และ ความเสมอภาค (Equality)
  • มีความสามารถที่จะพัฒนาทรัพยากรและวิธีการบริหารกิจการ บ้านเมืองและสังคมที่ดี
  • ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ (Promoting Gender Balance)
  • การอดทนอดกลั้น (Tolerance) และ การยอมรับ (Acceptance) ในทัศนะที่หลากหลาย (Diverse Perspectives)
  • ดำเนินการตามหลักนิติธรรม (Operating by Rule of Law)
  • ความรับผิดชอบ (Accountability)
  • การเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator)
          ผมอ่านของคุณสุดจิตแล้วก็ยังรู้สึกว่ายังขาดองค์ ประกอบไปอีกสองประการ คือ การใช้เครื่องมือไอที และ การเรียนรู้จากอดีต ทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลว ผมมีความรู้สึกว่านัก ปกครองในบ้านเรานั้นเรียนรู้น้อยเหลือเกิน แม้จะมีหลักสูตรต่างๆ ให้ศึกษาหลายหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตร วปอ. และ นบส. แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าท่านที่ผ่านหลักสูตร เหล่านี้ยังไม่ได้เรียนรู้อยู่นั่นเอง

          ไอทีนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญของการบริหารยุคใหม่ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้มีส่วนร่วม สามารถกำกับดูแล ปฏิบัติงานได้อย่างโปร่งใส และ ประชาชนยอมรับได้ หากท่านนำไอทีมาพัฒนาอย่างจริงจังแล้ว เชื่อว่าจะทำให้ การบริหารมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

          สำหรับแนวคิดของคุณหมอประเวศนั้น ยังคงยืนยันหลักการ เดิมที่ท่านได้เผยแพร่ไว้นั่นคือ ท่านเห็นว่ามีเรื่องใหญ่ที่จะต้องปฏิรูปอยู่ด้วยกัน 7 เรื่อง คือ

  • สร้างคุณค่าและจิตสำนึกใหม่
  • สร้างเศรษฐกิจพอเพียงและประชาสังคม
  • ปฏิรูประบบเศรษฐกิจมหภาคและการเงิน
  • ปฏิรูประบบรัฐ ทั้งระบบการเมืองและระบบราชการ
  • ปฏิรูปการศึกษา
  • ปฏิรูปสื่อเพื่อสังคม
  • ปฏิรูปกฎหมาย
          ผมนิยมชมชื่นในความคิดของคุณหมอประเวศมานานแล้ว และได้ติดตามศึกษาข้อเขียนของท่านมามาก อีกทั้งยังเคยฟังคำอภิปรายของท่านมาหลายหน เรื่องที่ท่าน พูดมานั้นถูกต้องหมด แต่ปัญหาก็คือเราจะปฏิรูปอย่างไร ยกตัวอย่างสำคัญก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างคุณค่าและจิตสำนึกใหม่ให้แก่ ประชาชนคนไทยได้ เราจะสอนนักการเมืองที่เขี้ยวลากดิน น้ำลายไหลยืด และกำลังสืดปากด้วยความตะกรามได้อย่างไรให้มีจิตสำนึกที่ จะพิทักษ์ปกป้องแผ่นดินไทย ผมเป็นคนเล็กๆ ที่มองไม่เห็นคำตอบ

          ผมเองคิดว่าลำพังจิตสำนึกยังไม่พอ เราจะต้องปฏิรูป นิสัยในการทำงานของคนไทยด้วย เพราะเวลานี้เราต้องยอมรับว่าคนไทยยังไม่ขยันขันแข็ง พอเมื่อเทียบกับคนจีนและคนเวียดนาม คนไทยยังไม่อดทนพอ และคนไทยยังไม่รู้ว่าอะไร ควรทำก่อนอะไรควรทำทีหลัง หากอุปนิสัยในการทำงานของคนไทยยังเป็นอยู่เช่นนี้ เราพอจะมองอนาคตออกได้ไม่ยากว่าเราจะรั้งท้าย เวียดนาม

          ผมเองยังต้องการปฏิรูปอีกเรื่องหนึ่ง คือปฏิรูปองค์ความรู้ เวลานี้เรากำลังอ่อนล้ามากทางสติปัญญา ครูบาอาจารย์ของ เรามีความรู้ที่ล้าสมัย แม้แต่อาจารย์ระดับอุดมศึกษาของเราก็ยังอยู่ห่างจากพรม แดนของความรู้มากทีเดียว ที่น่าตกใจก็คืออาจารย์ของเรากำลังหยุดยืนมองดูพรม แดนเลื่อนหนีห่างออกไปด้วยอัตราเร่งที่สูงมาก

          คุณปริญญา นาคฉัตรีย์ ส่งบทความมาเสนอว่าปัจจุบันกรมการปกครอง สามารถแก้ไขปัญหาหลักสามด้านของชุมชน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และ ด้านการเมืองได้ โดยการดำเนินการตามมาตรการ หลัก 3 ประการ คือ มาตรการปรับวิธีคิด วิธีทำงานของบุคลากรภาครัฐ มาตรการพัฒนาศักยภาพของชุมชน และ มาตรการปรับปรุงกลไกในภาครัฐ ในเรื่องนี้ผมเรียนว่ายังไม่สามารถเชื่อได้โดยสนิทใจนัก เพราะสิ่งที่ท่านกล่าวไว้นั้นเป็นเรื่องทางทฤษฎี หากคุณปริญญา จะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมาให้เห็นได้ก็จะน่า เชื่อถือมากยิ่งขึ้น

          บทความอื่นๆ อีกหลายเรื่องก็น่าอ่านและน่าเก็บมาคิด ผมเองหวังว่านักการเมืองและนักปกครองทั้งหลายจะได้ มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ และหวังว่าจะนำเอาหลักการและมาตรการต่างๆ ที่กล่าวถึงใน หนังสือนี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้ประเทศไทยและคนไทยหลุดพ้นจากความชั่วร้ายนานา ที่ก่อขึ้นโดยนักการเมืองและพ่อค้าที่เห็นแก่ตัว ได้จริงๆ

Back